Latest

หมอสันต์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารโมเดิร์นไลฟ์

     ผมบังเอิญพบบทสัมภาษณ์เก่าที่นิตยสารโมเดิร์นไลฟ์ส่งมาให้ มันถูกทิ้งไว้ใต้กองกระดาษนานแล้ว ผมเห็นว่ามีสาระอยู่บ้าง จึงเอามาให้แฟนบล็อกอ่านเล่น

เนื่องจากประวัติชีวิตคุณหมอในอดีต หาอ่านได้มากมายในสื่อต่างๆ คงไม่ถามแล้ว อยากทราบประวัติศาสตร์บรรทัดใหม่ๆ ที่กำลังเขียนอยู่ในตอนนี้มากกว่า

     “(หัวเราะ) …ผมเป็นคนที่แค่วันนี้อยู่สบายๆไม่มีใครมาบีบคอให้หายใจไม่ออกผมก็โอเคแล้ว จากนี้ไปอย่าว่าแต่อนาคตไกลๆเลย แค่ชั่วโมงหน้าผมก็ไม่คิดแล้ว อยู่ไปทีละช็อต ทีละโมเม้นท์ เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงแผนในอนาคตยังไงบ้าง ไม่มี ไม่มีการวางแผนอะไรในอนาคต อดีตถ้าจะให้รื้อฟื้นจริงๆก็ได้แต่ว่าเป็นคนที่ไม่ชอบฟื้นฝอยหาตะเข็บ อดีตไม่มี อนาคตไม่มีอยู่ไปทีละช็อต เป็นคนแก่ที่ไม่มีวาระ ไม่มีอะเจนด้า”

การที่เริ่มรู้สึกได้ว่า อยู่กับปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ต้องพยายามคิดให้ได้ตลอดเวลา หรือมันเป็นกลไกอัตโนมัติไปแล้ว

     “..กลไกการ “วางความคิด” ของผม มันอัตโนมัติไปแล้ว ผมเป็นคนที่เปิดรับอะไรก็ตามที่จะเข้ามา การที่เราจะเป็นคนเปิดรับได้ง่าย เราต้องไม่มีความคิด ต้องวางความคิดให้หมดก่อน เหมือนบุรุษไปรษณีย์มากดกริ่งส่งของแล้วเราไม่อยู่บ้าน เราไปอยู่ในความคิดอะไรก็เข้ามาหาเราไม่ได้ เมื่อผมวางความคิด ไม่มีความคิด ซึ่งสิ่งดีๆก็จะเข้ามาโดยอัตโนมัติในเวลาที่พอดี ในโมเม้นท์ที่พอดี ในความต้องการที่เรากำลังมองหาพอดี ชีวิตก็ดำเนินไปแบบนี้ เป็นชีวิตที่ไม่มีโผ ไม่มีวาระอะไร ผมไม่ได้เป็นคนลิขิตชีวิตตัวเอง”

ก่อนที่คุณหมอจะคิดได้และมาจัดการความคิดตัวเองแบบนี้ ก็เคยเป็นคนทำงานหนักที่ไม่ได้ดูแลตัวเอง ปล่อยชีวิตไปตามกระแสต่างๆจนป่วย ตอนนั้นกับตอนนี้คิดต่างกันอย่างไร

     “…ตอนทำงานก็เหมือนกับคนทำงานทั้งหลายคือ ทำสี่ห้าอย่างพร้อมกันทั้งวัน แต่ละอย่างก็จะมีแผนว่าชีวิตช่วงนั้นทำนั่น ชีวิตช่วงนี้ทำนี่ ทำงานผ่าตัดหรืองานบริหารด้วย มันมีความคิดอยู่ตลอดเวลา เวลาที่มีความคิดน้อยที่สุดคือเวลาผ่าตัด พอเลิกงานผ่าตัดจะมีความคิดเรื่องการทำงาน เรื่องปัญหาแรงงานตลอดเวลาไม่เคยว่างจากความคิดตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงนอนหลับ นั่นคือข้อแตกต่างจากทุกวันนี้ ทุกวันนี้ความคิดแทบจะไม่มี มีน้อยมากแค่ 1% ของที่เคยมี ผมจะเปิดให้มันว่างๆไปอย่างนี้แหละ และมีอะไรเข้ามาผมก็จะรับๆบางทีเรื่องนี้เข้ามาเป็นเรื่องขี้หมา ผมก็รับแล้วก็ทิ้งไป แต่มันจะมีบางครั้งที่เราเปิดเรื่องดีๆมันจะเข้ามา สมัยก่อนเราไม่เปิดสิ่งเหล่านี้มันก็เข้าไม่ถึง

     ชีวิตที่อยู่ในความคิด มันป็นชีวิตที่เครียด ชีวิตที่ไม่มีความคิดมันเป็นชีวิตที่สบายดี ไม่มีความกังวลถึงอนาคต สมัยก่อนผมจะมีความกังวลถึงอนาคตในงานความรับผิดชอบ ความเป็นความตายของคนไข้ สมองผมไม่เคยว่าง ถามว่าสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันยังไง สมัยก่อนความคิดแยะ เครียด อยู่แต่ในความคิดอยู่แต่ในความกังวล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเรา แต่ก็เป็นเรื่องความกังวลของเรา สมัยนี้ไม่มีความคิดไม่มีความกังวลอะไรอยู่แต่กับเดี๋ยวนี้ไปทีละช็อตๆ ผมใช้คำว่าอัตโนมัติ น่าจะใช้คำนี้ได้ มันเป็นอัตโนมัติ เราไม่ต้องไปคิดถึงอะไรมันจะมาของมันเอง”

แต่โปรเจคที่คุณหมอทำอยู่ เกี่ยวกับที่จะรณรงค์เรื่องสุขภาพ เรื่องเวชศาสตร์ครอบครัว ก็เป็นภาระใหญ่ที่ต้องคิดเยอะ แล้วจะปล่อยวางได้อย่างไร

     “…เวลาทำงานมันมีการทำงานสองแบบ สมัยก่อนผมทำงานผมจะเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง ทาร์เก็ต ผมทำแล้วผมจะเช็คกับทาร์เก็ตตลอดเวลา ทำให้การทำงานมันเครียด เดี๋ยวนี้ผมยังทำงานอยู่ แต่ผมทำงานโดยที่โฟกัสกระบวนการทำงาน สมมติคุณบอกว่างานผมมีการวางแผน ใช่มีการวางแผนจัดตามปฏิทิน ผมโฟกัสไปตามนี้ แล้วผมก็วางแผนทีละอย่าง ทีละช็อต แต่ผมไม่ไปสนใจทาร์เก็ตหรอกเพราะว่างานของผมทุกวันนี้ผมไม่ได้เป็นคนรับผลดีผลเสียของงาน ผมไม่ได้ทำงานให้กับตัวเองแล้วทุกวันนี้ คนอื่นเป็นคนรับผลดีผลเสียของงานเพราะฉะนั้นผมไม่สนใจว่างานจะออกมายังไง zero results ผลผมเอาแค่ศูนย์แต่ผมโฟกัสงานที่ทำตรงหน้าไปทีละอันๆ ผลงานจะเป็นยังไงช่างมัน การทำงานของผมมันช่วยให้ผมอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเดี๋ยวนี้ได้ โดยที่ผมไม่ไปวอรี่ว่ามันจะเป็นยังไง นี่คือความแตกต่างจากสมัยก่อนมาสมัยนี้…”

อยู่ดีๆจากใช้ชีวิตอย่างหนึ่งมาหักปุ๊ปมาเป็นอย่างหนึ่ง ต้องมีอะไรมากระแทกหรือค่อยๆทำวันละหน่อยๆ อยากคิดให้ได้แบบนี้ ต้องใช้เวลากี่ปี เผื่อชาวบ้านจะทำตามจะได้ทำได้ เพราะหมอก็ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นคนเก่งเหนือคนธรรมดาอยู่แล้ว หมอทำสองปีคนธรรมดาอาจจะเจ็ดปีก็ได้

