Latest

ฉีดฮอร์โมนเพศชายแล้วเป็นอัมพาต เกี่ยวกันไหม

ถามคุณหมอสันต์ครับ
ผมอายุ 68 ปี ยังทำงานอยู่ ผมฉีดฮอร์โมนเพศชายมาหกปีแล้ว มาเมื่อเดือนที่ผ่านมาผมเป็นอัมพาตเฉียบพลัน มืออ่อน พูดไม่ชัด เข้าโรงพยาบาล ยังไม่ทันฉีดยาละลายลิ่มเลือดอาการก็ค่อยๆหายไปเอง ทำ MRI ซ้ำหมอบอกว่าการอุดตันไม่มีแล้ว หมอให้ยาพลาวิกซ์และแอสไพรินและโซคอร์ ผมถามหมอว่าต้องหยุดฉีดฮอร์โมนเพศชายไหม หมอบอกว่าไม่ต้อง แต่ผมยังไม่ค่อยสบายใจ จึงอยากปรึกษาความเห็นของคุณหมอสันต์ว่าการฉีดฮอร์โมนเพศชายทำให้เป็นอัมพาตมากขึ้นหรือเปล่า ผมควรจะเลิกฉีดฮอร์โมนไหม

…………………………………………………..

ตอบครับ

     ถามว่าการฉีดฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจนหรือเทสโทนเตอโรน) เพิ่มโอกาสเป็นอัมพาตมากขึ้นหรือไม่เพิ่ม ตอบว่าหากถือตามหลักฐานใหม่ล่าสุดเท่าที่วงการแพทย์มีอยู่นับถึงวันนี้ การฉีดฮอร์โมนเพศชายสัมพันธ์กับการมีโอกาสเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงขึ้นอีก 21%

     หลักฐานชิ้นที่ว่านี้เป็นงานวิจัยใหม่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารอายุรแพทย์อเมริกัน (AJM) ว่าได้ติดตามดูผู้ป่วยผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำซึ่งหมอให้ฮอร์โมนเพศทดแทนจำนวน 15,401 คนที่ประเทศอังกฤษ พบว่าคนกลุ่มนี้เกิดอัมพาตเฉียบพลัน อัมพฤกษ์ (TIA) และกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มากกว่าคนเพศและวัยเดียวกันที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน 21% โดยที่ความเสี่ยงมักจะเกิดในสองปีแรกของการใช้ฮอร์โมนทดแทน นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีข้อมูลบ่งชี้ไปทางโทษของฮอร์โมนเพศชายทดแทน ทำให้การตัดสินใจใช้ฮอร์โมนนี้ต้องชั่งใจให้มากขึ้น

     ก่อนหน้านี้ก็มีการตีพิมพ์เล็กๆที่เด็นมาร์ค ตีพิมพ์ไว้ในวารสารอายุรศาสตร์อเมริกัน (AJIM) ทำวิจัยแบบเอาคนฉีดฮอร์โมนมาเปรียบกับคนเพศและวัยเดียวกันสุขภาพคล้ายๆกันที่ไม่ได้ฉีดฮอร์โมน เรียกว่าเป็นการทำวิจัยแบบ match case control คือเอาคนที่ฉีดฮอร์โมนแอนโดรเจนมา 545 คน มาเทียบกับคนที่วัยเดียวกันและโครงสร้างสุขภาพคล้ายกันที่ไม่ได้ฉีดฮอร์โมนแอนโดรเจน 5,450 คน แล้วตามดูไปนานเฉลี่ย 7.4 ปี พบว่าพวกที่ใช้ฮอร์โมนตายไป 7 คน (1.3%) ส่วนพวกที่ไม่ใช่ฮอร์โมนตายไป 23 คน (0.4%) พูดง่ายๆว่าพวกที่ฉีดฮอร์โมนมีอัตราตายสูงกว่าพวกที่ไม่ฉีด 3 เท่า งานวิจัยนี้บ่งชี้ไปทางว่าใช้ฮอร์โมนเพศชายอายุอาจจะสั้นกว่าไม่ใช้ โดยที่ผลข้างเคียงของฮอร์โมนที่รู้กันดีอยู่แล้วเช่นผมร่วง มีสิว นมโต นกเขาไม่ขัน ก็พบว่ามีมากกว่าในกลุ่มผู้ใช้ฮอร์โมนตามฟอร์ม

    ในกรณีของคุณซึ่งเพิ่งเป็นอัมพาตไปหมาดๆ คุณต้องชั่งน้ำหนักเลือกเอาข้างใดข้างหนึ่ง ว่าจะเดินหน้าไปกับฮอร์โมนหรือจะเลิกฮอร์โมนเพื่อลดโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำ ถ้าตัวผมเองเป็นคนไข้ ผมกลัวอัมพาตมากกว่ากลัวไม่คึกคัก ผมจะตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักฐานใหม่นี้ว่านอกจากการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอันได้แก่บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้นแล้ว ผมจะเลิกฉีดฮอร์โมนเพศชายเสีย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Simone Y. Loo, Laurent Azoulay, Rui Nie, Sophie Dell’Aniello, Oriana Hoi Yun Yu, Christel Renoux. Cardiovascular and Cerebrovascular Safety of Testosterone Replacement Therapy Among Aging Men with Low Testosterone Levels: A Cohort Study. The American Journal of Medicine, 2019; DOI: 10.1016/j.amjmed.2019.03.022
2. H. Horwitz, J. T. Andersen, K. P. Dalhoff. Health consequences of androgenic anabolic steroid use. Journal of Internal Medicine, 2018; DOI: 10.1111/joim.12850