Latest

FINGER study ข่าวดีสำหรับคนขี้หลงขี้ลืม

     โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ ได้ไต่อันดับขึ้นมาเป็นโรคยอดนิยมอย่างรวดเร็ว หากวินิจฉัยกันให้แม่นยำกว่านี้แล้ว วงการแพทย์เชื่อว่าตอนนี้โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุการตายและทุพลภาพอันดับสามแล้ว เป็นรองก็แต่โรคหัวใจและมะเร็งเท่านั้น วงการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลอเมริกัน ได้ทุ่มเงินวิจัยผ่านสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมมากกว่าโรคใดๆที่เคยให้มา  ในปี 2017 ปีเดียวใช้ไป 991 พันล้านเหรียญ โหลงโจ้งผ่านไปหลายสิบปีใช้เงินไปแล้วเป็นหมื่นล้านเหรียญ แลกกับสิ่งที่ได้มาคือยาสี่ตัว ซึ่งรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายไม่ได้ซักกะตัวเดียว ไหนๆก็พูดถึงยารักษาอัลไซเมอร์แล้วขอลงรายละเอียดหน่อยนะ สี่ตัวที่ว่าคือ

     (1) cholinesterase inhibitor (เช่น Aricept) ยานี้ออกฤทธิ์ลดการทำลายสารเคมีเชื่อมต่อระหว่างเซลสมอง มันไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินของโรค แต่ลดอาการขี้ลืมลงได้เล็กน้อยในผู้ป่วย 50% ที่กินยาโดยประโยชน์นี้คงอยู่นานแค่ 6-12 เดือน

     (2) memantine (์Namenda) ออกฤทธิ์บล็อกตัวรับที่เซลสมองอีกตัวหนึ่งเรียกว่า NMDA ซึ่งปกติจะคุมระดับสารเคมีเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างเซลอีกตัวหนึ่งชื่อกลูตาเมท ยานี้ก็เช่นกัน ลดอาการขี้ลืมได้เล็กน้อยและชั่วคราว

     (3) Namzaric (cholinesterase inhibitor + menantine) เป็นการผสมสองตัวแรกเข้าในเม็ดเดียวกัน ที่ไม่ได้มีฤทธิ์มากไปกว่าเดิมมากนัก คือเล็กน้อยและชั่วคราว

     (4) Aducanumab ตัวนี้เป็นยาใหม่ที่ออกฤทธิ์ขนย้ายอาไมลอยด์ซึ่งเป็นของเสียที่พอกพูนขึ้นในสมองจากโรคนี้ออกไปจากสมอง ยานี้กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยในการใช้กับผู้ป่วยจริง (phase III) คาดว่าปลายปี 2020 ก็น่าจะรู้ผล

     มู้ดแอนด์โทนของคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ทุกวันนี้ก็คือ ตูเสร็จ..เสร็จแน่ๆ จอดไม่ต้องแจวเลย แต่ว่านั่นเป็นความเข้าใจผิดนะครับ

     ที่ผมบอกว่าข่าวดีก็คือ ในหลายสิบปีที่ผ่านมานี้มีการทำวิจัยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเพื่อป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นจำนวนมากหลายร้อยงานวิจัย บางงานวิจัยสามารถสกัดข้อมูลเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เข้าร่วมงานวิจัยเหล่า่นั้นออกมาได้ ซึ่งบ่งชี้ไปทางว่าหากจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดได้ดี โรคอัลไซเมอร์จะถูกชลอหรือป้องกันไม่ให้เป็นได้ ข้อมูลเหล่านี้ได้นำมาสู่งานวิจัยระดับสูงขนาดใหญ่ทำที่ประเทศฟินแลนด์เรียกว่างานวิจัย FINGER study โดยงานวิจัยนี้ได้เอาคนแก่ที่มีคุณสมบัติอย่างหมอสันต์นี้มา 1260 คน ทุกคนมีคุณสมบัติครบสามข้อต่อไปนี้ คือ

     (1) มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือด
     (2) มีอายุมากเกิน 60 ปี
     (3) เป็นคนขี้หลงขี้ลืม (สอบได้คะแนนสมองเสื่อม DRS 6 คะแนนขึ้นไป)