     “..ชีวิตมันไม่ได้เปลี่ยนกะทันหัน แต่มันจะมีบางจุดที่เป็นหลักกิโลเมตรที่เรารู้สึกว่า หนึ่งการที่ตัวเองป่วยเป็นหลักกิโลเมตรที่เรานึกย้อนไปแล้วจะนึกถึงตรงนี้ก่อน

     พอตัวเองป่วย เจ็บหน้าอกเวลาออกแรง ก็รู้แล้วว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด เพราะตัวเองเป็นหมอโรคหัวใจ เป็นจุดเปลี่ยนอันที่หนึ่ง การเป็นหัวใจขาดเลือดมันตายได้ง่ายๆ เราอยู่กับคนไข้ เรารู้จุดนี้ ทำให้เราหันมาเช็ค มันมีอะไรที่เรายังตายไม่ได้ เรื่องทรัพย์สมบัติ มันก็เหมือนกับดึงเราเข้ามาจากสิ่งที่เรากำลังมุ่งไปไหนก็ไม่รู้ ถึงถอยกลับมาตั้งหลักกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

     ความเป็นไปได้ที่เราอาจจะตาย เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราก็มาจัดแจงทรัพย์สมบัติเรียบร้อยหมด แล้วก็ถามตัวเองว่าตายได้ยัง…ยังไม่ได้ ทำไม มันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก อายุน้อยเกินไปชีวิตกำลังทำอะไรอีกตั้งเยอะแยะ แต่ความที่เป็นหมอก็รู้ว่าคนไข้แบบนี้จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็เป็นคนไข้ มันจำเป็นที่เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เรามีความพร้อมที่จะตาย ไม่อย่างนั้นชีวิตเราก็จะอยู่ไปอย่างทุรนทุราย เหมือนคนไข้ทั้งหลายที่เราเห็น ยิ่งมีอาการก็จะกระวนกระวาย กลับมาแล้วยังเจ็บหน้าอกมีความกังวลมาก ผ่าตัดหัวใจไปแล้วอาการเจ็บหน้าอกยังกลับมาใหม่ คราวนี้ยิ่งกังวลหนัก

     ตราบใดที่ยังทำใจไม่ได้ว่าตายเมื่อไหร่ ชีวิตที่เหลือจะไม่มีความสุขเลยเพราะกลัวตาย ก็เลยต้องมาทำการบ้านกับเรื่องทำยังไงไม่ให้กลัวตาย หลังจากลองมาหลายแบบ ท้ายสุดมันก็ลงตัวคือ หัดวางความคิด พอหัดวางความคิดได้แล้ว อยู่กับเดี๋ยวนี้ ตอนนี้เรายังไม่ตาย ไม่มีใครมาบีบคอให้เราหายใจไม่ออกชีวิตก็สบายดี อยู่กับเดี๋ยวนี้ เวลาที่เหลือมันยังมาไม่ถึง ก็ยังไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ชีวิตทุกวันเลยเป็นแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นแบบนี้แล้วจะไม่ทำงานอะไรนะ งานก็ทำ ยังฝึกอบรม ยังสอนคน ยังทำอะไรอยู่ ทำโดยโฟกัสที่งาน แต่ไม่สนใจว่าผลจะเป็นยังไง เราไม่ได้ไปได้ดิบได้ดีกับผลเหล่านั้น เพราะเราทำใจได้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้เราไม่สนอะไรแล้ว

     ที่มีอยู่ตอนนี้พอแล้ว ไม่ต้องหนีอะไรแล้ว ยอมรับทุกอย่างไม่ต้องไปเสาะหาอะไรอีก กลายเป็นชีวิตที่คนจะรู้สึกว่า ไม่ค่อยอินังขังขอบกับเรื่องการนัดหมายเท่าไหร่ ต้องมีคนคอยเตือน พอกลายเป็นคนแบบนี้ คนอื่นก็จะรู้สึกว่ารำคาญนิดหน่อย คนใกล้ชิดต้องคอยเตือนตลอดแต่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ดี..”

คุณหมอบอกพร้อมตายทุกเมื่อ แต่โปรเจคที่ทำตอนนี้ใหญ่มาก ดูเหมือนต้องตั้งใจอยู่ยาว เพราะภาระก็เยอะอยู่เหมือนกัน หรือว่าวางตัวบุคคลไว้เรียบร้อยแล้ว

     “..การทำงาน ผมปล่อยมันเป็นไปตามธรรมชาติ คนทำงานกับเรา ก็ให้เขาค่อยๆเข้ามาเรียนรู้ตามธรรมชาติ ไม่ถึงกับวางไว้ว่าเดี๋ยวผมตาย คนนั้นต้องขึ้นมา ไม่ถึงขนาดนั้น สมัยก่อนผมทำงานดูแลธุรกิจเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน เราซีเรียสว่าถ้าคนๆนี้ขาดแล้วเราจะทำยังไง แต่พอเรื่องจริงเกิดขึ้น คนสำคัญขาดไปโดยกะทันหัน สามวันแค่นั้นแหละ ทุกอย่างมันก็ลงตัว ตอนหลังผมเลยเลิกคิดว่า ตัวเองแบกโลกไว้ ไม่มีผมสามวัน ทุกอย่างก็จะลงตัว ผมกลายเป็นคนที่เรียกว่าไว้ใจจักรวาล ปล่อยให้จักรวาลเป็นคนบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างไป ในเมื่อใครก็ตามที่สร้างโลกนี้ขึ้นมาเขาก็ต้องเป็นคนดูแลโลกนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะแบกโลกไว้

     คุณเคยไปวัดอรุณใช่ไหม ที่ฐานวัดอรุณมีครุฑ เรียงรอบพระปรางค์ ถ้าผมบอกคุณว่าครุฑพวกนี้รับน้ำหนักของพระปรางค์ไว้คุณเชื่อไหม คุณก็ไม่เชื่อ ฐานรากในดินต่างหากซึ่งรับน้ำหนัก เหมือนกันใครจะมาพูดว่า ผมแบกรับภารกิจทั้งหลายจริงๆมันไม่ใช่หรอก พอผมตายไปวันนี้ อีกสองสามวันทุกอย่างมันลงตัวเอง เพราะฉะนั้นผมไม่ได้วางแผนละเอียดว่าใครจะมาแทนอะไร งานระยะยาวจะเป็นยังไงไม่ได้วางแผนโดยละเอียดขนาดนั้น เป็นคนไว้ใจจักรวาล ฟังดูจะงมงายนิดหน่อย”

มีชีวิตบั้นปลายที่บ้านสวนต่างจังหวัดไม่เครียด ก็สบายๆอยู่แล้ว นึกยังไงถึงมาเผยแพร่หรือทำอะไรเพื่อสังคม เพราะดูเหมือนการยุ่งกับคนเยอะก็ใช่สิ่งที่คุณหมอชอบนัก

     “..ผมคิดว่าไม่มีใครชอบยุ่งกับคน นานมาแล้วผมเป็นผู้อำนวยการอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีพยาบาลที่เป็นหัวหน้าพยาบาลไอซียูมาจากอีกโรงพยาบาล พยาบาลเป็นอาชีพที่หายาก แล้วคนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้เลยนั้นอายุไม่มากยิ่งหายาก พอเขามาสมัครงานก็สงสัยว่าทำไมคนระดับนี้ถึงมาหางานทำเพราะคนเขาจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ ผมถามว่าเขาต้องการอะไร เขาบอกว่าให้หนูทำอะไรก็ได้ ที่ไม่ต้องยุ่งกับคน ผมบอกว่ามีจ๊อบเดียวคุณเอารึเปล่า ไปปั้นสำลีอยู่ที่หลังโรงพยาบาล คือไม่มีใครอยากยุ่งกับคนหรอก แต่ถ้าถามเรื่องแรงบันดาลใจว่าทั้งๆที่ไม่ชอบยุ่งกับใครทำไมถึงมาทำ…

