Latest

ทำบอลลูน 2 ครั้ง ผ่าตัดสมองอีก 3 ครั้ง อนาคตไม่อาจรู้ได้ แต่ปัจจุบันอยู่ได้

     เรื่องเล่าจากคู่ชีวิตของสมาชิกแค้มป์ RDBY ท่านหนึ่งซึ่งอ่านสนุกและมีประเด็นความรู้และความบันดาลใจแทรกอยู่เกือบทุกบรรทัด ต้องขอขอบคุณท่านผู้เล่าที่อนุญาตให้นำลงในบล็อกได้

……………………………………………………….

     คนไข้ชายอายุ 57 ปี มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ3เส้น ได้ทำบอลลูนหัวใจ  ใส่ขวดลวดในเส้นเลือดหัวใจสองครั้ง 5 จุด แต่ยังมีเส้นเลือดหัวใจเล็กที่ตีบอีกบางจุดซึ่งไม่สามารถทำบอลลูนได้

จุดเริ่มต้น ของการดิ้นรน เพื่อให้ชีวิตยาวนานขึ้น

       ขณะที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอุดรธานี หลังใส่ขดลวดครั้งที่ 2 คนไข้ปรารภกับเรา (ภรรยา) เบาๆว่า

     “พ่อคงอายุไม่ยืนแล้วนะ เป็นโรคนี้” 

     เรา  (เรียนจบพยาบาลศาสตร์  ทำงานเป็นนักวิชาการสาธารณสุข) เปิดกูเกิ้ล ค้นคำว่า “เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย แล้วหายได้” กับ “เป็นโรค กล้ามเนื้อหัวใจตาย แล้วไม่ตาย “ ผลที่ค้นพบคือ
“นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ “ นับสิบเรื่อง เต็มหน้าจอ ประสบการณ์ “รักษาโรคหัวใจขาดเลือด โดยไม่ได้กินยา” เราเปิดอ่านทีละเรื่องไปเรื่อยๆ จนประมวลได้ว่าหมอสันต์(นพ.สันต์)เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ
มีผลงานรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจมาก วันหนึ่งเมื่ออายุ 54 ปี. หมอสันต์ ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด หมอสันต์เล่าว่าตอนรู้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดนี่เครียดมากเพราะนึกภาพออกว่าการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร วันนี้ทำบอลลูน อีกสักพักก็ใส่ขดลวดเส้นเลือดหัวใจ ใส่ขวดลวดไปพักซักระยะก็จะต้องทำ by pass ทำแล้วไม่เกินสิบปี ก็ต้องไปเปิดหน้าอกผ่าตัดหัวใจ (ถ้าไม่ตายก่อน)  หมอสันต์บอกว่า “กระบวนการรักษาปัจจุบันไม่สามารถช่วยให้โรคหายได้ เป็นเพียงทุเลาอาการ เพื่อรอวันเป็นมากขึ้นตามลำดับ”

     “โยนยาทิ้ง”. คือสิ่งที่หมอสันต์ทำ หลังจากค้นคว้าผลการวิจัยนับ 1000 เรื่อง แล้วพบ Key Word 3-4 เรื่อง ที่ผลวิจัยบอกว่าส่งผลต่อการดีขึ้นหรือหายจากอาการหัวใจขาดเลือด. ของคนไข้กลุ่มตัวอย่าง คือ
_อาหาร
_ออกกำลังกาย
_การจัดการความเครียด
_การมีเพื่อนกลุ่มป่วยด้วยกัน
หมอสันต์นำผลที่ค้นคว้าได้มาปฏิบัติกับตนเองแล้วพบว่าอาการต่างๆดีขึ้นได้โดยไม่ต้องกินยาใดๆ วันนี้ หมอสันต์. อายุ 64 ปี หมอบอกว่า หมอไม่มีอาการหัวใจขาดเลือดแล้ว แรงจูงใจจากการอ่านแนวปฏิบัติของหมอสันต์ เราอ่านให้คนไข้ฟังถึงกรณีตัวอย่างคนไข้ที่หมอสันต์นำมาเผยแพร่ คนไข้สนใจมากๆ จึงตัดสินใจไปพบหมอสันต์ ที่รพ … ได้พบหมอ ได้รับฟังแนวคิดและประสบการณ์ รวมทั้งได้รับการตรวจร่างกายซ้ำจากหมอสันต์ จนตัดสินใจจะไปเข้าแคมป์ เพื่อรับฟังและฝึกปฏิบัติ วิธีการรักษาโรค
ในต้นเดือนมกราคม 2561.@ Wellness we care อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
         
