Latest

เมื่อรู้ว่าโคเลสเตอรอลสร้างโดยตับแล้ว เฮ..กินอะไรก็ได้ใช่ไหม

เรียนคุณหมอสันต์
ผมได้ฟังคลิบของนายแพทย์ …. อ้างงานบทความเผยแพร่ของฮาร์วาร์ด ว่าโคเลสเตอรอลส่วนใหญ่ที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือด ร่างกายสร้างขึ้นมาโดยตับ 80% ที่ได้จากอาหารมีเพียง 20% ดังนั้นจึงไม่ต้องระวังอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เป็นความจริงแค่ไหนครับ

………………………………………….

ตอบครับ

     มีจดหมายถามเข้ามาแยะมากว่าคนนั้นว่ายังงั้นอ้างงานวิจัยทำที่นั่นที่นี่ว่าเชื่อถือได้จริงไหม ผมไม่ตอบให้สักรายเดียว สาเหตุที่แท้จริงก็เพราะเมียห้าม เธอคงกลัวผมจะถูกตื๊บที่ไปวิจารณ์บทความที่เขียนหรือพูดโดยคนอื่นเข้า อีกทั้งผมเองก็เห็นชอบด้วยว่าการเที่ยวไปตัดสินความคิดความเห็นของคนอื่นเขานั้นเป็นพฤติกรรมไร้สาระ เพราะคนทุกคนมีดุลพินิจของตัวเองอยู่แล้ว ก็ให้ผู้อ่านเขาใช้ดุลพินิจของเขาเองโดยเราไม่ต้องไปทำตัวเป็นนักพากย์หรือนักวิจารณ์หรอกว่าคนนี้พูดเข้าท่า คนนั้นพูดไม่เข้าท่า ดังนั้นหากแฟนบล็อกหมอสันต์ได้ข้อมูลมาว่าคนนั้นว่ายังโง้นคนนี้ว่ายังงี้มาไม่ต้องส่งมาให้ผมเม้นท์ว่าจริงไม่จริงนะครับ ถ้าไม่อยากวางยาให้หมอสันต์ได้รับบาดเจ็บ

     ขณะเดียวกันผมก็ขอเชียร์ให้แฟนบล็อกทุกท่านสืบค้นความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่ได้มาด้วยตนเอง ใครจะเป็นคนพูดไม่สำคัญ งานวิจัยนั้นทำที่สถาบันไหนก็ไม่สำคัญ สำคัญที่ท่านจะต้องตามไปดูให้รู้แน่ว่างานวิจัยนั้นเป็นงานวิจัยที่มีระดับชั้นความเชื่อถือได้ระดับไหน วิธีตามท่านก็ต้องตามไปจากบรรณานุกรมเอกสารอ้างอิงท้ายคำแถลงข่าวหรือบทความนั้นๆ ตามไปดูว่างานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ฉบับไหน ตามไปอ่านบทคัดย่อของงานวิจัยนั้นแล้วประเมินดู ถ้ายังประเมินไม่ได้ก็ตามไปอ่านนิพนธ์ต้นฉบับในวารสารตัวจริง จนประเมินน้ำหนักความเชื่อถือได้ว่าเป็นระดับชั้นไหน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลนั้น ชั้นของความเชื่อถือได้ของงานวิจัยทางการแพทย์ไม่ว่าจะจัดชั้นโดยสำนักไหนก็ตาม มักเนื้อหาคล้ายๆกันว่ามีลำดับความเชื่อถือได้จากมากไปน้อย ดังนี้คือ

ชั้นที่ 1. การวิจัยในคนแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบสองกลุ่ม (RCT)
ชั้นที่ 2. งานวิจัยในคนแบบตามไปข้างหน้า (prospective cohort) โดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ
ขั้นที่ 3. งานวิจัยในคนแบบศึกษาย้อนหลัง (case control study)
ขั้นที่ 4. งานวิจัยสำรวจข้อมูลเชิงระบาดวิทยา (epidermiologic) หรืองานวิจัยแบบตัดขวาง (cross section) ในกลุ่มคน
ชั้นที่ 5. รายงานผู้ป่วย (case report) โดยไม่มีการทดลองแทรกแซง
ขั้นที่ ุ6. งานวิจัยในสัตว์หรือในห้องทดลอง

     ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (expert’s opinion) หรือหลักฐานระดับบันทึกเล่าเรื่อง (anecdote) ไม่ถือเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์

     ในกรณีที่บทความหรือคลิปนั้นไม่ได้ให้บรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิงให้ท่านตามไปศึกษาเองได้ หากเป็นเรื่องสำคัญและท่านสนใจมาก ผมแนะนำให้ท่านติดต่อขอทราบที่มาหรือเอกสารอ้างอิงจากผู้เขียนหรือผู้พูดนั้นโดยตรงแล้วตามไปศึกษาต่อเอาเองจะดีที่สุดเพราะสมัยนี้การติดต่อกันทำได้ง่ายมากไม่ต้องเสียค่าแสตมป์ อย่าเชื่อคำกล่าวอ้างลอยๆว่าสถาบันโน้นวิจัยได้ผลว่าอย่างนี้ ให้ตามไปดูตัวงานวิจัยนั้นเองด้วยตัวเอง และก็ไม่ต้องเขียนมาถามหมอสันต์ว่าคนนั้นพูดอย่างนี้ถูกไหม เพราะผมตอบให้ไม่ได้ หิ หิ เพราะผม ก.ม.