     อันที่หนึ่งคือการที่ตัวเองป่วย แล้วหันมาดูแลตัวเองแล้วมันดีขึ้น เราก็อยากจะสอนคนอื่นให้รู้จักดูแลตัวเอง อันที่สองการประกอบอาชีพผ่าตัดหัวใจมานาน มันเป็นงานที่เหนื่อยยากมาก แต่การที่ผ่าตัดหัวใจไปแล้วโรคเขาไม่ได้หาย เขาเป็นโรคต่อไป อีกสิบปีเขากลับมาอีกแล้ว ถ้าเขาไม่ตายอีกประมาณสิบปีเขาก็กลับมาอีก กลับมาแต่ละทีก็ต้องมาทำงานหนักมากเลย มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้มเลย หมอก็เหนื่อยคนไข้ก็เหนื่อย”

แต่ได้ตังค์…เป็นธุรกิจ

      “นั่นอาจจะเป็นด้านที่ดี ทำให้เราดำรงชีพอยู่ได้ แต่ลองสมมุติว่า ผมจ้างคุณแบกหินขึ้นเขา แล้วพอถึงยอดเขาให้คุณกลิ้งหินลงมาข้างล่าง แล้วคุณแบกขึ้นไปใหม่ ผมให้คุณเดือนละสามแสนสี่แสนคุณเอาไหม คุณอาจจะไม่เอาเพราะงานที่กลิ้งหินขึ้นไปแล้วปล่อยมันลงมามันไร้ค่า คุณกลิ้งขึ้นไปแทบตายมันก็กลิ้งลงมาอีก แล้วคุณก็ต้องกลับมากลิ้งไปใหม่ โอเคคุณได้เดือนละสี่แสนคุณก็ไม่ทำ คุณไปหาที่อื่นเดือนละหมื่นสองหมื่นมันมีคุณค่าต่อชีวิตของคุณดีกว่า”

ถ้าหมอไม่ทำวันนั้น หมอก็ไม่มีทรัพย์สมบัติที่จะมาแมเนจโน่นนี่ในชีวิต อย่างที่ใจปรารถนา

     “แต่ก่อนผมเคยคิดอย่างนั้นนะ มันเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตนะ เหมือนวัวที่วิ่งไปในทุ่งมันวิ่งตามกันไปมันไม่รู้หรอกว่าวิ่งไปไหน จะมีบางฤดูกาลบางปีที่วัวจะวิ่งยี่สิบสามสิบตัวไปชนรั้วพังหมด มันไม่รู้หรอกว่าวิ่งไปไหน รู้แต่ว่ามันวิ่งไป แต่ก่อนผมคิดอย่างคุณว่าเราต้องทำงานต้องเก็บเงินมีรากฐานพอที่เราจะคิดอ่านใช้ชีวิตสบายๆได้ พอคุณลงร่องนั้นคุณไม่ได้กลับแล้ว คุณจะวิ่งในร่องนั้นจนคุณตาย ผมแก่ปูนนี้มองย้อนนั่นเป็นคอนเซ็ปท์ที่นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด วิธีคิดที่ดีที่สุดคือคุณมีชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับเดี๋ยวนี้ปล่อยให้ทุกอย่างลงตัวของมันเอง แล้วคุณจะมีชีวิตที่ดี แล้วในแง่ที่ว่าคุณจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นรึเปล่าคุณจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้มาก มากกว่าที่คุณจะพยายามทำโน่นทำนี่ พูดอย่างนี้ไม่รู้คุณเข้าใจรึเปล่าแต่แก่ปูนนี้แล้วผมรู้ว่ามันเป็นยังไง”

การเลือกที่จะไว้ใจจักรวาล ถ้าคนพูดไม่ได้เป็นคุณหมอระดับประเทศอย่างคุณหมอสันต์ในวันนี้ สมมุติถ้าคนคิดแบบนี้ ตั้งแต่ตอนอายุ 14-15 อาจจะมีบั้นปลายคือไปนั่งขอทานที่สะพานลอยก็ได้…วางความคิดได้ ไม่เครียด ไม่สู้งานหนัก แล้วชีวิตจะดีเอง เป็นไปได้จริงหรือ

     “ในช่วงที่วิ่งตามกันไปผมก็มีทุกอย่าง ประสบความสำเร็จทุกอย่างที่คนเขาประสบกัน ทำงานเยอะนอนไม่หลับสุขภาพไม่ดี มีความเครียดตลอดเวลาผมก็เป็น การที่จะออกจากจุดนั้นมันไม่จำเป็นต้องแก่ถึงขนาดนั้น มีเงินขนาดนั้น ไม่เกี่ยวเลย บางคนนี่มีเงินมากยิ่งออกไม่ได้ มีสมบัติน้อยๆออกง่ายกว่า วัยก็ไม่เกี่ยว บางคนยิ่งแก่เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ยิ่งแก่ยิ่งเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ยิ่งไปไหนไม่รอด คนอายุน้อยซะอีกที่ไม่มีสมบัติมากตัวปร๋อ เดี๋ยวไปเที่ยวโน่นไปเที่ยวนี่ วัยก็ไม่เกี่ยว การมีทรัพย์มากหรือน้อยก็ไม่เกี่ยว มันเกี่ยวกับว่าคุณมองเห็นรึยังว่าชีวิตที่ใช้อยู่มันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ถ้าคุณมองเห็นคุณก็ออกมาแค่นั้นแหละ ถ้าคุณยังมองไม่เห็นก็วิ่งตามเขาไปเหมือนวัวที่วิ่งตามเขาไป ถ้าคุณมองเห็นเมื่อไหร่คุณก็ออกมาได้เมื่อนั้นไม่เกี่ยวกับวัยไม่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ

     คุณพูดถึงว่าอายุ 15 มัวมาคิดแบบนี้เดี๋ยวก็ต้องไปขอทานหรอก ชีวิตนี้มันไม่ต้องการอะไรมากนะคุณ ชีวิตนี้คุณตื่นมาคุณมีอากาศหายใจ มีน้ำสะอาดดื่มนี่เรียกว่าชีวิตอยู่ได้ 90% แล้วนะ คุณมีน้ำกับมีอากาศ อาหารนี่คุณยังใช้ก็ไม่มากนะ เมืองไทยเป็นเมืองที่ผลิตอาหาร อาหารราคาถูกมากชีวิตคุณแทบไม่ต้องการที่จะต้องมีเงินมีทองไว้มากมายเลย อากาศก็ฟรี ถ้าคุณอยู่ในเทศบาลน้ำก็ฟรีคุณเปิดก๊อกก็ได้น้ำสะอาดด้วย อาหารคุณอาจจะต้องหาเงินมาซื้อหา ที่เหลือก็เรื่องจิ๊บจ๊อย แม้แต่ที่อยู่อาศัยเอง ถ้าคุณมีอากาศที่ดีหายใจ มีน้ำสะอาดดื่ม มีอาหารบริโภค อาหารที่ทำให้สุขภาพดีซึ่งก็คืออาหารธรรมชาติ สามอย่างนี้ชีวิตก็ปร๋อแล้วไม่ต้องใช้เงินมากเลย ไม่ต้องสะสมอะไรมากไม่จำเป็น ผมใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจสัจธรรมอันนี้ ซึ่งมันนานเกินไป เขาเรียกว่าเสียค่าโง่ไปยาวนานเกินไป แต่ก็ไม่เสียดายเวลาหรอกนะที่ผ่านมา จากนี้ไปผมรู้แล้วจะใช้ชีวิตยังไงถึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการมีชีวิตอยู่ การอยู่ตรงนี้ทำให้เราได้เต็มๆกับชีวิตแทนที่จะไปเสียดายอดีตหรือพะวงนู่นนี่ในอนาคต”