ระหว่างเดินทางกลับจากพบหมอสันต์

     ไปบ้านพักที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู(โดยรถยนต์). คนไข้ปวดหัวมาก. อาเจียนพุ่ง (พุ่งจริง) โชคดีที่ผ่าน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พอดี   ตอนเลี้ยวรถเข้าโรงพยาบาลยังคุยกันรู้เรื่องว่าปวดหัวมาก แต่สิบห้านาทีหลังเข้าห้องฉุกเฉิน คนไข้ไม่รู้สึกตัว ม่านตาข้างขวาขยายหมดและไม่ตอบสนองต่อแสง. ผลCT scan พบเลือดออกในสมอง ต้องผ่าตัดสมองด่วนที่สุด. ก่อนเข้าห้องผ่าตัดหมอเจ้าของไข้เรียกเราไปคุย เราบอกว่าเป็นพยาบาลพอจะรู้บ้าง ขอให้หมอคุยกับลูกสาว หมอบอกลูกสาวว่า

     “ โอกาสรอดของพ่อมีเพียง10%”

     สรุปคนไข้ต้องผ่าตัดเพื่อDrain เลือดออกจากสมอง 3 ครั้ง ใน1 สัปดาห์
ครั้งที่ 1 วันที่. 24 ธันวาคม 2560.  มีเลือดออกในสมอง 500 cc.
ครั้งที่ 2  วันที่  25 ธันวาคม 2560. มีเลือดออกในสมอง  100 cc.
ครั้งที่ 3  วันที่. 27. ธันวาคม. 2560มีเลือดออกในสมอง. 250 cc.
หมอวินิจฉัยว่า. แพ้ยาต้านเกร็ดเลือด(ที่รักษาโรคหัวใจ) อย่างรุนแรง
ระหว่างที่นอนรักษาตัวที่ โรงพยาบาลศรีนครินท์.  หมอสันต์ โทรหาเพื่อถามอาการคนไข้ “ผมหมอสันต์นะครับ ทราบว่านายอำเภอต้องผ่าตัดสมอง”    หมอบอกว่า “ถ้าออกจากโรงพยาบาลแล้วไปไหว ไปหาหมอที่มวกเหล็กนะครับ หมออยากเห็นคนไข้”   เราตอบไปว่าคนไข้ก็อยากพบหมอมาก เพราะไม่กล้ากินยาอีกแล้ว หมอสันต์เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในยามนี้ (ซาบซึ้งในน้ำใจ และความเมตตา ของหมอสันต์ มากๆ รวมทั้งพี่ตู่ พี่พยาบาลเลขาหมอสันต์ ที่ประสานงานให้) หลังจากพบกันแค่ครั้งเดียวที่โรงพยาบาล…

นอนรักษาอยู่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 21วัน 
   
     มีเรื่องราวมากมายที่ได้ดำเนินการ ทั้งทางวิทยาศาสตร์  พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์  (จริงๆนะ ใครไม่เจอกับตัวเองจะไม่เชื่อ) 22 วัน หลังผ่าตัดสมองครั้งที่ 3 จึงกลับบ้านได้ มานอนพักที่บ้านเพียงวันเดียวเราก็เตรียมการนำคนไข้ไปมวกเหล็ก เพื่อพบหมอสันต์ เดินทางด้วยรถยนต์ที่ขับอย่างประคับประคองที่สุดจากหนองบัวลำภูไปมวกเหล็ก ถึงแคมป์ที่มวกเหล็กตอนเย็น หมอจัดเข้าที่พักแล้วตามไปตรวจถึงเตียงนอนในห้องพัก ตรวจร่างกาย ตรวจความรู้สึกตัว ขอดูยา และแล้ว หมอบอกว่า “หมอแนะนำไม่ให้กินยา (ต้านเกล็ดเลือด) ที่รับมาจากโรงพยาบาล” ความเชื่อมั่นในตัวหมอสันต์ที่มากมายนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากคนไข้ไม่มีทางเลือก กินยา(ต้านเกร็ดเลือด) อีกเลือดก็ออกในสมองอีก หมอสมองบอกไว้ เราและคนไข้จึงตัดสินใจ

     “โยนยาทิ้ง “.

