Latest

หนูทำดีทุกอย่าง แต่ทำไมเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจได้ (cardiomyopathy)

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับความรู้ของโรคหัวใจ
รบกวนสอบถามคุณหมอสันต์นะคะ ดิฉันไม่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจ ไม่อ้วน ไม่เป็นความดัน ไม่เป็นเบาหวาน ไม่มีความด้น ไม่สูบบุหรี่ และกินมังสะวิรัติครบ 3 เดือนต่อด้วยกินเจอีก 10 วัน ทำไมเป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ได้คะ

………………………………………………

ตอบครับ

     ข้องใจว่าตัวเองดูแลปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเสียดิบดี ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน แต่ทำไมเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้ ผมเข้าใจว่าคุณคงหมายถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ มันคนละโรคกัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการนี้เป็นโรคที่วงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ รู้แต่ว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด อีกส่วนหนึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุใดๆทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจขาดเลือดด้วย เขียนมาถึงตรงไม่เกี่ยวอะไรกันนี้ นึกขึ้นได้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ   

     หลายสิบปีมาแล้ว ผมไปเยี่ยมแม่ยาย สมัยโน้นพี่คนหนึ่งของภรรยาผมท่านยังรับราชการเป็นครูอยู่ แล้วหลานชายของผมคนหนึ่งเพิ่งอายุราวเก้าขวบสิบขวบร้องเพลงดังลั่นตามประสาเด็ก ว่า

     “…ดูตำราตั้งตีห้าตีหก

     มันก็ยังสอบตก เป็นเพราะเหตุอะไร..”

     แล้วก็ได้ยินเสียงพี่สาวที่เป็นครูตะโกนออกมาจากก้นครัวว่า

     “..ก็เพราะมันโง่นะสิ”

     ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แล้วก็เกิดเป็นปากเสียงระหว่างป้ากับหลาน ข้างป้าก็ยืนยันว่าเพราะมันโง่ ข้างหลานก็พยายามจะอธิบายให้ป้าฟังว่าไม่ใช่ เพราะตอนท้ายของเพลง หลานร้องเพลงเฉลยว่า

     “….ก็ดูหนังสือลามก มันจะไม่ตกได้ยังไง
     (มันจะไม่ตกได้ยังไง)
     มันจะไม่ตกได้ยังไง…”

    ฮะ ฮะ ฮ่า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ไหนๆคุณถามเข้ามาแล้ว วันนี้ขอถือโอกาสพูดถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการเสียเลย

     นิยามและการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ

     มันคือโรคที่จะด้วยสาเหตุใดก็ตามแล้วยังผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีอันไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้พอเพียงแก่ความต้องการ ถึงแม้ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่วงการแพทย์นี้ชอบแยกแยะจัดหมวดหมู่ จึงได้จัดหมวดหมู่โรคนี้ในผู้ใหญ่ออกเป็นเจ็ดพวก คือ

     1. พวกหัวใจพองโต (Dilated cardiomyopathy – DCM) บางครั้งเป่งเท่ากับลูกมะพร้าวห้าว แต่ข้างในกลวง ตัวหัวใจนั้นพองเอา พองเอา ยิ่งพองมาก ผนังหัวใจที่เป็นกล้ามเนื้อก็ยิ่งบางลงๆ จนบางเท่ากับกระดาษสมุดเด็กนักเรียน เวลาผ่าตัดคนไข้แบบนี้ผมกลัวมากว่าจะเผลอเอาใบมีดไปโดนกระดาษที่บางเฉียบนั้นเข้าเพราะโดนแล้วเย็บไม่ได้ ยิ่งเย็บยิ่งฉีก ยิ่งเนื้อหัวใจบางลง การบีบตัวก็ยิ่งแย่ลงๆ จนเกิดหัวใจล้มเหลว คนไข้บางคนไม่พบเหตุร่วมใดๆ (primary DCM) บางคนก็มีเหตุร่วม เช่นดื่มแอลกอฮอล เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาก่อน หรือบางคนแค่ตั้งท้องคลอดลูกก็เป็นแล้ว (peripartum DCM) บางคนก็เป็นเพราะโคเคน ยาบ้า และยาเคมีบำบัด