ขนาดคุณหมอเองยังคิดเรื่องนี้ได้ตอนที่อายุมากแล้ว พอถึงจุดนึงที่คุณหมออยากจะเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปสู่สังคมหรือระดับคนที่วุฒิภาวะหรืออะไรที่แตกต่างกับคุณหมอ ในมุมนักบริหารคิดว่า เจอวิธีหรือยัง ในการที่จะให้ความรู้หรือความเข้าใจไปถึงคนเร็วหรือเป็นรูปธรรมกว่านี้

     “ยังไม่เจอวิธี ในมุมมองของสุขภาพก่อนนะ การมีชีวิตที่ดีการมีสุขภาพที่ดีเงื่อนไขหลักอยู่ที่ตัวคนตรงนั้น การมีสุขภาพดี แรงจูงใจจะเกิดขึ้นกับคนที่ป่วยแล้วใกล้จะตายแล้วซึ่งมันจะสายเกินไป แม้แต่ในแคมป์ที่ผมทำ ผมทำแคมป์หลายแบบ แคมป์สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเรื้อรังเขาเรียกว่าพลิกผันโรคด้วยตัวเองนี่ก็อีกพวกนึง แคมป์สุขภาพดีด้วยตัวเองคนหนุ่มคนสาวที่ยังดีๆอยู่มาเรียนรู้วิธีใช้ชีวิต พวกสุขภาพดีด้วยตัวเองแรงจูงใจนี่ต่ำมาก ยิ่งถ้าบริษัทเกณฑ์ให้มาเรียนนะความอยากมีสุขภาพดีน้อย แต่คนที่เป็นโรคเรื้อรังใกล้จะตายแล้วจะกระตือรือร้นที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองแต่มันเป็นเวลาที่สายเกินไป ผมก็ยังไม่มีวิธีที่จะกระตุ้นคนให้สนใจที่จะดูแลตัวเอง ย้ำอีกทีว่าคนที่เป็นคนทำคือเจ้าตัวเขา มันมีสองเรื่องนะ การมีสุขภาพกับการมีชีวิตที่ดีสองเรื่องก็ปนๆอยู่ในนั้นเจ้าตัวเขาเป็นคนทำ มันเหมือนกับพระสอนให้คุณบรรลุอรหันต์บรรลุธรรม พระไม่ได้ทำให้คุณบรรลุธรรมได้ซะเมื่อไหร่ ตัวคุณต่างหาก เหมือนกัน..การที่จะให้คนมีสุขภาพดีผมเป็นคนสอนเป็นคนกระตุ้น แต่ว่าผมไปทำแทนเขาได้ซะเมื่อไหร่ ตัวเขาต้องทำ ถามว่าผมมีโนว์ฮาวหรือวิธีที่จะทำให้คนหันมาสนใจดูแลตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยังผมก็ยังไม่มีนะ

     ผมก็พยายามใช้วิธีเท่าที่ความรู้ในวงการแพทย์มี หนึ่งให้ความรู้ ให้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สองคือคอยกระตุ้น สามทำตัวเป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง ผมก็ทำได้เท่านี้ ถ้าทำแค่นี้แล้วเขาไม่ทำอีก ผมก็หมดปัญญา ยังไม่มีโนว์ฮาวอะไรที่ดีกว่านั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครมีรึเปล่า”

ในความเป็นจริง การเกิดแก่เจ็บตาย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่หมอทำกำลังจะยืดระยะเวลาตายแล้วก็ลดไม่ให้เจ็บ มันไม่ผิดหลักธรรมชาติหลักความเป็นไปของโลกหรือ  ความเสื่อมหรือสิ่งที่มากระทบมันก็เป็นธรรมดาของชีวิตที่ต้องเผชิญ แล้วก็ต้องทุกข์ เราเกิดมาเพื่อที่จะทุกข์แล้วก็ตายจากไป ถ้าเราอยู่นานๆมันไม่ย้อนแย้งสวนทางกับธรรมชาติหรือ

     “จริงๆมูลเหตุที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคเรื้อรังเหตุใหญ่คือความคิดของเขาเอง เราต้องการให้ชีวิตของคน ณ ขณะนี้เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ เราต้องการแค่นั้นเขาจะอายุยืนหรือไม่มันก็แล้วแต่ แต่ว่าคำว่าสุขภาพไม่ดีก็หมายความว่าชีวิต ณ ขณะนั้นมันไม่มีคุณภาพ ในนั้นมันมีสองด้าน ด้านนึงร่างกาย ทำอะไรไม่ได้มีอาการที่ทำให้เขาเป็นทุกข์ อาการปวด อีกด้านนึงคือด้านความคิด พอตัวเองป่วยก็คิดไปถึงอนาคต มีความคิดลบสารพัดว่า ลูกเมียจะอยู่ยังไงพอตัวเองตาย สิ่งที่ผมทำคือทำยังไงจะให้คนอยู่กับเดี๋ยวนี้อย่างมีความสุข ผมเอาแค่นี้เท่านั้น ไม่ได้โลภมากว่าคนจะต้องมีอนาคตเอาแค่เดี๋ยวนี้เท่านั้นให้ร่างกายเขาโอเค ให้เขาทำในสิ่งที่เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีค่า ผมว่าคนไข้บางคนเขาอยากทำในสิ่งที่เขาวินิจฉัยว่ามีค่า ถ้าทำไม่ได้เขาตายดีกว่า แต่เขาทำไม่ได้เพราะร่างกายเขาไม่เอื้อ ผมก็ช่วยให้เขาทำได้ อันนี้ก็ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ได้ทำในสิ่งที่คนเห็นว่าเขามีค่า เพราะฉะนั้นการทำให้สุขภาพดีไม่ได้หมายความว่าเราจะทำให้คนนั้นอายุยืน พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดแก่เจ็บตายยังไงมันก็ต้องเกิดอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้ชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นชีวิตที่มีค่า เป็นชีวิตที่ตัวเองแฮปปี้ไม่เป็นภาระกับคนอื่น

     คนไข้จะมีคอนเซ้ปต์คล้ายๆกันหนึ่งคือไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระกับใคร ถ้าเป็นภาระกับคนอื่นก็จะมีความตำหนิตัวเอง มีความไม่อยากอยู่ อยู่ไปก็เป็นภาระคนอื่น อันที่สองอยากให้ชีวิตตัวเองมีคุณค่า ตัวเองตัดสินใจโดยเฉพาะคนที่ทำอะไรมาเยอะแล้วมาทำไม่ได้ก็จะตัดสินว่าชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่าก็จะไม่อยากอยู่อีก มีภาวะซึมเศร้า มีภาวะอยากตาย กระทั่งมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย อันที่สามนี่เป็นมากในคนไทย อยากให้ชีวิตตัวเองมีความหมาย เกิดมาแล้วถ้าตัวเองนับถือศาสนาพุทธก็จะเดินไปสู่ความหลุดพ้นในเชิงจิตวิญญาณ ลึกๆทุกคนจะมีความคิดอย่างนี้อยู่ ถ้าตัวเองไม่ไปไหนจะตีวนเป็นลูกข่างก็จะตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าชีวิตเกิดมาทั้งทีเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมายไม่ไปไหน ไม่มีทางหลุดพ้น สามประเด็นนี่แหละที่ประกอบเป็นคุณภาพชีวิต การมีชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมาย ไม่เป็นภาระกับคนอื่น”

ตอนนี้เราเหมือนกำลังช่วยมดตกน้ำ แต่ถ้าเราถอยมองออกมาไกล ถ้ามดมันเยอะมันเต็มไปหมด แล้วโลกจะอยู่ยังไงใครจะดูแลมดที่หากินไม่ได้

     “ใครที่สร้างโลกนี้ขึ้นมา เขาดูแลโลกเอง คุณอย่าไปคิดว่าคุณมีภาระที่ต้องดูแลปัญหา อย่าไปคิดไกลขนาดนั้น”

