Latest

หมอสันต์แชร์ประสบการณ์ในการปลุกปล้ำกับความบันดาลใจ (motivation)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง – GHBY47) 

     เนื่องจากในแค้มป์นี้มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลราวครึ่งห้อง หลายท่านต้องกลับไปทำงานรับผิดชอบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้ป่วย และทุกคนก็มีปัญหาที่ผ่านมาว่าจะทำอย่างไรดีกับผู้ป่วยประเภทที่ รู้..แต่ไม่ทำ หรือปัญหาเรื่องความบันดาลใจ (motivation) ทำอย่างไรจะให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพอยู่ยั้งยืนยง ผมจึงจัดหนึ่งชั่วโมงนี้ขึ้นเป็นพิเศษแทนการฝึกใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติเพราะเห็นว่าทุกๆท่านจะได้ประโยชน์กับเรื่องนี้มากกว่า

    ก่อนอื่นผมขอเล่าประสบการณ์ว่าสิบปีที่ผ่านมาผมได้พยายามใช้เทคนิคอะไรบ้างในเรื่องการสร้างความบันดาลใจนี้ ซึ่งผมขอแบ่งเป็นสี่ยุค ดังนี้

     ยุคที่ 1. ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (Stage of Change Model)

    ในยุคแรกที่ผมเริ่มให้ความรู้ให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองคือเมื่อราวสิบปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นด้วยการใช้หลักทฤษฎีที่ใช้กันทั่วไปในงานวิจัยทางการแพทย์ คือทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Trans Theoretical Model ซึ่งมีสาระสำคัญว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรานี้มีอยู่หกขั้นตอน แต่ละขั้นตอนก็ต้องใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับขั้นตอนนั้นๆ ดังนี้

(1) ขั้นยังไม่สนใจ (Precontemplate) คือในหกเดือนข้างหน้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน ในขั้นนี้กลยุทธ์ที่ใช้ก็คือปลุกจิตสำนึกลูกเดียว ให้ข้อมูล ให้ความรู้

(2) ขั้นสนใจแต่รอฤกษ์ (Contemplate) ประมาณว่าถ้าโน้มน้าวดีๆ อาจจะเกิดการลงมือทำในเวลาไม่เกินหกเดือน กลยุทธ์ที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือการเชียร์ ด้วยการชักจูงให้ไตร่ตรองดูผลดีที่จะเกิดกับตนเอง กับลูกเมีย กับคนรอบข้าง ไปจนถึงสังคม

(3) ขั้นตัดสินใจทำ (Preparation) มาถึงขั้นนี้ก็คือจะเอาแน่แล้ว ไม่เกินหนึ่งเดือนได้เรื่องแน่ กลยุทธ์ที่ใช้ในขั้นนี้คือการเปิดโอกาสให้มีทางเลือก เช่นจะเลิกบุหรี่ก็เสนอทางเลือกว่าจะหักดิบ หรือใช้หมากฝรั่งนิโคติ หรือใช้แบบแปะผิวหนัง เป็นต้น เพราะเมื่อมีทางเลือก ก็จะตัดสินใจได้เร็วขึ้น

(4) ขั้นลงมือทำ (Action) คือลงมือไปแล้ว แต่ยังไม่ติดลม กลยุทธ์ในขั้นตอนนี้ก็คือ วินัยตนเอง วินัยกลุ่ม และกัลยาณมิตร (ตัวอย่างวินัยกลุ่ม เช่น การห้ามใช้ลิฟท์ บังคับให้ใช้บันได้ หรือการจัดที่จอดรถไว้ไกลที่ทำงาน นี่ก็เป็นวินัยกลุ่ม)

(5) ขั้นทำได้ยืด (Maintenance) คือติดลมแล้ว แต่ยังไม่เกิน 5 ปี กลยุทธ์ในขั้นตอนนี้คือให้ใช้หลักอยู่กับความยืนหยัดและหลบหลีกสิ่งเย้ายวน

(6) ขั้นสำเร็จแน่แล้ว (Termination) คือทำได้นานเกิน 5 ปี ดูแลตัวเองได้ ถือว่าปิดโครงการติดตามช่วยเหลือได้