     โดยไม่ได้กินยาที่รับมาจากโรงพยาบาลแม้แต่อย่างเดียว และมุ่งมั่น “พลิกผันโรค( Reverse Disease) “. ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เข้าแคมป์ครั้งแรกสองวันหนึ่งคืน

     ที่เวลเนสวีแคร์นั้น กลางวันญาติและคนไข้ไปนอนพักอยู่ใต้ร่มไม้ โดยหมอสันต์จัดที่นอนที่นั่งให้อย่างพิเศษ แต่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มฟังบรรยายกับคนอื่นๆที่มาแคมป์รุ่นเดียวกัน(RD7) สิ่งที่ได้จากการไปแคมป์ครั้งแรก คือการกินอาหารที่หมอสันต์กินมานับสิบปีเพื่อรักษาโรคครบทุกมื้อ จะไม่มีเนื้อสัตว์และน้ำมันใดๆเลย รวมทั้งไม่มีผงชูรส ไม่มีน้ำตาล กินถั่ว (และนัท ) เป็นหลัก เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารโปรตีน กินผักและผลไม้   กินขนมปังโฮลวีต  กินข้าวไม่ขัดสี  (หมอบอกว่าข้าวขัดสีขาวๆ นอกจากไม่เป็นประโยชน์ แล้วยังมีโทษด้วย) ซึ่งสิ่งที่ผู้ป่วยและญาติรับรู้คือรสชาติอาหารแบบนี้ไม่แย่อย่างที่คิด (ญาติได้วิธีทำอาหารรักษาโรคหัวใจไปเต็มที่)
                     
     เรื่องการออกกำลังกายนั้น เช้าวันแรกมีกิจกรรม” 1 ไมล์ walk test “ เพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจ โดยเดินจากแคมป์ไปบ้านพักของหมอสันต์บนเนินเขา ระยะทางประมาณ 1 ไมล์ ทุกคนที่เดินไปถึงจุดหมายจะได้รับการตรวจชีพจร นั่งพักผ่อนกันแล้วเดินกลับ  เนื่องจากคนไข้ไม่หือไม่อือเหมือนหมอบอก
หมอจึงพานั่งรถตามเพื่อนๆไป แต่ขากลับ  ขออนุญาตหมอเดินกลับ โดยมีพยาบาลเดินประกบ  แต่ก็เดินได้แค่เกือบถึงแคมป์ ต้องให้รถไปรับกลับ เพราะเหนื่อยมากเดินไม่ไหว เช้าวันที่สอง หมอสันต์ให้ทุกคนฝึกการออกกำลังแบบ “ไทชิ “ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายพร้อมทำสมาธิไปด้วย และฝึกการหายใจ ช่วงกลางวันทั้งสองวันจะเป็นการเข้าห้องเรียน ฟังบรรยายจากหมอสันต์ เรื่องกลไกของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคNCDs) คือเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูงฯลฯ ความเป็นมาของการรักษาตามแนวทาง”พลิกผันโรค” เรื่องคุณค่าของอาหารที่จำเป็นต่อการรักษาโรค การเลือกและการปรุงอาหารหลากหลายเมนู
รวมทั้งฝึกการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ และโยคะ ช่วงเย็นเป็นพบปะพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้ คนไข้กับคนไข้ ญาติกับญาติคนไข้ พร้อมกินอาหารเย็นด้วยกัน หมอสันต์ร้องเพลงเก่งมาก
ครบกำหนดหมอก็ให้กลับ หมอบอกว่าเนื่องจากมาครั้งนี้ไม่สามารถร่วมกิจกรรมใดๆได้ (เพราะคนไข้หลังผ่าตัดสมอง สามสัปดาห์ ยังซึมทื่อๆ ไม่หือไม่อือ ใดๆเลย เดินตัวแข็งเป็นผีจีนเลย หมอบอกว่าบางคนอาจต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าภาวะทางสมองจะปกติ) สิ่งมีค่าที่สุดที่ได้จากการไปแคมป์พลิกผันโรคของหมอสันต์ครั้งแรกนี้คือ “แรงบันดาลใจ และความหวัง” และที่สำคัญ หมอให้ไปเข้าแคมป์แรกกับรุ่นต่อไป(RD8) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นการแถมที่มีค่าที่สุด