เขาบอกว่าคนเราอยู่ชนชั้นใดก็จะทำกฎหมายทำกิจกรรมเพื่อชนชั้นนั้น ที่หมอพูดอย่างนี้เพราะหมอเป็นผู้สูงอายุ อย่างลูกหลานที่เขามีพ่อแม่แก่ๆทั้งเจ็บทั้งป่วย ขี้บ่น เมื่อไหร่จะตายซะที ถ้าเขาเกิดอยู่ไปเรื่อยๆลูกก็ทุกข์ เหตุการณ์อย่างนี้จะทำยังไง มีหลายบ้านที่เป็นอย่างนี้ จะแก้ปัญหานี้ยังไง

     “วิธีแก้ง่ายมากแล้วแต่ว่าเราจะมองออกจากตัวใคร แต่ไม่ว่าเราจะมองออกจากตัวใครหมายความว่าคนแก่ที่เป็นภาระกับลูกหลานกับลูกหลานที่ต้องดูแลคนแก่ก็ใช้สูตรเดียวกัน คือให้ยอมรับทุกอย่างที่เป็นอยู่ขณะนั้นแล้วก็ดำเนินชีวิตไปทีละช็อตๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก เป็นวิธีที่ดีที่สุด”

แล้วมองภาพอนาคตที่เขาบอกว่ามันเป็นสังคมของผู้สูงอายุ มองว่ายังไงถึงไม่อยากจะคิดถึงอนาคตก็จริง แต่ว่าระดับหมอก็จะต้องเห็นอะไรบางอย่าง มีญาณนิมิต

     “ไม่ต้องใช้ญาณอะไร เป็นการคาดการณ์ทางสถิติอยู่แล้วว่าต่อไปคนในสังคมผู้สูงอายุจะมากขึ้นจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นคุณภาพชีวิตจะลดลง ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้นในงานวิจัยครั้งหลังสุดที่แคนาดาทำ 50% สิบปีสุดท้ายของชีวิตคน จะเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ เราดูจากข้อมูลเหล่านี้เราก็รู้แล้วว่าคนแก่จะเยอะ คุณภาพชีวิตจะแย่ ทุกคนก็มองเห็นตรงนี้ไม่ใช่ผมมองเห็นคนเดียว นักสถิติ นักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็มองเห็นหมดแหละ หลายคนก็พยายามจะใช้วิธีของเขา ยืดอายุเกษียณออกไป พยายามให้คนแก่ทำอะไรมากขึ้น ไม่ใช่หกสิบปุ๊ปก็นั่งรอกินบำนาญต่อไปใครจะมาเลี้ยง”

ในระยะยาว ปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ มันต้องรุนแรงขึ้น เพราะไม่มีใครอยากดูแลใคร ไหนจะค่าใช้จ่าย ถ้าคุณหมอมีส่วนในการจัดการหรือมีส่วนทำให้ดีขึ้น นอกเหนือจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คิดว่าต้องจัดการอย่างไร

     “ประเด็นที่หนึ่ง ทิศทางของการบริหารจัดการด้านสุขภาพจะต้องเปลี่ยนไป ทิศทางปัจจุบันนี้เรามุ่งไปที่ฮอสปิตัลแคร์ การใช้การแพทย์แผนใหม่ การผ่าตัดใช้ยา ใส่วัสดุเทียม ใช้เทคโนโลยี ทิศทางนี้สังคมจะจ่ายไม่ไหวเพราะมันเจ๊งแน่นอน หนึ่งมันใช้เงินเยอะ แล้วถึงจุดหนึ่งสังคมจะไม่มีเงินจ่าย อันนี้แน่นอนไม่ใช่เด็กอมมือแต่นักวิชาการทางด้านสถิติ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสาธารณสุขทุกคนมองเห็นหมด ถึงจุดหนึ่งมันไปไม่รอดเพราะแพงมาก ค่าใช้จ่ายมาก อันที่สองมันเป็นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆที่เราทำอย่างนี้ไม่ใช่ว่าสุขภาพของคนจะดีขึ้น เปล่า เอาง่ายๆการเป็นโรคเรื้อรังไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้แล้วจุดจบที่เลวร้ายของโลกจะลดลงก็เปล่า อายุคนจะยืนยาวขึ้นเพราะการทำอย่างนี้ก็เปล่า เพราะฉะนั้นทางนี้เป็นทางที่ผิดจะต้องถอยกลับมาหาอีกทางนึง ซึ่งเรารู้ว่าให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ผ่านการกิน การใช้ชีวิต การจัดการความเครียด ประเด็นแรกทิศทางการดูแลสุขภาพต้องเปลี่ยน มันจะใช้เวลานานแค่ไหนในการเปลี่ยนตรงนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ มันอาจจะใช้เวลาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปีรึเปล่าก็ไม่รู้ พูดง่ายๆว่าระบบการแพทย์แผนปัจจุบันนี้ต้องเจ๊งไปก่อน การเปลี่ยนทิศทางถึงจะเกิดขึ้น ตอนนี้มันค้ำกันอยู่หลายทิศทางไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ

     บริษัทยาผลิตยาด้วยต้นทุนที่สูง แล้วโปรโมทตัวเองอย่างแรงผ่านหมอ หมอก็ขายยาให้ ค้ำกันไปค้ำกันมา เป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแรงแน่นหนา ใช้เวลานานกว่ามันจะเจ๊งแต่มันจะต้องเจ๊ง อันที่สองคือ การสร้างสังคม รูปแบบที่ลูกหลานจะต้องดูแลผู้สูงอายุมันไม่ใช่ เพราะลูกหลานมีน้อย คนสูงอายุมีมาก ลูกหลานเขาก็ปรับตัวนะ เขาไม่โปรแกรมตัวเขาให้มาดูแลบุพการี คนรุ่นใหม่ไม่มีหรอก ใครมีมิชชั่นในชีวิตที่จะมาป้อนข้าวป้อนน้ำดูแลพ่อแม่สิบปียี่สิปปี ไม่มีใครมีความคิดอย่างนั้น มันเป็นโปรแกรมของตัวเขาเองที่เป็นไปตามธรรมชาติ

     ทางเดียวของการสร้างสังคมใหม่คือ สังคมที่คนแก่จะต้องอยู่คนเดียวให้ได้ คนเดียวอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหลายคนมาทำเป็นชุมชนที่มีการออกแบบที่ดี มันอาจจะเป็นไปได้ ทั่วโลกก็เริ่มมีการทดลองจุดเล็กจุดน้อยในการที่จะสร้างสังคมผู้สูงอายุอยู่ด้วยตัวเองได้ นี่ผมก็ทำนะ ผมมองคนสูงอายุสิบคนมาอยู่ด้วยกัน ล้อมรั้วเดียว มีกระท่อมคนสวนอยู่หลังหนึ่ง มีหลังของคนที่เป็นคนอายุน้อยอยู่หลังเดียวคือคนสวน ตัดหญ้า เฝ้าพื้นที่ ตื่นเช้าก็มีคนเดินดูว่าบ้านไหนที่ตื่นสายผิดสังเกตและยังไม่เปิดประตูอันนี้ก็เป็นรูปแบบที่คนแก่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ถึง 100% แต่ใช้ทรัพยากรให้มันน้อยที่สุด ที่อยู่อาศัยแบบนี้มันจะต้องเกิดขึ้นเพราะไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมาดูแล ทั้งหมดมันคงใช้เวลาหลายสิบปีอยู่ก่อนที่มันจะพัฒนาไป”

เมื่อพูดถึงความแก่ ความเจ็บแล้ว ก็ต้องคุยเรื่องความตาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัจธรรมของทุกชีวิต ในอนาคตคนเรามีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะจบชีวิตลงเมื่อไหร่ เมื่อป่วยหนักไม่อยากอยู่ต่อ จะตายดีหรือไม่ การฆ่าตัวตายทางการแพทย์ หรือการเลือกที่จะไม่อยู่แล้ว จะเป็นทางเลือกที่ถูกกฎหมายในอนาคตหรือไม่ 

