ปรึกษาหมอ

กินยาต้านซึมเศร้าแล้วน้ำนมไหล

สวัสดีค่ะ
หนูอายุ 21 ปี อยากสอบถามค่ะ คือหนูกินยาต้านซึมเศร้า แล้วมีน้ำนมไหลออกมา จะเป็นอันตรายมั้ยคะ

……………………………

ตอบครับ

     ถามว่ากินยาต้านซึมเศร้าแล้วน้ำนมไหลมีอันตรายไหม ตอบว่าไม่มีอันตรายหรอกครับ เพราะภาวะน้ำนมไหล เป็นผลข้างเคียงของยาต้านซึมเศร้า นี่เป็นเรื่องธรรมดา

     แต่การที่คุณซึ่งอายุเพิ่งเป็นสาวเป็นแส้ขนาดนี้ หากกินยาต้านซึมเศร้าอยู่นานๆ ตรงนั้นแหละอันตราย เพราะยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางทุกตัวไม่ควรกินนานๆ ยกเว้นหากจำเป็นยิ่งยวด (เช่นกรณียากันชัก) ยาในกลุ่มนี้กินนานไปมีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อม หรือไม่ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะซึมเศร้าเสียเอง และมักเพิ่มอุบัติการฆ่าตัวตาย

     ดังนั้นไม่ต้องไปกังวลเรื่องน้ำนมไหล แต่ให้ตั้งใจแก้ไขสาเหตุของโรคซึมเศร้าด้วยวิธีอื่นที่นอกเหนือไปจากการหวังพึ่งยา หมออาจจะบอกคุณว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคจากขาดสารเคมีในสมอง นั่นเป็นข้อมูลที่อาจทำให้คุณเข้าใจผิดนะ ไม่มีใครรู้จริงๆหรอกว่าการเป็นโรคซึมเศร้ากับการลดลงของสารโดปามีนในสมองอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล และเกิน 90% ของผู้ป่วยซึมเศร้าที่กินยาทดแทนสารเคมีในสมอง อัตราการหายจากภาวะซึมเศร้าไม่ได้แตกต่างจากผู้กินยาหลอก ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณหรือใครก็ตามเมื่อตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ควรขวานขวาแก้ปัญหาโดยไม่หวังพึ่งยา เนื่องจากผมไม่รู้ปูมหลังของคุณว่าอะไรนำคุณมาสู่ยาต้านซึมเศร้า จึงทำได้แต่แนะนำในภาพรวม ดังนี้

      1. อาการซึมเศร้ามีจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคโลหิตจาง โรคไฮโปไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดต่างๆ นี่ก็ซึมเศร้าได้แล้ว  ดังนั้นเมื่อมีปัญหาทางใจอย่าเพิ่งรี่ตรงแน่วไปหาจิตแพทย์ ไปหาแพทย์ทั่วไปให้เขาคัดกรองโรคทางกายก่อนดีกว่า ถ้าไม่มีโรคทางกาย ค่อยไปหาจิตแพทย์ เพราะเมื่อคุณเข้ามือจิตแพทย์แล้ว มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคทางกายอีก เพราะจิตแพทย์เขาถือว่าคุณผ่านด่านโรคทางกายมาแล้ว เขาก็จะเดินหน้าสู่เรื่องจิตเวชเรื่องเดียว

     2. ลงมือแก้ที่ตัวเอง อย่าไปยุ่งกับคนอื่น เพราะทุกข์ใดๆรวมทั้งความซึมเศร้าด้วยที่ดูเหมือนเกิดจากเหตุภายนอกนั้น แทัจริงแล้วมันเกิดที่ในใจเราเอง แม้กลไกมันจะซับซ้อนแต่ปราชญ์แต่โบราณก็ได้คลี่ให้เห็นจะจะแล้วว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเหตุภายนอกนั้นเป็นเพียงเป้าให้อายตนะอันได้แก่หูตาของเราไปรับรู้ แต่ว่าสัญญาณใดๆจากการไปรู้นั้นล้วนถูกแปลงเป็นมโนภาพในเวลารวดเร็วเท่าสายฟ้าแลบที่ในใจแล้วตกกระทบก่อเป็นความรู้สึกบนร่างกายและเป็นความคิดในใจของเรา ทั้งหมดนี้ตั้งแต่ต้นจนจบมันเกิดขึ้นในตัวเรา ดังนั้นหากไม่แก้ที่การสนองตอบต่อการรับรู้สิ่งเร้าซึ่งเกิดขึ้นในตัวเรา มัวไปพยายามแก้เหตุภายนอก แก้ให้ตายก็แก้ไม่ตก

