Latest

หมอหนุ่มสนใจงานเวชศาสตร์ครอบครัว

ผมชื่อ …อายุ 32 ปี  จบแพทยศาสตร์บัณทิต ปี …   ไม่ได้ต่อเฉพาะทาง  ทำงาน รพ.ชุมชน ในจังหวัด …  เคยสมัครเรียนต่อด้าน … ไม่ได้สถาบันเรียน และค้นพบตัวเองว่าไม่อยากเป็น surgeon จึงหันเหเหมา ทำความรู้จักการทำงานเป็นจิตแพทย์ อยากเข้าใจตัวเอง อยากรู้จักตัวเองให้มากขึ้น  ไปค้นเจอ อ.สุกมล เป็นจิตแพทย์ ชำนาญด้านปัญหาชีวิตคู่ เรื่อง sex อาจารย์เล่าเรื่องตลก เฮฮา และผมก็เริ่มสนใจ
สนใจด้านอสังหาริมทรัพย์ กำลังศึกษาหาความรู้ ทั้งหนังสือ และ youtube
      ยุคนี้เป็นยุคของ BIG DATA   เคยฝันเฟื่องอยากทำ Ranking ของแพทย์ เก็บข้อมูลเพื่อตอบโจทย์คนไข้ที่จะมีข้อมูลในการเลือกรักษากับแพทย์ท่านใด มีผลงานประสบการณ์ในอดีตเป็นอย่างไร เช่น คนไข้มีอาการปวดท้องขวาล่าง ไปรพ.วินิจฉัยเป็นไส้ติ่งอักเสบ อยากมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกศัลยแพทย์ผู้ทำการรักษา  การเก็บข้อมูลก็จะเป็นการให้ข้อมูลว่าว่า ศัลยแพทย์ A  เคยผ่าตัดไส้ติ่ง 1000 ราย (ไม่มีโรคร่วม) มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด 20 ราย  , ศัลยแพทย์ B  เคยผ่าตัดไส้ติ่ง 500 ราย (ไม่มีโรคร่วม) มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด 10 ราย    ผลที่จะเกิดขึ้น  ด้านคนไข้ มีข้อมูลของแพทย์ที่ทำการรักษา ตอบโจทย์ pain point ในการทราบผลงานเก่าของแพทย์ได้ สามารถช่วยในการตัดสินใจรักษา    ด้านแพทย์ แพทย์ก็จะพัฒนาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีการแข่งขันกระตุ้นในเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ข้อจำกัด อาจจะให้แพทย์เลือกคนไข้ เลือกเคสที่จะมีโอกาสสำเร็จ มากกว่า complicated case
     ที่ผมเสนอตัวช่วยอาจารย์สันต์ ผมมีเวลาว่างวันละ 1-2 ชม. เป็นวัยรุ่น  สนใจไอเดียของอาจารย์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม อยากจะร่วมเป็นจิตอาสา ช่วยติดตามคนไข้ให้อาจารย์ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยงานอาจารย์บ้าง ถือเป็นการทดลอง ลองแล้วติดใจก็จะทำต่อ

…………………………………………….

ตอบครับ

    คุณหมอ … ครับ ขอบคุณมากที่เล่าเรื่องมา และขอบคุณที่มีจิตอาสาจะมาช่วยทำงานให้ฟรีๆ

     การเข้ามาร่วมดูแลคนไข้ในลักษณะแพทย์ประจำครอบครัว การตั้งต้นด้วยการนั่งดูผู้ป่วยผ่านอินเตอร์เน็ทจากบ้านวันละ 1-2 ชั่วโมงคงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะการจะดูแลผู้ป่วยแบบเวชศาสตร์ครอบครัวร่วมกับผม ผมแนะนำให้คุณหมอกับผม

