Latest

ทันตแพทย์ที่ไม่ชอบชีวิตข้าราชการ

สวัสดีครับอาจารย์ วันที่ผมเขียนอีเมล์ฉบับนี้ถึงอาจารย์คือวันที่ผมกำลังจะยื่นใบลาออกจากราชการครับ ตัวผมเองอยู่ในราชการมาห้าปีแล้ว ใช้ทุนรัฐครบหมดทุกบาททุกสตางค์ ย้ายรพ.มาสองที่แล้ว พบว่าไม่ว่าจะที่ไหนๆก็มีปัญหาทั้งหมด ประกอบกับที่ใหม่ภาระงานหนักมาก ตอนนี้เลยเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตราชการ พอดีมีโอกาสไปรับจ็อปตามคลินิกและรพ.เอกชนต่างๆ พบว่าชีวิตการทำงานมีความสุขกว่ากันเยอะ ประกอบกับจับพลัดจับผลูลองเปิดคลินิกตัวเองช่วงที่ยังรับราชการอยู่ด้วย คลินิกก็พอไปได้ครับ แต่รู้สึกว่าไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง สุขภาพกายสุขภาพใจย่ำแย่ลงทุกวัน work life balance เสียหมด เลยตัดสินใจว่าจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจึงคิดลาออกจากราชการแต่พอจะลาออกแล้วกลับมีความรู้สึกเคว้งคว้าง กลัวความไม่แน่นอนในอนาคต ประกอบกับเสียดายสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาที่ครอบครัวจะได้รับ ตอนนี้ก็เลยสับสนมากๆ จึงอยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ครับ

……………………………………………

ตอบครับ
     สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคุณหมอคือความขัดแย้งระหว่างสองขั้ว (conflict of the opposite) ทำราชการช่างเหนื่อยยากรับผิดชอบมากเหลือเกิน อยากจะลาออกไปให้พ้น แต่ก็กลัวความไม่มั่นคงในชีวิตอิสระนอกวงราชการและกลัวเสียสิทธิสวัสดิการสำหรับครอบครัว ความขัดแย้งทำนองนี้ในบางคนมีสาระลึกซึ้งและสาหัสกว่านี้อีก เช่นมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเขียนมาแต่ผมยังไม่ได้ตอบ (ถือโอกาสตอบไปด้วยกันตรงนี้เสียเลย) เธอเล่าว่าเกลียดสามีที่ปฏิบัติต่อเธอไม่ดี แต่จะไปจากเขาก็ไม่ได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทนความเหงาไม่ได้ ต้องมีใครสักคนให้พึ่งพา พูดง่ายๆว่าติด ผ. นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของ conflict of the opposite  
       1. ประเด็นความมั่นคงในชีวิต (security) คำว่าความมั่นคงนี้หมายถึงความสถาพร (permanence) คุณหมอเรียนหนังสือจบและโตมาจนป่านนี้แล้วผมถามคุณหมอหน่อยสิ ว่าแล้วในชีวิตของคนเรานี้มันมีอะไรที่สถาพรหรือครับ คำว่าความมั่นคงมันจีงเป็นการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงนะ ภาษาบ้านๆเรียกว่าอุปาทาน หากฝากชีวิตไว้กับสิ่งนี้อนาคตของคุณหมอก็คงเดาได้ใช่ไหมครับว่าจะสุขหรือทุกข์
     2. คุณหมอกำลังรับมือกับความกลัว (fear) ความกลัวหากเราวิเคราะห์โคตรเหง้าศักราชของมันแล้วมันมีองค์ประกอบสามส่วนนะ คือ (1) ความจำจากอดีตของเราเอง หมายถึงประสบการณ์เลวๆในอดีต กับ (2) คอนเซ็พท์เรื่องเวลา (psychological time) และ (3) จังหวะที่ความสนใจ (attention) กำลังเผลอไม่ได้อยู่ที่นี่ กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่เราเผลอคาดการณ์หรือ project ความจำเลวๆของเราในอดีตไปยังเวลาในอนาคตในใจเรา (ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริงดอกนะ) เมื่อนั้นความกลัวก็เกิดขึ้น การจะดับความกลัว ต้องดับเหตุทั้งสามนี้ก่อน

