Latest

compulsiveness วิถีชีวิตแบบย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก

หมอสันต์พูดกับสมาชิก Spiritual Retreat

     เช้านี้มีคนถามถึงวิธีออกไปจากวงจรย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก โกรธซ้ำซาก โมโหซ้ำซาก เมื่อวานนี้ผมพูดถึงว่าร่างกายของเรานี้มีระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่รวมเอาวงจรสนองตอบแบบอัตโนมัติไม่รู้กี่แสนกี่ล้านวงจรเข้าด้วยกัน ในวงจรพื้นฐานอาจมีแค่เซลประสาทสองสามเซล แต่ในวงจรที่ซับซ้อนที่วงการแพทย์เรียกว่า conditioned reflex มันรวมเอาความจำซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดเข้าไปอยู่ในวงจรนั้นด้วย การสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบอัตโนมัติโดยเอาความจำจากอดีตมาเป็นตัวกำหนดจึงเป็นกลไกทำงานพื้นฐานของชีวิตเรา นำเรามาสู่วิถีชีวิตแบบย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็น่าจะตรงกับคำว่า compulsiveness ได้ กลไกนี้บงการ 99% ของพฤติกรรมการคิดการกระทำของเราในแต่ละวัน ทำให้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีความคล้ายคลึงกัน และไม่ค่อยต่างจากชีวิตสัตว์ที่ต่ำกว่าเราสักเท่าไหร่ กล่าวคือวันๆก็กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ แล้วก็ตายไป จะต่างกันก็ตรงที่การย้ำคิดย้ำทำซ้ำซากของสัตว์จะแรงก็เฉพาะตอนท้องหิว แต่ของคนจะแรงเมื่อท้องอิ่มแล้ว เพราะสัตว์ไม่มีความจำและจินตนาการที่ดีอย่างคน สัตว์กินอิ่มแล้วนอนหลับปุ๋ยสบาย แต่คนกินอิ่มแล้วยังต้องมาเป็นทุกข์กับเรื่องเก่าเมื่อสิบปีที่แล้ว หรือไม่ก็เรื่องของวันพรุ่งนี้ซึ่งเราสมมุติขึ้นในใจทั้งๆที่มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าเราทุกข์มากกว่าสัตว์เพราะความจำและจินตนาการของเรานี่เอง

     พูดถึงความทุกข์ ตอนเป็นเด็ก ผมเคยเชื่อว่าการดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี่แหละที่เป็นเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนเราทุกข์ สมัยผมเป็นเด็กหน้าร้อนคนทั้งหมู่บ้านต้องตื่นแต่เช้าเอากระแป๋งไปรอคิวตักน้ำที่บ่อน้ำบ่อเดียวของหมู่บ้าน บ้านหนึ่งใช้น้ำเป็นสิบกระแป๋ง กว่าจะต่อคิวตักขึ้นขนจบก็กินเวลาสองชั่วโมง ผมคิดในใจว่าถ้าคนเราไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องหาน้ำบริโภค ชีวิตก็น่าจะเป็นสุข นอกจากหิ้วน้ำแล้วหน้าที่อีกอันหนึ่งของผมก็คือจัดการนึ่งข้าวทุกเช้า มันเป็นธุรกรรมที่มีขั้นตอนหนักหนาสาหัสมาก ผมก็คิดอีกว่าถ้าคนเราไม่ต้องมาก่อไฟนึ่งข้าวหุงข้าวกินทุกวันชีวิตก็น่าจะสุข พอผมโตขึ้นหน่อยไปเป็นเด็กวัด หน้าหนาวผมต้องตื่นแต่เช้าขึ้นมาก่อไฟต้มน้ำอาบให้พระอาจารย์ซึ่งท่านแก่แล้ว ผมก็คิดว่าถ้าคนเรามีน้ำอุ่นอาบโดยไม่ต้องมานั่งก่อไฟต้มน้ำชีวิตนี้ก็จะน่าเป็นสุข แต่ทุกวันนี้เด็กๆซึ่งไม่ต้องทำทั้งสามอย่างที่ผมเคยต้องทำแล้วชีวิตของพวกเขาก็ไม่เห็นว่าจะสุขแต่อย่างใด วันก่อนผมไปสอนที่คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้คุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ทางจิตเวช เขาบอกผมว่ายาที่จ่ายให้คนไข้มากที่สุดตอนนี้คือยาต้านซึมเศร้า โดยที่หนึ่งในสามของยาเหล่านั้นจ่ายให้คนไข้อายุต่ำกว่า 17 ปี แปลว่าเด็กสมัยนี้ ซึ่งไม่ต้องหาบน้ำ หุงข้าว ต้มน้ำร้อนอย่างเด็กสมัยก่อน นอกจากจะไม่สุขแล้วยังกลับเป็นทุกข์มากขึ้นเสียอีก ทุกข์จนเป็นคนไข้จิตเวชไปเลย

     ถึงพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ก็เถอะ ท้องอิ่มแล้วเราก็ยังเป็นทุกข์กับการเป็นทาสของวงจรย้ำคิดย้ำทำซ้ำซากอย่างไม่รู้จบสิ้น ประเด็นสำคัญคือทุกครั้งที่เราทุกข์กังวลกับชีวิต มันเป็นการส่งสัญญาณให้เซลร่างกายทุกเซลรับรู้ว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่ ถ้าเราส่งสัญญาณผิดๆซ้ำๆซากๆแบบนี้อยู่เรื่อย ปัญญาญาณที่มีฝังแฝงอยู่แล้วในเซลทุกเซลก็จะลงมือทำงานทอนชีวิตของเราเสียเอง…ด้วยความหวังดีต่อเจ้านาย

     ทั้งหมดนี้เราเรียกง่ายๆว่ามันคือ “ความเครียด” ลองมองให้ลึกลงไปซิ ความเครียดคืออะไรหรือ ความเครียดก็คือการที่เราไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับความคิดและอารมณ์ของเราอย่างไรดีใช่ไหม แต่ปูนนี้แล้วนะ ปูนนี้แล้วเรายังไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับความคิดและอารมณ์ของเราอีกหรือ ถ้าปูนนี้แล้วเรายังไม่รู้ แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้

     ลองมองชีวิตให้ลึกซึ้งเข้าไปอีกหน่อยซิ วงจรย้ำคิดย้ำทำซ้ำซากหรือ compulsiveness นี้ แท้จริงแล้วมันคืออะไร ทำไมเมื่อธรรมชาติให้ความจำและให้จินตนาการอันเป็นดาบอันคมกริบแก่เรามา แล้วไม่ได้ให้เครื่องมืออื่นที่จะใช้ควบคุมดาบทั้งสองเล่มนี้เลยหรือ ดูให้ดีนะ ความจำและจินตนาการก็คือส่วนหนึ่งของความคิด เมื่อวานนี้ผมย่นย่อให้ฟังแล้วว่าชีวิตประกอบขึ้นจากสามส่วนคือ “ร่างกาย” “ความคิด” และ “ความรู้ตัว” ความรู้ตัวนั่นไงที่ธรรมชาติให้มาเพื่อให้เราเป็นผู้ใช้งานความจำและจินตนาการของเรา ด้วยความคาดหมายว่าเราจะเลือกใช้มันเฉพาะเมื่อเราอยากจะเรียกมันมาใช้ มองให้ดีเราก็จะเห็นว่าแท้จริงแล้ว compulsiveness มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราไม่รู้จักใช้ความรู้ตัวเฝ้าดูกำกับกลไกการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของเราเอง แค่นั้นเอง แค่นั้นจริงๆ เพียงแค่เราอาศัยความรู้ตัวเฝ้าดูเมื่อสิ่งเร้าเข้ามา ในโมเมนต์ที่เราเฝ้าดูแบบรู้ตัวอยู่ทางเลือกมากมายก็จะโผล่ขึ้นมาให้เราเลือกว่าจะสนองตอบแบบไหน สิ่งที่ผมเรียกว่าปัญญาญานก็คือทางเลือกที่จะโผล่ขึ้นมาในโมเมนต์ที่เรารู้ตัวนี่แหละ เรื่องทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นในตัวเราที่กว้างหนึ่งวาหนาหนึ่งคืบนี้ ไม่ได้เกิดที่อื่น การเลือกสนองตอบต่อสิ่งเร้านี้เป็นตัวกำหนดประสบการณ์และสุขทุกข์ในชีวิตเรา 100% ดังนั้นถ้ารู้ตัวอยู่ เราสั่งได้ 100% เลยนะว่าชีวิตนี้เราจะเอาแบบสุขหรือจะเอาแบบทุกข์

