Latest

ผมเสียค่าโง่ หรือว่าผมทำถูกแล้ว

เรียนคุณหมอสันต์
ผมอายุ  61 ปี น้ำหนัก 82 กก. เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง เมื่อวันที่ …. ผมเกิดอาการหน้ามืดหมดแรงดื้อและแน่นในหน้าอก จึงรีบไปรพ. … หมอบอกว่าจะต้องทำการฉีดสีสวนหัวใจฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะต้องทำการขยายหลอดเลือดฉุกเฉินแล้วใส่ลวดถ่าง บอกด้วยว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 300,000 บาท ผมบอกว่าผมขอใช้สิทธิ์สามสิบบาทของผมได้ไหม เพราะผมทราบว่าผมมีสิทธิกรณีฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ของรพ.บอกผมว่าสิทธินั้นจำกัดวงเงินไว้น้อยมากเป็นหลักหมื่นต้นๆ หากเกินวงเงินผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองภายหลัง และได้เล่าให้ผมฟังถึงเรื่องที่รพ.เอกชนชนะคดีศาลบังคับให้ผู้ป่วยชำระหนี้ส่วนที่เกินสิทธินั้น ลูกๆหารือกันแล้วตัดสินใจให้เดินหน้ารักษาโดยลงขันกันจ่าย ซึ่งตอนนี้ผมผ่านมาแล้ว และได้มารักษาต่อกับหมอโรคหัวใจที่รพ. … ซึ่งเป็นรพ.ที่ผมใช้บัตรประกันสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่เพื่อนก็บอกผมว่าทำไมผมไม่ใช้สิทธิ์เพราะผมป่วยฉุกเฉินต้องเบิกจากหลวงได้ทุกบาท เพื่อนบอกว่าผมเสียค่าโง่แล้ว ผมจึงสอบถามไปที่สป.สช.ก็ไม่สำเร็จ เพราะโทรศัพท์ไปก็มีแต่เสียงหุ่นยนต์รับสายวนอยู่สองสามรอบแล้วตัดสายทิ้ง เป็นอย่างนี้ทุกทีจนผมเลิกราไปเอง
ผมรบกวนถามคุณหมอสันต์ว่า
1. ผมจะเบิกเงินที่ลูกๆจ่ายไป (จ่ายจริง 480,000 บาท) คืนจากสปสช.โดยใช้สิทธิกรณีป่วยฉุกเฉินได้ไหม
2. ถ้าเบิกไม่ได้แล้ว หากครั้งหน้าผมมีป่วยฉุกเฉินขึ้นอีกโดยผมตั้งหลักทัน ผมจะเข้ารักษาที่ใกล้บ้านโดยเบิกฉุกเฉินได้ไหม ต้องมีวิธีทำอย่างไร
3. ที่ผ่านมานั้นผมเสียค่าโง่หรือว่าผมทำถูกแล้ว
ขอบพระคุณครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าป่วยฉุกเฉิน เข้ารักษารพ.จนผ่านระยะฉุกเฉินกลับมาอยู่บ้านแล้ว จะขอเบิกค่าป่วยฉุกเฉินได้ไหม ตอบว่าโธ่..ลุง ฟังสำนวนแล้วลุงคงเคยเล่นไพ่มาก่อน ลุงทิ้งไพ่จนหลังเย็นไปแล้วบอกวงไพ่ว่า

     “เฮ้ย..ย ไม่เอา ขอเปลี่ยนเอาไพ่ใบนั้นกลับมาก่อน ขอทิ้งใบใหม่” 

