Latest

ใบไม้นอกกำมือ

สวัสดีครับ คุณหมอสันต์
    ได้ติดตามบล็อกของคุณหมอมาระยะหนึ่ง ได้รับความรู้ทั้งทางโรคกายและเรื่องเกี่ยวกับจิต
เห็นด้วยอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องของจิตใน “คุยกับแฟนบล็อกอายุน้อย 29 สิงหาคม 2561”
     มีประเด็นเรื่อง “จิตเดิมแท้” ที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอยากมีประสบการณ์เรื่องการถูกวางยาสลบสักครั้งเพื่อทดสอบเรื่อง จิตเดิมแท้ แล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับโอกาสนี้จากการวางยาเพื่อผ่าตัดกระดูกต้นแขนจากอุบัติเหตุ ก่อนวางยาผมก็นำจิตเข้าอู่จอด แต่ “คงสภาวะรู้ตื่นไว้และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะคงไว้ตลอดการผ่าตัด”
     ผมเข้าห้องผ่าตัดประมาณ บ่ายโมง เมื่อการผ่าตัดผ่านพ้นไป  มารู้สึกตัวอีกครั้งประมาณ บ่ายห้าโมง ในช่วงระหว่างนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่สามารถที่จิตจะคงสภาวะรู้ตื่นไว้ได้ เหมือน “absolute nothing” 
     จากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมมีความคิดว่า จิตเดิมแท้ ก็เป็นเพียงกิจกรรมแบบหนึ่งของสมองเท่านั้น
ขอแสดงความนับถือ
 (ชื่อ) …..

……………………………

ตอบครับ

     จดหมายของคุณชักชวนให้คุยกันเรื่องใบไม้นอกกำมือ ซึ่งคนฉลาดเขาจะไม่ยอมคุย แต่ผมไม่ใช่คนฉลาด ผมคุยได้ มีจดหมายเนื้อหาลักษณะนี้เข้ามาบ่อยมาก แต่ผมไม่เคยตอบ วันนี้เราคุยกันถึงเรื่องนี้สักครั้งก็ดีเหมือนกัน ครั้งเดียวพอนะ เพราะถ้าคุยเรื่องแบบนี้ซ้ำซาก เดี๋ยวคนเขาจะรู้ไส้ว่าผมเป็นคนโง่

      คำว่า”จิตเดิมแท้” นี้เป็นภาษาคุยกันของชาวบ้าน ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้า เป็นภาษาคุยกันเพื่อสื่อถึงสิ่งหนึ่งซึ่งเป็น “ธาตุรู้” ซึ่งเป็นความไร้สภาวะ ไม่มีที่ตั้งให้รู้ว่าอยู่ที่ใด แต่ว่ามันมีอยู่จริง

      อุปมา อุปไมยเหมือนไฟ ต้นกำเนิดที่จะกลายเป็นไฟนั้นภาษาบ้านๆเรียกว่า “ธาตุไฟ” ซึ่งเป็นความไร้สภาวะที่มีอยู่ในทุกอณูรอบตัวเรานี้ แต่จับต้องมองเห็นไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุที่จะเกิดเป็นไฟครบถ้วน อันได้แก่มีฟืน มีอากาศ และมีอุณหภูมิสูงถึงระดับหนึ่ง ไฟก็จะติดพรึบขึ้นมา
   
      สมัยผมเป็นเด็ก ไปเข้าค่ายลูกเสือ แต่ละปีต้องสอบลูกเสือตรี โท เอกไปตามลำดับ การสอบลูกเสือตรีมีข้อหนึ่งว่าจะต้องก่อไฟให้ได้โดยใช้ไม้ขีดไม่เกินสามก้าน ไม่งั้นไม่ได้เป็นลูกเสือตรี ได้เป็นแค่ลูกเสือสามัญ พอถึงเวลาสอบ ทุกคนก็ก่อกองฟืนของตัวเองเรียงแถวกันอยู่ในทุ่งโล่ง แล้วก็ลงมือจุดไฟด้วยไม้ขีดสามก้านที่ครูแบ่งให้ เพื่อนบางคนจุดจนไม้ขีดหมดก็ยังก่อไฟไม่ได้ จึงเอาไม้ฟืนชิ้นเล็กไปจ่อเอาไฟของเพื่อนๆมาจุดกองฟืนของตัวเอง เพื่อนคนนั้นก็ไปฟ้องครูว่า

