Latest

จะแน่ใจได้อย่างไรว่า…ก็ลองด้วยตัวเองสิครับ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมคิดจะหันมากินอาหารแบบที่คุณหมอแนะนำ (ทำบอลลูนมาหมาดๆหนึ่งครั้ง ไม่ทันครบปีดีคุณหมอจะให้ทำครั้งที่สองอีกแล้ว) แต่ว่าผมยังกริ่งเกรงว่ากินอาหารพืชเป็นหลักอย่างที่คุณหมอว่าผมจะไม่อายุสั้นลงหรือครับ ผมเห็นคนกินมังสะวิรัติมีแต่คนผอมแห้งแรงน้อยซีดๆเหลืองๆดูท่าทางไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ผมจะแน่ใจได้อย่างไรละครับว่ากินแบบนั้นแล้วผมจะไม่แย่ไปยิ่งกว่าเดิม จริงๆแล้วอาหารทำให้คนเป็นโรคหัวใจหรือทำให้คนอายุสั้นจริงหรือครับ แล้วอาหารทำให้คนเสียชีวิตจริงหรือครับ แล้วอาหารที่ว่าเลวนั้นอะไรเลวอะไรดีกันแน่ครับ

…………………………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาหารทำให้คนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจและทำให้อายุสั้นจริงหรือ ตอบว่าจริงครับ มูลนิธิบิลเกตส์ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยขนาดใหญ่ในวารสาร Lancet งานวิจัยนี้ทำใน 188 ประเทศ สำรวจปัจจัยที่มีผลต่ออัตราตายรวม 79 ปัจจัย พบว่าอาหารเลวเป็นปัจจัยที่เพิ่มอัตราตายมากที่สุด คือสัมพันธ์กับการตายของคน 11.3 ล้านคน มากกว่าปัจจัยอื่นเช่น ความดันเลือด มลภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับโภชนาการเช่น สูบบุหรี่ อ้วน ดื่มแอลกอฮอล์จัด ออกกำลังกายน้อย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านั้นล้วนไม่หนักเท่าอาหาร คือเรื่องอื่นก็มีผล แต่เรื่องอาหารเลวมีผลต่อการตายมากที่สุด

     2. ถามว่าแล้วอาหารแบบไหนละที่ดีหรือเลวหนะ คนโน้นว่ายังโง้น คนนี้ว่ายังงี้ แต่บอกหน่อยได้ไหมว่าอาหารแบบไหนที่ว่าเป็นอาหารเลว ตอบว่าในเรื่องนี้มีงานวิจัยที่ดีมากตีพิมพ์ไว้ในวารสาร J of Nutrition ซึ่งทำการวิจัยอาหารโดยสัมพันธ์กับอัตราตายระยะยาวแล้วพบว่าอาหารที่ดีหมายถึงกินแล้วลดการตายด้วยโรคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจหลอดเลือดให้น้อยลงได้แก่ (1) ผลไม้ (2)ผัก (3) ธัญพืชไม่ขัดสี (4) ถั่วและนัท ซึ่งเป็นผลสรุปที่สอดคล้องกับงานวิจัยทางโภชนาการอื่นๆเป็นอันดี อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เสปญและตีพิมพ์ไว้ในวารสารโภชนาการอเมริกัน (AJN) ซึ่งมีผลสรุปว่าแม้แต่คนที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักประจำวัน แค่เพิ่มการกินพืชบวกเข้าไปให้มากกว่าเดิม อัตราตายในระยะยาวก็ลดลงแล้ว

     ส่วนอาหารที่เลวหรือสัมพันธ์กับการตายมากขึ้นนั้น หนีไม่พ้นสองกลุ่มหลักคือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการถนอม หรือ processed meat อันได้แก่ไส้กรอก เบคอน แฮม รองลงไปคือเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคดุๆหลายโรครวมทั้งโรคมะเร็ง จนกองทุนวิจัยมะเร็งโลกและสถาบันวิจัยมะเร็งอเมริกาออกแนวปฏิบัติ (guidelines)  ว่า “ให้กินอาหารที่เป็นพืชให้มากที่สุด ลดเนื้อที่การปรับแต่งถนอมและเนื้อของสัตว์เลี้้ยงลูกด้วยนมลง” 

