Latest

ทำไมการจะหลุดพ้นจึงยากจัง

กราบเรียนคุณหมอสันต์
ทำไมการจะหลุดพ้นจึงยากจัง หรือว่ามันเป็นไปไม่ได้ในชาตินี้เพราะเรามีกรรมเก่ามากเกินไป ถ้าจะให้เราตั้งใจทำชาตินี้ให้ดีเพื่อจะได้หลุดพ้นในชาติหน้า ก็ดูจะไกลและไร้วี่แววเกินไปจนแรงที่จะทำมันหมดเสียก่อน

…………………………………………..

ตอบครับ

     ผมจะเล่าโจ๊กของฝรั่งให้ฟังเรื่องหนึ่งนะ เป็นเรื่องสองผัวเมีย ผัวเป็นคนไม่เอาไหนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ส่วนเมียเป็นคนสนใจทุกสิ่งทุกอย่างกังวลไปหมดทุกเรื่อง วันหนึ่งสองสามีภรรยานอนหลับ ฝ่ายภรรยาได้ยินเสียงก๊อกๆแก๊กๆคล้ายมีคนกำลังทำอะไรที่ประตูห้องนอน เธอจึงกระซิบถามสามีเบาๆว่า

     “คุณตื่นอยู่หรือเปล่า” ข้างสามีตอบว่า

     “เปล่า ! ” 

     ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แล้วคุณว่าข้างภรรยาจะปลุกสามีให้ตื่นได้สำเร็จไหมเนี่ย เพราะเขารู้ว่าเขาตื่นอยู่แต่เขาไม่ยอมตื่น จะจับเขาหันมาทางซ้ายเขาก็หลับตะแคงซ้าย จะจับเขาหันไปทางขวา เขาก็จะหลับตะแคงขวา จะจับเขานั่งขึ้น เขาก็หลับในท่านั่ง เออ..ทำไมการปลุกสามีให้ตื่นจึงเป็นเรื่องยากจัง หิ หิ คำถามของคุณมีสาระประมาณนี้

     ถ้าคุณเป็นชาวพุทธ คำสอนของพุทธที่ถ่ายทอดต่อๆกันมาระบุว่าเหตุของทุกข์คืออวิชชา คำว่า “อวิชชา” นี้ไม่ได้แปลว่าโง่หรือไม่รู้นะ มันตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า ignorance แปลว่าการเพิกเฉย คือรู้ แต่เพิกเฉย การทำคนไม่รู้ให้รู้นั้นง่าย แต่การทำคนที่รู้แต่เพิกเฉยให้เลิกเพิกเฉยมันยาก เพราะการเพิกเฉยนั้นมันเกิดจากการเสพย์ติด “เดิมๆ” หรือ compulsiveness ในรูปของความจำที่โผล่ขึ้นมาเป็นความคิด ตัว”เดิมๆ” นี้จะบดกงล้อของมันซ้ำซากๆแบบอัตโนมัติจนยากที่คนซึ่งไม่ได้พัฒนาวิธีดึงความสนใจออกมาจากการเผลอคิดจะหลุดออกไปจากตรงนี้ได้ คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคนตื่นที่แกล้งหลับ เพราะรู้ว่าความเคยชินเดิมๆเป็นคอกขังตัวเองไว้ แต่ก็ยอมศิโรราบแก่พลังอำนาจของ compulsiveness หรือ “เดิมๆ” อย่างไม่มีเงื่อนไข เดิมๆนั้นก็คือสำนึกว่าเป็นบุคคลนั่นแหละ แล้วใครละที่จะปลุกผู้ที่แกล้งหลับนี้ให้ตื่นได้

     บรรดาผู้ตั้งตัวเป็นอาจารย์ทางจิตวิญญาณทั้งหลายต่างปวารณาตัวจะอาสาทำจ๊อบนั้น คือจ๊อบปลุกคนแกล้งหลับให้ตื่น ต่างก็ได้พยายามกันจัง ฮี่..ฮี่ หมอสันต์คนหนึ่งไม่เอาด้วยหรอกนะ เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าการปลุกคนแกล้งหลับให้ตื่นนี้มันเหนื่อยฟรีแหงๆ พูดก็พูดเถอะ เรื่องความหลุดพ้นหรืออะไรทำนองนี้ตามเนื้อผ้าแล้วม้นควรจะจบลงตั้งแต่หลังจากการไปวัดสนทนาธรรมกับพระอาจารย์คนเดียวครั้งแรกครั้งเดียวแล้วควรจะจบเลยใช่ไหมครับ แต่ทำไมมันไม่จบ ทำไมต้องตระเวณไปหลายสิบอาจารย์ หลายสิบสำนัก หลายตำรา หลายวิดิโอ หลายคลิป..ส์ อย่าลืมเติมเอสด้วยนะเพราะมีหลายคลิป ก็เพราะสนทนาธรรมครั้งที่หนึ่งเขาพลิกจากแกล้งหลับตะแคงซ้ายมาเป็นแกล้งหลับตะแคงขวา ครั้งที่สองเขาพลิกจากแกล้งหลับตะแคงขวามาเป็นตะแคงซ้าย ครั้งที่สามมาเป็นนั่งหลับ..ฯลฯ