กลับจากแคมป์ หมอสันต์

     ถึงบ้านพัก เราหาซื้ออุปกรณ์วัตถุดิบต่างๆที่ต้องนำมาประกอบอาหาร อาทิเช่น
_ หม้อทอดไร้น้ำมัน (รุ่นลดราคา ใบละ3500บาท)
_ กะทะไร้น้ำมัน ใบละ 900บาท(ลดราคาเช่นกัน)
_ผัก ปลอดสารเคมีต่างๆ. เน้นมะเขือ เป็นหลักเพราะหมอสันต์บอกว่ามะเขือหนึ่งขีดมีซาลิซเลทเหมือนที่มีอยู่ในยาแอสไพริน มะเขือจึงเป็นอาหารหลักครบมื้อมาตั้งแต่บัดนั้น จนวันนี้
_เต้าเจี้ยวเพื่อปรุงรส.  ตัดน้ำมัน. น้ำตาล. ผงชูรส ออกโดยเด็ดขาด
_ข้าวสาร.  เป็นข้าวกล้องเท่านั้น.  ห้ามกินข้าวขัดสีโดยเด็ดขาด ข้าวขัดสีนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังเป็นโทษ
_ถั่ว.  สารพัดชนิด. คือถั่วดำ. ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ลูกเดือย  แปะก้วย
_ผลไม้ เช่นแตงโม สับปะรด แอปเปิ้ลเขียว
_นัตโตะ (มีพี่ที่นับถือส่งบทความมาให้ ตั้งแต่ยังไม่ผ่าตัดสมอง) นัตโต๊ะคือถั่วหมักของญี่ปุ่น ซึ่งกินทุกวันตอนเช้า วันละกล่อง(50มิลลิกรัม)

จากวันนั้น. จนวันนี้. สิ่งที่ปฏิบัติทุกวันคือ

1.อาหาร

เช้า.
_ดื่มน้ำผักและผลไม้ปั่น ไม่ใส่น้ำตาล มีแต่ความสดและความหวานของผักผลไม้
_กินข้าวต้มสารพัดถั่ว   และมีนัตโตะ 50กรัม. ผสมลงไปด้วย
_กับข้าว เช้า. คือ ผัดมะเขือยาว ผักผักอื่นๆ อีก 2 ชนิด
_ผลไม้ 1 จาน

เที่ยง.
_ข้าวกล้อง จานเดียว. ไม่มีแถม
_กับข้าวที่ปรุงจากปลา.    (ต้ม นึ่ง ย่าง ป่น ลาบฯลฯ)
_ผักสด
_ผลไม้

เย็น
_ข้าวกล้อง. จานเดียวไม่มีแถม
_กับข้าวที่ปรุงจากปลา. ไม่มีน้ำมันไม่มีน้ำตาลไม่มีผงชูรส
_ผลไม้
_ผักสด
โชคดีทีอยู่หนองบัวลำภู. หนองคาย กรรมวิธีปรุงอาหารปลาโดยไม่ใช่น้ำมันมีหลากหลาย ปลาเผา ปลานึ่ง ต้มปลา หมกปลา ย่างปลา ป่นปลา ลาบปลา ยำปลา พล่าปลาฯลฯ อาทิตย์หนึ่งยังเวียนได้ไม่ซ้ำกัน (แถมเมนูน้ำพริกปลาทู อีกอย่าง)

2.ออกกำลังกาย. 

