Latest

จบปริญญาเอกจากเมืองนอกแล้วอยากหางานทำ

อาจารย์หมอสันต์ครับ

ผมได้รับทุนไปเรียนอเมริกา เรียนจบป.เอก ทางด้าน … ไม่มีทุนผูกมัด อยากหางานทำในเมืองไทย อยากเป็นอาจารย์ที่ ม. … เพราะเห็นว่าตรงกับสาขา … ที่ตัวเองทำวิจัยมา คือสาขา … แต่สมัครไปแล้วมหาลัยก็เงียบ ตอนนี้ต้องไปทำงานร้านขายยาชั่วคราว อยากจะใช้ความรู้ที่เรียนมา ผมลังเลใจว่าจะดิ้นรนกลับไปอเมริกาดีไหม รบกวนคุณหมอช่วยชี้ทางให้ด้วยครับ

…………………………………………

(หมอสันต์ถามกลับ)
รับทุนอะไร ปริญญาที่เรียนมาคือ PharmD ใช่ไหม ถือวีซ่าอะไร F-1 หรือ H1B เคยสอบเทียบความรู้ FPGEE มาบ้างหรือยัง
สันต์

………………………………………………

ทุนที่รับคือทุน คปก. ใช้วีซ่า F-1 ไม่เคยสอบ FPGEE ครับ ตอนก่อนรับทุนอาจารย์ก็เกลี้ยกล่อมให้รับ พูดให้ความหวังเหมือนว่าหากจบเอกกลับมาจะได้เข้าเป็นอาจารย์ในคณะ แต่กลับมาแล้วไม่มีตำแหน่งจึงแห้ว รู้สึกเคว้งคว้างและอายเพื่อนที่ตัวเองจบเอกแล้วกลับมาไม่มีงานทำ รู้สึกเสียเวลาในชีวิตไปหลายปีโดยไม่ได้เอาความรู้มาใช้ประโยชน์

……………………………………………….

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่อยู่นอกวงการเข้าใจเสียหน่อยนะ ว่าทุนคปก. (โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก) เป็นทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างคนไทยให้เป็นนักวิจัย เป็นทุนเรียนโทควบเอกระยะเวลา 5 ปี (4ปีแรกมักให้เรียนที่มหาวิทยาลัยในเมืองไทย การเรียนเป็นแบบการทำงานวิจัยสัก 95% ต้องตีพิมพ์ paper อย่างน้อย 2 paper ส่วนปีสุดท้ายเลือกไปทำแลปต่างประเทศได้) เป็นทุนให้เปล่าทั้งหมด ไม่ต้องใช้ทุน ไม่ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ ตอนที่เรียนก็มีเบี้ยเลี้ยงให้ระดับพอยาไส้ คือสมัยเมื่อหลายปีมาแล้วได้เดือนละประมาณ 8,000-10,000 บาท ตอนนี้ไม่รู้ได้เท่าไหร่

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

     1. เรื่องที่ผ่านไปแล้ว หมายถึงการตัดสินใจรับทุน ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาจนจบมา มันเป็นเรื่องที่จบไปแล้ว อย่าไปอาลัยว่าถ้ายังงั้นน่าจะยังงี้ ถ้ายังงี้น่าจะยังงั้น อีกเลย พูดง่ายๆว่าหากคิดจะเป็นแฟนบล็อกหมอส้นต์ก็อย่าเป็นคนมีอดีต ลืมมันไปซะ มาเริ่มกันที่วันนี้เลยดีกว่า