     แบบนี้ก็มีหวังวงไพ่แตกใช่ไหมครับ

     ฉันใดก็ฉันเพล การจะใช้สิทธิเบิกค่ารักษาฉุกเฉินจากสามกองทุนคือกองทุนสามสิบบาท ประกันสังคม และราชการ ที่เรียกกันว่ายูเซ็พ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) นั้น คุณจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินของสพฉ. หรือเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินของรพ.ไม่ว่าจะเป็นรพ.รัฐหรือรพ.เอกชนก็ตาม แจ้งเขารพ.ทราบทันทีที่เข้าไปถึงรพ. แจ้งยืนยันด้วยว่าคุณจะใช้สิทธิ UCEP เนื่องจาก UCEP เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับตั้งแต่ เมย. 2560 จึงเป็นไปได้ว่าพยาบาลหรือแพทย์ห้องฉุกเฉินบางรพ.อาจจะไม่ทราบ ให้คุณบอกเขาว่าผมได้แจ้งคุณแล้วนะมีคนคนนี้ (ชี้ไปที่พวกกันเองที่ยืนอยู่ข้างๆ) เป็นพยาน แค่นี้สิทธิของคุณก็มีผลแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะปฏิเสธการรักษาคุณ เพราะกฎหมายใหม่ตั้งแต่ปี 60 บังคับให้เขารักษาคุณและบังคับให้กองทุนของคุณเป็นผู้จ่ายเงินให้เขา แต่ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้ สิทธินั้นก็จะไม่มีผลใดๆ แปลไทยเป็นไทยว่าป่านฉะนี้แล้ว คุณเบิกเงินฉุกเฉินไม่ได้หรอกครับ

     2.  ถามว่าถ้าครั้งนี้เบิกไม่ได้ หากครั้งหน้าจะทำอย่างไรจึงจะเบิกได้ แหม นี่กะจะรอให้ป่วยฉุกเฉินซ้ำซากโดยไม่คิดจะลงทุนลงแรงดูแลตัวเองเลยหรืออย่างไรเนี่ย แต่เอาเถอะ การตอบคำถามนี้มีประโยชน์มากกับผู้ป่วยทั่วไปและแพทย์พยาบาลที่ยังไม่รู้จักกฎหมาย UCEP ตอบว่าขั้นตอนการใช้สิทธิตามกฎหมาย UCEP มีดังนี้

     2.1 UCEP แปลว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients มีผลบังคับใช้กับลูกค้าของสามกองทุน คือ (1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, (2) กองทุนประกันสังคม (3) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งก็คือครอบคลุมประชาชนคนไทย 100% นั่นเอง

     2.2 ผู้ที่คิดจะใช้ประโยชน์จาก UCEP จะต้องตรวจสอบสิทธิของตัวเองก่อนว่าตัวเองมีสิทธิในกองทุนไหน ไม่งั้นหน้าสิ่วหน้าขวานจะเสียเวลามาก วิธีตรวจสอบสิทธิก็คือเข้าไปในเว็บ  https://www.nhso.go.th  แล้วทำตามผมทีละขั้นดังนี้นะ เพราะมีผู้สูงอายุพยายามทำตรงนี้แล้วไม่สำเร็จเพราะทำอะไรเป็นขั้นตอนไม่เป็น ให้ทำดังนี้

     2.2.1 จะเห็นรูปวงกลมเรียงแถวขึ้นมาห้าวง ให้คลิกเข้าไปตรงวงที่สี่ที่มีชื่อว่า “ตรวจสอบสิทธิบัตรประกันสุขภาพ”
     2.2.2 จะเห็นช่องให้กรอกเลขบัตรประชาชน ก็กรอกลงไป
     2.2.3 จะเห็นช่องให้กรอกวันเดือนปีเกิด ก็กรอกลงไป
     2.2.4 จะเห็นช่องที่เขาเขียนว่า ” ระบุตัวอักษรตามภาพด้านบน” ตรงนี้เป็นช่องปราบคนแก่นะ ระวัง ให้คุณมองดูช่องสี่เหลี่ยมสี่ม่วงที่บรรทัดถัดขึ้นไป ในช่องนั้นมองให้ดีจะมีอักษรภาษาอังกฤษขึ้นมา ให้คุณอ่าน แล้วพิมพ์กรอกตามไปทีละตัวๆอักษรตัวเล็กตัวใหญ่ดูให้ดี กรอกให้เหมือนเขา
     2.2.5 จะเห็นปุ่ม “ตรวจสอบสิทธิ” ให้คุณคลิกเข้าไปในปุ่มนั้นแล้วเขาก็จะแจ้งข้อมูลมาให้ว่าคุณมีสิทธิอยู่ในกองทุนอะไร มีรพ.อะไรเป็นต้นสังกัด ให้คุณจดข้อมูลนั้นไว้ใช้ได้