_วิ่งแบบคาร์ดิโอ. ให้หัวใจอยู่ในโซน 2 HR ระหว่าง 90_128 ครั้ง/นาที นาน 30_45นาทีต่อวัน.  อาทิตย์ละ 5วัน หมอ(นพ.อำนาจแพทย์ที่ผ่าตัดสมอง แนะนำการวิ่ง) บอกว่าถ้าวิ่งแล้วชีพจร ไม่ถึง 90ครั้งต่อนาทีร่างกายจะไม่ดึงไขมันมาใช้. ลดไขมันไม่ได้ วิ่งแล้วชีพจรเกิน 128 ครั้ง/นาที ร่างกาย จะดึงแป้งมาใช้
ลดไขมันไม่ได้เช่นกัน จึงต้องหาซื้ออุปกรณ์ประกอบการวิ่ง นอกเหนือจากรองเท้า. คือ นาฬิกา ออกกำลังกาย (หมอสันต์ แนะนำนาฬิกาออกำลังกาย Fitbit ราคา 7000บาท) เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารการวิ่งให้ชีพจรอยู่ในโซน 2 ตลอดเวลาที่วิ่ง โดยwarm up 15นาที วิ่งเหยาะ ๆควบคุมชีพจร 30นาที cool down 15 นาทีรวมเวลา 1ชั่วโมง/วัน  อาทิตย์ละอย่างน้อย 5 วัน วันไหนต้องเดินทางไกลไปราชการจะเตรียมชุดวิ่งไปและจอดรถวิ่งตอนเย็น วิ่งเสร็จจึงนั่งรถต่อไปสู่เป้าหมาย วันไหนไปกรุงเทพจุดพักวิ่งคือสหกรณ์โคนม แถวมวกเหล็ก สระบุรี ทั้งนี้การวิ่งแบบคาร์ดิฟโอน ให้หัวใจอยู่ในโซน2 นี้นอกจากช่วยลดไขมันในเลือดแล้ว เป็นการวิ่งที่ช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย การคำนวณชีพจร โซน 2 ของแต่ละกลุ่มอายุ จะไม่เท่ากัน. ต้นหาจากกูเกิ้ลได้

3.การจัดการความเครียด.   

. _ เช้า ฝึกไทชิ 18ท่า.
– ค่ำสวดมนต์ก่อนนอน
_หมอสันต์บอกให้ควบคุมความเครียด วันไหนนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุม แล้วรู้สึกเครียด ให้ลุกจากโต๊ะ มอบรองนั่งแทน วันไหนนั่งทำงานแล้วง่วง ให้หาเวลางีบหลับ อย่าฝืน หมอบอกว่าทำอะไรก็ได้ที่ไม่เครียด คนไข้บอกว่า “ตีกอล์ฟ ครับ” หมอบอกว่าดีมาก ดีมาก ไปตีได้ทุกวันเลย เข้าทางคนไข้ซะ
เรื่องจัดการความเครียดหมอสอนเยอะ จำได้ไม่หมด

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

     1.น้ำหนัก คงที่ ที่67-68กก ตั้งแต่หลังผ่าตัดสมอง.  (ก่อนป่วย 85 กก) หมอสันต์ให้ควบคุมน้ำหนักไม่เกิน 70 กก. และไม่น้อยกว่า 57 กก.
     2.ผลการตรวจเลือด  ด้วยความกังวลว่าไม่ได้กินยาต้านเกร็ดเลือดจึงวางแผนการตรวจเลือดค่อนข้างบ่อยคือ ตรวจทุก 2 เดือนเพื่อดูค่าการทำงานของตับ ไต และ ไขมันในเลือด ซึ่งค่าการทำงานของตับและไต ปกติ.ผล ไชมันในเลือด ที่ดูเป็นหลัก คือไตรกลีเซอร์ไรด์. ไขมันตัวดี (HDL) และไขมันตัวเลว (LDL)ในที่นี้จะนำมาผลมาเปรียบเทียบเพียงสองครั้ง คือช่วงแรกที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (8 พย.2560 เปรียบเทียบกับผลตรวจเลือดครั้งล่าสุด(1 พร.2562)