     ตอนที่ผมนำทฤษฎีนี้ลงใช้นั้น เรียกว่าลงทุนใช้อย่างเป็นกิจจลักษณะมากทีเดียว จ้างเขาเขียนซอฟท์แวร์ช่วย ให้แพทย์ต้องลงบันทึกในการพบกันแต่ละครั้งว่าผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองอยู่ในขั้นไหนของทั้งหกขั้นตอน กำลังใช้กลยุทธ์ใดช่วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ ตั้งใจทำตั้งใจตามอย่างดี เคยรวบรวมเป็นงานวิจัยไว้ก็มี แต่..

     น่าเสียดายที่ทฤษฏีที่คิดฝันมาอย่างสวยสดงดงามและหมอโพรแชสก้าใช้ได้ผลในการให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่นี้ พอผมเอามาใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องเปลี่ยนอาหารและหันมาออกกำลังกายจริงจังนั้น มันไม่เวอร์ค ทุกคนมาตายที่ขั้นตอนเดียวกันหมด มาถึงขั้นตอนที่สี่ คือลงมือทำไปแล้ว แต่ยังไม่ติดลม แล้วก็แป่ว..ว คือจอดไม่ต้องแจวในเวลาช้าบ้างเร็วบ้าง อย่างที่แป่วเร็วก็คือหนึ่งเดือน แบบว่าสาบานตนดิบดีตอนวันขึ้นปีใหม่ พอวันที่ 1 กุมภาก็ไปเสียแล้ว เมื่ออัตราการล้มเหลวสูง ในที่สุดผมจึงต้องเลิกใช้วิธีนี้ไป

     ยุคที่ 2. ทฤษฏีการบริหาร (Management Model)

     ช่วงหนึ่งตัวผมเองนอกจากจะเป็นผู้บริหารธุรกิจเองคือเป็นผอ.โรงพยาบาลเอกชนเองแล้ว ผมยังสอนวิชาบริหารในระดับปริญญาโทอยู่ด้วย จึงมีความคิดว่าหลักวิชาบริหาร (Management Model น่าจะนำมาใช้เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยได้ดีกว่า เพราะเป็นหลักการที่ผู้ป่วยลงมือทำเอง แพทย์หรือทีมงานเป็นเหมือนผู้จัดการธุรกิจที่ผู้ช่วยติดตามดูให้สำเร็จ หลักวิชาบริหารนี้มีหลักพื้นฐานประมาณว่าในหน้าที่ของผู้จัดการ จะต้องทำหกอย่างคือ

1.  ตั้งเป้าหมาย (Set goal) กำหนดตัวชี้วัด

2. วางแผน (Planning)

3. มอบหมายงาน (Delegation)

4. ตามไปกำกับตรวจสอบ (Supervision)

5. ทำเป็นตัวอย่าง (Role model)

6. ประเมินผล (Evaluation)

     ในการเอาหลักนี้มาใช้ก็เริ่มด้วยการให้ทำกิจกรรมประเมินความเสี่ยงสุขภาพของตัวเอง โดยอิงตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัว (Simple Seven) ที่สมาคมหัวใจอเมริก้นทำวิจัยไว้แล้ว คือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินผักผลไม้ต่อวัน การออกกำลังกายต่อสัปดาห์ การสูบบุหรี่ เมื่อประเมินว่าตัวชี้วัดไหนตัวเองยังผิดปกติก็เอามาจัดทำแผนเปลี่ยนชีวิตตัวเอง ในการทำแผนก็กำหนดลงไปให้ชัดจนประเมินผลได้ว่าเริ่มจากตรงไหน จะทำให้ได้แค่ไหน ในเวลาเท่าไหร (from X to Y, by When and by How) เช่นจะลดไขมัน LDL ในเลือดก็ทำแผนว่าจะลดไขมัน LDL จาก 196 มก./ดล.ให้เหลือ 130 มก./ดล. ภายใน 31 ธค. 62 ด้วยวิธีเปลี่ยนไปกินอาหารมังสะวิรัติแบบไขมันต่ำ ทุกตัวชี้วัดที่ผิดปกติให้ทำแผนรองรับหมด แล้วให้ทีมงานแพทย์และผู้ช่วยแพทย์ติดตามดูผ่านโทรศัทพ์และเครื่องมือทางอินเตอร์เน็ท ติดขัดตรงไหนก็ช่วยเชียร์ช่วยชี้แนะ นอกจากนี้ยังเน้นที่แพทย์และทีมงานต้องทำตัวเองให้เห็นเป็นตัวอย่าง (role model) ด้วย ผู้ช่วยแพทย์ที่ทำงานกับผมทุกคนรวมทั้งเชฟด้วยหากอ้วนอยู่ต้องลดน้ำหนักหมดทุกคน ต้องกินอาหารแบบที่สอนให้คนไข้กิน ต้องออกกำลังกายแบบที่สอนให้คนไข้ออก

