Latest

ที่รักษาความดันเลือดสูงได้ดีที่สุด..คือที่บ้าน

คุณพ่ออายุ 72 ปี เพิ่งออกจากรพ. ไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อตะโพก เนื่องจากหน้ามืดล้มลงแล้วข้อตะโพกหัก หมอที่เปลี่ยนข้อตะโพกบอกว่าให้ปรึกษากับหมอหัวใจอยู่ (คนละรพ.) ว่ายาลดความดันที่ได้อาจมากเกินไป แต่เมื่อไปคุยกับหมอหัวใจ หมอหัวใจยืนยันเสียงแข็งกร้าวแบบมีอารมณ์นิดๆว่าท่านไม่ได้ให้ยามากเกินไป และชี้ให้ดูผลการวัดความดันเลือดของคุณพ่อซึ่งวัดได้ 156/100 แต่ว่าคุณพ่อวัดที่บ้านจะได้อย่างมากแค่ประมาณ 110/90 แต่ว่ามันขึ้นๆลงๆนะคะ
คำถามค่ะ คุณพ่อหกล้มตะโพกหักเพราะยาลดความดันมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าใช่ จะต้องทำอย่างไรต่อไปคะ ในเมื่อหมอไม่ยอมลดยาให้ วงการแพทย์ไม่มีวิธีรักษาความดันเลือดสูงที่ดีกว่าปัจจุบันนี้หรือคะ

ขอบพระคุณคุณหมอสันต์ค่ะ

…………………………………………….

ตอบครับ

     อื้อฮือ..ดุจัง มีลูกขอสักคนนะ หิ หิ พูดเล่น มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1. ถามว่ากินยาความดันเลือดสูงแล้วหน้ามืดหกล้มเป็นเพราะยาหรือไม่ ตอบว่ามีคนเดียวที่จะตอบคำถามนี้ได้คือ…พระพรหม อุ๊บ ขอโทษ พูดเล่นอีกละ หลักวิชาแพทย์มีอยู่ว่าหากให้ยาผู้ป่วยอยู่ แล้วผู้ป่วยมีอาการซึ่งอยู่ในรายการภาวะแทรกซ้อนของยานั้น ให้ถือว่าอาการนั้นเกิดจากยาไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ ฮี่..ฮี่ ฟังรู้เรื่องแมะ แปลไทยให้เป็นไทยคือหน้ามืดล้มลงตะโพกหักเกิดจากไรมะรู้ แต่ต้องลดยาความดันเลือดสูงลงทันทีโดยตั้งสมมุติฐานว่ามันเกิดจากยาไว้ก่อน

     2. ถามว่าในเมื่อหมอไม่ยอมให้ลดยาแล้วจะทำอย่างไรต่อไปดีคะ ตอบว่าคุณมีทางเลือกอีกสองอย่าง (1) แอบลดยาเองไม่ให้หมอรู้ (2) เปลี่ยนหมอให้รู้แล้วรู้รอด คุณชอบแบบไหนก็เอาแบบนั้นละกันนะ

     3. ถามว่าวงการแพทย์ไม่มีวิธีรักษาความดันเลือดสูงที่ดีกว่านี้แล้วหรือ ตอบแบบสารภาพว่าเป็นความจริงที่ทุกวันนี้แม้จะรักษากันเข้มข้นอย่างไรก็ตามแต่อัตราการควบคุมความดันเลือดได้มีอยู่แค่ 50% เท่านั้นเอง นี่กินยากันมากจนถึงขนาดต้องเปลี่ยนข้อตะโพกแล้วนะ หากจะประเมินผลความสามารถของวงการแพทย์ ถ้าใช้ภาษาการเยี่ยมสำรวจคุณภาพก็ต้องพูดว่า

     “ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก”

     แต่ถ้าใช้ภาษาของนักอุตสาหกรรมก็ต้องพูดว่า

     “ทำไมอุตสาหกรรมนี้มันล้าหลังนักวะ”

     วงการแพทย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจว่าวิธีรักษาความดันสูงที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้มันโหล่ยโท่ย ในระยะหลังนี้จึงได้มีงานวิจัยเจ๋งๆที่ชี้ทางออกในเรื่องนี้หลายงาน เช่นอาหาร DASH diet ซึ่งช่วยให้คนไข้ลดความดันเลือดตัวเองลงได้อย่างนุ่มนวลถึง 14 มม. นั่นอันหนึ่งละ งานวิจัยการให้คนไข้ติดตามตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัว (น้ำหนัก ความดัน ไขมัน เบาหวาน การกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย และการงดบุหรี่) ของสมาคมหัวใจอเมริกันแล้วพบว่าคนไข้คุมความดันเลือดตัวเองได้ดีขึ้น นั่นอีกอันหนึ่ง

     ตัวหมอสันต์ก็แอบทำการทดลองรักษาความดันเลือดสูงโดยการมอบอำนาจให้คนไข้ว่าคุณปรับยาเอาเองนะ ให้สูตรไปคร่าวๆว่าถ้าวัดได้เท่านี้คุณลดยานี้ลงเหลือเท่านี้ มีอะไรให้โทรหรืออีเมลมา ปรากฎว่าคนไข้โทรมาหมอสันต์ติดสอนไม่ว่างรับ อีเมลมาหมอสันต์ไม่มีเวลาเปิดอ่าน..จบข่าว สรุปว่าไม่เวอร์ค เพราะเมื่อคนไข้จะปรับขนาดยาแต่เกิดกล้าๆกล้วๆหรือไม่ชัวร์บางประเด็นขึ้นมา ณ ขณะนั้น คนไข้ไม่รู้จะถามใคร

