Latest

วาทะกรรมเรื่องไข่ๆ ยังต้องฟังกันไปอีกหลายสิบปี

อาจารย์คะ
มีคนไข้ถามเรื่องงานวิจัยเรื่องไข่นี้เข้ามาก หนูอ่านดูงานวิจัยเองหนูก็ไม่เข้าใจ รบกวนอาจารย์ช่วยตอบและอธิบายด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………

     เรื่องไข่นี้มันเริ่มจากเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว สมัยนั้นวงการแพทย์รู้ว่ายิ่งคนมีโคเลสเตอรอลและไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูง ก็ยิ่งจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น จึงมีความพยายามจะลดโคเลสเตอรอลที่มาจากอาหารลง โดยทึกทักตั้งเป้าขึ้นมาว่าปริมาณแนะนำต่อวัน (RDA) สำหรับโคเลสเตอรอลคือไม่ควรกินเข้าไปเกิน 300 มก.ต่อวัน เมื่อเอาอาหารที่คนชอบกินมาเรียงลำดับดูก็พบว่าไข่แดงมีโคเลสเตอรอลสูงโดดเด่นมากคือฟองหนึ่งมี 212 มก. ถ้าจะกินไข่วันละฟองทุกวันก็จะได้โคเลสเตอรอลเกินครึ่งของโควต้าเข้าไปแล้ว จะไม่เหลือที่ให้โคเลสเตอรอลจากอาหารอื่น สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) สมัยนั้นจึงแนะนำว่าควรกินไข่แดงไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ก็จะทำให้โคเลสเตอรอลจากไข่เป็นประมาณ 30% ของโคเลสเตอรอลจากอาหารทั้งหมด ซึ่งคนสมันนั้น “เดา” เอาว่าน่าจะกำลังดี

     ตั้งแต่นั้นมา คำแนะนำนี้แทบจะกลายเป็นกฎหมายสำหรับคนทั่วโลก หลายปีมาแล้วมีหมอคนหนึ่งที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งหนึ่งเป็นหัวใจวายตาย คลื่นความกลัวโรคหัวใจได้แผ่ไปทั่วโรงพยาบาล ซึ่งรวมไปถึงความกลัวไข่ด้วย เพื่อนผมซึ่งชอบกินไข่พะโล้เล่าให้ฟังว่าลูกสาวอายุแปดขวบของเขาจะคอยนับว่าสัปดาห์นี้พ่อกินไข่ไปได้กี่ฟองแล้ว ถ้าขยับจะกินฟองที่สี่ ลูกสาวจะตกใจชี้และร้องห้ามเสียงหลงเลยว่า

     “พ่อ..อย่ากิน ตายนะ”

     ต่อมาเมื่อปีค.ศ. 1999 ฮาร์วาร์ดได้สรุปงานวิจัย[1] ที่ทำต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี โดยติดตามดูคนถึงแปดหมื่นกว่าคน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีนิสัยกินไข่มาก คือสัปดาห์ละ 7 ฟองขึ้นไป อีกกลุ่มหนึ่งมีนิสัยกินไข่น้อย คือน้อยกว่าสัปดาห์ละ 7 ฟอง ตามดูไป 8 ปี ก็พบว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้มีอัตราการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไม่ต่างกัน

     ในเวลาไล่ๆกันต่อมาในปี 2013 ก็มีการตีพิมพ์งานวิจัย [2] แบบยำรวมข้อมูล (เมตาอานาไลซีส) จากงานวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนไปข้างหน้าจำนวน 17 งานวิจัย ซึ่งมีฐานข้อมูลคนกินไข่ที่ใหญ่ระดับ 3,081, 269 คน-ปี โดยเอาการเกิดจุดจบที่เลวร้ายด้านหัวใจและอัมพาตเป็นเกณฑ์ ก็ได้ผลสรุปว่าการกินไข่ถึงสัปดาห์ละ 7 ฟองไม่ได้มีผลต่อจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจและอัมพาตแต่อย่างใด ยกเว้นก็แต่คนเป็นโรคเบาหวานหรือมีพันธ์กรรมบางอย่างเท่านั้นซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยคือไม่ถึง 10% ขณะที่คนส่วนใหญ่ 90% กินไข่มากถึงสัปดาห์ละเจ็ดฟองก็สบายดีไม่เห็นเป็นไร

     ทั้งสองงานวิจัยนี้ทำให้ความกลัวไข่ที่มีมาแต่เดิมค่อยๆแผ่วลง

     อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการกินไข่กับการเกิดหัวใจล้มเหลวในหมู่แพทย์และมีข้อสรุปว่าการกินไข่มากกว่าวันละ 1 ฟองสัมพันธ์กับการเป็นหัวใจล้มเหลวมากขึ้น