    3. ความคิด มันเป็นแค่ความคิดนะ มันไม่ใช่เรา ความคิด ไม่ใช่เรา เราคือความรู้ตัวที่เฝ้าสังเกตอยู่เบื้องหลังความคิด ต้องท่องตรงนี้ไว้ให้มั่น ทำความเข้าใจตรงนี้ให้กระจ่าง คอยดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาจอดอยู่กับความรู้ตัว เมื่อใดก็ตามที่เผลอปล่อยให้ความสนใจเข้าไปคลุกอยู่ในความคิด ความเชื่อว่าความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิดก็จะเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็…เสร็จ เพราะเมื่อเราคิดว่าความคิดเป็นเรา นั่นเราไปให้อำนาจความคิด แล้วความคิดก็จะพาเราไปไหนต่อไหนโดยที่เราจะยอมตามมันไปอย่างเหลือเชื่อ

        4. ความรู้สึกเศร้าของจริงนั้นมันเป็นแค่ความรู้สึก (feeling) ไม่ใช่ความคิดนะ เป็นความรู้สึก แยกกันให้ออก ความรู้สึกนี้ภาษาพระเรียกว่า “เวทนา” ส่วนความคิดนั้นภาษาพระเรียกว่า “สังขาร” มันเป็นคนละเรื่องคนละอัน เมื่อมีความรู้สึกหรือ feeling เกิดขึ้น ให้โอบรับความรู้สึกซึมเศร้านั้นอย่าผลักไสไล่หนี โอบรับความรู้สึกนั้นมา ให้ความสนใจ เฝ้าดู ทำความรู้จัก แต่อย่าไปคิดอะไรต่อยอดนะ ภาษาบ้านๆเรียกว่าอย่าไปดราม่ากับมัน แค่ดูให้เห็นความรู้สึกเท่านั้น เฝ้าสังเกตดูความรู้สึกนั้น ทั้งที่ในร่างกายและที่ในจิตใจ มันจะอยู่นานแค่ไหนก็ปล่อยให้มันอยู่ มันเป็นสัจจธรรมว่าความรู้สึกใดๆบนร่างกายและในใจของคนเรานี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ต่อจากนั้นมันก็จะดับไป เปรียบเหมือนร่างกายและจิตใจนี้เป็นศาลาริมทาง เดี๋ยวมีคนเดินผ่านมานั่งพัก แล้วก็ออกเดินจากไป การมาเยือนของความรู้สึกก็เป็นเช่นนั้น ความรู้สึกเศร้าไม่ใช่ตัวอันตราย ความคิดต่อยอดต่างหากที่อันตรายและต้องระวังสังเกต แยกให้ออกว่านี่คือเราผู้สังเกต นั่นคือความคิด ตราบใดที่เราแยกตรงนี้ออก ความคิดก็จะไม่มีฤทธิ์เดชอะไร

     5. ในขณะที่สมองยังเต็มไปด้วยความคิด ยังวางความคิดไม่เป็นหรือยังไม่เก่ง ขณะที่กำลังฝึกหรือพยายามวางความคิดอยู่ ก็ให้เล่นในสนามของความคิดไปพลางก่อนด้วย คือเอาความคิดบวกไล่ความคิดลบ พูดกับตัวเองดีๆ สมมุติว่าคุณมีเพื่อนที่ดีต่อกันอยู่คนหนึ่ง เขาเกิดผิดหวังในชีวิตและมองเห็นว่าตัวเขาเองช่างเป็นคนที่ไร้ค่าไร้ความหมายจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะพูดกับเขายังไง คุณก็คงจะตบหลังปลอบโยนเขา ชี้ให้เขาเห็นความจริงว่าคนที่รักเขาจริงๆก็ยังมี คุณค่าจริงๆของเขาก็ยังมี นั่นแหละ ผมต้องการให้คุณพูดกับตัวเองอย่างนั้น ปลอบตัวเองอย่างนั้น เมตตาต่อตัวเองเหมือนเมตตาต่อเพื่อนที่กำลังเหงา