     3. เมื่อมีเหตุให้เข้ารักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของรพ.ว่าคุณมีสิทธิกองทุนอะไร และประสงค์จะใช้สิทธิตามกฎหมาย UCEP ถ้าเขาทำหน้าเหรอหราไม่รู้เรื่องคุณก็หาพยานไว้คนหนึ่งแล้วย้ำกับเขาว่าคุณแจ้งขอใช้สิทธิตามกฎหมาย UCEP ต่อเขาแล้วนะ

     4. ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของรพ. คือเขาจะดำเนินการประเมินผู้ป่วยตามแนวทางที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด (Pre-authorization) ในกรณีที่เขามีปัญหาในการคัดแยก เป็นหน้าที่ของเขาทีจะปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.(หมายเลข 02-8721669) ซึ่งในกรณีเถียงกันไม่ตกฟาก กม.กำหนดให้ศูนย์นี้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฉุกเฉินอยู่ประจำตลอดเวลา 24 ชม. และให้แพทย์คนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเคาะการวินิจฉัยว่าคุณจะได้หรือไม่ได้สิทธิฉุกเฉิน (สิทธิป้ายแดง) คำวินิจฉัยของแพทย์คนนี้กฎหมายให้ถือเป็นที่สุด เมื่อแพทย์คนนี้เคาะแล้ว ก็จะลงทะเบียนคุณเป็นผู้มีสิทธิฉุกเฉิน ซึ่งภาษาคนทำงานเรียกว่าออก PA code แล้วแจ้งยืนยันให้รพ.ว่าผู้ป่วยคนนี้ได้โค้ดนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายใดๆใน 72 ชั่วโมงแรกสามารถเรียกเก็บกับสำนักงาน UCEP ได้ ทั้งนี้สำนักงาน UCEP จะประสานงานกับกองทุนต้นสังกัดของคุณให้ดำเนินการจ่ายเงินให้รพ.เอง และอาจจะประสานงานกับรพ.ต้นสังกัดแล้วรพ.ต้นสังกัดเอารถมารับไปรักษาที่รพ.ต้นสังกัดก็ได้ ถ้าเขามารับเมื่อใด คุณก็ต้องยอมไปเมื่อนั้น ถ้าคุณไม่ยอมไป ค่าใช้จ่ายใดๆนับตั้งแต่เวลาที่คุณไม่ยอมไปนั้น คุณต้องออกเอง

     5. เกณฎฑ์ที่จะบอกว่าใครจะได้สิทธิป้ายแดงเป็นกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ   ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ  หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง   ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม  เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

     6. ถ้าสพฉ.ประเมินว่าคุณไม่ใช่เป็นป้ายแดง แต่เป็นป้ายเหลืองหรือป้ายเขียว (ด่วนแต่ไม่ฉุกเฉิน) คนไข้แบบนี้สมัยก่อนเขาเรียกว่าคนไข้มาตรา 7 สมัยนี้เขาเรียกว่า Non UCEP ซึ่งหากแจ้งเขาภายใน 24 ชม. กองทุนต้นสังกัดจะจ่ายเงินให้ในวงเงินจำกัดเฉพาะการรักษาใน 24 ชม.แรก กล่าวคือ (1) กรณีรักษาแบบคนไข้นอกจ่ายไม่เกิน 700 บาท (2) กรณีรักษาแบบคนไข้ในจ่ายไม่เกิน  4,500 (3) กรณีผ่าตัดไม่เกินสองชม. จ่ายไม่เกิน 8,000 บาท (4) กรณีผ่าตัดเกินสองชม.หรือเข้าไอซียู.จ่ายไม่เกิน 14,000 บาท หลัง 24 ชม.ไปแล้วถ้าย้ายได้แต่คุณไม่ยอมย้ายก็จ่ายเอง ถ้าย้ายไม่ได้ทางกองทุนจะเจรจาต้าอวยกับรพ.ผู้รักษาเองว่าจะจ่ายกันอย่างไร

