Latest

คนอย่างเขา มาจากส่วนไหนของโลกกันนะ

คุณหมอสันต์ครับ

ผมเป็นแฟนคุณหมอผ่านการฟังที่แฟนของผมชอบอ่านบทความของคุณหมอให้ฟังขณะขับรถ ผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังอึดอัดมากจวนเจียนจะระเบิด ย้อนนิดหนึ่ง ผมเป็นผจก.แผนกในบริษัทซึ่งระดับเดียวกันในสาขาประเทศไทยนี้มี 6 แผนก ชีวิตผมเริ่มเลวร้ายเมื่อแผนกข้างเคียงเปลี่ยนผจก. คุณหมอครับ เขาไม่รู้มาจากส่วนไหนของโลก ทั้งตอแหลหน้าตาย หน้าไหว้หลังหลอก หลอกใช้ลูกน้องของผมหาข่าวเพื่อหาเรื่องบิดเบือนข้อมูลเพ็ดทูนนายให้ร้ายผม และป่วนผจก.แผนกอื่นๆด้วยความเท็จว่าผมทำไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอาวุโสกว่า มาจากสนง.ใหญ่ เรียนมาสูงกว่า และเป็นคนต่างชาติ บางครั้งผจก.แผนกอื่นก็ทำท่าจะคล้อยตาม มีอยู่ครั้งหนึ่งผมน็อตหลุดด่ากลับลั่นห้องและว้ากลูกน้องตัวเอง ทำไปแล้วก็เสียใจเหมือนกัน ผมมีอาการนอนไม่หลับและหงุดหงิดง่าย พยายามแก้ปัญหาด้วยการมองเขาในแง่ดีแต่ไม่สำเร็จ
ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยครับ ถ้าคุณหมอไม่มีเวลาก็ยังไม่เป็นไร ผมรอได้

……………………………….

ตอบครับ

ผมอ่านจดหมายคุณแล้วจับประเด็นได้สามประเด็นซึ่งอาจเป็นเหตุเป็นผลกันและกัน หนึ่ง คือคุณไม่เข้าใจชีวิต สอง คือคุณขาดทักษะชีวิตที่จำเป็นบางทักษะ สาม คือคุณออกจากตรงนี้เองไม่ได้

คุณไม่เข้าใจชีวิต

     ชีวิตในภาพใหญ่ประกอบขึ้นจากสามส่วนคือ ร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว ความคิดของคนเราเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “identity” หรือ “อหังการ์” ในภาษาสันสกฤต หมายความว่าธรรมชาติความคิดของคนเราที่ถูกเสี้ยมโดยการถูกพร่ำสอนตั้งแต่เล็กจนโตให้อยากเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ในนี้มันจะฝังความเชื่อ คอนเซ็พท์ต่างๆที่เราเรียนรู้มาและยึดมั่นไว้ทั้งหมด เมื่อทุกคนต่างก็พยายามจะเป็นคนอย่างที่ตัวเองอยากเป็น โลกนี้ก็เลยกลายเป็นเวทีละครโรงใหญ่ที่ทุกคนต่างก็เล่นละครเพื่อจะได้เป็นคนอย่างที่ตนอยากเป็น การประกวดประชันอหังการ์และการขบกันของอหังการ์ของแต่ละคนจึงเป็นธีมหลักของเวทีละครโลกเรื่อยมา

     การที่เพื่อนร่วมงานของคุณเล่นใต้โต๊ะ ทั้งแทงข้างหลัง โป้ปด หลอกลวง ปั้นน้ำเป็นตัว ยุแยง ใส่ร้าย และหลอกใช้ลูกน้องของคุณเอง นั่นเขาเล่นบทบาทไปตามอหังการ์ของเขา ในอีกด้านหนึ่งการที่คุณยั้วะ ฟาดหัวฟาดหาง ด่ากลับ ว้ากและคาดโทษลูกน้อง นั่นคุณก็เล่นบทบาทที่กำกับโดยอหังการ์ของคุณ ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรซีเรียส และไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะต่อว่าคุณ เพราะผมรู้ว่าคุณเข้าใจทั้งหมดดี แต่ประเด็นที่ผมว่าคุณไม่เข้าใจชีวิตมีสามประเด็น