     ตั้งแต่นั้นมาประเด็นที่ว่าไข่ดีหรือไม่ดีต่อโรคหัวใจก็เป็นวาทะกรรม (controversy) ที่แพทย์โรคหัวใจใช้ทะเลาะกันเล่นเรื่อยมาโดยไม่มีข้างไหนชนะเด็ดขาด

ไข่เหลืออยู่เสี้ยวเดียว ในท่ามกลางเต้าหู้ ถั่ว งา นัท

     พอมาถึงปี 2016 ฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์งานวิจัยติดตามกลุ่มคนชุดใหญ่ [4] แสนกว่าคนตามดูนาน 22 ปีในประเด็นแหล่งของโปรตีนจากทางสัตว์และจากทางพืชว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน แล้วได้ข้อสรุปว่าคนที่กินโปรตีนจากสัตว์ตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น ขณะที่คนกินโปรตีนจากพืชตายจากทุกสาเหตุรวมทั้งโรคหัวใจหลอดเลือดน้อยลง และว่าการทดแทนโปรตีนจากสัตว์โดยใช้โปรตีนจากพืชเข้าไปแทนจะทำให้ตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลดลง งานวิจัยนี้ทำให้ไข่ซึ่งอยู่ข้างโปรตีนจากสัตว์เสียรังวัดให้กับเต้าหู้ ถั่ว งา นัท ซึ่งอยู่ข้างโปรตีนจากพืชไปมากพอควร และงานวิจัยนี้ทำให้ภาพจานอาหารสุขภาพในคำแนะนำรัฐบาลแคนาดา (Canada Food Guide 2019) มีไข่ต้มอยู่แค่เสี้ยวเดียว เสี้ยวเดียวนะ ไม่ใช่ซีกเดียว เคียงคู่กับปลาชิ้นเดียวชิ้นเล็กเท่าหัวแม่มือ ในท่ามกลางเต้าหู้ ถั่ว งา นัท ซึ่งครอบครองเนื้อที่ของอาหารโปรตีนในจานไปเกือบหมด เป็นลางให้เห็นว่า “ไข่” ที่เป็นขวัญใจของเราทั้งหลายทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำซะแล้ว

     แก๊ง..ง ระฆังยกใหม่เริ่มอีก ปีกลาย 2018 นี้เอง ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยขนาดใหญ่ที่จีนซึ่งสำรวจติดตามความสัมพันธ์ระหว่างคนสี่แสนหกหมื่นกว่าคน ระหว่างพวกหนึ่งที่กินไข่น้อย (เฉลี่ย 0.29 ฟองต่อวัน) กับอีกพวกหนึ่งที่กินไข่พอควร (เฉลี่ย 0.76 ฟองต่อวัน) นาน 5 ปีพบว่าพวกที่กินไข่พอควรเกิดจุดจบที่เลวร้ายทางด้านโรคหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่าพวกกินไข่น้อย 18% และเป็นอัมพาตน้อยกว่า 26% เฮ้.. ยกนี้คนชอบกินไข่ได้เฮ เพราะไข่ทำท่าจะได้น้ำขึ้นมาอีกแล้ว แต่ยัง.. ยังชกกันไม่ครบ 15 ยก

     แก๊ง..ง ระฆังยกใหม่เริ่มอีกแล้ว ปี 2019 ในเดือนมีนาคมนี้เอง ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่สหรัฐ [6] ซึ่งยำรวมงานวิจัย 6 รายการ รวมคนได้ 29,615 คน มีเวลาตามดูนาน 17.5 ปี ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างโคเลสเตอรอลในอาหารและไข่กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด ผลวิจัยพบว่าคนที่กินโคเลสเตอรอลในอาหารมากกว่าวันละ 300 กรัมต่อวันจะมีจุดจบที่เลวร้ายทางด้านโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่าคนที่กินโคเลสเตอรอลน้อยกว่านั้น ในแง่ของนัยสำคัญของไข่ หากไปตั้งต้นกับคนที่โคเลสเตอรอลในอาหารเกิน 300 มก.ต่อวันแล้ว ทุกๆครึ่งฟองของไข่ที่เพิ่มเข้ามา ความเสี่ยงต่อโรคจะเพิ่มอีก 6% พูดง่ายๆว่าไข่ไม่ดี อ้าว คราวนี้ไข่อันเป็นที่รักของเราชักจะเสียรูปมวยอีกแล้วสิครับ หิ หิ แต่ยังก่อน ยังอย่าเพิ่งรีบสรุป ยังอีกหลายยก

