Latest

เรียนรู้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) และนกเขาไม่ขัน..เกี่ยวกันไหมเนี่ย

เรียนคุณหมอสันต์

กระผม นาย … ผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด SVT ได้รับการรักษาโดยการจี้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่อนำเส้นบายพาสออก แต่การรักษาเกิดการผิดพลาด ทำให้จี้ไปโดน av node ทำให้หัวใจหยุดเต้นและปั้มขึ้นมาได้ ส่งผลให้หัวใจเต้นปรกติเพียง30-40ครั้งต่อนาที ส่งผลให้จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ Peacemaker (ST.JUDE PM2160)
อยากทราบถึงข้อควรปฏิบัติ หลักในการออกกำลังกายเพราะปรกติเป็นคนชอบออกกำลังกาย ผลเสียที่สืบเนื่องจากการผิดพลาดในครั้งนี้ ตัวเองรู้สึกถึงอวัยวะเพศที่แข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น และคำแนะนำอื่นๆที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวกระผม
ขอแสดงความนับถือ
…………………………………………………………….
ตอบครับ
    เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) รุ่นที่คุณบอกมานั้นวงการแพทย์เรียกตามโค้ดว่ามันเป็นชนิด DDD เพื่อจะให้คุณและท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องดีขึ้นผมขอเวลานอกบรรยายสรุปเรื่องนี้หน่อยนะ มันจะออกเทคนิคหน่อย ท่านที่ไม่ชอบอะไรเทคนิคให้ผ่านจดหมายฉบับนี้ไปได้เลย ไม่ต้องอ่าน แม้แต่คุณเองซึ่งเป็นคนฝังเครื่องนี้ไว้ในตัวเองหากคุณอยากจะเข้าใจเรื่องคุณต้องค่อยๆอ่าน อ่านอย่างตั้งใจ และต้องอ่านหลายๆรอบ
     ระบบโค้ดของเครื่องกระตุ้นหัวใจนั้นใช้อักษร 3-5 ตัวบอกชนิดของเครื่อง ซึ่งแพทย์ทั่วโลกตกลงวิธีตีความอักษรแต่ละตัวในโค้ด ดังนี้

   
      อักษรตัวที่ 1. บอกว่าเครื่องปล่อยไฟฟ้าไปกระตุ้นที่หัวใจห้องไหน คือ
อักษร A แปลว่ากระตุ้นที่หัวใจห้องบน (atrium)
อักษร V แปลว่ากระตุ้นที่หัวใจห้องล่าง (ventricle)
อักษร D แปลว่ากระตุ้นที่มันทั้งห้องบนและห้องล่าง (dual)
อักษร O แปลว่าไม่กระตุ้นเลย (none) 

     อักษาตัวที่ 2. บอกว่าเครื่องรับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจมาจากห้องไหน คือปกติเครื่องจะต้องคอยรับสัญญาณไฟฟ้าธรรมชาติของเจ้าตัวที่หัวใจปล่อยออกมา เพื่อจะได้มาสั่งการระงับภายในเครื่องไม่ให้ปล่อยสัญญาณไฟฟ้าออกไปทันซ้อนกันอันการทำให้หัวใจเต้นรัวได้ 
อักษร A แปลว่ารับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจห้องบน (atrium)
อักษร V แปลว่ารับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจห้องล่าง(ventricle)
อักษร D แปลว่ารับสัญญาณไฟฟ้าจากทั้งห้องบนและห้องล่าง (dual)
อักษร O แปลว่าไม่รับสัญญาณไฟฟ้าเลย คือกระตุ้นมันลูกเดียวโดยไม่สนใจว่าหัวใจของจริงปล่อยไฟฟ้าหรือไม่ (none)

     อักษรตัวที่ 3. บอกว่าเมื่อรับสัญญาณไฟฟ้ามาแล้ว เครื่องสนองตอบอย่างไร โดย
อักษร I ย่อมาจาก inhibited แปลว่าถ้าหัวใจธรรมชาติเต้นเอง เครื่องจะไม่ปล่อยไฟกระตุ้นซ้ำซ้อน
อักษร T ย่อมาจาก triggered หมายความว่าเครื่องจะปล่อยไฟฟ้าตะพึดถ้าสั่งให้ปล่อย (ใช้เวลาทดสอบเครื่อง)
อักษร D ย่อมาจาก dual หมายความว่าเครื่องจะปล่อยสัญญาณไฟฟ้าทั้งแบบ inhibited และแบบ triggered แล้วแต่จะตั้งให้ทำแบบไหน
อักษา O แทนคำว่า none หมายความว่าเครื่องนี้ไม่สนองตอบต่อสัญญาณภายนอก

