Latest

หาอยู่หากิน ปลูกอยู่ปลูกกิน ซื้ออยู่ซื้อกิน

     วันหนึ่ง ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา มีแขกท่านหนึ่งมาเยี่ยมผมที่เวลเนสวีแคร์ ได้ทานอาหารมื้อกลางวันด้วยกันและคุยกันเล่นๆ แขกท่านนี้เป็นนายทหารใหญ่ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อหลายท่านคงรู้จัก ความที่ท่านเคยเป็นเด็กชนบทคลุกดินคลุกหญ้ามาก่อน เนื้อหาที่คุยกันจึงเป็นเรื่องชนบทและการพัฒนาชีวิตชาวชนบท ผมเห็นว่ามีเนื้อหาสาระดี น่าจะเอามาบันทึกไว้ในบล็อกนี้เผื่อให้คนรุ่นหลังได้อ่าน 

แขก

     “ชนบทไทยนั้นแท้จริงแล้วแบ่งเป็นสองส่วน คือ (1) หมู่บ้าน กับ (2) ตลาด หมู่บ้านนั้นเป็นที่อยู่ของชาวบ้านซึ่งเป็นชาวพื้นเมือง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนตลาดน้้นเป็นที่อยู่คนไทยเชื้อสายจีนซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย โครงสร้างแบบสังคมสองชนิดนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกจังหวัดทุกอำเภอ ปัญหาชนบทไม่ว่าจะเป็นความยากจน สิ่งแวดล้อม ยาเสพย์ติด การอพยพเข้าสู่เมือง ล้วนเป็นปัญหาของชนบทส่วนที่เป็นหมู่บ้านแทบทั้งสิ้น

     ในแง่ของพัฒนาการสังคมชนบท ผมแบ่งขั้นตอนพ้ฒนาการปกติออกเป็นสามขั้นนะ

     ขั้นที่ 1. คือการหาอยู่หากิน (hunting gathering) หมายถึงการยังชีพด้วยการออกจากบ้านไปหาผักหาปลา หากบ หาเขียด หาไข่มดแดง ขุดหน่อไม้ บางครั้งก็เผาป่าเอาผักหวานหรือไล่เอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากิน อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนบทไทย แม้ทรัพยากรณ์ป่าไม้ซึ่งเป็นเหมือนซูเปอร์มาเก็ตของชาวชนบทจะสูญหายไปมากแล้ว แต่วิถีชีวิตแบบหาอยู่หากินก็ยังดำรงอยู่เป็นวิถีหลัก

     ขั้นที่ 2. คือการปลูกอยู่ปลูกกิน หมายถึงการทำเกษตรกรรมดั้งเดิมแบบพึ่งตัวเอง เช่นการทำไร่ทำนาปลูกผักเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่

     ขั้นที่ 3. คือการซื้ออยู่ซื้อกิน หมายถึงสังคมที่มีความซ้บซ้อนระดับหนึ่งแล้วมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันมากขึ้นจนทุกคนไม่จำเป็นต้องทำการผลิตอาหารเองเสียทั้งหมด”

นพ.สันต์

     “แล้วประเด็นปัญหาที่พี่มองเห็นคืออะไรละครับ”

แขก

     “ปัญหาอยู่ที่การขยับเลื่อนชั้นจากขั้นหาอยู่หากินมาเป็นขั้นปลูกอยู่ปลูกกินของคนในหมู่บ้านนั้นเป็นไปอย่างฉาบฉวยขาดความลึกซึ้ง ทุกวันนี้เด็กชนบทลูกหลานชาวนาที่มาอยู่กับผมอายุ 20 ปีไม่มีใครรู้วิธีปลูกผักทำนาอย่างลึกซึ้งสักคน อย่างปลูกผักนี่มัวไปหาอะไรมาฉีดมาป้องกันมาบำรุง ทั้งๆที่การปลูกผักผมทำมาเองกับมือจนแน่ใจแล้วว่ามันต้องเริ่มที่การสร้างดินให้สมบูรณ์พอที่ผักมันจะโตได้ก่อน และต้องมีการหมุนเวียนชนิดของผักเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเพื่อตัดวงจรโรคพืช 
   
     การปลูกอยู่ปลูกกินที่มีการสั่งสมความรู้มาพอควรในอดีตทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วยปัจจัยการผลิตฉาบฉวยที่เป็นต้นทุนสูงเช่นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น