     ประเด็นที่ 1. ก็คือคุณไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเล่นละคร คุณเป็นเพียงผู้แสดง เมื่อเวทีปิดฉากคุณก็กลับบ้านนอน คุณเล่นสมบทสมบาทใส่อารมณ์ได้ดี นั่นก็ดีแล้ว คุณเป็นนักแสดงที่ดี แต่เมื่อละครจบองก์ปิดฉากแล้ว ผมหมายถึงเลิกงานแล้ว คุณไม่ยอมเลิกเล่นละคร ไม่ยอมกลับบ้าน ยังเอาละครหมอนๆเรื่องเดิมๆไปเล่นต่อในหัวของคุณบนเตียงนอนที่บ้าน ตรงนี้แหละที่ผมว่าคุณไม่เข้าใจชีวิต

     ประเด็นที่ 2. ก็คือคุณไม่เข้าใจว่าเหตุที่ทำให้คุณเป็นทุกข์อยู่ที่ไหน คุณปักใจเชื่อว่าการมีเพื่อนร่วมงานเลว และลูกน้องบ้องตื้น ทำให้คุณเป็นทุกข์ เอางี้ไหมละ ผมให้คุณมานอนที่เวลเนสวีแคร์ที่มวกเหล็กฟรี ให้คุณกินฟรีอยู่ฟรี ที่นี่ไม่มีเพื่อนร่วมงานตัวแสบ ไม่มีลูกน้องซังกะบ๊วย คุณอยู่คนเดียว ห้องดี บรรยากาศดี อาหารดี ผมมีเงื่อนไขอย่างเดียว คุณต้องเป็นสุขนะ คุณต้องยิ้มต้องหัวเราะทั้งวัน ถ้าคุณทำไม่ได้ ผมเก็บเงินคุณ อ้าว ทำไมทำไม่ได้ละ เมื่อเหตุแห่งทุกข์ของคุณไม่ได้มาอยู่ด้วยแล้วนะ คุณอยู่กับตัวคุณเองคนเดียว เรื่องที่จะทำให้คุณทุกข์ก็ไม่มี เพราะที่เวลเนสวีแคร์ไม่มีเรื่องจะทำให้คุณทุกข์ แต่หากคุณอยู่คนเดียว เรื่องจริงๆที่จะทำให้คุณทุกข์ที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว แต่คุณก็ยังเป็นทุกข์ด้วยความหลอน (illusion) ที่ไม่ใช่ของจริง ไม่ว่าจะเป็นความหลอนเรื่องในอดีตที่ไม่มีแล้วก็ดี ความหลอนเรื่องในอนาคตที่ยังไม่มีจริงก็ดี คนที่อยู่คนเดียวในสภาพแวดล้อมที่ดีๆแล้วยังเป็นทุกข์กับความหลอนที่ไม่ใช่ของจริง คุณว่าเป็นคนดีหรือคนบ้าล่ะ นั่นแหละคุณหละ คือเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงอยู่ในตัวคุณ อยู่ที่วิธีการที่คุณสนองตอบต่อสถานะการณ์ในชีวิตของคุณเอง อย่างน้อยก็การสนองตอบด้วยการคิดของคุณก็ทำให้คุณเป็นทุกข์แล้ว

     ประเด็นที่ 3. ก็คือคุณไม่เข้าใจว่าธีมที่แท้จริงของละคอนชีวิตคือความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่คนๆหนึ่งจะไปสั่งการหรือยุติให้สิ่งไม่แน่นอนกลายเป็นแน่นอน หรือสั่งการให้สิ่งที่เป็นอย่างนั้นให้กลับเป็นอย่างนี้ อาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะเหตุร่วมที่ก่อให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมามีเยอะแยะและส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจที่คุณจะคุมได้ คุณก็ได้พยายามทำไปตามแรงผลักดันของอหังการ์ของคุณซึ่งคุณอาจจะเรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายธรรมะก็ได้ ผมไม่ว่าอะไร เพราะทั้งฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ต่างก็มีอหังการ์ของตัวเอง มีความเชื่อ มีคอนเซ็พท์ของตัวเองทั้งคู่ เมื่อใดที่คุณเปลี่ยนเหตุการณ์นอกตัวได้คุณก็พอใจ เมื่อใดที่คุณเปลี่ยนเหตุการณ์นอกตัวไม่ได้คุณก็คับข้องใจ การที่คุณคับข้องใจเมื่อคุณเปลี่ยนสิ่งนอกตัวไม่ได้นี่แหละที่ผมว่าคุณไม่เข้าใจชีวิต คนที่เขาเข้าใจชีวิตเมื่อเปลี่ยนมันได้ เขาก็โอเค. เมื่อเขาเปลี่ยนมันไม่ได้ เขาก็ยังโอเค. แต่เขาก็เล่นละคอนไปตามบท ทำหน้าที่ไป เมื่อจำเป็นต้องว้ากลูกน้องก็ว้าก แต่ว้ากเสร็จแล้วเขาอยู่คนเดียวเขาถอดหัวโขนและยิ้มได้ผ่อนคลายได้ ไม่มานั่งเสียใจที่ว้ากลูกน้องไป ความแตกต่างกันมันอยู่ตรงนี้