     3. การตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพของคุณหมอเป็นเพียงปฏิกริยาที่ถูกสร้างขึ้นจากความจำในอดีตและสิ่งล่อใจในอนาคต การตัดสินใจที่มี motive อย่างนี้เราไม่เรียกว่าเป็น action ที่แท้จริง เรียกว่าเป็น reaction ละก็พอได้ การตัดสินใจแบบ reaction จะไม่เปลี่ยนชีวิตของคุณหมอให้สูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะชีวิตก็ยังคงถูกบงการด้วยความจำจากอดีตและความหลงเชื่อในคอนเซ็พท์เรื่องเวลาอนาคตอยู่เหมือนเดิม เป็นชีวิตที่ยังคงเป็นไปตาม conditioned reflex หรือยะถากรรม ชีวิตอย่างนี้ไม่มีวันจะหลุดพ้นจากวงจรการเกิดดับของความกลัวไปไหนได้หรอกครับ

     การกระทำหรือ action ที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณหมอเป็นอิสระจากความจำในอดีต และจากคอนเซ็พท์เรื่องเวลาในอนาคตแล้วอย่างสิ้นเชิง หมายความว่าเป็นการตัดสินใจทำอะไรก็ได้ที่คุณหมออยากทำที่เดี๋ยวนี้แบบโมเมนต์ต่อโมเม้นท์ จดจ่ออยู่ที่การกระทำที่เดี๋ยวนี้โดยไม่ต้องไปคาดเดาผลลัพท์ในอนาคต ดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องไปพะวงถึงวันพรุ่งนี้ใดๆทั้งสิ้น การกระทำหรือ action อย่างนี้จะไม่มีความคิดอื่นนอกจากงานที่จดจ่อ แต่จะบ่มเพาะปัญญาญาณ (intuition) ให้เกิดขึ้น แล้วปัญญาญาณนั้นจะชี้ให้เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งข้างในและข้างนอกตัวตามที่มันเป็น และจะนำทางชีวิตของคุณหมอไปเองว่าไปทางไหนจึงจะดี หากคุณหมอไม่บ่มเพาะปัญญาญาณมานำชีวิต ชีวิตก็จะถูกนำโดยความจำเก่าๆจากอดีตและความเข้าใจผิดเรื่องเวลาในอนาคตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ต่อไปอีกไม่รู้จบรู้สิ้น

     4. ข้อสุดท้ายนี้ผมขออนุญาตตอบสุภาพสตรีท่านนั้นนะ ในการมาใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยานี้ เราต่างสร้างภาพของกันและกันขึ้นมาในใจของเราแล้วยึดติดภาพนั้น แต่ว่าภาพนั้นมันเป็นเพียงความคิด คู่สมรสอของเราเป็นไปตามภาพนั้นอย่างไม่บิดพริ้วได้อย่างไร เรื่องเพี้ยนๆมันก็เริ่มเกิดจากตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นความกลัว อิจฉา โกรธ เกลียด ชิงดีชิงเด่น โกหกหลอกลวง ซึ่งล้วนเป็นภาวะแทรกซ้อนของการยึดติดภาพที่สร้างขึ้น  แล้วคุณก็ตกเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างสองขั้ว conflict of opposite จะไปจากเขาคุณก็กลัวเหงากลัวไม่มีเพื่อนที่พึ่งทางใจ จะบังคับตัวเองให้หายเหงาก็ทำไม่ได้ จะไม่ไปจากเขาคุณก็บังคับตัวเองให้ยอมรับที่เขาปฏิบัติต่อคุณไม่ได้ จุดจบของเรื่องแบบนี้ก็คือความบ้า

     แต่อันที่จริงมันก็มีทางออกอยู่นะ ทางออกก็คือให้คุณหัดสังเกตสิ่งที่เป็นอยู่ (what is) อย่างยอมรับยอมแพ้อย่างลึกซึ้ง เช่นคุณสังเกตความเหงาอย่างจริงจัง ตัวคุณนั่นแหละเป็นความเหงา ยอมรับมัน ไม่ต้องหนีไปไหน อยู่กับมัน ดูมันจนรู้จักมันอย่างลึกซึ้ง แน่นอนมันจะเบ่งบานเมื่อคุณเริ่มสังเกตมัน แต่ในที่สุดมันก็จะเหี่ยวแห้งเฉาตายไป แล้วคุณจะพบจากการสังเกตนี้ว่าเมื่อดูอย่างลึกซึ้งแล้ว ไม่ว่าความเหงาก็ดี ความยึดถือว่าจะต้องพึ่งพาสามีก็ดี แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความรักหรือเมตตาธรรมอยู่ในนั้นเลย ซักกะนิดเดียว มีแต่ผลประโยชน์ที่จะสนองต่ออีโก้ของเราเท่านั้น เห็นอย่างนี้แล้วความยึดถือนั้นก็จะเฉาไปเอง โดยคุณไม่ต้องไปพยายามแกะความยึดถือออก เท่ากับว่าแค่เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง คุณก็หลุดจากความขัดแย้งระหว่างสองขั้วได้โดยอัตโนมัติ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์