     ไม่เวอร์คก็ลองวิธีใหม่ คราวนี้ผมซื้อเครื่องวัดความดันแบบใหม่มา เครื่องนี้ถ้าวัดความดันแล้วมันจะส่งข้อมูลขึ้นไปเก็บที่ฐานข้อมูลบนก้อนเมฆซึ่งทีมหมอสามารถเห็นได้ทันที ซื้อมาสองชุด หมดเงินไปสี่แสน กะว่าให้คนไข้วัดความดันที่บ้าน แล้วก็ให้หมอน้อย (หมายถึงหมอหนุ่มๆสาวๆ) หรือพยาบาลคอยประมวลผลทางหน้าจอ แล้วสื่อสารกับคนไข้ว่าให้ปรับยาอย่างไร แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะติดที่พยาบาลยังปล้ำเครื่องไม่สำเร็จ ต้องเรียกคนขายที่เมืองนอกมาว้าเฮ้ยคุณเข้ามาดูให้หน่อยสิ ว่ามันเป็นเพราะเครื่องของคุณหรือเป็นเพราะพยาบาลของผมกันแน่ ถ้าเป็นเพราะเครื่องของคุณคุณต้องเอาของใหม่มา แต่ถ้าเป็นเพราะพยาบาลของผมผมก็ต้องทนอยู่กันไป หิ..หิ นี่ก็เพิ่งได้กำหนดนัดหมายที่จะมาดูกันปลายเดือนกพ.นี้

     แต่แล้วขณะที่หมอสันต์รอทำวิจัยแบบไร้อนาคตอยู่นี่ ก็มีการทำวิจัยแบบเจ๋งเป้งครั้งใหม่ล่าสุดที่รพ.บริกแฮมของฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นที่ๆผมเองเคยเป็นศัลยแพทย์เยี่ยมเยือนที่นั่น งานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Cardiology เขาทำการทดลองรักษาความดันเลือดสูงโดยเอาบ้านของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาโรงพยาบาลเป็นที่่ตั้ง (home based treatment) ใช้ผู้ป่วย 130 คนทำแบบการวิจัยกลุ่มคนชนิดติดตามไปข้างหน้า (prospective cohort) ให้ผู้ป่วยวัดความดันตัวเองที่บ้านด้วยเครื่องชนิดที่ผมซื้อมาทดลองนั่นแหละ คือวัดแล้วโยนข้อมูลขึ้นฐานข้อมูลบนก้อนเมฆทันทีแบบอัตโนมัติ แล้วให้ผู้ช่วยแพทย์ (ย้ำ..ใช้ผู้ช่วยแพทย์นะ ไม่ต้องเสียเวลาแพทย์เลย) ที่ได้รับการสอนถึงตรรกะวิธีการปรับยาคอยอ่านหน้าจอทุกสองสัปดาห์ แล้วสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านทาง on line หรือโทรศัพท์ว่าถึงจุดนี้ให้ลดยาตัวนี้เหลือขนาดเท่านี้เป็นต้น โดยไม่ต้องนัดคนไข้มาโรงพยาบาลให้วุ่นวายขายปลาช่อนสักนิดเดียว ทดลองทำอย่างนี้อยู่ 7 สัปดาห์ พบว่าอัตราการควบคุมความดันเลือดได้สำเร็จเด้งจาก 50% ขึ้นมาเป็น 81% ทันที เจ๋ง..งไหมละ นี่นับว่าเป็นวิธีรักษาความดันเลือดสูงที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดเท่าที่มีรายงานไว้ในวารสารการแพทย์ทั่วโลก

     เห็นความสำเร็จของงานวิจัยนี้หมอสันต์ก็เกิดฮึดขึ้นมาอีกรอบ คราวนี้เอาจริงละ จะลองกับผู้ป่วยความดันสูงที่เข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY11) ที่จะมาอีกไม่กี่วันนี้ดูสักตั้ง ลอกแบบงานวิจัยของบริกแฮมที่ฮาร์วาร์ดเลย คือให้คนไข้วัดความดันตัวเองที่บ้าน หมอสันต์สอนให้ผู้ช่วยแพทย์เฝ้าดูข้อมูลความดันบนจอ แล้วสื่อสารวิธีปรับลดละเลิกยาและตอบคำถามให้คนไข้ทางไลน์หรือโทรศัพท์ ทุกวันนี้หมอสันต์ทำคลินิกไม่ค่อยมีคนไข้ก็จริง แต่มีผู้ช่วยแพทย์ระดับจบปริญญาแล้วอยู่ตั้ง 5-6 คน จะไปกลัวอะไร ผลสำเร็จจะเป็นประการใดก็ต้องตามดูกันต่อไป งานวิจัยแบบขี้หมาอะล็อกก๊อกแก๊กถือว่าเป็นความสนุกเล็กๆน้อยๆในอาชีพที่ซ้ำซากน่าเบื่ออย่างอาชีพแพทย์นี้ แต่ไม่แน่นะ ผลวิจัยของหมอสันต์อาจจะเปลี่ยนวิธีรักษาความดันเลือดสูงในเมืองไทยไปบ้างก็ได้ ใครจะไปรู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Naomi D.L. Fisher, Liliana E. Fera, Jacqueline R. Dunning, Sonali Desai, Lina Matta, Victoria Liquori, Jaclyn Pagliaro, Erika Pabo, Mary Merriam, Calum A. MacRae, Benjamin M. Scirica. Development of an entirely remote, non-physician led hypertension management program. Clinical Cardiology, 2019; DOI: 10.1002/clc.23141