                     8 พย. 60     1 พค.  62
Triglyceride 126              67
HDL             35               51
LDL.            157             123

     3.ไม่กินยาใดๆเลย (ไขมัน. ความดัน. หัวใจ) ความดันโลหิตปกติ ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกอีกเลย
     4.ผลการวิ่งสายพาน ที่รพ.ทรวงอก นนทบุรี. เมื่อวันที่ 30 พค.62 ไม่มีภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด.  ไม่มีเจ็บหน้าอก. วิ่งได้นานถึง 9 นาที

ปัจจุบัน. ทำงานได้ปกติ. ตีกอล์ฟ ครั้งละ 18 หลุม อาทิตย์ละ3-4ครั้ง
ยามเย็น.    วิ่งทุกวัน ใช้เวลาไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง
กินอาหารสุขภาพทุกวัน.  เป็นคนไข้ที่มีวินัยมากกกกกกก. (นี่คือจุดแข็งที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ  บางครั้งไปธุระในพื้นที่ที่หาอาหารสุขภาพ ไม่ได้ ก็ทนหิว แทนการกินอาหารราษฎร์นิยม เช่น หมู ไก่ กุ้งฯลฯ) ร้านข้าวแกงจะถูกหมายตาไว้ในการเดินทางทุกครั้ง เพื่อลงไปกินข้าวกับแกงส้มปลา หรือแกงป่าปลา ) ความดันโลหิต 120|80 มิลลิเมตรปรอท
ความจำดีเยี่ยม
หมอบอกว่า “แพ้ยาหัวใจรุนแรงแบบนี้พบได้น้อยมาก แต่ผ่าตัดสมอง3ครั้งแล้ว ไม่มีความผิดปกติใดๆทางสมองเลยยิ่งพบน้อยมากไปอีก
ลืมบอกค่ะ ก่อนป่วยบวชถวายพ่อหลวง ร.9. หลังป่วยบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร
หมอสันต์ แถมคอร์ส เข้าแคมป์พิเศษให้1ครั้ง หลังจากผ่าตัดสมองได้สี่เดือน. (เมษายน 2561) เพื่อเรียนรู้วิชาการที่จำเป็น ตามแนวทางการพลิกผันโรค และไปปิดแคมป์พร้อมเพื่อน(คนไข้)ร่วมรุ่น. เมื่อเดือนเมษายน 2562

อนาคตไม่อาจรู้ได้ แต่ปัจจุบันอยู่ได้ ไม่ต้องกินยา 

     หมอบอกว่ายาต้านเกร็ดเลือดกินอีก เลือดก็ออกในสมองอีก (ผู้ป่วยบอกว่า ไม่กินอีกแล้ว เพราะเลือดออกในสมองน่ากลัวเกิน)
     นี่คือตัวอย่างของHealth literacy process ของคนที่ป่วยด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ  อาจเป็นเพราะไร้ทางเลือก จึงต้องเลือกทางนี้ ยืนยันด้วยสุขภาพของตนเองว่า ทางที่เลือกนี้ คือทางที่ดีที่ถูก ทางนี้คือแก้ปัญหาที่สาเหตุ (ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง)
ลูกชายบอกพ่อตอนเริ่มวิ่งครั้งแรกๆ

     “พ่ออย่าคิดว่าต้องทำเพราะตัวเองป่วย มันจะเครียด พ่อคิดเสียว่านี่คือวิถีชิวิตปกติ”

… (ภรรยาของผู้ป่วย)

………………………………………………………
ปล. (หมอสันต์)
ในบรรดาอาหารที่มี salicylate (ซึ่งเป็นตัวยาหลักในแอสไพริน) ขมิ้นชันเป็นอาหารที่มีซาลิไซเลทสูงที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ที่มีเหตุให้ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดไม่ได้ให้กินขมิ้นชันเป็นอาหารประจำวันอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการกินพืชผักผลไม้ที่หลากหลายและมากๆแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์