     2. พวกกล้ามเนื้อหัวใจหนาตึ๊ก (Hypertrophic cardiomyopathy – HCM) หัวใจโตนิดหน่อย แต่ตัวกล้ามเนื้อนั้นหนาผิดสังเกต พอหนามากก็ทำให้พื้นที่ห้องหัวใจตีบแคบลงจนส่งเลือดออกมาได้น้อย สาเหตุส่วนใหญ่เป็นพันธุกรรม ที่ไม่มีพันธุกรรมก็พบในคนความดันเลือดสูงนานๆ มีบ้างที่พบในคนเป็นเบาหวานและเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ นักกีฬาที่หล่อล่ำบึ๊กแล้วตายกะทันหันในสนามกีฬามักเป็นกล้ามเนื้อหัวใจพิการในกลุ่มนี้

     3. พวกกล้ามเนื้อหัวใจหดรัด (Restrictive cardiomyopathy) พวกนี้หัวใจไม่โต บางทีเล็กด้วยซ้ำ แต่ว่าเล็กแบบบีบอัดตัวเองจนคลายตัวไม่ได้ พอคลายตัวไม่ได้เลือดก็เข้าไปในหัวใจไม่ได้ บีบตัวแต่ละทีก็มีเลือดออกมาน้อยเกินไป สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวมักเป็นเพราะมีพังผืดแทรกกล้ามเนื้อ เช่นในคนที่มีเหล็กค้างในร่างกายมาก (hemochromatosis) ในคนที่เป็นโรคหัวใจอักเสบเรื้อรัง ในคนเป็นโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทุกชนิดเช่นโรคพุ่มพวงโรครูมาตอยด์ และในคนที่ได้รับการฉายแสงหรือเคมีบำบัดรักษามะเร็ง

     4. พวกกล้ามเนื้อพิการแบบหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmogenic right ventricular dysplasia) พวกนี้อาการเด่นคือหัวใจห้องขวาโตแล้วทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ มักมีอาการเป็นลมเป็นอาการนำ เคราะหามยามร้ายก็ตายกะทันหันได้เลย มักเป็นในคนหนุ่มคนสาว วงการแพทย์เชื่อว่าเป็นผลจากพันธุกรรมล้วนๆ

     5. พวกกล้ามเนื้อพิการแบบมีแป้งแทรกกล้ามเนื้อ (Transthyretin amyloid cardiomyopathy (ATTR-CM) อันนี้เป็นโรคที่พบได้ยาก หมอสันต์เกิดมาจนแก่ปูนนี้แล้วยังไม่เคยเห็นสักราย ดังนั้นท่านอย่าไปรู้รายละเอียดเลย

     6. พวกกล้ามเนื้อหัวใจพิการจากความเครียด (stress-induced cardiomyopathy) พวกนี้บางทีก็เรียกว่ากลุ่มอาหารหัวใจสลาย (broken heart syndrome) บางทีก็เรียกชื่อตามไซดักปลาหมึก (takotsubo cardiomyopathy) เพราะหัวใจคนเป็นโรคนี้มีรูปร่างแบบป่องที่ก้นเหมือนไซดักปลาหมึก โรคนี้มีเอกลักษณ์คือเกิดขึ้นหลังการมีอารมณ์รุนแรงเช่นเสียใจระดับปรี๊ดแตกหรือดีใจระดับถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง แล้วก็ตามมาด้วยหัวใจล้มเหลว แต่ส่วนใหญ่หากวินิจฉัยได้และรักษาถูกทางก็จะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากผ่านไปแล้วหลายสัปดาห์

     7. พวกจัดเข้าหมวดหมู่ไหนไม่ได้ (unclassified cardiomyopathy)

     นอกจากมุมมองในแง่ของหมวดหมู่แล้ว วงการแพทย์ยังมีมุมมองต่อโรคนี้ในแง่ว่ามันติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพราะได้ยีนมา (inherited) หรือว่ามาแจ๊คพ็อตเจอเหตุภายนอก (acquired) เอาตอนโตแล้ว เช่นติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

     การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ

     เป้าหมายของการรักษาคือ (1) หยุดการดำเนินของโรคด้วยการแก้ไขสาเหตุหากมีสาเหตุที่แก้ไขได้ (2) ลดภาวะแทรกซ้อนและโอกาสตายกะทันหัน (3) ควบคุมอาการให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติมากที่สุด ทั้งหมดนี้มีการรักษาหลักๆ สามแบบ คือ