     สำหรับคนรุ่นหลังที่จะรับทุน ก็ต้องเข้าใจอ่านเอาระหว่างบรรทัดของคำประกาศให้ทุน เช่นเขาบอกว่าเป็นทุนที่ให้โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ความหมายระหว่างบรรทัดก็คือจบแล้วคุณหางานทำเองนะ ฉันไม่จ้างคุณ เป็นต้น ส่วนที่อาจารย์เขาเกลี้ยกล่อมให้คุณรับทุนนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของเขา เพราะมหาลัยบีบอาจารย์ให้ผลิตและตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพื่อให้มหาลัยเองอยู่รอดเพราะผลงานวิจัยเป็นตัวชี้วัดจำนวนเงินสนับสนุมมหาลัยอีกทอดหนึ่ง อาจารย์ก็เลยต้องมาหาลูกมือทำวิจัยด้วยการอาศัยเด็กรับทุนมาเป็นลูกมือ ไม่ใช่ว่าอาจารย์เขาจะหลอกคุณนะ เพราะอาจารย์เขาก็ไม่สบายหรอกที่รับเด็กๆอย่างคุณเข้ามาไว้ในความดูแลและหัดให้ทำวิจัย เพราะในเมืองไทยนี้การทำวิจัยมักทำกันอย่างเร่งรีบ เนื่องจากนักเรียนก็อยากจะรีบๆเอาปริญญามากกว่าที่จะสนใจเนื้อหาเรื่องที่ตัวเองวิจัย อาจารย์ก็ต้องรีบๆเอาผลงานส่งให้ทัน แต่ว่างานวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้มันยากเย็นอย่างยิ่งกว่าที่จะผลิตความรู้ที่ไม่เคยมีใครรู้เลยมาได้สักชิ้นหนึ่งมันหมูซะที่ไหน การเร่งรีบ ทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่วิจัยหรือแม้กระทั่งกระบวนการวิจัยเพียงลวกๆ บางครั้งอาจารย์ก็จำใจต้องหลับตาเสียข้างหนึ่งทำทีเป็นรู้ไม่เท่าทันผลงานที่นักเรียน “คุ้ก” มาส่ง นักเรียนเขียนนิพนธ์ต้นฉบับเพื่อส่งตีพิมพ์มาแต่ละที อาจารย์แก้ให้หมดจนบางครั้งไม่เหลือคำพูดเดิมของนักเรียนแม้เพียงประโยคเดียว ไม่แก้ก็ไม่ได้เพราะรู้ๆอยู่ว่าสำนวนเห่ยๆอย่างนี้บรรณาธิการเขาไม่รับตีพิมพ์ให้หรอก ที่พูดนี่ไม่ได้จะเข้าข้างอาจารย์นะครับ แค่ฉายภาพอีกด้านให้เห็นว่าการเป็นอาจารย์ควบคุมการวิจัยก็ไม่ใช่ว่าชีวิตของท่านจะมีความสนุกสักเท่าไหร่

    2. การจะกลับไปอเมริกานั้นผมประเมินดูโอกาสคงจะปิดตายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคุณกลับมาแล้ว วีซ่า F1 ขาดไปแล้วจะกลับไปทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยในมหาลัยก็คงไม่ได้แล้ว และคุณก็ไม่เคยสอบ FPGEE จะไปทำงานเป็นเภสัชกรทางโน้นก็ไม่ได้ นอกเสียจากว่าคุณจะกลับไปเป็นโรบินฮู้ดอยู่หลังร้านขายส้มตำซึ่งถ้าไม่ใช่ร้านญาติกันก็คงไม่มีใครกล้ารับเพราะกฎหมายลงโทษนายจ้างแรงมาก ดังนั้นเรื่องจะกลับไปทำงานในอเมริกาตัดทิ้งไปเลยดีกว่า

    3. เรื่องการหางานในเมืองไทย แท้ที่จริงแล้วมันหาไม่ยากหรอก อย่างน้อยการที่คุณได้ไปทำงานในร้านขายยาอยู่นี่ก็เป็นการพิสูจน์ว่าการหางานในเมืองไทยมันหาไม่ยาก ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมในการหางานดังนี้

     3.1 อยากได้งานที่มีโอกาสทำการวิจัยก็ต้องใจเย็นแต่ง resume และร่อน resume ไปอย่างไม่ย่อท้อ ไม่บ่น ไม่โวยวาย ให้ปักหลักทำงานร้านขายยาไปพลาง ร่อน resume ไปพลาง คอยฟังข่าว เกาะติด เสาะหา เสนอตัว ถ้ามีใจรักการวิจัยอยากทำงานวิจัยจริงจัง ผมรับประกันว่าความแน่วแน่ของคุณจะเป็นช่องทางให้ปัญญาญาณไหลเข้ามาชี้นำคุณไป เดี๋ยวคุณก็จะได้งานที่คุณอยากได้เอง

     3.2 อย่าเอาปริญญามาตีกรอบให้ชีวิตตัวเองหมดทางไป การมีปริญญาสูงเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ต้อง  เข้าใจผลข้างเคียง (side effect) ของการมีปริญญาสูง และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเหล่านั้นไม่ให้เกิดกับตัวเอง ได้แก่

     3.2.1 ปริญญาสูงๆเป็นคนละเรื่องกับการมีความสุขในชีวิต อย่าไปหงุดหงิดว่าเราได้ปริญญาสูงแล้วทำไมไม่มีความสุขในชีวิต

     3.2.2 ปริญญาสูงๆมักทำให้โลกทัศน์คับแคบ มีความอึดอัดขัดข้องในชีวิตมากขึ้น เข้าทำนองรู้มากยากนาน