     “ในอนาคตถ้าคุณมองไปให้ไกล ชีวิตของคนจะถูกบงการโดยหุ่นยนต์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เหมือนอย่างคนรุ่นนี้อีกสามชั่วโมงเขาจะกินอะไรก็จะเช็คกับอากู๋ใช่ไหมว่า จะไปกินข้าวที่ไหน อากู๋คือหุ่นยนต์ ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะกำหนดชีวิตของผู้คน เพราะฉะนั้นจะถามว่าคนจะฆ่าตัวตายได้ไหม มีวิธีตายแบบทางการแพทย์ไหม มันขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะเป็นตัวกำหนด หุ่นยนต์ก็มาจากความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งผมเดาไม่ถูกเลยว่า การกำหนดอนาคตความตายจะเป็นอย่างไร แต่ผมมั่นใจว่า ตัวปัญญาประดิษฐ์นี่แหละจะเป็นตัวกำหนด แล้วคนก็จะทำตาม ขณะนี้คนเดินถนนประมาณ 50% ใช้ชีวิตตามอากู๋ ตามเฟสบุ๊คตามไลน์ อากู๋คือปัญญาญาณของผู้คนในอนาคต มันเป็นปัญญาญาณที่เกิดจากความคิดความอ่านของคนในโลกนี้ แล้วมันก็จะมาบงการให้คนใช้ชีวิตไปในแนวนี้ จะตายเองก็ต้องตายอย่างนี้นะ

     ผมมีคนไข้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย จะเข้าไปศึกษาการตายในอินเตอร์เน็ต จนได้ไอเดียอะไรมาจนถึงจะลงมือ นี่คือไอเดียของหุ่นยต์ไง ในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดการตายของคน ซึ่งผมเดาไม่ถูกว่ามันจะไปทางไหน”

 ในฐานะแพทย์คุณหมอมองว่า การตัดสินใจที่จะไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นบาปหรือไม่ หรือควรเป็นสิทธิของมนุษย์

     “ในฐานะแพทย์ไม่มีสิทธิ์ตรงนี้ สิทธิเป็นคอนเซ็ปต์ที่คนเราคิดขึ้น เรามองสัตว์ละกัน สมมติงูคุณเคยเห็นงูตายเรี่ยราดไหม ไม่มี ยกเว้นเขาตีมันหรือรถทับ งูพอรู้ว่าจะตายก็ไปอยู่ในที่นึง อยู่นิ่งๆไม่กินข้าวกินน้ำ ไม่กี่วันมันก็ตาย เพราะฉะนั้นถามว่าตรงนี้เป็นสิทธิ์หรืออะไร มันเป็นวิถีธรรมชาติ คนเราเมื่อจะตายเขาก็รู้ว่าจะตาย พูดถึงถ้าไม่มีเรื่องของการแพทย์แผนปัจจุบันไปยุ่งเขาจะไปซุ่มอยู่ที่นึงไม่กินข้าวกินน้ำเขาก็ตาย ถ้าคุณเรียกมันว่าเป็นการฆ่าตัวตายมันก็เป็นวิถีธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้เราไปทำให้มันผิดวิถีธรรมชาติ เราไปพยายาม ญาติพี่น้องอย่าเพิ่งไป เอาข้าวไปหยอดเอาน้ำเกลือไปใส่ การทำอะไรผิดวิถีธรรมชาติอีกหน่อยคงเลิกไปหมดผมว่า มันจะผ่านหุ่นยนต์ หุ่นยนต์จะสอนให้คนกลับมาหาวิถีธรรมชาติ ซึ่งคุณเรียกมันว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยสิทธิ

     หมาแมวงู ไม่รู้จักสิทธิ์ มันไม่มีคอนเซ็ปต์ แต่ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นพอถึงที่ตายจะไปหาเอง มันหยุดกินข้าวกินน้ำก็ตาย”

คุณหมอมองว่าพุทธะของคนเราจะไปอยู่ใน AI ในวันข้างหน้า รู้ทุกสิ่ง รู้เข้าใจโลก

     “มันจะมีสองระดับ ระดับที่ยอมถูกปกครองโดยหุ่นยนต์ การที่หุ่นยนต์จะมาเป็นเจ้าเข้าครองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันจะมีคนอีกระดับนึงที่วางความคิดของตัวเองได้แล้วและอยู่ในความตื่น สามารถดึงปัญญาญาณเข้ามาสู่ตัวเองได้อันนั้นจะเป็นอีกระดับนึง คนระดับนั้นปัจจุบันมีน้อยมาก ในอนาคตไม่รู้จะมีมากขึ้นรึเปล่า แต่ผมมั่นใจว่าคนที่จะถูกปกครองโดยปัญญาญาณเทียมมันจะเป็น 90% แล้วจะอยู่ภายใต้การปกครองของหุ่นยนต์

     ยกตัวอย่าง การไปหาหมอ การไปโรงพยาบาลต่อไปจะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ หมอจะเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็น หุ่นยนต์เป็นตัวบอกตั้งแต่ต้น เพราะว่ามันรวบรวมความคิดความอ่านหลักวิชาไว้หมด มันสามารถที่จะไล่เลียงได้อย่างรวดเร็ว ว่าอาการที่มีคุณมีจะเป็นอะไรได้บ้าง ภายใต้เงื่อนไขที่คุณเป็น ภายใต้ทางเลือกที่ดีที่สุดมีอะไรบ้างแล้วคุณค่อยทำ มันก็เริ่มมีแล้วนะ ผมมั่นใจได้เลย 20-30 ปีข้างหน้าอาชีพแพทย์ลดความสำคัญ สมัยก่อนคุณเคยคิดไหมถ้าไม่มีบุรุษไปรษณีย์ชีวิตคุณจะอยู่ได้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ สมัยก่อนถ้าไม่มีธนาคารคุณจะไปเอาเงินจากไหน เดี๋ยวนี้คุณไม่ต้องไปธนาคารแล้ว สามารถทำการซื้อขายได้ ธุรกรรมหลายๆอย่าง สมัยก่อนเรื่องใหญ่คนบ้านนอกต้องไปอำเภอใช่ไหม ไปทำโฉนด ไปอำเภอ ทุกอย่างที่อำเภอหมด สมัยนี้คนไม่ต้องไปอำเภอแล้ว มันไม่จำเป็น การไปหาหมอก็เหมือนกัน ทุกวันนี้อุตสาหกรรมสุขภาพต้องทำให้คนมาซื้อ ต่อไปหุ่นยนต์จะไม่ให้คุณไปให้คุณทำอย่างนี้แล้วคนก็ทำตาม อาชีพหมอในอนาคตจะหายไป ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่นะ

     ถามถึงอนาคตไกลๆผมตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะบงการอะไรผมตอบไม่ได้ แต่ชีวิตคนจะไม่เหมือนทุกวันนี้”

ถ้าถามถึงสิ่งที่กลัวโดยอัติโนมัติ ไม่ต้องใช้สติ ไม่ต้องใช้ความฉลาด สิ่งที่คุณหมอกลัวที่สุดคืออะไร

     “ตอนนี้ผมพ้นสิ่งเหล่านั้นมา ความกลัวมันเป็นความคิด เป็นความเชื่อ ความกลัวคือคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นความเลวร้ายสำหรับเรา มันเป็นความคิด ผมเรียนรู้ชีวิตมาถึงขั้นที่ผมวางความคิดได้ ไม่หมด 100% แต่ 99%  สิ่งที่เรียกว่าความดีความชั่วก็ดี ความกลัวก็ดี ความเชื่อก็ดี ผมไม่มี ผมพ้นจากสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ผมตอบได้ว่าไม่กลัวอะไรเลย”

คุณหมอจัดการความคิดเรื่องกลัวตัวเองจะตายได้สำเร็จแล้ว แต่กลัวไหมว่าคนที่รักจะจากไป ยังเหลือกลัวอะไรแบบนั้นอยู่ไหม

