Latest

การฟื้นฟูสมองหลังจากสมองเสียไปด้วยเหตุใดก็ตาม

เรียนคุณหมอสันต์

หนูเรียนปรึกษาค่ะ สามีอายุ 51 ปี เคยป่วยแขนขาอ่อนแรงข้างซ้าย เดินไม่ได้ นอนโรงพยาบาล 3 วันหมอวินิจฉัยว่าเส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ตอนนี้เป็นโรคเบาหวาน ตรวจล่าสุด160 ค่ะ และมีภาวะโลหิตจางด้วย ปัญหาตอนนี้คือเค้าจะต้องนอนกลางวันทุกวันแต่นอนไม่หลับในตอนกลางวัน ตื่นมาแล้วจะมีอาการมึนงง เวียนศรีษะเหมือนจะหน้ามืดตอนประมาณ 5 โมงเย็นเกือบทุกวัน แต่พอ 6 โมงเย็นไปแล้วอาการดีขึ้น สามารถทำงานและขับรถได้ตามปกติค่ะ เป็นแบบนี้มาเกือบ 2 เดือนแล้วค่ะ แต่ถ้าเป็นวันหยุด เสาร์ – อาทิตย์ ไม่เป็นอะไรเลย หนูพาไปหาหมอ หมอบอกว่า  นอนกลางวันมากเกินไป ทำให้สมองเบลอ ฉีดยาแก้เวียนศรีษะ ก็หายไป 2 วัน แล้ววันนี้กลับมาเป็นอีก สามีบอกว่าถ้าวันไหนนอนหลับตอนกลางวันได้สนิท ตื่นมาจะไม่เป็นไรเลยค่ะ หรือว่าเค้าเป็นโรควิตกกังวลหรือเครียดหรือเปล่าค่ะ ต้องรักษาแนวทางไหนดีค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ

…………………………….

ตอบครับ

     ผมยังวินิจฉัยไม่ได้ดอกนะว่าสามีของคุณป่วยเป็นอะไร การจะบอกได้ให้ชัดเจนผมต้องรู้ผลตรวจที่ละเอียดกว่านี้ นับตั้งแต่ข้อมูลสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยนอกจากเพศและอายุ คือ น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันเลือด ผลการตรวจทั้งหมดที่ทำไปในโรงพยาบาล รวมทั้งผลการตรวจชีวเคมีของเลือด ผลการตรวจฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องเช่นฮอร์โมนไทรอยด์ ผลการตรวจภาพของสมองไม่ว่าจะด้วย CT หรือ MRI ก็ตาม แล้วก็ยังต้องมีผลตรวจร่างกายทางด้านประสาทวิทยา ซึ่งปกติทำโดยอายรแพทย์ด้านประสาทวิทยา (neurologist) ต้องมีข้อมูลทั้งหมดนี้ก่อน จึงจะพอเห็นวี่แววที่จะให้การวินิจฉัยได้

     ในขั้นนี้ผมทำได้แค่เดาแอ็ก ไม่ใช่ไดแอ็ก (diagnosis) โดยสมมุติเอาโดยไม่มีข้อมูลว่าผู้ป่วยไม่ได้มีภาวะโลหิตจางระดับมากถึงก่ออาการทางสมองได้ และไม่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักก่ออาการเช่นนี้ได้เช่นกัน แล้วผมก็จะวินิจฉัยแบบเดาแอ็กว่าสามีของคุณมีอาการป่วยเหล่านี้เพราะเป็นผลยืดเยื้อเรื้อรังตามหลังการเกิดอุบัติการณ์หลอดเลือดทางสมอง (post stroke insomnia และ post stroke dementia) ดังนั้นวันนี้ผมจึงจะพูดกับคุณถึงวิธีฟื้นฟูสมองหลังจากเป็นอัมพาต เรื่องนี้ใช้ประโยชน์ได้กับผู้ที่สมองเสียหายทั้งจากอุบัติเหตุและจากโรคอัลไซเมอร์หรือโรคขี้หลงขี้ลืมเล็กๆน้อยๆ (mild cognitive impairment)ได้ด้วย สามีของคุณและท่านผู้อ่านท่านอื่นสามารถเอาสิ่งที่ผมจะพูดถึงนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ทันที มีแต่ได้กับได้ ไม่มีอะไรเสีย

      หลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ บ่งชี้ว่าการฟื้นฟูสมองหลังจากสมองได้รับความเสียหายไม่ว่าจากอะไร มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 อย่าง คือ (1) โภชนาการ (2) การออกกำลังกาย (3) การจ้ดการความเครียด (4) การนอนหลับ (5) การกระตุ้นท้าทายสมองอยู่เป็นนิจ เราจะว่ากันไปทีละอย่างนะ

     1. โภชนาการเพื่อการฟื้นฟูสมอง

     โภชนาการเพื่อการฟื้นฟูสมองโดยเฉพาะกรณีเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นสรุปได้แน่ชัดแล้วว่าต้องเป็นโภชนาการในแนวที่กินพืชผักผลไม้เป็นอาหารหลัก อาหารที่อันตรายต่อสมองที่ต้องลดลงเป็นพิเศษคือน้ำตาล ไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัว ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด ในระยะที่กำลังฟื้นฟูสมองอย่างเข้มข้นนี้ผมแนะนำให้เปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจแบบไม่ผัดไม่ทอด คือเจแบบไขมันต่ำ จะดีที่สุด โดยกินในรูปแบบอาหารสดหรืออาหารใกล้สภาพธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะวิตามิน แร่ธาตุทั้งธาตุใหญ่และธาตุเล็กธาตุน้อย และสารต้นอนุมูลอิสระที่จำเป็นต้องการซ่อมแซมสมอง มีอยู่อย่างอุดมในอาหารพืชตามธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งหลากหลายตามสีสัน รสชาติ และฤดูกาล

     2. การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูสมอง

     มีงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูสมองว่าซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่ามีประเด็นสำคัญสามประเด็น คือ

     ประเด็นที่ 1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับเบา ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร (moderate intensity) คือต้องให้ได้ความหนักระดับปานกลางขึ้นไป ก็คือต้องมีหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ต่อเนื่องไปอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 ครั้ง

     ประเด็นที่ 2. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างเดียว ฟื้นฟูสมองได้ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายควบทั้งแบบแอโรบิกและแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม)

     ประเด็นที่ 3. การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว ซึ่งเป็นการประสานสติ ตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ และข้อ เข้าด้วยกัน ลดโอกาสลื่นตกหกล้มในผู้ป่วยที่มีความเสียหายของเนื้อสมองจากเหตุใดๆก็ตามลงได้

     ดังนั้น ในการฟื้นฟูสมอง ต้องขยันออกกำลังกายเป็นสามเท่าของคนปกติ คือต้องทำทั้งแอโรบิก เล่นกล้าม และฝึกการทรงตัว ซึ่งหากทำได้ ผลที่ได้จะดีเกินความคาดหมายสุดบรรยาย

    3. การจัดการความเครียดเพื่อฟื้นฟูสมอง

     ในขณะที่สมองส่วนหนึ่งเสียหายไปผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการตั้งสติมีสมาธิ แต่ในอีกด้านหนึ่งการมีสติสมาธิก็มีบทบาทสูงมากในการฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้นจะอย่างไรเสียก็จะต้องทุ่มเทให้กับการจัดการความเครียด ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การฝึกวางความคิด ผ่านการทำกิจกรรมเช่น ไทชิ นั่งสมาธิ โยคะ และการฝึกวางความคิดในชีวิตประจำวัน

     ในการฝึกวางความคิดผ่านกิจกรรมดังกล่าว มีเครื่องมือหรือเทคนิคจำเป็นอยู่อย่างน้อยห้าอย่างคือ (1) การถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับสิ่งอื่นเช่นลมหายใจ (2) การเอาความสนใจไปรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) (3) การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) (4) จากสร้างสมาธิด้วยการจดจ่อกับอะไรอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว (meditation) (5) การรู้ตัว (awareness) ซึ่งเริ่มด้วยการฝึกสังเกตความคิดจนเข้าไปอยู่ในช่องว่างระหว่างความคิดได้โดยที่ตื่นตัวอยู่แต่ไม่มีความคิด ทั้งหมดนี้จะใช้ประโยชน์ได้จริงจังต้องฝึกฝนทุกวันทุกที่ทุกเวลา

