Latest

นิทานสำหรับคนกลัวตายกลัวการเวียนว่ายตายเกิด

 เรียนคุณหมอสันต์
หนูมีเรื่องคาใจอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งไม่ได้คำตอบแก่ตัวเองสักที ทั้งอ่านทั้งฟังแยะมากแต่ก็สรุปไม่ได้ นั่นคือเรื่องการเตรียมตัวไว้สำหรับชาติหน้าของตัวเราเอง เราควรเตรียมตัวไหมคะ ถ้าเราปฏิเสธชาติหน้าก็คือเรามีมิจฉาทิฏฐิ ถ้ายังงั้นเราควรจะเตรียมตัวสำหรับชาติหน้าอย่างไร หนูอยากจะบรรลุนิพพานไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว หนูอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

……………………………………………………..

ตอบครับ

     อย่าไปหลงอยู่ในกับดักคำถามเรื่องชาติหน้าเลย คุณจะไม่ได้ไปไหนดอกถ้าคุณติดอยู่ในกับดักของความคิดหรือคอนเซ็พท์เดิมๆซ้ำๆซากๆอยู่อย่างนี้ คุณต้องออกมาจากสิ่งเดิมๆที่คุณเคยคิด อย่าไปเสียเวลากับเรื่องไร้สาระเลย เรื่องอนาคต ชาติหน้าชาติไหน ความกลัวตาย มันเป็นแค่ความคิด แม้กระทั่งความเป็นเจ้าของที่คุณใช้คำว่า “ชาติหน้าของตัวเราเอง” คำว่าของตัวเราเอง นั่นเป็นคอนเซ็พท์เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของ ใครเป็นเจ้าของอะไร ใครมีสิทธิเหนืออะไร มันเป็นคอนเซ็พท์นะ ถึงจะมีการออกหลักฐานโฉนดที่ดิน สิทธิบัตร บัญชีธนาคารยืนยัน แต่มันก็เป็นเพียงคอนเซ็พท์ที่อาจจะเป็นที่ยอมรับในหมู่คนหมู่หนึ่งชั่วเวลาหนึ่ง แต่จะเป็นความจริงแท้ที่ถาวรไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็หาไม่ คือมันเป็นเพียงความคิด ของจริงไม่มี

      ผมพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้เพราะคนพูดก็ไม่เคยตาย คนฟังก็ไม่เคยตาย พูดไปก็ไลฟ์บอย ดังนั้นผมจะทำแค่เล่านิทานให้ฟังนะ

     นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่าคลื่นน้ำหนุ่มๆสองลูกกำลังพริ้วเป็นระลอกอย่างร่าเริงอยู่กลางมหาสมุทร พริ้วไปพลาง คุยกันไปพลาง มองไปรอบๆตัวพลางเปรียบเทียบคลื่นลูกอื่นๆกับตัวเอง

     “ดูเจ้าคลื่นน้ำตัวน้อยนั้นสิ มันเล็กกว่าฉันมากนิ น่าสมเพทเวทนาแทนมันชะมัด และน่าภาคภูมิใจในความเป็นฉันเสียนี่กระไร” แต่เมื่อมองไปเห็นคลื่นที่ใหญ่กว่าตัวเองก็ร้องว่า

     “โอ้โฮ ดูเจ้าคลื่นยักษ์ลูกโน้นสิ น่าอิจฉา มันทำบุญอะไรมานะถึงได้เกิดมาใหญ่โตมีพละกำลังอย่างนั้น เมื่อไหร่ฉันจะได้เป็นอย่างมันบ้าง แล้วดูตัวฉันสิช่างจิ๊บจ้อยน้อยนิดน่าทุเรศทุรัง”

     แล้วสักพักหนึ่งก็มองเห็นสิ่งหนึ่งขนาดมหึมาสีขาวๆวิ่งเข้ามาหาแต่ไกล

     “ว้าย..ย นั่นอะไรนะ มันวิ่งมาทางเรา ขนาดใหญ่โตซะ” แล้วคลื่นที่เป็นเพื่อนเดินทางก็ตอบว่า

     “นั่นแหละชายหาดละเกลอเอ๋ย หาดป่าตองอันชึ้นขื่อไง”