ถามว่าทำแบบนี้แล้วได้ผลดีไหม ตอบว่าดีกว่ายุคที่ใช้ทฤษฏีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมาก คือประมาณ 50% ที่หมดแรงเคี่ยวเข็นตัวเองไปกลางคัน และความที่การพบกับแพทย์และทีมงานแต่ละครั้งแต่ละรอบก็คือการประเมินความก้าวหน้า สมาชิกส่วนนี้ก็จะ “หนีหน้า” คือหล่นหายไป ยิ่งแพทย์และทีมงานตามจี้จิกมาก อัตราการหนีหน้าก็ยิ่งสูง ที่ยังตากหน้ากลับมาพบแพทย์หรือกลับมาเข้าแค้มป์ก็มาด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีกับตัวเอง ซึ่งมองเห็นได้ชัดว่าหากถูลู่ถูกังใช้วิธีนี้ต่อไปอีกก็จะต้องหนีหน้ากันไปจนได้ในที่สุด

ยุคที่ 3. สร้างความบันดาลใจด้วยการคิดบวก (Positive Thinking) และสั่งจิต (NLP)

     มาตรการทางจิตวิทยาที่ใช้กันมากทั่วโลกก็คือการคิดบวกบ้าง สั่งจิตตัวเองหรือ NLP บ้าง ผมเองก็ได้นำหลักการนี้มาช่วยเสริมกับการใช้ทฤษฎีบริหาร โดยชี้นำให้คิดบวกในแง่มุมต่างๆเช่น

1. หาเหตุผลบอกตัวเอง
2. ทำให้มันเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้ (not negotiable)
3. บริหารเวลาเสียใหม่
4. เลือกวิธีที่สนุก ทำให้มันสนุก
5. เปลี่ยนรสนิยม

6. เก็บความรู้สึกดีๆนี้ไว้ชักจูง
7. เก็บความรู้สึกแย่ไว้ขู่ตัวเอง
8. จินตนาการถึงตนเองที่สวยหล่อ
9. อ่านฟิตเนสแมกกาซีน
10. เขียนบันทึก
11. รับฟังความสำเร็จของคนอื่น
12. ให้รางวัลตัวเอง
13. จูงใจด้วยเสื้อผ้า
14. ลงทุนซื้ออุปกรณ์
15. ถ่ายรูป “before” ไว้รอ “after”
16. สร้างตัวเองเป็นนายแบบนางแบบ(model) ในจินตนาการ 
17. คุยกับตัวเอง
18. ชั่งน้ำหนักสัปดาห์ละครั้ง
19.คิดแผนกิจกรรมใหม่
20. คิดแต่บวก เลิกคิดลบ

     ทฤษฎีคิดบวกก็เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่สวยหรู แต่ว่าเอาเข้าจริงๆแล้วมันก็เวอร์คนะ แต่มันเวอร์คได้แป๊บเดียว แล้วมันก็แผ่ว..ว คือมันเบื่อที่จะบังคับให้ตัวเองคิด แล้วก็เลยเลิกคิด สรุปว่าสำหรับสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนไข้โรคเรื้อรัง หากวัดกันที่ระยะยาว วิธีนี้ได้ผลน้อย

     ยุคที่ 4. ความบันดาลใจมาจากพลังงาน (Energy Model)  

