Latest

หนีหมอจะสวนหัวใจใส่สะเต้นท์มาแล้วสองคน

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 58 ปี วิ่งออกกำลังกายประจำ เมื่อสองสัปดาห์ก่อนไปวิ่งแล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ต้องนั่งพักสักครู่จึงหายไป กลับมาบ้านแล้วผมยังกังวลนอนไม่หลับ รุ่งเช้าจึงไปห้องฉุกเฉินที่รพ. … หมอตรวจไฟฟ้าหัวใจแล้วบอกว่าไม่ใช่กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และตรวจเอ็นไซม์หัวใจก็ปกติ สรุปว่าเป็นอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดธรรมดา และส่งไปพบหมอหัวใจ หมอหัวใจได้นัดสั่งตรวจสวนหัวใจวันนั้นเลย ผมตัดสินใจขอเลื่อนไปก่อนเพราะเพื่อนกันอีกคนหนึ่งสวนหัวใจใส่สะเต้นท์เมื่อสองเดือนก่อนป่านนี้ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาลเพราะกลายเป็นอัมพาตขณะทำ ผมตัดสินใจกลับไปบ้านต่างจังหวัด ไปหาคุณหมอ … ซึ่งเป็นหมอทำคลินิกที่คุ้นเคยกับครอบครัวผมมานาน หมอให้ผมตรวจคอมพิวเตอร์ CTA ที่ผมส่งมาให้นี้ ซึ่งก็ได้ผลสรุปว่ามีจุดตีบที่หัวใจสามจุด และส่งผมไปหาหมอหัวใจอีกคนหนึ่งที่รพ. … ผมไม่ได้เจอตัวหมอคนใหม่เพราะท่านไม่มีเวลา แต่หมอสั่งให้ผมเข้าตรวจหัวใจเลยโดยผมจะได้เจอหมอที่ห้องสวนหัวใจ ผมเห็นท่าไม่ดีจึงขอเลื่อน ไปหาหมออีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกันแต่ว่าเป็นหมอทาง … เขาแนะนำให้ผมมาพบคุณหมอสันต์ ผมได้ติดต่อคุณตู่เพื่อขอมาพบคุณหมอสันต์ที่รพ. … แต่คุณตู่บอกว่าคุณหมอเกษียณแล้วไม่รับดูผู้ป่วยใหม่แล้ว หากมีอะไรจะปรึกษาให้ใช้วิธีเขียนมาทางอีเมลได้เพราะอาจารย์ให้คำปรึกษาฟรี ผมจึงขอรบกวนคุณหมอด้วยครับ ว่าอย่างผมนี้ควรจะทำการตรวจสวนหัวใจทำบอลลูนใส่สะเต้นท์หรือไม่ครับ
กราบขอบพระคุณครับ
…………………………………………………….
ตอบครับ
     1. ตอนที่คุณเจ็บหน้าอกเข้ารพ.ครั้งแรก ผมเห็นด้วยว่าการวินิจฉัยคือการเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะอาการเจ็บเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย พักแป๊บเดียวแล้วหาย คลื่นหัวใจปกติ เอ็นไซม์หัวใจปกติ เรียกว่าหลักฐานทุกด้านสอดคล้องต้องกันหมด
     2. ภาพ CTA ที่คุณส่งมาให้นี้บ่งชี้ว่ามีแคลเซียมและรอยตีบบนหลอดเลือดหลายตำแหน่งเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ที่สำคัญคือที่โคนหลอดเลือดข้างซ้าย (Left Main หรือ LM) ยังปกติดี คนไข้อย่างคุณนี้ มีงานวิจัยใหญ่ (COURAGE trial) ซึ่งทำไว้อย่างดีสามารถตอบคำถามคุณได้ชัดเจนแน่นอนว่าระหว่างการรักษาแบบรุกล้ำคือใช้บอลลูนขยายใส่ขดลวดถ่างหรือทำผ่าตัดบายพาส กับการรักษาแบบไม่รุกล้ำคือกินยาและดูแลตัวเองไป ระหว่างการรักษาทั้งสองอย่างนี้เมื่อตามดูไปสิบกว่าปีพบว่า.. ตายเท่ากัน แปลว่ารักษาแบบไหนก็ไม่ต่างกัน
     สาเหตุที่อัตราตายไม่ต่างกันนี้เป็นเพราะระบบหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจมันไม่เหมือนระบบท่อน้ำประปาที่ส่งน้ำไปเลี้ยงห้องครัว ไม่ใช่ว่าฉีดสีพบเห็นรอยตีบใหญ่ๆตรงไหนเอาขดลวดเข้าไปถ่างแล้วจะแก้ปัญหาได้ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก ในบรรดาหลอดเลือดที่ทำให้เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หลอดเลือดเล็กหลอดเลือดน้อยถึงระดับที่มองจากภาพผลการฉีดสีไม่เห็นก็ทำให้เจ็บหน้าอกได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทึกทักเอาว่าการเจ็บหน้าอกครั้งนี้เกิดจากรอยตีบอันไหน ยิ่งไปกว่านั้น บางคนไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเลย แค่โมโหเมียก็เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้แล้ว ฉีดสีเข้าไปดูไม่พบรอยตีบที่ไหนสักแห่ง แต่กล้ามเนื้อตายเป็นบริเวณกว้าง อย่างนี้ก็มี เพราะหลอดเลือดของเรานี้แม้จะไม่มีรอยตีบหากมันไม่พอใจมันก็หดตัวเองจนเลือดวิ่งผ่านไม่ได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงมันก็ทำได้
    3. ถามว่าคุณควรจะเลือกรักษาทางไหน อันนี้คุณเลือกเอง ผมแค่ให้ข้อมูลว่าไม่ว่าจะไปทางรุกล้ำคือทำบอลลูนหรือผ่าตัด หรือจะไปทางไม่รุกล้ำคือกินยา ในแง่ของอัตราตายในระยะยาวแล้วไม่ต่างกัน
     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ เพราะเห็นว่ามันสำคัญกว่าข้อที่คุณถาม คืองานวิจัยระดับดีชื่อ INTERHEART study ได้ศึกษาผู้ป่วยที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรกในชีวิตทั่วโลกรวม 52 ประเทศ เปรียบเทียบกับคนเพศวัยอายุและชาติพันธุ์เดียวกัน ได้ข้อสรุปว่าคนที่เกิดหัวใจวายครั้งแรกในชีวิตนี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร อยู่ที่ส่วนไหนของโลกก็ตาม 90% ของคนเหล่านี้ อย่างน้อยต้องมีปัจจัยเสี่ยงสิบอย่างต่อไปนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือ

(1) สูบบุหรี่
(2) มีสัดส่วนไขมันเลวในเลือดสูง
(3) ความดันสูง
(4) เป็นเบาหวาน
(5) อ้วนแบบลงพุง
(6) เครียด
(7) ไม่ได้กินผลไม้ทุกวัน
(8) ไม่ได้กินผักทุกวัน
(9) ไม่ได้ออกกำลังกายทุกวัน
(10) ดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณ

     ทั้งสิบอย่างนี้แหละที่เป็นเรื่องที่คุณจะต้องดูแลตัวเอง ไม่มีใครดูแลให้คุณได้หรอก ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเองก็จบข่าว คุณจะสวนหัวใจทำบอลลูนหรือไม่ทำผมไม่สนใจหรอกเพราะว่าทำแบบไหนก็แป๊ะเอี้ย แต่คุณต้องดูแลปัจจัยเสี่ยงทั้งสิบอย่างนี้ให้ดี โรคของคุณจึงจะถอยกลับได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Boden WE, O’rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.
2. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52.