Latest

ถามเรื่องโรค ปสด. ประสาทแด๊กซ์

คุณหมอค่ะ
สามี แพทย์ตรวจอาการเป็นโรคเส้นสมองขาดเลือด แต่ ทำ MRI แล้วไม่พบเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน มึนๆเวียนหัว หูอื้อมีเสียงวี๊ดๆ ทั้งสองข้าง ทานยาตามหมอสั่งอาการมึนไม่ลดลง แต่อาการชาซีกซ้ายเบาลง
ไปทำงานได้แบบไม่เต็มที่ กินอาหารได้ นอนหลับ ร่างกายภายนอกดูปกติ สามีคิดมาก กลัว วิตกกังวล น้อยใจ หงุดหงิด อาการป่วยของตนเอง ไม่มั่นใจในการตรวจของหมอ คิดหาเรื่องให้ตัวเองเป็นโรคโน้น นี้ ทุกวัน โกรธไม่คุยกับลูกเมีย ขอถามว่าอาการแบบนี้ สามีเริ่มเป็นโรคประสาทหรือเปล่าค่ะ และจะช่วยรักษาอย่างไรได้ค่ะ
กราบขอบพระคุณ คุณหมอ ที่เมตตาตอบให้คำแนะนำ

………………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาการอย่างนี้สามีเป็นโรคประสาทใช่ไหม ตอบว่าคำว่าโรคประสาท (neurosis) นี้วงการแพทย์เลิกใช้ไปนานแล้วนะครับ ในมาตรฐานการจำแนกโรคทางจิตเวชปัจจุบัน (DSM-5) ก็ไม่มีคำนี้แล้ว คนที่ยังใช้คำนี้ทุกวันนี้จึงมีแต่ชาวบ้าน ซึ่งบางคนก็ใช้คำย่อว่า ปสด. ย่อมาจาก ประสาทแด๊กซ์ หิ หิ

     อาการที่สามีของคุณเป็นอยู่นี้ หากจะจัดเข้าคำวินิจฉัยของแพทย์ก็เรียกว่า โรคกังวล (anxiety disorder)

     2. ถามว่าคุณจะช่วยสามีให้หายจากการคิดกังวลได้อย่างไร ตอบว่าไม่มีใครหยุดความคิดกังวลแทนใครได้หรอกครับ กลไกการเกิดความคิดและกลไกการวางความคิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้งและเป็นเรื่องของใครของมันที่ทุกคนต้องลงมือทำให้ตัวเองด้วยตัวเอง สิ่งที่คุณพึงทำก็คือการฝึกวางความคิดกังวลของตัวคุณเองให้สำเร็จก่อน ส่วนสามีจะเป็นอย่างไรนั้นช่างเขาก่อน มิฉะนั้นคุณก็จะกลายเป็นโรค ปสด. ..เอ๊ย ไม่ใช่ ประสาทแด๊กซ์ เอ๊ย..ไม่ใช่ โรคกังวลไปอีกคน

    คุณถามมาแค่สองข้อ ผมตอบให้คุณหมดแล้วนะ คราวนี้เรามาคุยกันเล่นๆถึงเรื่องความคิดกังวลกันต่อดีกว่า

    คนที่อธิบายกลไกการเกิดและดับของความคิดได้เจ๋งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนไว้ในหัวข้อที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แต่ผมจะรวบรัดเป็นคำพูดของผมเองสั้นๆว่าทุกๆความคิดที่เกิดขึ้นในใจหากสังเกตให้ดีมันมีกลไกการก่อตัวที่คล้ายๆกัน หากจัดลำดับเป็นขั้นตอนมันน่าจะมีประมาณสี่ขั้นตอนหยาบๆ คือ

     ขั้นที่ 1. เมื่อความสนใจ (attention) ของเราวิ่งผ่านตาหูจมูกลิ้นผิวหนังหรือใจของเราเองออกไปคลุกอยู่กับสิ่งที่เป็นเป้าที่ภายนอกเป้าใดเป้าหนึ่งอยู่ มันจะมีกลไกอัตโนมัติสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจแว้บหนึ่งว่าเป้านั้นมันคืออะไร กลไกนี้้เป็นการเปลี่ยนเป้านั้น (ซึ่งเป็นคลื่นแสงเสียงหรือสัมผัส) มาอยู่ในมุมมองของภาษาหรือรูปภาพ ดังนั้นคนจะมีความคิด ต้องรู้ภาษา ถ้าไม่รู้ภาษา ก็ไม่มีความคิด กลไกนี้ใช้เวลาเปลี่ยนคลื่นมาเป็นภาษาแค่แว้บเดียว ถ้าไม่ตั้งใจสังเกตให้ดีๆจะไม่เห็น อย่างสมมุติผมพูดว่า “ในหลวง ร.9” คุณเห็นภาพในหลวงขึ้นมาแว้บเลยใช่ไหม แว้บเดียว หรืออย่างผมพูดว่า “พระปรางค์วัดอรุณ” คุณเห็นภาพแว้บเลยเห็นไหม แว้บนั้นมันสื่อถึงคุณได้ทันทีไม่ในรูปของภาษาบรรยายก็ในรูปของภาพในใจ