     แล้วเอาคนแก่เหล่านี้มาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ

     กลุ่มที่ 1. ให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตใน 3 ประเด็นคือ (1) กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (2) ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันโดยควบการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและเล่นกล้าม (3) ทำกิจกรรมท้าทายสมองทุกวัน

     กลุ่มที่ 2. ให้ใช้ชีวิตแบบที่เคยใช้

     ทำการวิจัยอยู่ 2 ปี แล้ววัดผลด้วยคะแนนวัดความเสี่อมของสมองทั้งหกด้าน (สติ, ความจำ, การคิดวินิจฉัย, การเคลื่อนไหว, ภาษา, การสังคม) เปรียบเทียบก่อนและหลังการวิจัย พบว่า แถ่น แทน แท้น.. กลุ่มที่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตมีการทำงานของสมองทั้งหกด้านดีกว่ากลุ่มที่ไม่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

     นี่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่ได้จากการวิจัยกับคนจำนวนมากด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ชิ้นแรก ที่บอกเราว่าโรคอัลไซเมอร์ป้องกันหรือชลอลงได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

     ภาพรวมหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องโรคสมองเสื่อม

      มาถึงวันนี้แล้ว หลักฐานที่รวบรวมจากทุกทิศทุกทางพอจะสรุปได้ว่าการจะป้องกันและพลิกผันโรคอัลไซเมอร์นั้น จะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้ครอบคลุม 5 ประเด็น คือ (1) โภชนาการ (2) การออกกำลังกาย (3) การจ้ดการความเครียด (4) การนอนหลับ (5) การกระตุ้นท้าทายสมองอยู่เป็นนิจ ซึ่งผมขอเจาะไปทีละประเด็น

     1. โภชนาการ

     โภชนาการเพื่อการฟื้นฟูสมองโดยเฉพาะกรณีเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นสรุปได้แน่ชัดแล้วว่าต้องเป็นโภชนาการในแนวที่กินพืชผักผลไม้เป็นอาหารหลัก อาหารที่อันตรายต่อสมองที่ต้องลดลงเป็นพิเศษคือน้ำตาล ไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัว ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด ในระยะที่กำลังฟื้นฟูสมองอย่างเข้มข้นนี้ผมแนะนำให้เปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจแบบไม่ผัดไม่ทอด คือเจแบบไขมันต่ำ จะดีที่สุด โดยกินในรูปแบบอาหารสดหรืออาหารใกล้สภาพธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะวิตามิน แร่ธาตุทั้งธาตุใหญ่และธาตุเล็กธาตุน้อย และสารต้นอนุมูลอิสระที่จำเป็นต้องการซ่อมแซมสมอง มีอยู่อย่างอุดมในอาหารพืชตามธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งหลากหลายตามสีสัน รสชาติ และฤดูกาล

     2. การออกกำลังกาย

     มีงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูสมองว่าซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่ามีประเด็นสำคัญสามประเด็น คือ

     ประเด็นที่ 1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับเบา ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร (moderate intensity) คือต้องให้ได้ความหนักระดับปานกลางขึ้นไป คือยิ่งหนักยิ่งดี อย่างน้อยก็คือต้องมีหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ต่อเนื่องไปอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 ครั้ง

     ประเด็นที่ 2. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างเดียว ฟื้นฟูสมองได้ไม่ดีเท่าการออกกำลังกายควบทั้งแบบแอโรบิกและแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม)

     ประเด็นที่ 3. การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว ซึ่งเป็นการประสานสติ ตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ และข้อ เข้าด้วยกัน ลดโอกาสลื่นตกหกล้มในผู้ป่วยที่มีความเสียหายของเนื้อสมองจากเหตุใดๆก็ตามลงได้

     3. การจัดการความเครียด

     ในขณะที่สมองส่วนหนึ่งเสียหายไปผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการตั้งสติมีสมาธิ แต่ในอีกด้านหนึ่งการมีสติสมาธิก็มีบทบาทสูงมากในการฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้นจะอย่างไรเสียก็จะต้องทุ่มเทให้กับการจัดการความเครียด ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การฝึกวางความคิด กิจกรรมฝึกวางความคิดที่งานวิจัยพบว่ามีประโยชน์ต่อการชลอการเสื่อมของสมองทั้งหกด้านมีสามกิจกรรม คือ นั่งสมาธิ (meditation) โยคะ และไทชิ (Tai Chi)