     ขณะที่อีกด้านหนึ่งสื่อทุกชนิด ทีวี วิทยุ คอมพิวเตอร์ และสิ่งพิมพ์ ได้กระจายไปทุกหลังคาเรือน คนในหมู่บ้านจึงมีกิเลสหรือมีความต้องการสูงแต่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ทัน กลายเป็นเข้าสู่ชีวิตระดับซื้ออยู่ซื้อกินโดยไม่ทันได้ปลูกอยู่ปลูกกินให้พึ่งตัวเองได้ก่อน เงินหาได้ไม่พอ เหมือนคันเร่งดีเกินไปแต่ขาดเบรค จึงซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าเช่นซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกเพื่อให้ทัดเทียมกับลูกของเพื่อนบ้าน เมื่อเป็นหนี้เป็นสินท่วมตัวก็ขายที่ดิน จากคนยากจนก็กลายเป็นคนยากไร้ ชีวิตจึงมีแต่ทุกข์

นพ.สันต์

     “แล้ววิธีแก้ปัญหาละ พี่จะให้ทำอย่างไร”

แขก

     “ก่อนอื่นมันต้องเลือกสนามหรือลู่แข่งให้เหมาะกับตัวเองก่อน ทุกวันนี้ชาวหมู่บ้านไปเลือกลงแข่งใน “ลู่เงิน” เพราะอยากจะเอาอย่างชาวตลาดเขา แต่มันเป็นลู่ที่ชาวตลาดเขาถนัดมาแต่บรรพบุรุษ แต่บรรพบุรุษของเราไม่ถนัดลู่นี้เลย แข่งทีไรก็มีแต่แพ้กับแพ้ ทำไมไม่ลอง “ลู่ความสุข” ดูบ้างล่ะ ความสุขอยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ได้อยู่ไกล อยู่ที่ความพึงพอใจที่เรามี ความสุขอันเกิดจากความเป็นอิสระ มีเสรี ไม่ต้องพึ่งพิงตลาด ไม่ต้องอาศัยเมตตาจากคนอื่น จะปลูกอยู่ปลูกกินอะไรก็สนใจทำมันอย่างลึกซึ้งเพราะมันมีความสุขแทรกอยู่ในนั้น”

นพ.สันต์ 

     “ผมถามเพราะไม่รู้นะครับ เกษตรพอเพียงนี่ คอนเซ็พท์จริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร มันมีขั้นตอนการทำอย่างไรหรือครับ”

แขก

     ขั้นที่ 1. ก็คือการที่เกษตรกรชาวหมู่บ้านสามารถนำปัจจัยการผลิตหลักที่ตัวเองมีอยู่คือที่ดินมาจัดการใหม่ให้ตัวเองยืนอยู่บนขาตัวเองได้อย่างเบ็ดเสร็จก่อน ด้วยการปลูกอยู่ปลูกกินแบบพออยู่พอกิน อย่าไปมุ่งหวังขายเอารายได้ หลักการจัดการที่ดินก็อาศัยความจริงทางธรรมชาติที่ว่าเราอยู่ในเขตมรสุม ได้รับประโยชน์จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือนำฝนมาให้ปีละเป็นปริมาณมาก เพราะการมี plateau หรือที่ราบสูงอย่างอิสานนี้มันเป็นเหตุให้เกิดมวลอากาศต่ำกว่าพื้นราบทำให้มีการเคลื่อนตัวของอากาศขึ้นสูงเป็นเหตุให้มวลอากาศหนักจากทะเลเคลื่อนมาแทนที่ ที่ราบสูงอิสานจึงมีฝนตกถึงปีละ 34,000 ล้านลบ.ฟุต ไหลลงทะเลไปเสีย 25,000 ล้านลบ.ฟุต เพราะเราไม่มีปัญญาเก็บมันไว้ใช้ ดังนั้นหัวใจของเกษตรพอเพียงก็คือ rain water harvesting อย่างเดียวเลย คือยกที่ดินตั้ง 30% เพื่อทำเป็นบ่อเก็บน้ำหรือ farm pond อีก 30% ใช้ทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง อีก 30% ใช้ปลูกพืชผักและไม้ยืนต้น อีก 10% เป็นที่อยู่อาศัยและคอกปศุสัตว์ต่างๆ สมัยผมเด็กๆบ้านผมไม่เคยอดน้ำทั้งๆที่เพื่อนบ้านชาวอิสานด้วยกันเขาเดือดร้อนขาดน้ำกันหมด เพราะบ้านผมพ่อทำการเก็บน้ำฝนไว้ 12 โอ่ง ไว้ใช้โอ่งละเดือน เมื่อมีน้ำเสียอย่างการปลูกอยู่ปลูกกินแบบพอเพียงก็เป็นเรื่องง่าย