     ขั้นที่ 2. เมื่อจับสาระได้ว่ามันเป็นอะไรในภาษาหรือภาพแล้ว ภาษานั้นจะตกกระทบในใจแล้วทำให้เกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกาย ดูให้ดีเถอะ แบบว่าขับรถอยู่เห็นตำรวจโบกมือเรียกแล้วก็เกิดอาการใจหายแว้บ..บในหน้าอก แล้วใจก็เต้นตัก ตัก ตัก เป็นต้น

     ขั้นที่ 3. คือใกล้เคียงกับการเกิดความรู้สึกบนร่างกาย จะเกิดความรู้สึกขึ้นในใจ ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็เป็นความรู้สึกอึดอัดไม่ชอบ ถ้าเป็นเรื่องดีก็เป็นความรู้สึกชื่นชอบ

     ขั้นที่ 4. คือการเกิดความคิดใหม่ขึ้นต่อยอดความรู้สึกในใจนั้น ถ้าเป็นการต่อยอดความรู้สึกชอบก็เป็นความคิดอยากได้อีก (ความหวัง) ถ้าต่อยอดความรู้สึกที่ไม่ชอบก็เป็นความคิดอยากหนี (กลัว หรือโกรธ) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความคิดอยากแบบไหนก็คือความคิดกังวลทั้งนั้นแหละ

     วิธีวางความคิดก็คือคือหากคุณตามทันตรงขั้นตอนไหน ให้คุณเสียบความสนใจของคุณเข้าไปที่ขั้นตอนนั้น เมื่อเสียบเข้าไปแล้วก็เฝ้าสังเกตดูอยู่ สังเกตแบบดูเฉยๆ กลไกการเกิดความคิดมันจะหยุดกึก แล้วขั้นตอนต่อๆไปจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ มันเหมือนเราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมัยเก่า เวลาเปิดเครื่องมันต้องบู้ทตัวเองเป็นขั้นๆโดยบอกเป็นตัวหนังสือทีละบรรทัด แต่หากเรากดเอ็นเทอร์เมื่อใด ขั้นตอนการบู้ทจะหยุดกึกอยู่ตรงจังหวะนั้นแล้วขั้นตอนต่อๆไปจะถูกยกเลิกทันที เทคนิคการตัดตอนความคิดก็เหมือนอย่างนั้นแหละ

      วันนี้ผมว่างงานและมีเวลา ให้ผมพล่ามต่ออีกหน่อยนะ รากของความกังวลมันเกิดจากการที่เราไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แล้ว (what is) เรากลับไปหมกมุ่นอยู่กับคอนเซ็พท์ที่ว่าสิ่งนี้ควรจะเป็นอย่างไร (what should be) ตรงช่องว่างระหว่าง what is กับ what should be นี่แหละ ที่เวลาในใจถูกกุขึ้นเป็นตุเป็นตะ เวลาเป็นของไม่มีอยู่จริง แต่มันถูกกุขึ้นในใจ เวลาในใจนี้มันเป็นที่อยู่ของความหวังและความกลัว การจะดับความหวังและความกลัวนี้ได้ เราต้องยุบเวลาในใจนี้ทิ้งไปเสีย นั่นหมายความว่าเราจะต้องยอมรับ what is อย่างไม่มีเงื่อนไข เลิกอุดมคติที่จะต้องไปอยู่กับ what should be เสีย เมื่อไม่คิดจะไปหา what should be เวลาในใจก็ไม่ต้องมี อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน

      ความกลัวตายก็เช่นเดียวกับความกลัวอื่นๆ ช่องว่างหรือระยะระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการตายทำให้เกิดเวลาในใจขึ้น ความกลัวตายอาศัยเวลาตรงนี้อยู่ ถ้าคุณยุบเวลาตรงนี้ทิ้งไปเสีย คือทำให้การมีชีวิตอยู่กับการตายเป็นสิ่งเดียวกันเสีย ความกลัวตายก็จะไม่มีที่อยู่ เพราะความเป็นจริงก็คือการมีชีวิตอยู่ (ในความรู้ตัว) กับการตาย (จากความจำเรื่องในอดีต) เป็นสิ่งเดียวกัน คุณลองใช้ชีวิตแบบมีชีวิตชีวาทุกวันแล้วตายจากความจำเก่าๆบูดๆของคุณด้วยทุกวันๆพร้อมๆกันไป ทิ้งอดีตไม่ว่าจะเคยรุ่งเรืองหรือเศร้าหมองของคุณไปให้หมดทุกวินาที ทิ้งความยึดถือเกี่ยวพันที่คุณเคยก่อขึ้นมาไปเสียด้วยให้หมดทุกวินาที ลองเป็นคนนอกที่อยู่นอกประสบการณ์ในอดีตของคุณเอง ลองเป็นคนไม่มีอดีต ตายจากอดีตทุกโมเมนต์ สะบั้นไปให้หมด อย่าให้มีความต่อเนื่องของความคิดใดๆเหลืออยู่ในใจ แล้วคุณก็จะเข้าใจที่ผมพูดว่าการมีชีวิตอยู่กับการตายเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าคุณทำได้อย่างนี้แล้ว เวลาหรือระยะห่างระหว่างการมีชีวิตกับการตายก็จะไม่มี ความกลัวตายก็จะไม่มีที่อยู่ในใจคุณ เพราะคุณตายทุกวินาทีอยู่แล้ว