     มองในแง่ของเทคนิคที่ใช้เป็นไส้ใน ในการทำแต่ละกิจกรรม มีห้าเทคนิคที่จำเป็นต้องใช้คือ

     (1) Attention สติ
     (2) Body scan การรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย
     (3) Relaxation การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
     (4) Meditative focus สมาธิ
     (5) Alertness การตื่นรู้ตัวอยู่กับเดี๋ยวนี้

      4. คุณภาพของการนอนหลับ

     มีหลักฐานวิจัยแน่ชัดเชื่อมโยงการนอนไม่หลับหรือหลับไม่ดีกับการเป็นสมองเสื่อม ทั้งที่วัดโดยการคั่งของสารอะไมลอยด์ในสมอง หรือวัดโดยการทำงานของสมอง ดังนั้นคนขึ้หลงขี้ลืมจำเป็นที่จะต้องประเมินความจำเป็นของการใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ (CPAP) ด้วยการตรวจการนอนหลับ (sleep lab) และหากตรวจแล้วพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อยก็ควรใช้ CPAP เพื่อช่วยให้สมองได้ออกซิเจนพอเพียงขณะนอนหลับ

     นอกจากนั้นยังต้องฝึกปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ อันได้แก่ (1) การเข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา (2) การไม่นอนกลางวัน ถ้าจำเป็นก็แค่งีบสั้นๆ (3) การปรับห้องนอนให้สะอาด เรียบง่าย เงียบสนิท มืดสนิท และเย็น (4) การไม่ทำงานในห้องนอน ไม่กินของว่างหรือคุยในห้องนอน (5) ไม่เอาทีวี โทรศัพท์ ไลน์ เฟซ นาฬิกาปลุก ไว้ในห้องนอน (6) เตรียมตัวนอน 30 นาที โดยหยุดกิจกรรมตื่นเต้น หรี่ไฟ ใส่ชุดนอนหลวมๆสบายๆ นั่งพักโดยไม่ทำอะไร หรือนั่งสมาธิ (7) ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ใน 3 ชม.ก่อนนอน (8) ออกกำลังกายหนักพอควรทุกวัน (9) งดกาแฟและยาที่ทำให้นอนไม่หลับ

     5. การทำกิจกรรมท้าทายสมอง

     งานวิจัยพบว่ากิจกรรมท้าทายที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเซลสมองขึ้นมาใหม่มีอย่างน้อยสิบสามกลุ่มกิจกรรม ได้แก่
     (1) การค้นหาทางไปหรือถนนหนทาง
     (2) การเรียนภาษาที่สอง
     (3) ดนตรี
     (4) เต้นรำ
     (5) การกลับไปเรียนหนังสือใหม่ในสถาบันการศึกษา
     (6) การทำงานวิชาชีพที่ซับซ้อน
     (7) การเผชิญความท้าทายที่ยากลำบาก
     (8) การฝึกภายใต้ระบบจำลอง (virtual reality)
     (9) การร้องเพลงหรือคาราโอเกะ
     (10) การเล่าเรื่องตลกให้คนอื่นหัวเราะ
     (11) เล่นไพ่บริดจ์ รัมมี่ หรือโป้กเกอร์
     (12) ทำงานวิชาชีพที่ซับซ้อน หรือสอนวิชาชีพตัวเองให้คนอื่น
     (13) วาดรูป แกะสลัก ปั้น เจียรนัย และงานศิลป์อื่นๆ

     ฉันเป็นโรคสมองเสื่อมแล้วหรือยัง

     วงการแพทย์วินิจฉัยและจัดชั้นโรคสมองเสื่อมเป็นสามระดับคือ เล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง ด้วยการใช้คะแนนการทำงานของสมอง แต่คนทั่วไปมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการวินิจฉัยดังกล่าวอย่างจบสิ้นกระบวนความ เพราะเป็นการวินิจฉัยที่สิ้นเปลืองเวลาพอสมควร ดังนั้นผมแนะนำให้ท่านผู้อ่านวินิจฉัยตัวเองด้วยเกณฑ์ง่ายๆที่เชื่อถือได้ดังนี้