     3.2.3 ปริญญาสูง หากไม่เก็บงำประกายให้ดี จะทำให้โอกาสได้งานดีๆทำน้อยลง เพราะนายจ้างส่วนหนึ่งก็ไม่อยากได้คนมีปริญญาสูง อย่างเช่นโรงงานทุกวันนี้ไม่อยากได้คนจบวิศวะ แต่อยากได้คนจบปวช. สมัยผมเพิ่งแตกหนุ่ม คนข้างบ้านเขาส่งลูกเรียน ม. (ส่งไปเข้าโรงเรียนมัธยมที่ตัวอำเภอ) จบม.ศ.3 มาแล้วมันไม่ยอมไถนา เพราะมันเป็นนักเรียน ม. ไปเสียแล้ว มันไถนาไม่ได้แล้ว คนเป็นพ่อบอกว่าคิดผิดมากที่ส่งมันไปเรียน ม. นี่คือผลข้างเคียงของการมีปริญญาสูง ดังนั้นหากเป็นงานนอกมหาลัยต้องรู้จักเลือกว่ากับนายจ้างไหนจะบอกเขาว่าเราจบปริญญาเอกมา กับนายจ้างไหนที่ควรจะบอกเขาแค่ว่าเราจบปริญญาตรีก็พอแล้ว เพราะหากเที่ยวชูหางเหมือนแมงป่องว่าข้าจบปริญญาเอกมานะ จะพาลไม่มีใครจ้างเอา เมื่อได้เริ่มต้นทำงานแล้ว ประสบการณ์ในงานวิจัยที่เราเรียนรู้มานั้นจะช่วยเราประยุกต์ให้ทำงานกระจอกๆได้ดีขึ้นกว่าคนอื่น แล้วเราก็จะเลื่อนตัวเองขึ้นมาเองแบบอัตโนมัติในภายหลัง ป้ายความเป็น “ดร.” ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยในช่วงแรกๆของการทำงาน เมื่อเราเลื่อนสูงขึ้น ป้ายดร.นั้นก็จะได้ใช้ประโยชน์เอง อย่าไปกลัวว่าเรียนมาจนจบปริญญาเอกแล้วไม่ได้ใช้ป้าย และอย่าไปพิลาปรำพันเปรียบเทียบกับเพื่อนๆที่เขาไม่ได้เรียนปริญญาเอกแล้วได้ดิบได้ดีกว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้ การเรียนอะไรไม่เรียนอะไรมันผ่านไปแล้ว จบไปแล้วอย่าไปเสียเวลารำพันถึง เรื่องใครจะได้ดิบได้ดีอะไรก็เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เราควรสนใจแต่เรื่องของเราว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้ชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปอย่างไรให้สร้างสรรค์และมีความสุขโดยไม่ไปเปรียบเทียบกับใคร

      4. อย่าจับประเด็นชีวิตผิดไป สิ่งสุดท้ายที่ต้องการคือความสุขในชีวิตใช่หรือไม่ ไม่ใช่การวิ่งตามการกำกับของอีโก้อันเป็นความจำจากอดีตที่อยากให้เราได้งานทำที่สมศักดิ์ศรีของคนจบปริญญาเอก ดังนั้นให้ดำรงชีวิตอยู่แบบคนธรรมดาที่มีความสุขให้ได้ก่อน ทำตรงนี้ให้เป็นก่อน เริ่มต้นจากทำสิ่งเล็กๆที่ตัวเองชอบ อย่าไปจมอยู่กับอดีต ทิ้งอดีตไปเสีย ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับวันนี้ มองสิ่งรอบๆตัวโดยไม่เอาความจำในอดีตของตัวเองมากำกับ มองให้เห็นความแปลกใหม่ (wonder) และความมหัศจรรย์ (miracle) ของธรรมชาติรอบตัว ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นี่แหละคือชีวิตที่ใหม่ สด ซิงๆ ที่เราเป็นผู้ใช้ชีวิตนี้เอง ความสุขในชีวิตเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างนี้ อย่าไปจมอยู่กับความคิดดั้งเดิมจากอดีตซึ่งมีแต่จะชักนำชีวิตให้เข้าร่องเดิมที่บูดๆ อับๆ ซ้ำๆ ซากๆ เหมือนเป็นมนุษย์เซ็กกันด์แฮนด์หรือมนุษย์มือสอง เพราะทั้งชีวิตต้องถูกใช้ไปตามร่องที่ถูกกำหนดไว้แล้วจากความจำในอดีตโดยไม่มีสิทธิได้สัมผัสกับอะไรใหม่ๆสดๆซิงๆด้วยความรู้ตัวที่ปลอดจากอิทธิพลของความคิดจากอดีตเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์