     พูดมาถึงตรงนี้ขอพูดต่ออีกหน่อยถึงคอนเซ็พท์เรื่องความหลุดพ้น (liberation) หรืออิสรภาพ (freedom) มันหมายถึงการเป็นอิสระจากความคิดปรุงแต่งใดๆในหัวนะของเราเองนะ ไม่ใช่การเป็นอิสระจากอะไรที่เราไม่อยากได้แต่ขอเก็บสิ่งที่เราอยากได้เอาไว้หน่อย ไม่ใช่อย่างนั้น อิสรภาพที่แท้จริงคือสำนึกที่เป็นอิสระจากความอยากได้(หวัง) ความอยากหนี (กลัว) ทั้งมวล ไปเป็นความรู้ตัวที่ไม่มีความคิด (nirvana) ซึ่งจะเป็นได้ก็ต่อเมื่อใจเราอยู่พ้นสำนึกว่าเป็นบุคคลไปอยู่นอกมิติของเวลาได้แล้ว อยู่แต่ที่เดี๋ยวนี้อย่างไม่มีอดีตไม่มีอนาคต เหมือนคนกำลังขับรถจากกรุงเทพไปเชียงใหม่แล้วประสบอุบัติเหตุรถวิ่งแหกโค้งลงเขากึง กึง กึง ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ต้องประคองพวกมาลัยจดจ่อที่เดี๋ยวนี้จนเวลาในใจหายไปหมด เรื่องกรุงเทพหรือเรื่องเชียงใหม่ไม่มีเหลืออยู่ในหัวเลย มีแต่เดี๋ยวนี้ โมเมนต์นั้นแหละเขาหลุดพ้นจากความคิดเรื่องเชียงใหม่หรือกรุงเทพ เขาหลุดพ้นได้เพราะเขาจดจ่ออยู่กับ what is คือรถที่กำลังแหกโค้งลงเขาอยู่นั้น จึงหลุดออกมาจากความคิดเรื่องเชียงใหม่หรือกรุงเทพซึ่งเป็น what should be การเป็นอิสระจากความคิดก็คืออย่างนี้ คือการตัดตอนความคิดที่ต่อเนื่องมาจากอดีต โช้ะ..ะ แบบไม่อาลัยใยดี มาอยู่แต่กับเดี๋ยวนี้ที่ตรงหน้า ทีละแว้บ ทีละแว้บ

    อุปสรรคของความหลุดพ้นคือตัวตนหรืออีโก้ของเรา ซึ่งมันเป็นเพียงแค่ความจำที่เก็บความคิดเก่าๆสั่วๆไว้กระหยิบมือหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วเราผูกโยงมันขึ้นมาเป็นตุเป็นตะว่านี่แหละคือตัวตนของเรา นี่แหละคือความเป็นเรา คุณจะเรียกมันว่าเป็นความรู้ของเรา หรือเป็นสิ่งที่เรารู้มา (the known) ก็ได้นะ แต่คุณค่าของมันก็เท่ากับขอโทษ.. ขี้ดีๆนี่เอง เพราะมันนอกจากจะเป็นเหตุให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์แล้ว มันยังทำให้เรากลัวตายอีกด้วย เพราะเมื่อเราตายอีโก้หรือความจำขยะพวกนี้แหละที่จะถูกลบทิ้ง อีโก้มันถึงได้กลัวความตายนักหนา แต่ว่าชีวิตมีสามส่วนนะ ร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว ความรู้ตัวไม่ใช่ผู้ตาย ความรู้ตัวเป็นเพียงผู้สังเกตความเป็นไปทั้งหลายที่เกิดขึ้น การจะกลัวตายหรือไม่กล้วตายมันจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาความสนใจของคุณไปไว้ที่ข้างไหน คุณจะเข้าเป็นพวกหรือ identify กับข้างไหน ระหว่างความรู้ตัวกับความคิด (อีโก้) คุณสวิงความสนใจไปไว้ที่ข้างไหน คุณก็เป็นสิ่งนั้น ถ้าคุณเป็นความคิด คุณก็ลนลานกลัวตาย ถ้าคุณเป็นความรู้ตัว คุณก็เฝ้ามองความตายอันเป็นโมเมนต์ที่คุณจะได้เป็นอิสระจากความคิดได้อย่างใจเย็น ดังนั้น ตรงความรู้ตัวนี่แหละที่คุณจะสงบเย็นและปลอดความกังวลใดๆได้อย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งความกลัวตาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์