     7. ถ้าสพฉ.ประเมินว่าคุณเป็นพวกป้ายขาว (ไม่ด่วนไม่ฉุกเฉิน) ถ้าไม่ใช่รพ.คู่สัญญาของคุณเอง คุณเบิกไม่ได้สักบาท ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น

     8. ถ้าคุณสงสัยคุณจะโทรศัพท์ไปถามเขาก็ได้นะ ตามสายด่วนที่เขาเปิดไว้ กล่าวคือ สายด่วนสปสช. 1330 สายด่วนประกันสังคม 1506 สายด่วนสพฉ. 1669 หรือแม้จะถามว่าอย่างนี้เป็นฉุกเฉินป้ายแดงไหมก็ถามได้ที่เบอร์ 028721669 ในการใช้สายด่วนและไม่ด่วนทั้งหลายคุณต้องทำใจหน่อยนะว่าที่นี่ประเทศไทย ได้แค่ไหนให้คุณเอาแค่นั้นก็พอ

     9. อันนี้ไม่เกี่ยวกับคำถามของคุณ แต่ผมขอปรารภไว้หน่อยตามประสาหมอแก่ขี้บ่น ว่าการที่มีกฎหมาย UCEP ขึ้นมานี้เป็นดาบสองคม ไม่ว่าดาบนั้นจะถือโดยผู้ป่วยหรือโดยแพทย์ก็มีสองคมอยู่ดี ในส่วนที่ถือโดยผู้ป่วยนั้นก็คือคนไทยเรานี้มีพันธุกรรมขี้งกและชอบของฟรี ฟรีแบบงี่เง่าก็เอา หมายความว่าหากของฟรีนั้นจะเป็นเหตุให้ตัวเองเสียหายหรือตายง่ายขึ้นก็ยังจะเอา เพราะว่ามันเป็นของฟรี ไม่ได้ก็จะรบเอา ยกตัวอย่างเช่นคนไข้เวลาเป็นหวัดมาหาแพทย์ก็จะรบเอายาปฏิชีวนะ พอแพทย์อธิบายว่ามันมีผลเสียมากกว่าผลดีก็โมโหลมออกหูเพราะมองแพทย์ว่าเป็นผู้ขัดลาภที่ตนเองมีสิทธิจะได้ และผมเคยเห็นคนไข้ตัดสินใจทำผ่าตัดหลังของตัวเองทั้งๆที่แพทย์ก็บอกว่าโอกาสที่การผ่าตัดจะทำให้ดีขึ้นกว่าการไม่ผ่านั้นยังไม่แน่ แต่ผู้ป่วยก็เอา เพราะว่าได้ผ่าฟรี..อามิตตาภะ พุทธะ

     ความเป็นดาบสองคมด้านคนไข้อีกอย่างหนึ่งคือทุกวันนี้คนไข้จำนวนหนึ่งยอมทำตัวดีใส่ใจอาหารการออกกำลังกายของตัวเองก็เพราะกลัวเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วจะตายข้างถนนเอาง่ายๆ เพราะแม้จะมีสิทธิ์แต่ทุกคนก็ทราบดีว่ามันต้องไปเข้าคิว หากไปรพ.เอกชนได้โดยไม่ต้องรอคิวผู้ป่วยส่วนนี้ก็จะคิดง่ายๆแบบย่ามใจว่าเออ ดีแล้ว ไม่ต้องไปลำบากลำบนดูแลตัวเองหรอก ฉุกเฉินมาก็ยังเข้ารพ.เอกชนได้แม้จะไม่มีเงิน เท่ากับว่ามี UCEP แล้วสุขภาพของผู้คนกลับแย่ลง เพราะคนใช้ประโยชน์จากของดีไม่เป็น