     “หา..แปลว่าฉันกำลังจะตายแล้วรึนี่ โธ่ ฉันทำกรรมอะไรมาจึงจะต้องมาตายซะตั้งแต่ตอนยังวัยหนุ่มอย่างนี้”

     แล้วก็มีคลื่นลูกที่สามตามมา ตะโกนบอกว่า

     “มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าน้ำนะเจ้าหนู” คลื่นหนุ่มผู้กำลังทอดอาลัยกับชีวิตที่กำลังจะดับดิ้นว่า

     “เออ เออ มันคืออะไรละ” คลื่นแสนรู้นั้นเล่าว่า

     “เจ้าน้ำเนี่ย มันไม่ต้องตายอย่างพวกเราที่เป็นคลื่นนะ มันมีชีวิตที่เป็นอมตะ” เจ้าคลื่นหนุ่มฟังแล้วไม่ตื่นเต้น ตอบว่า

     “นั่นมันเรื่องของน้ำ มันไม่ใช่ข้าที่กำลังจะตายไม่กี่อึดใจข้างหน้านี้แล้ว” คลื่นแสนรู้ตอบว่า

     “ตัวเจ้าเป็นน้ำนะ มองดูตัวเองให้รู้จักตัวเองก่อนสิ”

     จบละ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าความตายน่ากลัวสำหรับคลื่น เพราะคลื่นมีเกิดแล้วมีตาย แต่ไร้ความหมายสำหรับน้ำ เพราะน้ำไม่เกิดไม่ตาย

     เรามีชีวิตอยู่ในสองโลก โลกหนึ่ง คือโลกของความรู้ตัวหรือความตื่น ซึ่งเป็นเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไรมีคุณสมบัติอย่างไรด้วยภาษา ไม่มีขอบหรือมิติกว้างแคบสูงต่ำยาวสั้น ไม่มีเวลาอดีตอนาคต ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีเกิด ไม่มีตาย มีแต่โมเมนต์ที่ตื่นอยู่เดี๋ยวนี้ทีละแว้บ ทีละแว้บ อีกโลกหนึ่ง คือโลกของสำนึกว่าเป็นบุคคลซึ่งผูกโยงเอาร่างกายและความคิดคลุกเคล้ากันปั้นออกมาเป็นบุคคลคือ “ฉัน” คนนี้ซึ่งมีชื่อ สมมุติว่าชื่อแสงเดือนก็แล้วกันนะ มีเลขที่บ้าน มีบัตรประชาชน เป็นโลกซึ่งสิ่งเร้าซึ่งมาในรูปของพลังงานความสั่นสะเทือน (vibration) คือภาพเสียงสัมผัสถูกแปลงเป็นภาษาที่บอกชื่อได้บอกรูปร่างได้เรียบร้อยเสียตั้งแต่ก่อนที่จะตกกระทบที่ใจ โลกของความเป็นบุคคลจึงเป็นโลกที่ถูกสมมุติขึ้นด้วยภาษาและรูปร่าง มีความหมายเฉพาะจากมุมมองของภาษาและรูปร่าง แต่ไม่มีความหมายใดๆเลยจากมุมมองของความสั่นสะเทือน

     ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นกำไลก็ดี สร้อยก็ดี แหวนก็ดี เป็นทองคำ เมื่อหยิบกำไลขึ้นมามองในมุมมองจากความเป็นทองคำ หากผมเอาทองคำออกไปเสียหมดเกลี้ยง กำไลก็ไม่มีแล้ว คือทองคำเทียบได้กับน้ำมหาสมุทร กำไลเทียบได้กับระลอกคลื่นคือเป็นภาษาสมมุติ กำไลก็ดี สร้อยก็ดี แหวนก็ดี มีอยู่แต่ในมุมมองของชื่อและรูปร่าง แต่มันจะดำรงอยู่จะสวมใส่ได้ก็ต่อเมื่อมีทองคำอยู่เท่านั้น หากเอาทองคำออกไป กำไลก็ไม่มี โลกรอบตัวเรานี้ก็เช่นกัน มันมีอยู่เฉพาะในมุมมองของชื่อและรูปร่างซึ่งมีความรู้ตัวหรือความตื่นมารับรู้เท่านั้น ความรู้ตัวหรือความตื่นอยู่นอกภาษา หากเอาความรู้ตัวหรือความตื่นออกไปเสีย สิ่งต่างๆที่เราเรียกชื่อได้บอกรูปร่างได้รอบตัวเรานี้ก็ไม่มี ชื่อและรูปร่างจึงไม่ได้อ้างถึงอะไรที่จริงแท้เลยนอกจากความสนใจหรือความรู้ตัวที่รับรู้มันอยู่ ฉันใดก็ฉันเพล ชาติหน้าในโลกของภาษาก็มีอยู่ได้เพราะความสนใจอันเป็นเสมือนแขนของความรู้ตัวเข้าไปสนใจรับรู้มัน ถ้าถอยความสนใจออกมาจากความคิดชาติหน้าเสีย ชาติหน้าก็จะไม่มี แต่ความสนใจหรือความรู้ตัวนั้นยังมีอยู่ ดังนั้นแทนที่จะสนใจชาติหน้า ผมแนะนำให้คุณสนใจความรู้ตัวดีกว่า