คุณขาดทักษะชีวิต

     เพื่อความง่ายผมขอโค้ดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป็นธงชัยไว้ว่ามนุษย์เรานี้หากจะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์แบบควรมีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่สิบอย่าง ดังนี้

     1. ทักษะการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง (Coping with Emotion) ไม่ว่าจะเป็นยามโกรธ ยามเศร้า ยามดีใจ ก็รู้วิธีรับมือได้ทั้งนั้น

     2. ทักษะการรับมือกับความเครียด (Coping with Stress) คือเมื่อเครียด หรือมีความคิดลบแล้วรู้ เมื่อรู้แล้วก็สามารถพาตัวเองให้หลุดพ้นจากความเครียดได้ด้วย

     3. ทักษะการสื่อสาร (Effective Communication) คือความสามารถในการใช้ภาษา ท่าทาง ลูกล่อลูกชน ให้คนอื่นเข้าใจ เห็นด้วย คล้อยตามตัวเองด้วยดีโดยไม่ต้องทะเลาะตบตีกัน

     4. ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Interpersonal Relationship) คือพูดง่ายๆว่าโอภาปราศัยเป็น คบกับคนอื่นแล้วมีการแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆต่อกัน ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

     5. ทักษะการคิดวินิจฉัย (Critical Thinking) คือคิดวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบ ประเมิน ได้เสีย ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก เป็นทักษะที่ใช้ประกอบกับทักษะการตัดสินใจ

     6. ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) ไม่ว่าจะในเรื่องการเอาตัวรอดจากสิ่งคุกคามยั่วยุหน้าสิ่วหน้าขวาน โจรภัย ไปจนถึงการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองเช่นแต่ละวันจะกินอะไร จะมีกิจกรรมออกกำลังกายอย่างไรด้วย

     7. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) ซึ่งหมายความว่านอกจากจะตัดสินใจได้แล้ว ยังสามารถลงมือแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ลงมือแก้ แล้วประเมิน แล้วตัดสินใจ แล้วลงมือแก้ แล้วประเมิน

     8. ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ แต่เกิดจากจินตนาการ (imagination) และความบันดาลใจ (inspiration) ซึ่งถูกดาวน์โหลดจากภายนอกเข้ามาสู่ใจตัวเองผ่านกลไกตัวช่วยหลักที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องฝึกฝนเรียนรู้ทดลองปฏิบัติ

     9. ทักษะการเข้าใจเห็นใจผู้อื่น (Empathy) พูดง่ายๆว่าการรู้จักยอมรับคนรอบตัวเรา ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ยอมรับ ขอบคุณ ให้อภัย ขอโทษ แผ่เมตตา

     10. ทักษะการรู้ตัว (Self Awareness) รู้ว่านี่เป็นความรู้ตัว นั่นเป็นความคิด ซึ่งเป็นคนละอันกัน รู้ด้วยการ “เป็น” ว่าที่ความรู้ตัวเป็นที่สงบเย็น รู้ว่าชีวิตเราเมื่อปอกทิ้งร่างกายและความคิดไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรี ความเชื่อ ทิ้งไปแล้ว สิ่งที่จะเหลืออยู่เป็นสารัตถะสุดท้ายจริงๆก็คือความรู้ตัว (awareness) ที่มีแต่เมตตาโดยไม่มีอหังการ์หรือสำนึกว่าเป็นบุคคลของตัวเองเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น

       ในสิบทักษะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมขอให้คุณใส่ใจทักษะที่ 9 คือการเข้าใจเห็นใจผู้อื่น และทักษะที่ 10 คือการรู้ตัว ว่ามันเป็นทักษะชีวิตที่คุณยังขาด สมควรที่คุณจะฝึกฝนให้มีมากขึ้น

คุณออกจากตรงนี้ไม่ได้

     เพราะขาดความเข้าใจและทักษะชีวิต ตอนนี้พอเข้าใจแล้ว แต่ทักษะต้องฝึกฝน ผมแนะนำให้คุณฝึกทักษะเบสิกสองอย่างคือ