      พลังที่ดึงให้คนที่ตื่นแล้วไม่ยอมลืมตาตื่นก็คือสิ่งเสพย์ติดที่ผมเรียกว่า “เดิมๆ” ที่ฝังอยู่ในความจำและโผล่ขึ้นมาในห้วงความคิดคำนึงซ้ำๆซากๆจนเป็น compulsiveness มันโผล่ขึ้นมาในรูปของความคิดและอารมณ์ (thought and emotion) อารมณ์ก็คือความคิดอย่างหนึ่งนั่นแหละ ดูผิวเผิน compulsivenes นี้มันช่างมีเสน่ห์ มันช่างมีมนต์สกดให้เราไปกับมัน มันสนุกกว่า มันดีกว่าที่จะตื่นขึ้นมารับรู้อะไรที่แตกต่างจากเดิมๆนั้น ลองมองให้ลึกซึ้งซิ ทำไมมันจึงมีเสนห์ ทำไมมันจึงมีมนต์ มันได้พลังมาจากไหน แท้จริงมันได้พลังไปจากเราเองนะ เราเผลอไปให้พลังแก่มันโดยมอบความสนใจ (attention) ของเราไปให้ความคิดมันเอาไปกกกอดไว้ จนเราเผลอว่าความคิดนั้นเป็นเรา แต่ในความเป็นจริงความคิดเป็นได้แค่ของเรา แต่ไม่ใช่เรานะ เราก็คือเรา เราเป็นผู้สังเกต ความคิดก็คือความคิด เป็นสิ่งที่ถูกเราสังเกตเห็นได้ การจะหลุดพ้นไปจากอิทธิพลของความคิดและอารมณ์ ต้องเริ่มด้วยการปลดแอกแยกแยะให้ออกว่าเรากับความคิดเป็นคนละสิ่งเป็นคนละอันกัน ให้คุณทดลองทำตรงนี้ดูก่อน เมื่อคุณแยกออกว่าคุณเป็นความรู้ตัวที่เฝ้าสังเกตอยู่เหมือนท้องฟ้าที่เฝ้าดูก้อนเมฆที่ลอยผ่านมาแล้วปล่อยให้มันลอยผ่านไปโดยไม่ให้ความสนใจเข้าไปคลุกเคล้าคิดต่อยอดความคิดนั้น คุณก็จะเริ่มเห็นเองว่าเมื่อถูกสังเกต ความคิดและอารมณ์นั้นมันจะฝ่อหายไป คือมันมีธรรมชาติมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป แต่เป็นเพราะคุณไม่รู้ธรรมชาติของมัน จึงไปเผลอเอาความสนใจไปคิดต่อยอดมัน มันจึงดูเหมือนมาแล้วไม่ไป จนมันใหญ่คับฟ้ากลายเป็นนายคุณไปเสียฉิบ

     ดังนั้นในการจะหลุดพ้น คุณต้องเริ่มที่การฝึกวางความคิด เครื่องมือที่จะช่วยให้คนเราวางหรือปลดแอกจากความคิดได้ ผมสรุปให้ง่ายๆว่ามีชิ้นเด่นๆสักห้าชิ้น คือ

     (1) ทักษะการหันเหความสนใจ (attention) ออกมาจากความคิดไปจอดอยู่ที่ไหนสักแห่ง

     (2) ทักษะการเอาความสนใจมารับรู้พลังงานชีวิต หมายถึงมาอยู่กับความรู้สึกบนผิวกาย (body scan)

     (3) ทักษะการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation)

     (4) ทักษะการกระตุ้นตัวเองให้ตื่นและมุ่งมั่น (motivation)  ด้วยวิธีดึงพลังทุกอย่างที่จะดึงเอามาใช้ได้ รวมทั้งพลังชีวิต (ปราณาหรือชี่) ที่ภายในของเราเอง และพลังรักหรือศรัทธา (grace) ที่เราได้จากภายนอก

     (5) ทักษะการมีสมาธิ (meditation) คือการสามารถจดจ่อกับอะไรสักอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้ จนถึงสมาธิสูงสุดคือไม่เหลืออย่างอื่นเลยนอกจากความรู้ตัว

     เมื่ออาศัยเครื่องมือทั้งห้าช่วยปลดแอกลากเอาความสนใจออกมาจากความคิดได้ จนคุณเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง ว่าความคิดเป็นเพียงเสียงหมาเห่าที่กวนความเงียบให้กลายเป็นความอึดอัดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หรือเป็นเพียงระลอกคลื่นที่กวนผิวน้ำทะเลที่เรียบๆให้ปั่นป่วนชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวมันก็จะสงบลง ขณะที่เราที่แท้จริงนั้นเป็นความเงียบ หรือเป็นมหาสมุทรที่เรียบๆนิ่งๆเยือกเย็นสนิทไม่มีเอี่ยวหรือเดือดร้อนอะไรกับความคิดทั้งสิ้น เมื่อแยกเราออกจากความคิดได้แล้ว เราก็จะเป็นอิสระจากความคิดของเราได้ การเป็นอิสระจากความคิดของเราเองได้นี่แหละคือความหลุดพ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับอดีตอนาคต ไม่มีอะไรเกี่ยวกับชาติที่แล้วหรือชาติหน้า ไม่เกี่ยวเลย เพราะอดีตอนาคตก็ดี ชาติที่แล้วชาติหน้าก็ดี ล้วนเป็นเรื่องในคอนเซ็พท์ของเวลาซึ่งเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่เราที่แท้จริง เราที่แท้จริงนั้นเป็นความรู้ตัว อันหมายถึงความตื่นอยู่โดยไม่มีความคิด

     แล้วคนที่จะช่วยให้คุณตื่นจากการแกล้งหลับได้จริงๆก็มีอยู่เพียงคนเดียว คือตัวคุณเอง จะยากหรือง่ายอยู่ที่คุณเองอยากจะแกล้งหลับแล้วตระเวณหาอาจารย์หรือสำนักอื่นๆเพื่อแกล้งหลับในท่าแปลกๆต่อไป แต่ว่าสาระหลักก็ยังเป็น “เดิมๆ” หรืออยากจะตื่นจากการจมอยู่ในความคิดมาอยู่กับเดี๋ยวนี้ด้วยตัวคุณเอง คุณเลือกได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์