     1. โรคสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย (MCI) วินิจฉัยเอาจากการที่คนใกล้ชิดทักว่าเราขี้ลืม ซึ่งตัวหมอสันต์เองก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อมระดับนี้ไปแล้วเรียบร้อย

     2. โรคสมองเสื่อมระดับปานกลาง ให้วินิจฉัยเอาจากเกณฑ์ความสามารถในการทำกิจวัตรสำคัญประจำวัน (instrumental activity daily living – IADL) เจ็ดอย่าง หมายความว่ากิจกรรมเจ็ดอย่างต่อไปนี้ หากท่านไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงอย่างเดียว ท่านวินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นสมองเสื่อมระดับปานกลางแล้ว กิจกรรมเจ็ดอย่างนั้นคือ

     2.1 อยู่คนเดียวได้ (independence) พูดง่ายๆว่าทนเหงาได้ อยู่คนเดียวแล้วมีความสุข มีทักษะที่จะสื่อสารกับคนอื่น (communication skill) ได้เอง เช่นพูดโทรศัพท์ ส่งอีเมล เล่นไลน์ เฟซ เป็นต้น

     2.2 ขนส่งตัวเองได้ (Transportation) ไปไหนมาไหนได้ในรูปแบบต่างๆด้วยตนเองตามความเหมาะสม เช่นขับรถเอง ปั่นจักรยานเอง เดินไปตลาดเอง

     2.3 เตรียมอาหารเองได้ (Preparing meals) เริ่มตั้งแต่การวางแผน จะกินอะไรบ้าง จะซื้ออะไร ขนของเข้าตู้เย็น หั่นหอม ซอยกระเทียม หุง ต้ม

     2.4 ช้อปปิ้งเองได้ (shopping) จะซื้อของกินของใช้อะไรเข้าบ้านบ้าง ตัดสินใจเองได้

     2.5 จัดการที่อยู่ของตัวเองได้ (housework) ซักผ้า กวาดพื้น ถูพื้น ดูดฝุ่น เอาขยะไปเท เอาสัมภารกไปทิ้ง

     2.6 บริหารยาตัวเองได้ (Managing medications) ตัวเองกินยาอะไรอยู่บ้าง แต่ละตัวกินเพื่ออะไร ขนาดที่ต้องกินเท่าไหร่ กินวันละกี่ครั้ง กินเมื่อใด มันมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง เมื่อไหร่ควรจะลดหรือหยุดยา

     2.7 บริหารเงินของตัวเองได้ (Managing personal finances) ใช้จ่ายไม่เกินเงินที่ตัวเองมี จ่ายบิลต่างๆเช่นประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน ทำเองได้หมด

     ทั้งเจ็ดอย่างนี้หากเสียไปอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงอย่างเดียว ท่านเป็นสมองเสื่อมระดับปานกลางแล้ว

    3. โรคสมองเสื่อมระดับรุนแรง ให้วินิจฉัยเอาจากเกณฑ์ความสามารถในการทำกิจวัตรจำเป็นประจำวัน (activity daily living – ADL) ห้าอย่าง หมายความว่ากิจกรรมห้าอย่างต่อไปนี้ หากท่านไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงอย่างเดียว ท่านวินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นสมองเสื่อมระดับรุนแรงไปเรียบร้อยแล้ว กิจกรรมทั้งห้าอย่างนั้นคือ

      3.1 ดูแลสุขศาสตร์ส่วนบุคคลได้ (personal hygiene) เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม

     3.2 แต่งตัวได้ (dressing) เลือกเสื้อผ้าเอง สวมเองได้อย่างเหมาะสม

     3.3 กินอาหารได้เอง (feeding) ไม่ต้องรอให้มีคนป้อนหรือใส่ท่อสายยาผ่านจมูก

     3.4 การจัดการอึฉี่ตัวเองได้ (continence management) หมายถึงการอั้นเมื่อควรอั้น ปล่อยเมื่อควรปล่อย เมื่อไรควรไปห้องน้ำ และไปห้องน้ำเองได้