     6. เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการยอมรับ (acceptance) ยอมแพ้ (surrender) แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การยอมรับปัจจุบัน ทำให้เราไม่ต้องเดือดร้อนวิ่งหนีอะไรที่มีอยู่แต่ยังไม่ถูกใจ ไม่ต้องวิ่งหาอะไรที่ยังไม่มี แค่นี่พอแล้ว แค่นี้สบายแล้ว แค่นี้สุขแล้ว

     7. เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองเสียใหม่อย่างสิ้นเชิง ออกแบบชีวิตเสียใหม่ เปลี่ยนจากคนที่ไฟกำลังจะมอด มาปลูกความฝันใหม่ เอาฝันนั้นเป็นเชื้อ เติมไฟ ไล่ตามความฝันนั้น จินตนาการตัวเองว่าจะเป็นหญิงที่เท่ อกผายไหล่ผึ่งมีสง่าราศี รูปร่างดี ไม่อ้วน ไม่ผอม เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว อารมณ์ดี ตามีแวว มีชีวิตชีวา ออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน (ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ครั้งละ 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ควบกับออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้ออีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง) ปรับโภชนาการให้ได้มาตรฐาน ลดอาหารเนื้อสัตว์ลง โดยเฉพาะเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพิ่มผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป จัดเวลาพักผ่อนนอนหลับพอเพียง ทำกิจกรรมที่ร่างกายได้มีโอกาสผ่อนคลาย เช่นฝึกสมาธิ โยคะ รำมวยจีน ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำอย่างนี้จนคุณกลายเป็นคนใหม่ที่คุณอยากเป็น

     8. ฝึกเข้าใจคนอื่น ให้อภัยคนอื่น เมื่อโกรธหรือผิดหวังในตัวใคร อย่าเฝ้าก่นดาสาปแช่งว่าจะจองเวรกับเขาไปอีกเจ็ดชาติ เขาหนะสบายๆไม่เดือดร้อนอะไรหรอก แต่ตัวคุณนะสิจะลำบากไปอีกเจ็ดชาติ ถ้าคุณรู้จักให้อภัยเขา ตัวเขาก็ยังสบายๆไม่เดือดร้อนอะไรเหมือนเดิม แต่ตัวคุณจะพ้นทุกข์ทันที

     9. อย่าเข้าใจเรื่องเวลาผิดไป เราคือความรู้ตัวที่เฝ้ามองความคิดอยู่ห่างๆ อย่าไปจมหรือมุดอยู่ในความคิด เพราะความคิดของเรามักจะเป็นความคิดโง่ๆ คือคิดเข้าใจผิดคิดไปว่าอดีตอนาคตเป็นของจริง หลงไปคร่ำครวญรู้สึกผิดหรือเสียใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือหลงไปวิตกกังวลกับอนาคตว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงอดีตอนาคตมันมีอยู่จริงซะที่ไหนละครับ เรารับรู้อดีตที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความรู้สึกผิด เสียใจ หรือโกรธ อนาคตเราก็รับรู้มันที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความวิตกกังวล ทุกอย่างเกิดที่ที่นี่เดี๋ยวนี้หมด ดังนั้นอย่าไปทุกข์ฟรีกับของที่ไม่มีอยู่จริง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Egberts ACG, Meyboom RHB, Koning FHPD, Bakker A, Leufkens HGM. Non-puerperal lactation associated with antidepressant drug use. J Clin Pharmacol. 1997;44:277–81.
2. Kirsch I, Deacon BJ, Huedo-Medina TB, Scoboria A, Moore TJ, Johnson BT. “Initial severity and antidepressant benefits: A meta-analysis of data submitted to the Food and Drug Administration”PLoS Medicine 5 (2):e45. doi:10.1371/journal.pmed.0050045PMC 2253608PMID 18303940.