     “เขาขโมยไฟของผมไป นั่นไฟของผม ไม่ใช่ไฟของเขา”

     ความเป็นจริงคือไฟนี้ไม่ได้เป็นของใคร แม้ผู้จุดไฟขึ้นจะเข้าใจว่าไฟเป็นของตัวเอง เพราะฟืนก็เป็นของฉัน ก้านไม้ขีดก็เป็นของฉัน ไฟนี้จะไม่ใช่ของฉันได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงไฟมาจากธาตุไฟซึ่งมีอยู่ทั่วไปและไม่ได้เป็นของใคร ไฟที่จุดที่ตรงนี้โดยคนนี้ กับไฟที่เกิดในป่าที่โน่นโดยไม่มีคนจุด ก็เป็นไฟเดียวกัน เกิดจากธาตุไฟเดียวกัน แต่เหตให้เกิดคือฟืนอาจจะเป็นคนละอันอยู่คนละที่

     ฉันใดก็ฉันเพล ความคิดนี้ถูกจุดขึ้นมาจาก “ธาตุรู้” ซึ่งไม่ได้เป็นของใคร แต่เมื่อมีเหตุให้เกิดครบคือมีสิ่งที่เป็นเป้าของความสนใจ มีความสนใจ มีอายตนะ(อวัยวะรับรู้เช่นตาหูจมูกลิ้นผิวหนังและใจ)ที่จะรับรู้ ธาตรู้ซึ่งมีแล้วอยู่ทุกอณูรอบตัวเราอยู่แล้วก็จะจุดความคิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุที่จะจุดความคิดครบถ้วน ธาตุรู้นี้ก็ไม่แสดงตัว มันอยู่อย่างไร้สภาวะ เหมือนธาตุไฟนั่นแหละ และภาษาบ้านๆเรียกธาตุรู้นี้ว่า “จิตเดิมแท้” ซึ่งหมายถึงจิตที่ว่างจากสภาพใดๆให้สิ่งใดๆสัมผัสได้ เป็นคำเรียกเพื่อให้แตกต่างจาก “ความคิด” ซึ่งเป็นจิตเหมือนกันแต่เป็นจิตที่ถูกปรุงขึ้นมาจากเหตุต่างๆอย่างครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

     ความคิดนี้เมื่อเกิดขึ้นมาหลายๆความคิดแล้วก็จะผูกพ้นสานกันเข้ากลายเป็นคอนเซ็พท์หรือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็น “ฉัน” ซึ่งจะไปสานกับคอนเซ็พท์อื่นๆกลายเป็นความคิดที่เป็นแม่ของความทุกข์สองอัน อันที่หนึ่งคือ “ฉันเป็นคนสำคัญ” กับอันที่สองคือ “ฉันเป็นคนไร้ค่า” ทั้งสองอันนี้สุดโต่งไปทางไหนก็เดือดร้อนทั้งนั้น หากมีในคนๆเดียวแล้วแกว่งสุดโต่งไปทางนั้นทีทางนี้ทีภาษาหมอเรียกว่าเป็นโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder) ซึ่งโรคนี้มีในตัวเราทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง ถ้ามากจนอยู่กับคนอื่นไม่ได้ก็ต้องไปหาจิตแพทย์ คนที่เป็นไม่มากถึงขั้นจะไปหาจิตแพทย์ก็ยังเป็นคนมีความทุกข์ต้องขวานขวายหาทางพ้นทุกข์ ซึ่งทางที่จะดับทุกข์นั้นมีทางเดียวคือต้องวางความคิดตัวแสบต้นเหตุลงเสียให้สนิทแบบไม่ให้กลับมาจุดติดได้อีก