     ทฤษฎีนี้ท่านไม่ต้องไปเปิดตำราหรือค้นหาอินเตอร์เน็ทนะครับ ไม่มีหรอก เพราะมันเป็นวิธีผมมั่วคิดฝันขึ้นมาเองหลังจากที่สามยุคแรกมันไม่ได้ผลสะใจผม มันมาจากการที่ในปีหลังๆผมทำแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) บ่อยขึ้น เนื่องจากโรคเรื้อรังสัมพันธ์แนบแน่นกับความเครียด ผมจึงเน้นสอนการวางความคิดเพื่อเข้าถึงความรู้ตัวเพื่อให้เป็นเครื่องมือจัดการความเครียดควบไปด้วย แล้วจึงได้เห็นความสำเร็จแบบเหลือเชื่อของคนไข้บางคนที่พลิกผันโรคของตัวเองและเปลี่ยนตัวเองได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแถมเปลี่ยนได้แบบอยู่ยั้งยืนยงด้วย และเมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปก็พบว่าคนไข้เหล่านั้นเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือทุกคนล้วนประสบความสำเร็จในการวางความคิดและเข้าถึงความรู้ตัวของเขาเองได้ ผมจึงผูกทฤษฎีขึ้นมาใช้เองว่าไม่ใช่ความคิดบวกดอกที่เป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจที่แท้จริง พลังงาน (energy) ต่างหาก ความคิดบวกช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่ใช่เพราะตัวความคิด แต่เพราะความคิดกระตุ้นให้เกิดพลังงานคึกคักขึ้นในระยะสั้นๆ ผมได้มั่วจัดลำดับความแรงของพลังงานจากแหล่งต่างๆจากน้อยไปหามากขึ้นมาเอง ดังนี้

ระดับที่ 1: พลังจากความคิดบวก (Thought) มีความแรงระดับน้อยและประเดี๋ยวประด๋าว

ระดับที่ 2: พลังจากเพื่อนช่วยเพื่อน (Synergy) มีความแรงปานกลางและนานเพียงแค่ที่ยังมีเพื่อนอยู่

ระดับที่ 3. พลังจากความรู้ตัว (Awareness) มีความแรงระดับมากและอยู่ได้ยาวนานไม่สิ้นสุด

ผมได้พูดถึงเรื่องระดับที่ 1 คือความคิดบวกไปแล้ว ลองมาดูระดับที่ 2 และที่ 3 นะ

     ระดับที่ 2: พลังจากเพื่อนช่วยเพื่อน (Synergy) คือคนเราเมื่ออยู่คนเดียวก็มีพลังใจระดับหนึ่ง แต่หากสองคนเอาใจมาช่วยกัน พลังใจมันมากเป็นทวีคูณไม่ใช่จากหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่เป็นระดับหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสามหรือเป็นห้าโน่นเลย และเป็นพลังที่แรงกว่าการนั่งคิดบวกอยู่คนเดียว วิธีสร้างพลังแบบเพื่อนช่วยเพื่อนนี้ ที่ผมใช้แนะนำสมาชิกก็ เช่น

1. จัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หนึ่งแค้มป์ก็หนึ่งกลุ่ม
2. ยุให้ไปคบหาเพื่อนใหม่
3. จ้างเทรนเนอร์
4. ไปฟิตเนส เพื่อจะอาศัยบรรยากาศ
5. สมัครแข่งมินิมาราธอน
6. ท้าพนัน แข่งนับก้าว แข่งลดน้ำหนัก
7. ทำตัวเป็นแม่แบบ (role model) ไปสอนคนอื่น
8. ไปพักยาวกินนอนในรีสอร์ทสุขภาพ
9. พ่วงการกิจกรรมสุขภาพกับสิ่งที่ชอบ