     3. ถามว่าอาหารแบบไหนทำให้คนอายุยืน ตอบว่าอาหารพืชเป็นหลักนั่นแหละครับ งานวิจัยบลูโซนซึ่งวิจัยชุมชนที่มีคนอายุเกินร้อยปีมากที่สุดห้าแห่งของโลก (ได้แก่ (1) เมืองโลมาลินดาที่สหรัฐฯ, (2) แหลมนิโคยาที่ประเทศคอสตาริกา, (3) ซาร์ดิเนียที่ประเทศอิตาลี, (4) อิคาเรียที่ประเทศกรีก, (5) โอกินาวาที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าแม้ชุมชนเหล่านี้จะอยู่คนละทิศคนละทางแต่มีวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายและออกกำลังกายมากคล้ายๆกัน และกินอาหารพืชเป็นหลักคล้ายกัน อย่างเช่นอาหารคลาสสิกดั้งเดิมของชาวเกาะโอกินาวานั้น 96% เป็นอาหารพืช แต่ว่าชาวโอกินาวาก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอายุยืนมากที่สุด แชมป์อายุยืนที่แท้จริงตามผลวิจัยที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Arch Intern Med. คือชาวโลมาลินดาที่สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโลมาลินดาที่เป็นวีแกน หมายถึงว่าเป็นมังสะวิรัติ โดยมีอายุเฉลี่ยมากกว่าชาวอเมริกันทั่วไปถึง 10 ปี

     4. กินแต่พืชแล้วจะผอมแห้งแรงน้อยไม่แข็งแรงหรือเปล่า ตอบว่าคุณไปเอาข้อมูลมาจากไหนเหรอครับ คนที่เป็นนักกีฬาเอกระดับโลกที่กินมังสะวิรัติมีถมไป ในแง่ของความหล่อล่ำบึ๊ก Jim Morris นักกล้ามมิสเตอร์ยูเอสเอ.ก็เป็นคนกินมังสะวิรัตินะ การที่คุณจะไม่หล่อหรือจะไม่แข็งแรงนั้นไม่เกี่ยวกับการกินพืชเป็นหลัก คนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้ผิด Lizzie Deignan แชมป์จักรยานโลกคนสวยจอมอึดก็เป็นมังสะวิรัติ