     สมมุติว่าวางความคิดได้สำเร็จดับมอดหมดไม่มีเหลือ ถามว่าแล้วจิตเดิมแท้ที่เข้าร่วมจุดความคิดขึ้นมานั้นจะหายไปไหน นี่ก็เหมือนคำถามว่าเมื่อหมดฟืนไฟดับมอดลงแล้วธาตุไฟหายไปไหน ตอบว่าไม่หายไปไหนหรอก มันก็กลับไปเป็นธาตุรู้หรือเป็นจิตเดิมแท้ของมันอย่างเดิม นี่แหละคือวิธีไปนิพพานละ เหมือนที่พระท่านว่า

     “ไฟดับแล้วไปไหน จิตที่นิพพานแล้วก็ไปที่นั่น” 

     เออ..แล้วหมอสันต์เอาเรื่องไกลตัวที่ไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้มาพูดทำไมเนี่ย ตอบว่าสำหรับตัวผมเองมันมีประโยชน์สามประการนะ

     ประการที่หนึ่ง การที่ผมตระหนักรู้ธรรมชาติของความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ว่าที่เรานึกว่ามันเป็นของเราคนเดียวแท้จริงแล้วมันของสากล (Universal) ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของนั้น ทำให้ผมเกิดโลกทัศน์ใหม่ขึ้นในใจว่าทุกชีวิตล้วนมีรากมาจากที่เดียวกัน มันทำให้ใจผมเกิดเมตตาธรรมแบบอัตโนมัติ คือไม่ต้องไปพยายามแผ่เมตตาให้ใคร เมตตาธรรมแบบไม่เลือกหน้ามันเกิดขึ้นมาแบบอัตโนมัติ
 
     ประการที่สอง การที่ผมตระหนักรู้ธรรมชาติของความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ซึ่งเป็นชั้นในสุดของความเป็นผมนี้ว่ามันดำรงอยู่แบบธาตุรู้ที่ไม่เกิดไม่ตาย มันทำให้ผมมีอิสรภาพจากความกลัวทั้งหลาย เพราะความกลัวทั้งหลายนั้นล้วนปั้นขึ้นมาจากความคิดที่มีความคิด “ฉัน” เป็นความคิดแม่ การที่รู้ว่าเมื่อวางความคิดเหล่านี้ลงสนิทหมดแล้วก็จะเหลือธาตรู้ซึ่งไม่เกิดไม่ตายมันก็ไม่มีเหตุผลที่ผมจะต้องกลัวอะไรอีกต่อไป เพราะแม่ของความกลัวทั้งหลายก็คือความกลัวเกิดกลัวตายนั่นเอง

    ประการที่สาม การที่ผมตระหนักรู้ธรรมชาติของความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ซึ่งเป็นชั้นในสุดของความเป็นผมนี้ว่ามันดำรงอยู่แบบธาตุรู้ที่ไม่เกิดไม่ตาย มันตอบคำถามของผมที่ว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อเสาะหาอะไร หรือว่าแค่เกิดมาเพื่อกิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ออกลูกทิ้งไว้แล้วตายไปจบกันแค่นั้นเองหรือ การที่ผมรู้ว่าเมื่อวางความคิดได้สนิทก็จะกลับไปเป็นความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ และรู้ว่าการจะวางความคิดได้สนิท ต้องอาศัยเวอร์คบนเหตุปัจจัยที่ก่อความคิดนี้ขึ้นมา ซึ่งอายตนะร่างกายก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในนั้น การที่ผมยังมีชีวิตอยู่ยังมีร่างกายนี้อยู่จึงเป็นโอกาสทองที่จะทำสิ่งนี้ เพราะถ้าไม่มีร่างกาย หรือมีร่างกายแล้วใจไม่สามารถติดต่อกับร่างกายได้ ต่อให้เป็นพระพรหมก็ยังไม่มีโอกาสได้หลุดพ้นได้เลย มันทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ และร่างกายที่ยังดีอยู่นี้ มันมีค่า ต้องใช้มันให้คุ้มค่าก่อนที่มันจะดับสลายไปตามกาลเวลา

     ทั้งสามประการนี้ทำให้ผมคุยกับคุณเรื่องใบไม้นอกกำมือครั้งนี้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์