     4. การปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับเพื่อฟื้นฟูสมอง

     การที่สมองเสียหายจากอัมพาตหรืออัลไซเมอร์หรืออุบัติเหตุก็ตาม ทำให้ระบบการควบคุมการนอนหลับและการหายใจขณะนอนหลับของร่างกายเสียหายไประดับหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องประเมินความจำเป็นของการใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ (CPAP) ด้วยการตรวจการนอนหลับ (sleep lab) และหากตรวจแล้วพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อยก็ควรใช้ CPAP เพื่อช่วยให้สมองได้ออกซิเจนพอเพียงขณะนอนหลับ

     นอกจากนั้นยังต้องฝึกปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ อันได้แก่ (1) การเข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา (2) การไม่นอนกลางวัน ถ้าจำเป็นก็แค่งีบสั้นๆ (3) การปรับห้องนอนให้สะอาด เรียบง่าย เงียบสนิท มืดสนิท และเย็น (4) การไม่ทำงานในห้องนอน ไม่กินของว่างหรือคุยในห้องนอน (5) ไม่เอาทีวี โทรศัพท์ ไลน์ เฟซ นาฬิกาปลุก ไว้ในห้องนอน (6) เตรียมตัวนอน 30 นาที โดยหยุดกิจกรรมตื่นเต้น หรี่ไฟ ใส่ชุดนอนหลวมๆสบายๆ นั่งพักโดยไม่ทำอะไร หรือนั่งสมาธิ (7) ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ใน 3 ชม.ก่อนนอน (8) ออกกำลังกายหนักพอควรทุกวัน (9) งดกาแฟและยาที่ทำให้นอนไม่หลับ

     5. การกระตุ้นและท้าทายสมองเพื่อฟื้นฟูสมอง

     เซลสมองมีรูปร่างคล้ายสายไฟฟ้า สมองที่เสียหายเปรียบเสมือนสายไฟฟ้าที่ขาดกระจุยกระจาย การจะเชื่อมต่อสายไฟฟ้าเหล่านั้นเข้ามาหากันใหม่ต้องอาศัยกิจกรรมกระตุ้นและท้าทายสมองเหมือนกับการฝึกสอนเด็กที่อ่านหนังสือไม่เป็นให้อ่านหนังสือเป็น การจะฟื้นฟูสมองต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้ชีวิตมีความน่าสนใจหลากหลายไม่ใช่อยู่แต่กับกิจวัตรเดิมๆซ้ำๆซากๆ เวลาขับรถก็ให้พยายามขับด้วยดุลพินิจโดยหลีกเลี่ยงการใช้ GPS หรือใช้แค่เป็นแบ้คอัพ ทำกิจกรรมต่อยอดขึ้นไปจากความรู้ความชำนาญหรือความชอบที่มีอยู่เป็นทุนเดิม งานวิจัยพบว่ากิจกรรมท้าทายที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเซลสมองขึ้นมาใหม่ก็เช่น (1) การค้นหาทางไปหรือถนนหนทาง (2) การเรียนภาษาที่สอง (3) ดนตรี (4) เต้นรำ (5) การกลับไปเรียนหนังสือใหม่ในสถาบันการศึกษา (6) การทำงานวิชาชีพที่ซับซ้อน (7) การเผชิญความท้าทายที่ยากลำบาก (8) การฝึกภายใต้ระบบจำลอง (virtual reality) (8) การเขียนหนังสือ (9) ร้องเพลงหรือคาราโอเกะ (10) เล่าเรื่องตลกให้คนอื่นฟัง (11) เล่นไพ่บริดจ์ รัมมี่ หรือโป้กเกอร์ (12) สอนวิชาชีพตัวเองให้คนอื่น (13) วาดรูป แกะสลัก ปั้น เจียรนัย และงานศิลป์อื่นๆ

     จะเห็นว่าทั้ง 5 องค์ประกอบนั้น หากทำโดยตนเองหรือครอบครัวช่วยจัดให้จะได้ผลดีที่สุด แต่บางคนไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะจัดให้ตัวเองได้ครบหมด ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ได้เปิดให้บริการให้ผู้ที่ประสงค์จะฟื้นฟูสมองของตนเองมานอนพักนาน 1 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน เพื่อกินอาหารเจแบบไขมันต่ำ ออกกำลังกายแบบต่างๆ ทำกายภาพบำบัดส่วนของร่างกายตามความจำเป็น และฝึกสติสมาธิจัดการความเครียด และทำกิจกรรมกระตุ้นท้าทายสมองต่างๆซึ่งวางแผนให้เฉพาะผู้พักอาศัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากคุณสนใจก็ติดต่อขอรายละเอียดที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์