     1. มาจูนความรู้หลักวิชา Family Medicine และการจับประเด็นว่าจะหยิบหลักฐานวิทยาศาสตร์ส่วนไหนมาเน้นใช้ให้ตรงกันก่อน เพราะทั้งหมดมันอยู่ในวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่ล้วนต้องอาศัยหลักฐานวิจัยเหมือนกันหมดก็จริง แต่แพทย์บางสาขาก็เลือกหยิบหลักฐานส่วนหนึ่งมาใช้ ขณะที่บางสาขาไปเลือกใช้หลักฐานอีกส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคนไข้ไขมันในเลือดสูง หลักวิชามีอยู่สามประการว่าผู้ป่วยต้อง (1) ปรับอาหาร (2) ออกกำลังกาย และ(3) หากลดไขมันยังไม่สำเร็จก็ใช้ยาลดไขมันช่วย แต่ว่าแพทย์แต่ละสาขาจะใช้หลักวิชาเดียวกันนี้โดยมุ่งเน้นคนละที่กันตามความถนัดของตน เช่นถ้าเป็นอายุรแพทย์ก็จะมุ่งเน้นที่การใช้ยาปรับยาให้ได้ขนาดที่ีมากพอที่จะทำให้ไขมันลดลงถึงเกณฑ์ที่กำหนดให้ได้ แต่ถ้าเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะไปมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยปรับอาหารและการใช้ชีวิตให้สำเร็จ ครั้งแรกไม่สำเร็จก็ประเมินว่าทำไมไม่สำเร็จ จับข้อบกพร่องให้ได้ แก้ไขใหม่แล้วลองใหม่เป็นครั้งที่สองครั้งที่สาม นอกจากจะบอกว่าควรกินอะไรแล้ว อาจจะต้องลงไปถึงว่าหาของที่ว่ากินได้หรือเปล่า มีทักษะที่จะทำกินเองได้ไหม กินแล้วทำไมถึงเบื่อหรือเลิกกิิน ทำอย่างไรจึงจะกินอาหารแบบใหม่ได้ตลอดรอดฝั่ง คือหลักวิชาเดียวกัน แต่จุดที่โฟกัสจะไม่เหมือนกัน

     2. มาฝึกทักษะในการดูแลตัวเอง ทั้งการกิน การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด จนใช้ทักษะเหล่านั้นเป็น แล้วนำทักษะนั้นลงใช้กับตัวเองให้ได้ผลก่อน เมื่อใช้ไปเองได้สักพัก จึงค่อยประเมินว่าตัวเองเห็นดีเห็นงามกับวิธีดูแลตัวเองแบบนี้ไหม ถ้าเห็นดีด้วยก็ค่อยเดินหน้าที่จะเอาวิธีนี้ไปสอนให้คนไข้ดูแลตัวเขาด้วยตัวเขาเองต่อไป

     3. มารู้จักคนไข้แบบ face to face ก่อนที่จะเริ่มดูแลกัน อย่างน้อยต้องได้พบหน้า ตรวจร่างกาย รับฟังคำบอกเล่าข้อมูลจากปากของเขาหรือเธอ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นอัตวิสัย เช่น ความเชื่อ ความกังวล ความคาดหวังของเขาหรือเธอเป็นต้น เพราะข้อมูลอัตวิสัยนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้สำเร็จ

     4. มาประเมินปัญหาของคนไข้แต่ละคนร่วมกับทีมอย่างละเอียด เพื่อให้ list problems ได้ตรงกันก่อน ว่าอะไรควรลงมือแก้ก่อน อะไรทีหลัง ต่อแต่ละปัญหาจะใช้กลวิธีอะไรเป็นหลักในการแก้ไข

     5. หลังจากนั้นจึงค่อยติดตามคนไข้จากบ้านผ่านเครื่องมือ Health Dashboard ทางอินเตอร์เน็ทได้

     ถ้าคุณหมอสนใจจะลองทำจริง ปลายสัปดาห์นี้ (27-28 กค.) จะมีแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY-47) ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ที่มวกเหล็ก ให้คุณหมอเดินทางมาเข้าแค้มป์ มานอนค้างตั้งแต่เย็นวันที่ 26 กค. ก็ได้ ทั้งหมดนี้มีคนออกทุนให้ฟรีหมดทั้งกิน อยู่ เรียน แต่คุณหมอต้องเดินทางมาเอง เรียนแล้วลองเอาไปปฏิบัติกับตัวเองดูก่อนว่าเวอร์คไหม ถ้าทำเองแล้วยังไม่เวอร์คก็จะได้ไม่ต้องเอาไปสอนคนไข้ เพราะถ้าเราทำเองแล้วมันไม่เวอร์คเราเอาไปสอนคนอื่นมันจะเวอร์คได้อย่างไร ถ้ามันเวอร์ค คุณหมอค่อยมาคิดต่อว่าจะทำงานทางนี้เป็นงานหลักไหม เพราะงานเวชศาสตร์ครอบครัวแม้จะได้เงินน้อยแต่ก็เป็นงานใหญ่และยาก หากจะเอาดีทางนี้ต้องทำงานนี้แบบเป็นอาชีพหลักของเรา หากทำเป็นงานอดิเรกหรือเป็นอาชีพเสริมผมเห็นว่าจะไม่ได้ผล ส่วนการจะได้เรียนจบบอร์ด Family Medicine หรือไม่เมื่อไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ การที่คุณหมอสามารถดูแลตัวเองด้วยหลักวิชา Family Medicine ได้สำเร็จหรือไม่ก่อนเป็นเรื่องสำคัญกว่า

     จะมาเข้าแค้มป์ได้หรือไม่ได้คุณหมอช่วยบอกผมด้วยนะครับ

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์