     1. การรักษาด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ได้แก่

     1.1 กินอาหารดีๆ ที่มีผลไม้ ผัก และธัญพืชไม่ขัดสีมากๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มี (1) ไขมันอิ่มตัวและ (2) ไขมันทรานส์ (3) ปรุงด้วยการใช้เกลือแต่น้อยหรือไม่ใช้เลย (4) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มใส่น้ำตาลและแอลกอฮอล

     1.2 ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายแอคทีฟทุกวัน ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร แต่ไม่หนักมาก คือเอาแค่หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ แต่อย่าเอาถึงเหนื่อยจนพูดไม่ได้ ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว การออกกำลังกายนี้ต้องปรับให้พอดีกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยใช้วิธีออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวซึ่งผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้ว การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ต้องทำให้มากที่สุดตามกำลังของตนในแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลวไม่มีใครกล้าพาออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าเพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้งๆที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลวมีการทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเองอย่าหวังพึ่งหมอหรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองให้ได้ออกกำลังกายสลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน ขณะออกกำลังกายไป ต้องรู้จักติดตามดูอาการตัวเองไปด้วย เมื่อมีอาการผิดปกติเช่นเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หน้ามืดเป็นลม ต้องลดความหนักของการออกกำลังกายลงมาสักสองสัปดาห์แล้วค่อยๆเพิ่มใหม่

1.3 รักษาน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วนหรือผอมเกินไป

1.4 นอนหลับให้พอ ถ้าหลับไม่สนิทหรือนอนกรน ให้ขวานขวายหาเครื่องช่วยหายใจ (BIPAP) มาใช้

1.5 จัดการความเครียดซะให้ดี หัดวางความคิด มีชีวิตอยู่อย่างผ่อนคลายกับเดี๋ยวนี้ ทำกิจกรรมคลายเครียดที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล เช่นผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำสมาธิ รำมวยจีน เล่นโยคะ

     2. การรักษาด้วยยา ตรงนี้เป็นเรื่องของแพทย์ซึ่งจะตัดสินใจใช้ยาหากจำเป็น เช่นเมื่อต้องลดความดัน เมื่อต้องขับปัสสาวะ เมื่อต้องลดอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อต้องการคุณการเต้นให้สม่ำเสมอ เมื่อต้องกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ เป็นต้น แพทย์ส่วนใหญ่มักนิยมใช้ยาต้านเกล็ดเลือดด้วย และในบางกรณีที่มีการอักเสบของหัวใจ แพทย์อาจใช้ยาต้านการอักเสบเช่นสะเตียรอยด์ด้วย การใช้ยานี้เป็นเรื่องของแพทย์ ในส่วนนี้คุณในฐานะผู้ป่วยก็เพียงแค่ร่วมมือกับแพทย์เท่านั้น

     3. การรักษาด้วยวิธีที่รุกล้ำ หมายถึงการผ่าตัด การฝังเครื่องกระตุ้นแบบต่างๆ เป็นเรื่องที่จะทำในผู้ป่วยบางคนเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่ยังหนุ่มสาวที่หากทำผ่าตัดหรือฝังเครื่องกระตุ้นแล้วจะดีขึ้น ตัวอย่างของเครื่องกระตุ้นที่แพทย์อาจเลือกใช้ก็เช่น เครื่องกระตุ้นจังหวะการเต้นแยกซ้ายขวา (Cardiac resynchronization therapy – CRT) เครื่องช่วยหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular assist device – LVAD) เครื่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติแบบฝังใน (Implantable cardioverter defibrillator – ICD)

     ส่วนการผ่าตัดนั้นมีการผ่าตัดหลายแบบที่แพทย์จะเลือกใช้กับผู้ป่วยแต่ละคน เช่นการใช้แอลกอฮอลจี้ทำลายเนื้อที่หนาขึ้น (Alcohol septal ablation)  การผ่าตัดแบบที่เด็ดขาดที่สุดในกรณีที่ทำอย่างไรอาการก็ไม่ทุเลาแล้วก็คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart Transplantation)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์