     3.5 เคลื่อนไหวเดินเหินได้ (ambulating) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยันกายจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง จากนั่งลุกยืน จากยืนออกเดิน จากเดินกลับลงนั่ง แล้วกลับลงนอน

     ทั้งห้าอย่างนี้หากเสียไปอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงอย่างเดียว ท่านเป็นสมองเสื่อมระดับรุนแรงแล้ว มาถึงขั้นนี้ท่านไม่สามารถพึ่งตัวเองได้อีกต่อไป ต้องตกเป็นภาระให้กับคนรอบข้างเข้ามาช่วยดูแล

     อย่าเร่งให้ตัวเองสมองเสื่อมเร็วขึ้น

     นอกจากจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตในห้าประเด็นที่ผมกล่าวไปข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านอย่าเผลอเร่งให้ตัวเองสมองเสื่อมเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น

     1. อยู่คนเดียวดีๆไม่ว่าดี กลับเคี่ยวเข็นให้ลูกหลานมาอยู่เป็นเพื่อน มาพูดมาคุยด้วย โดยเฉพาะตอนกลางคืน เพราะกลัว เพราะเหงา โธ่ ปูนนี้แล้วยังไม่เลิกกลัวอีกเหรอ ปูนนี้แล้วยังจะมีอะไรเหลือให้กลัวอีก
   
     2. จะขับรถเองก็ขับได้แต่ไม่ยอมขับ ต้องให้คนอื่นมารับมาส่ง หรือจ้างคนอื่นขับให้

     3. จะทำกินเองแบบง่ายๆในครัวก็ทำได้แต่ไม่ยอมทำ ต้องออกไปซื้อเขากินข้างนอก หรือต้องรอคนอื่นซื้อเข้ามาให้ หรือไม่ก็กินของแห้งบรรจุซองพลาสติกแทน

     4. จะเอาช้อนตักข้าวกินเองก็ได้ แต่ชอบอ้าปากให้ลูกหลานป้อน

     5. แข้งขาก็ยังดีจะลุกจะเดินก็ทำได้เอง แต่เลือกจะนั่งจุมปุกหรือนอนแซ่วอยู่เฉยๆทั้งวัน

     6. จะเข้าห้องน้ำเองก็ทำได้ แต่ไม่ยอมเข้า ต้องรอลูกหลานมาพาเข้าห้องน้ำ ให้เขาอาบน้ำให้ ให้เขาเช็ดตัวให้

     7. จะเดินไปอึไปฉี่ที่ห้องน้ำเองก็ทำได้ แต่เลือกที่จะใส่ผ้าอ้อม (แพมเพิร์ส) ทั้งๆที่เป็นเวลากลางวันแสกๆและไม่ได้เดินทางไกลไปไหน

     8. จะผลัดผ้าผลัดผ่อนเองให้เหมาะกับกาละเทศะก็ทำได้ แต่เลือกที่จะทรงชุดนอนตั้งแต่เช้ายันเย็นจนลืมไปว่าชุดนอนที่ใส่อยู่นี้ของเก่าเมื่อวานหรือของใหม่วันนี้

     9. จะฝึกเดินเหินเองก็ได้แต่ขี้เกียจ ต้องมีล้อเข็น มีวีลแชร์ หรือไม้เท้า หรือเสื้อกันปวดหลัง หรือกายอุปกรณ์อะไรก็ตามที่ซื้อมาใช้เพราะความขี้เกียจ ทำอย่างนั้นจะทุพลภาพเร็วขึ้น

     สรุปว่า เป็นแฟนบล็อกหมอสันต์ตัวจริง อย่าเผลอเร่งให้ตัวเองสมองเสื่อมเร็วขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

1. Ngandu T, Lehtisalo J, Solomon A, Levälahti E, et al. A 2 year multidomain intervention of diet, exercise, cognitive training, and vascular risk monitoring versus control to prevent cognitive decline in at-risk elderly people (FINGER): a randomised controlled trial. Lancet. 2015:6;385(9984):2255-63. doi: 10.1016/S0140-6736(15)60461-5.