     แล้วเราจะเริ่มต้นฝึกกันที่ตรงไหนดีละ แต่เดิมถ้าหมอสมวงศ์ไม่คัดค้านเสียก่อน ผมตั้งใจจะสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่ได้ผลแบบชัวร์ๆให้คุณ คือผมจะเอาคุณไปปล่อยทีละคนๆห่างๆกันในป่าในคึนเดือนมืดโดยไม่ให้มีไฟฉายหรือคนนำทาง ในความมืดตึ๊ดตื๋อ มีแต่ งู เงี้ยว เขี้ยว ขอ ต่อ แตน ภูเขา ลำธาร แง่งหิน การจะย่างก้าวไปทางไหนแต่ละก้าวคุณต้องทำอย่างมีสติและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ชีวิตอย่างนั้นแหละคือตัวอย่างของชีวิตบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์สู่ความหลุดพ้น แต่หมอสมวงศ์ไม่ยอมให้ผมทำอย่างนั้น ผมจึงทำได้แค่ให้คุณเดินป่าตอนสว่างๆแล้วอย่างในเช้าวันนี้ ในหนึ่งชั่วโมงที่เดินในป่านี้ ให้ทุกคนอยู่ห่างๆกัน อย่าคุยกัน ให้แต่ละคนผจญกับสิ่งที่ไม่รู้ในป่าเอาเองของใครของมัน ทีละโมเมนต์ ทีละโมเมนต์ แล้วเลือกวิธีสนองตอบไปทีละโมเมนต์อย่างรู้ตัว โดยไม่ยอมปล่อยให้ความคิดที่กลไก compulsiveness ยัดไส้ชงขึ้นมาแทรกเข้ามาได้ ให้คุณทำตัวเหมือนชาวประมงที่จะไปตกปลาบนธารน้ำแข็ง ต้องเยื้องย่างอย่างระวังทุกฝึก้าวเพราะผิวน้ำแข็งจะหล่นยวบลงไปเมื่อไหร่ก็ได้ ตรงความว่างจากความคิดขณะนิ่งๆ ตรงนั้นแหละคือความรู้ตัวซึ่งเป็นที่ที่ปัญญาญาณจะฉายแสงขึ้นมานำเสนอทางเลือกในการสนองตอบต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้คุณเอง

     กลับไปบ้านแล้ว ให้คุณเอาประสบการณ์เดินป่านี้กลับไปใช้ในชีวิตจริง ให้ใช้ชีวิตแบบทิ้งความจำเก่าๆทั้งหมด ทิ้งอดีตหมด อย่าเป็นคนมีอดีต อย่านั่งเขียนอนุทินชีวิตตัวเอง อย่านั่งทบทวนอดีตเพื่อลบปมทางจิตวิทยาของตัวเอง นั่นเป็นคอนเซ็พท์ที่ไร้สาระ ทิ้งจินตนาการถึงอนาคตเสียด้วย ในการใช้ชีวิตแบบนี้คุณต้องเปิดรับและไว้วางใจชีวิต เปิดรับว่าชีวิตคุณนี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้ ไม่ได้แยกส่วนออกมาเป็นอะไรโดดๆที่คุณบังคับบัญชาเองได้หมด ให้คุณไว้วางใจปัญญาญาณจากส่วนลึกของคุณเองว่ามันจะนำเสนอสิ่งดีๆให้คุณในเวลาที่คุณต้องการพอดี

     “ไว้วางใจ (trust)” นะ

     ไม่ใช่ “เชื่อ (believe)”

     ไว้วางใจหมายความว่าไม่กลัว แต่เชื่อหมายความว่าคุณกลัวที่จะถูกไล่ออกจากฝูง กลัวที่จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพวกพ้องของคุณที่ยึดเหนี่ยวกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ด้วยความเชื่อเดียวกัน ผมไม่ต้องการให้คุณ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” ในสิ่งที่คุณเองยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็คือไม่รู้ เมื่อคุณยอมรับว่าคุณไม่รู้ นั่นเป็นการเปิดโอกาสให้คุณแสวงหา เมื่อแสวงหา ให้คุณแสวงหาเหมือนคนถูกปล่อยอยู่กลางป่าที่มืดมิดคนเดียว คือคลำหาม้นไปทุกซอกทุกมุมทุกทิศทุกทาง อย่าไปแสวงหาภายใต้รูปแบบหรือภายในกรอบความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ทำอย่างนั้นก็เหมือนคนเมากัญชาแล้วพยายามจะพายเรือไปโดยลืมปลดเชือกที่ผูกหลักออก แบบนั้นไม่ใช่การแสวงหา เป็นแค่การที่อีโก้สร้างฉากให้ตัวเองภูมิใจว่าได้ออกแสวงหาในชีวิตแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าหาแบบนั้นคุณจะไม่เจออะไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์