     ตัวเลขที่เขียนตามหลังตัวอักษร เช่นตัวเลข 60 ที่ตามหลังโค้ด VVI 60 หมายถึงว่าเครื่องนี้ถูกตั้งให้เริ่มทำงานปล่อยสัญญาณไฟฟ้าเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจจริงตามธรรมชาติต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ถ้าหัวใจจริงเขาเต้นเร็วกว่านั้น เครื่องนี้ก็จะไม่ทำงาน

     อักษรตัวที่ 4. (เฉพาะบางรุ่น) เช่น DDDR ตัว R ซึ่งเป็นอักษรตัวที่สี่นั้นบ่งบอกถึงคุณสมบัติที่สามารถขยับอัตราการกระตุ้นขึ้นหรือลง หมายถึงช้าหรือเร็ว ตามความต้องการของร่างกายได้ (rate modulation) 

     อักษรตัวที่ 5. (เฉพาะบางรุ่น) บ่งบอกถึงว่ามีความสามารถที่จะช่วยยุติภาวะหัวใจเต้นรัว (หมายถึงสามารถทำการช็อกไฟฟ้า) ได้ด้วย 

     แต่ว่าเพื่อไม่ให้คุณงุนงงมาก คุณสนใจโค้ดสามตัวแรกก็พอ โค้ดอักษรสามตัวแรกจะทำให้แบ่งเครื่องได้เป็นสามกลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1. เครื่องรุ่นเก่าสุด ถูกสุด ที่ทำได้แค่กระตุ้นลูกเดียว รับสัญญาณก็ไม่ได้ ปรับวิธีกระตุ้นก็ไม่ได้ ถ้าเป็นชนิดกระตุ้นเฉพาะห้องบนเรีกว่า AOO ถ้ากระตุ้นเฉพาะห้องล่างเรียก VOO ถ้ากระตุ้นทั้งสองห้องเรียก DOO

กลุ่มที่ 2. เครื่องรุ่นกลางที่ทำงานเฉพาะในเวลาที่ควรทำ (demand pacemaker) หรือบางทีก็เรียกว่าเครื่องกระตุ้นห้องเดี่ยวแบบเข้าขา( single chamber synchronous pace maker) คือเมื่อหัวใจตัวจริงเขาเต้นเองตามธรรมชาติมันก็นิ่ง ไม่ทำงาน แต่พอหัวใจตัวจริงเขาไม่เต้นมันจึงจะช่วยกระตุ้น ชนิดที่กระตุ้นห้องบนเรียกว่า AAI ชนิดที่กระตุ้นที่ห้องล่างเรียกว่า VVI

กลุ่มที่ 3. เครื่องรุ่นใหม่แบบกระตุ้นสองห้องไม่พร้อมกัน (Dual-chamber AV sequential pacemakers) ซึ่งออกแบบเลียนแบบธรรมชาติของไฟฟ้าในหัวใจที่ห้องบนจะเต้นก่อน แล้วห้องล่างค่อยเต้นตามกันไปแบบหญิงชายเต้นแทงโก้ มีให้เลือกสามแบบคือแบบ DVI และแบบ DDD และแบบลูกครึ่งที่รับสัญญาณจากทั้งห้องบนและห้องล่างแต่ไม่กระตุ้นห้องบน เรียกว่าแบบ VDD

     เอาละ จบการบรรยายเรื่องพื้นฐานของเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว เหนื่อยแฮ่กเลยแฮะ เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าเครื่องที่คุณใส่อยู่เป็นแบบไหน ตอบว่ามันเป็นแบบ DDD แปลว่ามันปล่อยไฟฟ้ากระตุ้นสองห้องทั้งห้องล่างและห้องบนควบ มันรับสัญญาณไฟฟ้ากลับจากสองห้องทั้งห้องล่างและห้องบนควบ และเมื่อมันได้รับสัญญาณมาแล้วมันจะสนองตอบแบบตัวมันหยุดนิ่งปล่อยให้สัญญาณไฟฟ้านั้นทำงานไปธรรมชาติก็ได้ หรือจะปล่อยไฟฟ้าเองตะพึดก็ได้ แล้วแต่ผู้ใช้จะตั้งค่าโปรแกรมให้มันทำ

     2. ถามว่าใส่เครื่องแบบของคุณนี้ หากไปออกกำลังกายจะได้ไหม ตอบว่าหากออกกำลังกายระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้) ก็พอได้ แต่หากจะออกกำลังกายระดับหนักมาก (พูดไม่ได้) อาจจะไม่ได้ 