     ขั้นที่ 2. เมื่อเกษตรกรแต่ละคนมีพออยู่พอกินของตัวเองแล้วก็มาร่วมกันผ่านรูปแบบสหกรณ์เพื่อรวมพลังกันผลิต แปรรูป และขายให้มันเป็นระบบขึ้นมาหน่อยเพื่อสร้างรายได้เสริมแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     ขั้นที่ 3. เป็นการจัดตั้งเอาชุมชนสหกรณ์เหล่านั้นมาผสานกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และร่วมมือกับแหล่งพลังงาน แหล่งเงินทุน และนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยการผลิต การแปรรูป และการตลาดต่างๆอย่างซับซ้อนขึ้น

    นี่แหละคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง..”

     วันนั้น แขกกลับไปแล้ว ผมคิดถึงคำพูดของท่านที่ว่าจะปลูกอยู่ปลูกกินอะไรก็สนใจทำมันอย่างลึกซึ้งเพราะมันมีความสุขแทรกอยู่ในนั้น ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เฉพาะงานเกษตรเท่านั้น งานอื่นๆก็เหมือนกัน ก่อนหน้าที่จะลงมารับแขก ผมได้รับมอบหมายจาก ม. ให้ยาแนวกระเบื้องพื้นห้องน้ำบ้านบนเขาที่หลุดลอกและขึ้นราเสียใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำ เธอซื้อเหล็กขูดร่องกระเบื้องแบบมีด้ามถือและซื้อปูนยาร่องซึ่งเป็นหลอดแบบยาสีฟันมาให้ด้วย ผมก็ค่อยๆทดลองทำไปสังเกตไป ทดลองขูดปูนเก่าด้วยวิธีต่างๆ แล้วทดลองลงปูนยาร่องแล้วเอานิ้วมือลูบ ปรากฎว่าไม่เวอร์คเพราะรอยลูบสูงๆต่ำๆ คราวนี้เอาอะไรที่ขอบคมๆอย่างบัตรเครดิตการ์ดเก่าลูบขี้ปูนออกแทน เออ เข้าท่าขึ้น เพราะรอยลูบเรียบดี แต่ก็ยังมีปูนเคลือบบนผิวกระเบื้องบางๆแบบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่หากนอนคว่ำตะแคงหน้ามองเลียบผิวกระเบื้องจะเห็น ซึ่งหากทิ้งไว้ก็จะจับขี้ไคล ดำๆน่าเกลียดอีก ต้องเพิ่มอีกขั้นตอนหนึ่งคือเอาผ้าชุบน้ำบรรจงเช็ดเอารอยเคลือบบางๆบนผิวกระเบื้องนี้ออกด้วย จึงจะได้งานที่ดี ค่อยๆจดจ่อไป ทำไป สังเกตไป เรียนรู้ไป เออ ก็มีความสุขดีแฮะ งานทุกชนิดก็เป็นแบบนี้ คือสนใจทำมันอย่างจริงจัง สร้างทักษะไปด้วย มันก็มีความสุขอยู่ในนั้น น่าเสียดายที่คนจำนวนมากทำงานแบบคิดถึงแต่เรื่องจะให้ได้เงินไปซื้อนั่นซื้อนี่ ขณะทำงานใจก็ไพล่ไปอยู่เสียที่โมเมนต์ที่จะได้ซื้อของที่อยากได้ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต จึงไม่ได้สัมผัสความสุขขณะทำงานที่ตรงหน้า พอได้เงินมาก็พบว่าเงินยังไม่พอซื้อของที่อยากได้ เพราะความอยากนั้นมันไม่ได้อยู่นิ่ง มันวิ่งนำหน้าไปไกลแล้ว ก็ต้องฝืนใจหางานทำเพิ่มทั้งๆที่ไม่สนุกในการทำเพียงเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น เป็นวงจรวิ่งตามความอยากแบบไม่รู้จะไปจบกันที่ไหน

      ในโอกาสผมกลับจากเที่ยวมาเขียนบล็อก ขอต้อนรับปีใหม่ 2020 ด้วยประโยคคมของนายทหารใหญ่ท่านนี้ว่า

     “จะปลูกอยู่ปลูกกินอะไร
     ก็สนใจทำมันอย่างลึกซึ้ง 
     เพราะมันมีความสุขแทรกอยู่ในนั้น” 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์