     5. ถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากินแต่พืชแล้วจะดี ตอบว่าก็ลองกินดูสักสามเดือนหกเดือนก่อนสิครับ ประสบการณ์ของคุณเองนั่นแหละที่จะทำให้คุณมั่นใจ ดีกว่าเที่ยวสงสัยอะไรต่ออะไรไม่รู้จบไม่รู้สิ้นแต่ไม่ลองด้วยตัวเองจริงๆสักที แล้วของจริงเป็นอย่างไรจะรู้หรือครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
     “…คุณพ่อวัย 85 ปี ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและบายพาสมาแล้ว 2 เส้น เมื่อ25ปีก่อน คุณพ่อเป็นพ่อครัวเก่า เปิดร้านขายอาหารกินแต่อาหารจีนจนเคยปาก ผ่าตัดมาแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
     หลังจากผ่าตัดหัวใจ 4 ปีก่อนก็มีอันต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ทิ้งไปช่วงหนึ่ง เพราะมีเนื้องอก ทำให้ขับถ่ายไม่ได้และมีเลือดออก (แพทย์คาดว่าเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม) เราตัดสินใจไม่คีโม หรือฉายแสง
หลังการผ่าตัด พอหายก็กลับมากินแบบเดิมอีก ล่าสุดต้นเดือนธันวาคมนี้ เข้า รพ. เพราะมีอาการอ๊อกซิเจนต่ำ ค่าเลือดแปรปรวน (คุณพ่อกินยาละลายลิ่มเลือด) เท้าบวม คุณหมอขอให้แอดมิด และวิเคราะห์ว่าเส้นเลือดที่บายพาสไว้น่าจะเสื่อม หรืออุดตัน เพราะเส้นหนึ่งใช้เส้นเลือดดำจากขา อายุการใช้งานจะไม่ทนเท่าเส้นเลือดแดง และคุณพ่อมีอาการหลอดลมโปพอง ตรวจพบเอ็นไซม์บางตัว ซึ่งคุณหมอคะเนว่ามาจากกการที่หลอดเลือดอุดตัน สรุปว่าจะขอสวนหัวใจเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานว่าเป็นจริงหรือไม่
ถ้ามีเส้นไหนอุดตันก็จะทำบอลลูนตามขั้นตอน หรืออาจทำไม่ได้แล้วแต่สภาพ
     ดิฉันกลับมาหาคลิปของคุณหมอสันต์ อ่านบทความขั้นตอนการสวนหัวใจ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ย้อนไปย้อนมา ประกอบการตัดสินใจหลายรอบ มาจบลงที่เปิดคลิปให้คุณพ่อดู ถามความเห็นให้ตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง พ่อไม่อยากทำ เพราะพอได้นอนเตียง รพ.แล้วกว่าจะลุกขึ้นมามันยาก แค่3 วัน เก๊าเทียมก็เล่นงานแล้ว
     “พ่อ คุณหมอสันต์บอกว่าโรคหัวใจมันถอยหลังได้นะ แค่เปลี่ยนอาหาร”
     พ่อเข้า รพ.3-7ธ.ค.18 หมอปล่อยกลับเพราะไม่ยอมสวนหัวใจ เขาบอกพอแล้ว กลับมาบ้าน เริ่มอาหารที่ตัด หมู เห็ด เป็ด ไก่ ออกทั้งหมด กินข้าวต้มปลา สลัดผักกับน้ำโยเกิตรสธรรมชาติ ทุกวัน ตัดเกลือ น้ำปลา เครื่องปรุงรส ทั้งหมด กินลิสงถั่วต้ม กล้วยหอม ผลไม้ทุกชนิด กินแบบนี้มาจนวันนี้ 24 ธ.ค.18 ลุกอาบน้ำเองได้แล้ว ใช้ชีวิตได้ ขับถ่ายไม่เบ่งเสียงดังแล้ว แค่ไม่ถึงเดือนเอง ยาที่ได้มาเป็นกอบเป็นกำ ค่อยๆ ลดลงแล้ว ยาเก๊าต์ ยาขับปัสสาวะ ความดัน ลดไป 4 ตัวแล้ว มันเป็นจริง จริงๆ รอแพทย์ 11 ม.ค.19 ได้ผลอย่างไรจะมาเรียนให้ทราบอีกครั้งนะคะ
     กราบขอบพระคุณ คุณหมอสันต์เป็นอย่างสูงค่ะ คุณพ่อได้เลือกทางของตัวเองแล้ว…”

…………………………………………..

บรรณานุกรม

1. GBD 2013 Risk Factors Collaborators. Global, regional, and national comparative risk assessment of 79 behavioural, environmental and occupational, and metabolic risks or clusters of risks in 188 countries, 1990-2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013. Lancet. 2015 Dec 5;386(10010):2287-323.
2. McCullough ML. Diet patterns and mortality: common threads and consistent results. J Nutr. 2014 Jun;144(6):795-6.
3. Martínez-González MA, Sánchez-Tainta A, Corella D, Salas-Salvadó J, Ros E, Arós F, Gómez-Gracia E, Fiol M, Lamuela-Raventós RM, Schröder H, Lapetra J, Serra-Majem L, Pinto X, Ruiz-Gutierrez V, Estruch R; PREDIMED Group. A provegetarian food pattern and reduction in total mortality in the Prevención con Dieta Mediterránea (PREDIMED) study. Am J Clin Nutr. 2014 Jul;100 Suppl 1:320S-8S.
4. Katz DL, Meller S. Can we say what diet is best for health? Annu Rev Public Health. 2014;35:83-103.
5. World Cancer Research Fund / American Institute for Cancer Research. Food, Nutrition, Physical Activity, and the Prevention of Cancer: a Global Perspective. Washington DC: AICR, 2007.
Willcox DC, Willcox BJ, Todoriki H, Curb JD, Suzuki M. Caloric restriction and human longevity: what can we learn from the Okinawans? Biogerontology. 2006 Jun;7(3):173-7.
6. Fraser GE, Shavlik DJ. Ten years of life: Is it a matter of choice? Arch Intern Med. 2001 Jul 9;161(13):1645-52.