     อะไรที่เป็นเป้าให้คุณรับรู้จับต้องมันได้ นั่นไม่ใช่ความรู้ตัว การจะรู้จักความรู้ตัวคุณต้องหัดถอยออกจากความคิดมาเฝ้าดูความคิดจากข้างนอก การเฝ้าดูความคิดไม่ต้องเฝ้าดูนานเป็นหลายนาที นานขนาดนั้นคุณจะถูกลากเข้าไปในความคิดโดยไม่รู้ตัวนะ แค่ดูให้คุณเห็นว่าความคิดเกิดแล้วก็ดับ มาแล้วก็ไป ไม่ถาวร เฝ้าดูโดยไม่เข้าไปคลุก เห็นความไม่ถาวร วินาทีเดียว แค่นี้คุณบรรลุเป้าหมายของการเฝ้าสังเกตดูแล้ว ต่อจากนั้นผมอยากให้คุณหันความสนใจไปหาผู้สังเกต ใครกันนะที่เฝ้าสังเกตดูความคิดอยู่ ดูไปดูมาคุณก็จะพบว่ามันเป็นแค่ความตื่นที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องมองเห็นได้ และยิ่งไปกว่านั้น..มันเป็นคุณตัวนั่นเอง หมายถึงตัวคุณชั้นใน ไม่ใช่ตัวคุณชั้นนอกที่เป็นบุคคล มาถึงตอนนี้มีตัวคุณสองตัวนะ คุณตัวนอกคือความเป็นบุคคล คุณตัวในคือความรู้ตัว
     ส่วนที่คุณบอกว่า “หนูอยากจะหลุดพ้น” ถามว่าหนูไหนละที่อยากจะหลุดพ้น บุคคลที่ชื่อแสงเดือนไม่มีวันได้หลุดพ้นไปไหนได้หรอก เพราะคุณแสงเดือนเป็นสำนึกว่าเป็นบุคคล เป็นอีโก้หรืออัตตา หรือเป็นชุดของความคิด ความคิดจะหลุดพ้นไปจากความคิดได้อย่างไร ในทางตรงกันข้าม มันมีแต่จะต่อยอดกันขึ้นไปไม่รู้จบเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นหากคุณไปตั้งต้นที่หนูที่เป็นบุคคลที่ชื่อแสงเดือน ยิ่งพยายามจะหลุดพ้น ก็ยิ่งห่างจากโอกาสที่จะได้หลุดพ้นออกไปทุกที กลายเป็นไปเข้าทางของวงจรที่คุณเรียกว่าเวียนว่ายตายเกิด คือยิ่งอยากหนี ยิ่งได้เจอ เออ ชีวิตมันเป็นอย่างนี้เสียด้วยซิคะท่านสาระวัตร

     แต่หนูที่เป็นความรู้ตัวนั่นคนละเรื่องนะ หนูที่เป็นความรู้ตัวสามารถหลุดพ้นจากหนูที่เป็นคุณแสงเดือนได้อย่างแน่นอน ฮี่..ฮี่ งงแมะ ใจเย็นๆ ค่อยๆอ่านแล้วคิดตามไป ลองทำตามไป แล้วจะถึงบางอ้อ คือหลุดพ้นได้จริงๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์