     “ผมไม่ได้มองชีวิตไกลไปกว่าหนึ่งวินาทีนี้ วินาทีนี้ผมกลัวอะไรล่ะ ผมคุยอยู่กับคุณโคตรสบายใจ ไม่มีใครมาบีบคอให้หายใจไม่ออก นอกจากความกลัวไม่มีแล้ว คอนเซ็ปต์ต่างๆที่ล็อคผมไว้ในอดีตความเชื่อ ยึดถือในเรื่องความดี ความรับผิดชอบอะไรผมไม่มีแล้ว ไม่มีคอนเซ็ปต์ใดๆทั้งสิ้น ใช้ชีวิตไปแต่ละโมเม้นท์ ทีละช็อต ทีละช็อต”

     ความกลัวเป็นต้นเหตุความเจ็บป่วย เป็นปัญหาสุขภาพเยอะมาก การที่จะไปจากตรงนี้มีจุดเดียวคุณต้องหัดวางความคิดให้เป็น ถ้าวางความคิดเป็นความกลัวจะหมดไป การเจ็บป่วยหลายอย่างมักเกิดจากความกลัว การที่คนไปโรงพยาบาล ธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์อยู่ได้เพราะความกลัว เหมือนอุตสาหกรรมการประกันชีวิต ถ้าคนวางความกลัวไปหมด อุตสาหกรรมประกันชีวิตเจ๊ง เพราะบริษัทประกันทำการค้าขายบนความกลัว อุตสาหกรรมสุขภาพก็เหมือนกัน การค้าของเราอาศัยความกลัวให้คนไข้ซื้อ การจะไปจากความกลัวต้องหัดวางความคิด ความจริงไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ซับซ้อนอะไร การไม่มีความคิด ความคิดหมายถึงประโยคที่เราพูดในหัว มีประธาน กิริยา กรรม เหมือนประโยคที่เราพูด การไม่มีความคิดมันเป็นธรรมชาติตั้งแต่เกิดมาของเรา  รากดั้งเดิมของเราคุณนึกภาพตอนคุณอายุ 2 เดือน คุณมีความคิดอะไรไหม ไม่มี เกิดมาสองเดือนตาแป๋ว พ่อแม่จะเรียกคุณว่าโอ๋ๆ คุณไม่รู้หรอกว่ามันแปลว่าอะไร คุณไม่มีความคิดใดๆทั้งสิ้น คุณรับรู้สิ่งรอบตัวในรูปของคลื่นความสั่นสะเทือน ภาพ เสียง สัมผัส การไม่มีความคิดเป็นปกติดั้งเดิมของเรา การจะวางความคิดไม่ใช่ของยาก แค่วางสิ่งที่พอกที่มาทีหลังออกไป เพราะเราเกิดมาใหม่ๆก็ไม่มีความคิดอะไร”

 เหมือนกลับไปเป็นสัตว์

     “ในส่วนของความวิตกกังวลคล้ายๆอย่างนั้น ไม่มีความกลัวอะไรอยู่กับปัจจุบัน แต่เราสูงกว่านั้นสมองของเราพัฒนาความสามารถว่าไอ้นั่นทิ้งไอ้นี่เก็บ ที่ว่าไม่มีความคิดต้องมีสิ่งเร้าเข้ามาใช่ไหม สิ่งเร้าไม่ดีทิ้ง คนมายืนด่าเราฟังไร้สาระก็ทิ้ง คนมายืนด่า มีสาระสำคัญเอาส่วนนั้นเก็บไว้ ความไม่พอใจทิ้ง อันนี้คือเราสูงกว่าหมาแมว เลือกใช้ประโยชน์จากสิ่งเร้าได้ แต่สาระหลักที่จะทำให้เรากลัวเราทิ้งได้ การที่จะวางความคิดไม่กลัวอะไรก็ไม่ใช่ชิพที่พิสดารที่จะต้องไปค้นหา หนีไปบวชมันไม่ใช่มันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของเรา”

ตอบเหมือนพระ

     “การจะมีชีวิตสงบร่มเย็น อยู่ในชีวิตประจำวันทำงานนี่แหละ ตรงนี้แหละไม่ใช่ต้องไปวัดไปวาไปบวช ไปวัดก็มีสิ่งแวดล้อมที่เครียดๆเป็นธรรมดา เหมือนผมทุกวัน ผมไม่ต้องถือศีลกินเจเลย พออยู่วัดมีศีลข้อหนึ่ง ข้อสองสามสี่  บางคนบวชเป็นพระก็จะมีเป็นร้อยสองร้อยข้อ คุณไม่ต้องไปคิดถึงบวช ปลีกวิเวกอะไรเลย ชีวิตวางความคิดเดี๋ยวนี้แหละ”

แต่ของหมอไม่กินน้ำตาลไม่กินเกลือยิ่งกว่าถือศีล

     “สิ่งเหล่านี้คือสิ่งเสพติด เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในอดีต เราติดรสหวานมันเหล่านี้มันมาจากในยีนส์ เพราะว่ายีนส์ของมนุษย์เราต้องตุนอาหาร เราเป็นสัตว์ป่าซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีของกินทุกวัน แล้วอาหารที่เราจะตุนเราตุนในรูปของแคลอรี่ อาหารที่นำมาซึ่งแคลอรี่เราจะติดรสหวานรสมันเป็นสิ่งเสพติด สิ่งเสพติดเหมือนกับอะไรบ้างคุณติดบุหรี่รึเปล่าไม่ติด ติดกาแฟรึเปล่า ผมเคยมีคนไข้ติดเฮโรอีนสมัยหนุ่มๆผมอยู่ในป่า เขามารักษายาเสพติด คนไข้แฟนเขาสวยมากอายุยี่สิบกว่าเป็นลูกทหารใหญ่ติดเฮโรอีน ผมบอกว่าคุณนะถ้าผมมีแฟนสวยขนาดนี้ผมไม่มาติดยาเสพติดหรอก ผมไปกับแฟนดีกว่า เขาบอกว่าเฮโรอีนมันให้ความสุขกับสิ่งที่อย่างอื่นให้ไม่ได้ คุณหมอลองดูหน่อยไหม น่าเสียดายตอนนั้นผมไม่กล้าลอง

     อาหารเป็นสิ่งเสพติด การเลิกสิ่งเสพติดมันยาก คุณต้องมีอะไรที่ทำให้เบิกบานมากกว่านั้นคุณถึงจะเลิกมันได้เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการจะเลิกเสพติดในอาหารจะเลิกได้เร็วมากถ้าคุณวางความคิดเป็นจิตใจคุณจะสบาย จะไม่มีอะไรมาทดแทนตรงนี้ได้เพราะคุณให้ความสำคัญ การที่คุณวางความคิดใจคุณจะสบายจะมีความสุขกับสิ่งนี้มากกว่า

     ถ้าคุยเรื่องอาหารจะเป็นประเด็นใหญ่และยาวเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ของคนจำนวนมาก

     มันมีประเด็นหลักประเด็นเดียว คือการเสพติดอาหาร และรสที่เราติดคือหวานกับมัน เลิกยาเสพกับอาหารมีกลไกเหมือนกันในทางการแพทย์มีข้อมูลชัดเจน ทำถึงขนาดเอาเอ็มอาร์ไอมาดูการเปลี่ยนแปลงของสมองในคนติดโคเคนกับน้ำตาลเหมือนกัน เวลาอยากน้ำตาลกับโคเคนเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงในสมองเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้คนเลิกการเสพติดอาหารได้ แต่ผมเลิกได้เพราะผมวางความคิดให้ได้ก่อน พอวางความคิดแล้วจิตใจเราจะแฮปปี้กับการไม่มีความคิด อะไรอย่างอื่นไม่เห็นเราแฮปปี้เท่า พอมาถึงจุดนี้อาหารที่ไม่มีเครื่องปรุงก็จะกลายเป็นอร่อยกว่าอาหารที่มีเครื่องปรุง เพราะอาหารที่ไม่มีเครื่องปรุงมันมีรสชาติที่แท้จริงของมัน แต่เครื่องปรุงมีรสเดิม พอเราเลิกติดแล้วก็รู้ว่ารสเดิมมีแค่นั้น แต่รสชาติแท้จริงดั้งเดิมของอาหารมีรสชาติแปลกๆใหม่ๆเสมอ”