     หลักฐานที่วงการแพทย์มีทั้งหมดที่ผมเล่ามานั้นเป็นเพียงหลักฐานในระดับตามดูกลุ่มคน (cohort study) ซึ่งอย่างดีก็ทำได้แค่เกริ่นให้ระวังความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง (“ไข่” กับ “การเป็นโรคหัวใจ”) โดยที่ไม่มีทางทราบได้อย่างแท้จริงว่าไข่เป็นความเสี่ยงแท้จริงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดหรือไม่ ยิ่งงานวิจัยแบบ cohort ให้ผลมาทางนี้ทีไปทางนั้นทีแบบนี้ การจะทราบได้ชัวร์ๆต้องทำการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งการวิจัยแบบนั้นไม่มีวันได้เกิดขึ้น เพราะนี่เป็นโลกเสรีใครจะยอมจับฉลากไปอยู่กลุ่มถูกบังคับให้กินไข่ทุกวันไปสิบปีหรือถูกห้ามกินไข่ทุกวันไปสิบปี เมื่อไม่มีโอกาสเกิดงานวิจัยเช่นนี้ ก็ไม่มีวันจะสรุปได้เป็นตุเป็นตะว่าไข่เป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดจริงหรือไม่ เราจึงจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับวาทะกรรมหรือ controversy เรื่องไข่ๆนี้อีกต่อไปอีกนานหลายสิบปี

     อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีอะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้าง หมอสันต์ขอสรุปประเด็นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ดังนี้

     1. ถามว่าจะกินไข่ดีไหม ผมแนะนำว่าให้ขึ้นอยู่กับระดับไขมันในเลือดของท่าน เพราะตัวชี้วัดที่วงการแพทย์ยอมรับว่าสัมพันธ์กับโรคหัวใจหลอดเลือดอย่างแน่ชัดคือระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือด หากมีไขมันในเลือดสูงหรือกินยาลดไขมันอยู่ ผมแนะนำให้อยู่ห่างๆอาหารไขมันสูงทุกชนิดรวมทั้งไข่ไว้เป็นดีที่สุด

     แต่หากท่านมีไขมันในเลือดปกติ ท่านก็อาจกินอาหารไขมันสูงรวมทั้งไข่ได้บ้างโดยไม่ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคของท่านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญดอก เพราะไขมันของท่านยังต่ำ ยังพอมีที่ว่างให้ใส่ ดังนั้น จะสัปดาห์ละกี่ฟองไม่มีใครให้ตัวเลขกลางสำหรับทุกคนได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับระดับไขมันในเลือดของแต่ละท่านเป็นสำคัญ ดังนั้นท่านที่ชอบกินไข่และหรืออาหารไขมันสูงอื่นๆ ควรเจาะเลือดดูไขมันในเลือดของตัวเองทุกปีเพื่อจะได้รู้แต่เนิ่นๆว่ากินมากเกินไปแล้วหรือยัง

     2.  สำหรับท่านที่มีไขมันในเลือดสูงไปเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งก็คือประมาณ 60% ของผู้อ่านบล็อกนี้) ผมแนะนำให้อยู่ห่างๆเนื้อนมไข่ไปเสียเลยดีกว่า และแนะนำให้ทดแทนอาหารโปรตีนจากสัตว์ (เนื้อ นม ไข่) ด้วยอาหารโปรตีนจากพืช (เต้าหู้ ถั่วทุกชนิด งา และนัท) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหลักฐานวิจัยที่มีอยู่บ่งชี้ว่าการทำแบบนี้จะทำให้ความเสี่ยงต่อโรคลดลง ทั้งนี้ท่านไม่ต้องกังวลว่าโปรตีนจากพืชจะได้กรดอามิโนจำเป็นไม่ครบ เพราะหากกินพืชให้หลากหลายเช่นกินถั่วด้วยกินงากินธัญพืชไม่ขัดสีด้วย ก็จะได้กรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนเทียบเท่ากับกินโปรตีนจากสัตว์เช่นกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hu FB, Stampfer MJ, Rimm EB, et al. A prospective study of egg consumption and risk of cardiovascular disease in men and women. JAMA. 1999; 281:1387-94.
2. Shin JY, Xun P, Nakamura Y, He K. Egg consumption in relation to risk of cardiovascular disease and diabetes: a systematic review and meta-analysis. Am J Clin Nutr. 2013;98:146-59.
3. Djousse L, Gaziano JM. Egg consumption and risk of heart failure in the Physicians’ Health Study. Circulation. 2008; 117:512-6.
4. Song M, Fung TT, Hu FB, et al. Association of Animal and Plant Protein Intake With All-Cause and Cause-Specific Mortality. JAMA Intern Med. 2016;176:1453-63.
5. Qin C1, Lv J1, Guo Y2, Bian Z2, Si J1, Yang L3, Chen Y3, Zhou Y4, Zhang H5, Liu J6, Chen J7, Chen Z3, Yu C1, Li L1; China Kadoorie Biobank Collaborative Group. Associations of egg consumption with cardiovascular disease in a cohort study of 0.5 million Chinese adults. BMJ Heart. 2018 Nov;104(21):1756-1763. doi: 10.1136/heartjnl-2017-312651.
ุ6. Zhong VW, Horn LV, Cornelis MC, et al. Associations of Dietary Cholesterol or Egg Consumption With Incident Cardiovascular Disease and Mortality. JAMA. 2019;321(11):1081-1095. doi:10.1001/jama.2019.1572