    แต่วันนี้จะถือเป็นข้อยกเว้นตอบจดหมายแบบนี้สักหนึ่งฉบับนะ เพราะถามเข้ามาแบบเดียวกันหลายคน ตอบคนเดียวถือว่าตอบให้หมด โอเค.นะ

     1. ถามว่าโคเลสเตอรอลที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดเรานั้นส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาจากตับจริงไหม ตอบว่าจริงถ้าร่างกายของคนๆนั้นได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารน้อย แต่หากร่างกายของคนๆนั้นได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารมาก ตับก็จะสร้างโคเลสเตอรอลน้อย ดังนั้นโคเลสเตอรอลที่มาจากตับสร้างหรือที่กินเข้าไปอย่างไหนจะมากกว่ากันจึงขึ้นอยู่กับการกินอาหารไขมันมากหรือน้อย ไม่ได้เท่ากันทุกคน นี่เป็นกลไกการทำงานปกติของร่างกายเพื่อรักษาระดับโคเลสเตอรอลให้พอใช้ (เช่นใช้สร้างฮอร์โมน ใช้สร้างผนังเซล เป็นต้น) แต่ถ้าโคเลสเตอรอลมีมากเกินพอ ก็ทำให้เกิดโรค

     2. ถามว่าถ้าไหนๆโคเลสเตอรอลก็ต้องสร้างโดยตับเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปจากอาหาร เราก็กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมากๆก็ไม่เห็นจะเป็นไรใช่ไหม ตอบว่าหากมองเฉพาะตัวโคเลสเตอรอลจริงๆในอาหารก็ตอบว่าใช่ เพราะโคเลสเตอรอลในอาหารเข้าสู่ร่างกายตรงๆได้น้อยมากเนื่องจากมันละลายน้ำไม่ได้ มันจึงไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับโคเลสเตอรอลในเลือด แต่อาหารไขมันส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายในรูปของโมเลกุลไขมันที่ละลายน้ำได้ชื่อ chylomicron ซึ่งประกอบขึ้นจากการรวมไขมันผสมกับโปรตีน (เรียกโมเลกุลชนิดนี้ว่า phospholipid) ตัว chylomicron นี้จะแปลงร่างไปได้หลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ LDL (ไขมันเลว) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีโคเลสเตอรอลฝังอยู่ข้างในแยะมีโปรตีนน้อย และ LDL นี้มันเป็นตัวปล่อยโคเลสเตอรอลเข้าไปพอกผนังหลอดเลือด คนที่มี LDL ในเลือดมากก็จะป่วยและตายด้วยโรคหลอดเลือดมาก และคนที่กินอาหารไขมันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวซึ่งมักเป็นไขมันจากสัตว์และไขมันทรานส์ ก็จะยิ่งมี LDL ในเลือดสูง นี่เป็นสัจจธรรมที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปดีแล้ว ดังนั้นข่าวสารที่ท่านจะนำกลับบ้านในข้อนี้ก็คือการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงหรือต่ำอาจไม่ค่อยเป็นสาระสำคัญ แต่การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงหรือมีไขมันทรานส์สูง เป็นสาระสำคัญ

     3. ถามว่าแล้วตับสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นจากอะไร ตอบว่าตับสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นมาจากอาหารให้พลังงานที่เรากินเข้าไป ตับไม่ได้เนรมิตโคเลสเตอรอลขึ้นมาจากท้องฟ้า กลไกระดับลึกซึ้งมันเป็นอย่างนี้ อาหารที่เรากินเข้าไปนี้มันแบ่งเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ

     (1) อาหารให้พลังงานได้ ซึ่งมีสามกลุ่มคือ
     (1.1) ไขมัน
     (1.2) คาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) และ
     (1.3) โปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา ถั่ว งา นัท)

     (2) อาหารให้พลังงานไม่ได้ เช่นวิตามิน เกลือแร่ เส้นใย และน้ำ

     อาหารที่ให้พลังงานได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโปรตีน ร่างกายจะย่อยมันไปโมเลกุลตั้งต้นการให้พลังงานชื่อ AcetylCoA  สารตัวนี้แหละที่ตับเอาไปเป็นสารตั้งต้นสร้างโคเลสเตอรอลเพื่อไปใช้ทำหน้าที่ต่างๆในร่างกาย เช่นไปเป็นฮอร์โมนบ้าง ไปสร้างเป็นผนังเซลบ้าง แต่ถ้ามีสารตั้งต้นมาก ตับก็สร้างโคเลสเตอรอลมากจนเหลือใช้แล้วจะถูกขนส่งไปในรูปของไขมันละลายน้ำได้ชื่อ LDL นั่นเอง ซึ่ง LDL จะเอาโคเลสเตอรอลไปปล่อยแทรกไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดขึ้น ดังนั้นข่าวสารที่จะนำกลับบ้านในข้อนี้ก็คือไม่ใช่เฉพาะอาหารไขมันเท่านั้นที่จะทำให้ร่างกายมีโคเลสเตอรอลเหลือใช้มากเกินไป อาหารให้พลังงานทุกชนิดรวมทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนหากเหลือใช้ก็เป็นเหตุให้เกิดโคเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ ในแง่นี้การรักษาดุลของแคลอรี่ด้วยการจำกัดการกินอาหารที่ให้พลังงานได้ไม่ให้มากเกินปริมาณที่จะเผาผลาญได้จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งของการลด LDL ในเลือดและป้องกันและรักษาโรคหัวใจหลอดเลือด และคนที่อยากลดโคเลสเตอรอลในเลือดด้วยอาหารก็ต้องกินอาหารกลุ่มที่ให้คือวิตามิน เกลือแร่ เส้นใย และน้ำ มากๆ แต่ให้พลังงานน้อยๆ ซึ่งก็คืออาหารในหมวดพืชผักผลไม้และนั่นเอง

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์