บ้านที่ทำให้คนเรามีชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

     “มีสองส่วน ส่วนที่มีความสำคัญน้อยกับส่วนที่มีความสำคัญเยอะ ส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว แค่ใช้ซอกหลืบสำหรับนอน ห้องนอนซึ่งไม่จำเป็นต้องใหญ่ ห้องนอนที่ดีในการแพทย์หนึ่งไม่ต้องใหญ่ สองต้องสะอาด สามต้องมืด สี่ต้องเย็น สี่อย่างเป็นที่นอนที่ดี ประเด็นที่หนึ่งที่ทุกคนต้องมีซอกหลืบสำหรับซุกหัวนอน ไม่ต้องกว้าง ขอให้ มืด เงียบ เย็น สะอาด สองคือพื้นที่ร่วม ที่จำเป็นที่สุดคือส่วนที่มีอากาศหายใจ ถ้าคุณเปิดบ้านออกมา คุณไม่มีอากาศหายใจได้ไม่เต็มปอดอันนั้นคุณอายุสั้นแน่นอน สูดลมได้ไม่เต็มปอด อากาศที่ดีเป็นเบสิค ต้องสูดหายใจได้เต็มปอด นอกจากอากาศ ถ้ามีโอกาสได้แสงแดด แสงแดดก็มีความจำเป็นของทุกชีวิตบนโลกนี้เพราะมันผูกพันกับแสงแดด นี่เป็นส่วนพื้นที่ร่วม สามคือน้ำ น้ำสะอาดที่จะดื่มที่จะใช้ ที่พักอาศัยในเมืองใหญ่มีเทศบาลไม่มีปัญหาเพราะสังคมเป็นคนจัดหาน้ำส่งไปตามท่อส่ง แต่ว่านอกเขตที่พักอาศัยที่ดีจำเป็นต้องมีน้ำ พอที่จะดื่มพอที่จะทำความสะอาดร่างกาย การมีน้ำสะอาดเป็นองค์ประกอบสำคัญอันที่สาม อันที่สี่พื้นที่ร่วมสถานที่ออกกำลังกาย มีความสำคัญรองมาจากอากาศและน้ำ ถ้ามีก็หรู ถ้าไม่มีอาจจะไม่ถึงกับซีเรียส ที่ออกกำลังกายถ้ามีต้นไม้ก็เจ๋ง แต่บางคนไม่ชอบไปอยู่ในพื้นที่ร่วม ต้องการที่จะออกกำลังกายส่วนตัว ที่ผมเคยลองมาแล้ว การทำแอโรบิค ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว คุณต้องการพื้นที่ประมาณ 1 ตารางวา คุณทำได้ทุกอย่างทำได้หมด จะให้ดีที่ออกกำลังกายควรเป็นพื้นที่ร่วมมีต้นไม้ยิ่งดี อันสุดท้ายคือที่พักอาศัยที่ดีจะต้องเข้าถึงอาหารที่จะทำให้สุขภาพดีได้ง่ายๆ เพราะถ้าคุณไปอยู่ในที่ๆมีของที่คุณกินเข้าไปแล้วทำให้สุขภาพคุณแย่ ตรงนั้นเป็นที่พักอาศัยที่ไม่ดี เพราะการเข้าถึงอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพดีทำได้ยาก

     สรุปมีห้าอย่าง หนึ่งมีที่ซุกหัวนอน เงียบ เย็น สะอาด มืด สองมีที่สูดอากาศได้เต็มๆ สามมีน้ำใช้ สี่มีพื้นที่ออกกำลังกายเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่ร่วม ห้าเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้ทำอาหารเอง จำเป็นที่ๆพักอาศัยที่ดีต้องเข้าถึงอาหารสุขภาพได้ง่าย ถ้าคุณทำที่พักอาศัยได้ครบห้าอย่างนี้ชีวิตก็หรูเลิศ”

ที่พักของคุณหมอในตอนนี้ ใกล้น้ำอยู่ใกล้ธรรมชาติมากๆ เจอแมลงและสัตว์เลื้อยคลานไหม

     “แมลงสัตว์เลื้อยคลานไม่ได้เป็นปัญหา แมลงที่มีปัญหาอย่างยุงคนก็นอนในมุ้งลวดไม่มีปัญหา ไอ้สัตว์เลื้อยคลานก็งูที่คนกลัว งูกลัวคน ที่ไหนที่คนอยู่มันไม่อยู่ ภาพใหญ่ไม่มีปัญหา”

สิ่งที่คุณหมอพูดเกี่ยวกับการจัดการตัวเองเกือบ 100% แต่ชีวิตคนเราทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการมีการอยู่ร่วมกับคนอื่น อยากให้คุณหมอแบ่งปันทัศนะในเรื่องการบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะความทุกข์ ความเครียดส่วนใหญ่มาจากการอยู่ร่วมกับผู้คน แต่คุณหมอกลับบอกว่า เราควรอยู่กับคนเยอะๆแล้วจะอายุยืน อยู่เงียบๆคนเดียวจะไม่มีความสุขกว่าหรือ

     “ความสำคัญอยู่ที่เวลาที่เราอยู่กับคนอื่นแล้วเป็นทุกข์ เพราะเรามองชีวิตว่านี่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นเป็นคนอื่น แต่ชีวิตจริงๆถ้าคุณถอยลึกลงไป ชีวิตมีสองระดับ ระดับแรกคือที่เราตั้งชื่อเรียกได้ บอกรูปร่างได้ สิ่งเหล่านี้เราตั้งขึ้น ชื่อเราตั้งขึ้น รูปร่างเราตั้งขึ้น สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่ถ้าเราถอยไปอีกระดับนึงทุกอย่างจะเป็นคลื่น คลื่นของการสั่นสะเทือน แสง เสียง สัมผัส เป็นคลื่นหมด ตั้งชื่อเรียกไม่ได้ ในระดับของคลื่นคุณกับผมประกอบขึ้นมาจากสิ่งเดียวกัน เวลาผมมองเข้าไปลึกๆผมก็เห็นสิ่งเดียวในตัวคุณ เพราะฉะนั้นการอยู่ด้วยกันถ้าเรานึกถึงความจริงที่ว่าเรากับสิ่งข้างนอกเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนคุณมีนาฬิกาสายทอง มีสร้อยทอง นาฬิกาสายทอง กับสร้อยทองเป็นสิ่งเดียวกัน นี่เอามาทำเป็นนาฬิกา นี่เอามาทำเป็นสร้อยทอง เหมือนกันชีวิตก็อย่างนี้ รากของชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน ด้วยความเข้าใจอันนี้คุณไม่มีปัญหาหรอกเวลาอยู่กับใคร เพราะมันก็คือตัวคุณทั้งหมดนั่นคือตัวผม แต่ที่มีปัญหาเพราะเรายังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราไปตีกรอบภายใต้ผิวหนังที่เป็นเรา ภายใต้หมุดโฉนดเป็นเรา เรามีปัญหาเพราะสิ่งที่สมมติขึ้นภายในใจเรา การอยู่ด้วยกันมีปัญหาเพราะสิ่งที่ใจเราสมมติขึ้น ไม่ต้องไปยุ่งกับใครหรอก แก้ตรงนี้ ตรงสิ่งที่ใจเราสมมติขึ้น อย่าว่าแต่อยู่กับคนเลย การอยู่กับสัตว์ก็จะไม่มีปัญหา ถ้าใจคุณสูงขึ้น”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์