     ความเป็นดาบสองคมในส่วนของแพทย์ก็จะมีปัญหาไม่แพ้กัน เพราะการแพทย์ทั่วโลกทุกวันนี้ที่แพทย์หลงภูมิใจว่ามันเป็นการแพทย์แบบอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์ (evidence based medicine) นั้น แท้จริงแล้วมันเป็นการแพทย์ที่อิงสิทธิการเบิกจ่าย (reimbursement based medicine) คืออะไรที่คนไข้มีสิทธิ์เบิกได้ แพทย์ก็จะทำอันนั้น การให้คนไข้ได้สิทธิรักษาฉุกเฉินราคาแพงเป็นแสนเป็นล้านฟรีๆง่ายๆ แพทย์ก็จะทำการรักษาเหล่านั้นมากขึ้น เพราะมูลเหตจูงใจให้แพทย์เลือกวิธีการรักษาวิธีไหนนั้น มันมีหลายอย่าง ไม่ใช่จะมีเฉพาะความรู้ตามหลักวิชาแพทย์อย่างเดียว หากไม่มีกลไกป้องปรามการตัดสินใจของแพทย์ให้อยู่ในร่องในรอยให้ดี UCEP ก็อาจพาชาติล่มจมได้นะครับ แล้วท่านจำคำทำนายของหมอสันต์ไว้เลยนะ ระบบ UCEP จะล่มหรือไม่ล่มอยู่ที่แพทย์เท่านั้น ไม่ใช่อยู่ที่คนไข้ เพราะคนไข้ไม่ว่าจะงี่เง่าขนาดไหนแต่หากมาเจอแพทย์ที่แน่นปึ๊กในหลักจริยธรรมแล้วคนไข้ต้องเป็นฝ่ายหมอบราบคาบอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากมาเจอแพทย์ที่ข้ามเส้นจริยธรรมเสียเองแล้ว..อะไรก็เกิดขึ้นได้เลยครับคราวนี้

     10. นึกว่าจบแล้ว แต่เพิ่งนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ตอบคำถามสุดท้ายของคุณที่ว่าคุณเสียค่าโง่หรือว่าคุณทำถูกแล้ว ตอบว่าคุณทำถูกแล้วครับ การที่คุณยังรอดชีวิตมานั่งเขียนจดหมายนี้ได้แสดงว่าคุณทำถูกแล้ว แต่ที่ว่าอย่างนี้เรียกว่าเสียค่าโง่หรือไม่มันแล้วแต่จะมองออกมาจากจิตใจแบบไหน สำหรับผมมองว่าการที่คุณและลูกๆซึ่งเป็นคนมีฐานะพอจ่ายได้ควักเงินจ่ายค่ารักษาของตัวเองแทนเงินหลวงนั้น เป็นการทำบุญนะครับ ระบบก็จะมีเงินเหลือไปเอื้อประโยชน์ให้แก่คนที่เขาไม่มีปัญญาจะจ่ายได้อีกเป็นจำนวนมาก สรุปว่าคุณทำถูกแล้ว และได้ทำบุญด้วย ไม่ใช่การเสียค่าโง่ครับ

ปล. เพิ่มเติม
กรณีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วจบไปแล้วแต่อยากจะขอใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาฉุกเฉินย้อนหลัง ให้ส่งคำร้องเรียนไปที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติทางอีเมล ucepcenter@miems.go.th หรอโทรศัพท์ 028721669 โดยเปิดดาวน์โหลดแบบฟอร์มร้องเรียนจากเว็บของสพฉ.ที่ http://www.niems.go.th/th/View/DataService.aspx?CateId=3162
แล้วกรอกแบบฟอร์มแนบหลักฐานตามนั้น ก็จะไปเข้าระบบการพิจารณาของสพฉ.ว่าจะได้เงินย้อนหลังหรือไม่ได้โดยอัตโนมัติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์