     วิธีเพื่อนช่วยเพื่อนนี้เป็นวิธีเสริมที่ดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนที่จัดให้แต่ละแค้มป์นั้นมีผลดีมากเกินคาด แต่อย่างไรก็ตามถึงจะดีอย่างไร วิธีนี้ยังเป็นได้แค่วิธีเสริม เพราะมันจะยังมีแรงอยู่ได้ตราบเท่าที่เพื่อนยังอยู่เท่านั้น ในชีวิตจริงคงไม่มีใครจะฝากชีวิตไว้กับคนอื่นได้ตลอดไป การจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมันต้องทำเอง
     ระดับที่ 3: พลังจากความรู้ตัว (Awareness) ชีวิตประกอบด้วยสามส่วน คือร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว เมื่อวางความคิดไปหมด ก็จะเหลือความรู้ตัว ซึ่งมีลักษณะเป็นพลังงานความตื่น ความสามารถรับรู้ ในบรรยากาศที่ไม่มีความคิดมาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เป็นความสงบเย็น ที่มีพลังงานหนักแน่นเต็มเปี่ยมเพราะมันเป็นพลังงานที่เอ่อขึ้นมาจากส่วนลึกและเชื่อมโยงกับพลังงานจากภายนอก ผมหมายถึงพลังงานที่เป็นพลังงานพื้นฐานของจักรวาลนี้ ที่บางทีก็นิยมเรียกกันว่า Grace หรือพลังเมตตา เมื่อวางความคิดไปเป็นความรู้ตัว พลังงานที่หนักแน่นเต็มเปี่ยมนี้จะแผ่ขึ้นมาหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีพลังทำอะไรก็สำเร็จเองโดยไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาพูด มันง่ายและตรงไปตรงมาขนาดนั้น
     ผมสังเกตเห็นคนไข้ที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดดเด่น เกือบทุกคนเป็นคนที่สนใจการวางความคิดเพื่อให้เข้าถึงความรู้ตัว ส่วนใหญ่หลังจากกลับจากแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ไปแล้ว มักจะกลับมาเข้ารีทรีตทางจิตวิญญาณ (SR) ซึ่งเป็นแค้มป์ที่ผมจัดขึ้นสำหรับผู้สนใจเสาะหาความหลุดพ้นจากความทุกข์โดยไม่เกี่ยวอะไรกับการจัดการโรค แล้วผมพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองก็มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการวางความคิดเข้าสู่ความรู้ตัวด้วยเสมอ 
     ทุกวันนี้ผมยังอาศัยทฤษฏีการบริหารในการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของคนไข้ และใช้หลักคิดบวกอยู่ แต่หันมามุ่งเน้นการสร้างความบันดาลใจที่ถาวรด้วยการชักจูงให้สมาชิกหรือผู้ป่วยฝึกวางความคิดเพื่อเข้าถึงความรู้ตัวเป็นมากขึ้น เริ่มด้วยการฝึกถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้สึกบนร่างกาย ซึ่งก็คือพลังงานของร่างกายนั่นเอง มันจะค่อยๆพาความสนใจไปจอดอยู่กับความรู้ตัวอย่างเป็นอัตโนมัติเอง แล้วพลังงานสร้างสรรค์ดีในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เป็นวิธีที่ผมมั่นใจว่าจะนำพาให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้อย่างหนักแน่นถาวรที่สุดในบรรดาวิธีทั้งหมดสี่วิธีที่ผมได้ทดลองทำมาแล้วในสิบปีที่ผ่านมากับคนไข้จำนวนหลักพันขึ้นไป ที่ผมเล่ามานี้เป็นประสบการณ์การใช้งานจริงกับคนไข้จริง สำหรับท่านที่เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลที่โดยหน้าที่แล้วต้องช่วยให้คนไข้มี motivation ที่อยู่ยั้งยืนยง เอาวิธีนี้ไปทดลองทำดูนะครับ ส่วนวิธีที่ผมทำแล้วไม่ค่อยได้ผล ไม่ว่าเรื่องทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง การใช้หลักวิชาบริหารจัดการ การคิดบวก การสั่งจิต ท่านจะเอาไปทดลองทำซ้ำก็ได้เผื่อท่านจะจับได้แง่มุมที่ผมไม่รู้แล้วมันเกิดเวอร์คขึ้นมา กรณีท่านลองแล้วเกิดความรู้ใหม่ๆขึ้นมาก็ช่วยแชร์มาให้ผมทราบด้วยนะครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Prochaska JO, Velicer WF. The transtheoretical model of health behavior change. Am J Health Promot 1997 Sep-Oct;12(1):38-48.