     ที่ว่าคุณออกกำลังกายระดับหนักปานกลางพอได้นั้นเพราะตัวปล่อยไฟฟ้าที่หัวใจห้องบน (SA node) ของคุณตามธรรมชาติยังดีอยู่ เวลาที่คุณไปออกกำลังกายเหนื่อยๆไฟฟ้าธรรมชาติที่ SA node จะปล่อยออกมาในจังหวะเร็วขึ้น แล้วเครื่องของคุณมันเป็นรุ่น DDD ซึ่งสามารถรับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนได้ หากตั้งเครื่องให้ดี คือตั้งให้มันเบรคตัวเองไม่กระตุ้นห้องบน ปล่อยให้ไฟฟ้าธรรมชาติกระตุ้นห้องบน แล้วตั้งให้มันสั่งกระตุ้นห้องล่างตามห้องบน (sequential) เวลาคุณเหนื่อยหัวใจทั้งสองห้องก็จะเต้นเร็วขึ้นเป็นจังหวะเข้าขากันตามไปได้

     ที่ว่าหากคุณออกกำลังกายระดับหนักมากอาจจะไม่ได้นั้นเพราะเครื่อง DDD ส่วนใหญ่จะมีขีดความสามารถที่จะรับสัญญาณในย่านความถี่ของการเต้นที่จำกัด ขึ้นอยู่ก้บยี่ห้อ ถ้าชีวิตปกติของคุณชอบออกกำลังกายระดับหนักมาก หมายถึงเหนื่อยจนพูดไม่ได้ คุณต้องลองออกกำลังกายระดับหนักมากดู ถ้าไม่เหนื่อยเจ็บหน้าอกก็แสดงว่าพิสัยของเครื่องกว้างพอที่จะเร่งการปล่อยไฟฟ้าแบบเร็วๆตามได้ แต่ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยมากหรือเจ็บหน้าอกก็แสดงว่าเครื่องรุ่นนี้วิ่งตามคุณไม่ไหว ต้องไปเปลี่ยนใส่เครื่องรุ่นที่ซับซ้อนขึ้นไปเรียกว่า DDDR ซึ่งเป็นรุ่นที่ตั้งใจออกแบบมาให้ขยับอัตราการกระตุ้นขึ้นหรือลงตามความต้องการของร่างกาย (rate modulation) ได้ในพิสัยกว้างจนออกกำลังกายระดับหนักมากได้ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่อายุน้อยหรือเป็นนักออกกำลังกายแล้วมีเหตุให้ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ให้นั่งลงคุยกับหมอให้ชัดๆให้หมอเขารู้เหน่งๆว่าคุณเป็นนักออกกำลังกาย ต้องการเครื่องชนิด rate modulation ที่จะเอื้อให้คุณออกกำลังกายได้เต็มที่ โดยคุณยอมจ่ายเงินเพิ่ม ต้องคุยให้ชัดอย่างนี้ก่อน จะได้ไม่มามีปัญหาต้องเปลี่ยนเครื่องหลังจากใส่ไปแล้ว เพราะถ้าคุณไม่พูดอะไร หมอเขาก็จะใส่รุ่นมาตรฐานสำหรับคนไข้ไทยแลนด์สะง็อกสะแง็กทั่วๆไป

     3. ถามว่าการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นเหตุให้นกเขาไม่ขันได้ไหม ตอบว่าได้ครับ เพราะได้มีการวิจัยในผู้ชายชาวสก็อตที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ กลไกการเกิดอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ วงการแพทย์ได้แต่เดาเอาว่าคงเป็นเพราะความกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการเจ็บป่วยของตัวผู้ป่วยเองเป็นต้นเหตุ จริงหรือเท็จคุณพิสูจน์ด้วยการทำวิจัยบนตัวคุณเองได้นะครับ คือคุณก็ตั้งใจจัดการความเครียดและภาวะซึมเศร้าของคุณให้ดี แล้วดูซิว่านกเขาคุณจะกลับมาขันได้หรือเปล่า หิ หิ ถ้าได้ก็แสดงว่าการเดาของวงการแพทย์ครั้งนี้ถูกต้อง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์  

บรรณานุกรม

1. Sagnak L, Ersoy H, Karakoyunlu N, Murat S, Ozok U, Topaloglu H, Ozturk U, Akdemir R. Evaluation of erectile dysfunction in permanent pacemaker implanted patients with cardiac rhythm disorder prediagnosis. Scott Med J. 2013 Feb;58(1):7-11. PMID: 23596020 DOI: 10.1177/0036933012474580