     1. ฝึกเล่นละครเมื่อเวทีเปิดฉาก และฝึกเลิกเล่นละครเมื่อเวทีปิดฉาก นั่นก็คือแบ่งเวลา คุณเป็นนักบริหารย่อมจะเคยได้ยินคอนเซ็พท์ที่ว่า Work Life Balance นั่นแหละ อยู่ในที่ทำงาน คุณเล่นละคร หมดเวลาทำงาน คุณกลับบ้านเป็นนักแสดงที่ไม่ได้ขึ้นเวที คือคุณต้องถอดอหังการ์ คุณต้อง shift identity นอกเวลาคุณไม่ใช่ผู้จัดการแผนกเจ้าปัญหาแล้ว พูดง่ายๆว่าคุณต้องแบ่งเวลาให้เป็น

     2. ฝึกวางความคิด ซึ่งผมแนะนำสี่เทคนิคย่อยก่อน คือ

     2.1 ผ่อนคลายร่างกาย (muscle relaxation) เมื่อใดก็ตามที่นึกได้ ให้หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก แล้วเป่าหายใจออกทางปากช้าๆยาวๆพร้อมกับบอกกล้ามเนื้อร่างกายให้ผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำซ้ำหลายๆครั้ง ความคิดมีธรรมชาติว่ามีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระ อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกาย คุณผ่อนคลายร่างกาย ความคิดจะถูกวางไปเองโดยอัตโนมัติ ผ่อนคลายแล้วลองยิ้มที่มุมปากดู ต้องยิ้มได้ หากยิ้มยังไม่ได้ก็ยังไม่ผ่อนคลาย

     2.2 ย้ายความสนใจจากความคิดมาอยู่ที่ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) วิธีทำก็คือไล่รับรู้ความรู้สึกบนผิวกาย จะเป็นความรู้สึกซู่ๆซ่าๆ จิ๊ดๆ จ๊าดๆ วูบๆ วาบๆ รับรู้หมด เมื่อความสนใจอยู่ที่ความรู้สึกบนผิวกาย ความคิดจะถูกวางไปโดยอัตโนมัติ

     2.3 ทำสมาธิ (meditation) ก่อนนอนสักสิบห้านาที นั่งขัดสมาธิวางมือแบบผ่อนคลายไว้บนขาหรือตัก เงยหน้าขึ้นนิดหนึ่ง หลับตา เมื่อหลับตาในท่าเงยหน้าอย่างนี้โดยธรรมชาติความสนใจจะไปอยู่ที่ความว่างเบื้องหน้าเสมือนมองออกไปจากตรงกลางระหว่างหัวคิ้วสองข้าง ให้วางความสนใจไว้ที่ความว่างเบื้องหน้านั้น วางความสนใจไว้เฉยๆ จดจ่อได้ แต่อย่าเพ่ง พร้อมกันนั้นก็รับรู้การหายใจเข้าออกของร่างกายพร้อมไปกับการผ่อนคลายร่างกาย ทำอย่างนี้จนความคิดหมดจึงเข้านอน

     2.4 ฝึกอยู่กับเดี๋ยวนี้ ทุกโมเมนต์ในชีวิตประจำวัน ฝึกยอมรับทุกอย่างที่เดี๋ยวนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข อยู่กับมันไป ไม่ต้องกำหนดวาระล่วงหน้า ดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ให้มันเกิด รับมือมันไปทีละช็อต ทีละช็อต การยอมรับทุกอย่างรวมไปถึงการยอมรับคนที่อยู่รอบตัวเราทุกคน คนดี คนเลว คนปลิ้นปล้อน คนพูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง ยอมรับหมดว่าเขาอยู่ที่นี่แล้ว เป็นเพื่อนร่วมงานของเราแล้ว คุณไม่ต้องมองเขาในแง่ดีก็ได้ เอาแค่ยอมรับว่ามีคนอย่างนี้อยู่ที่นี่แล้ว อย่าไปฝันหาคนที่เราคิดว่าดี ขออนุญาตคัดลอกขี้ปากของ ลา โรชฟูโกล ที่ว่า 

     “คนที่จะดีอย่างคุณ นอกจากตัวคุณ ไม่มีอีกแล้วในโลกใบนี้”

     ให้คุณยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ท่องคำสำคัญไว้สี่คำ คือขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา อย่างไรก็ตาม คุณยังด่าเขาได้ บ้องหูลูกน้องตัวเองได้นะ ถ้าบทบาทหน้าที่บังคับให้ต้องทำอย่างน้้น แต่เมื่อจบบทละครแล้ว ทำแล้วก็แล้ว ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา ไม่เก็บมาคิดมาเสียใจหรือเคียดแค้นภายหลัง

     ลองฝึกทำดูสักสามเดือน ถ้ายังไม่หายทุกข์ ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์