Latest

ส่วนที่คนไข้ต้องทำเองสำคัญกว่าส่วนที่หมอต้องทำ

คุณหมอสันต์คะ
ขอถามสุขภาพคุณแม่อายุ 84 ปีไม่มีโรคประจำตัว ต่อมาหลอดเลือดหัวใจตีบ ใส่ stent ได้ยามาหลายขนานมาก BP 54/49 p 56 ได้ยาenaril 5 ครึ่งเม็ด metoprolol2.5mg 1/4 tab ASA 81 mg 1*1 clopidogel 1*1 losartan 50 1*1 cardevelol 25mg ยาลดไขมันก่อน lasix40mg1*1อีก เมื่อวานมีอาการคอแข็ง ตาลายตอนลุกเดินค่ะ นน 42 กก แพทย์ก็สั่งไม่ให้หยุดยา
จะทำอย่างไรคะ

…………………………………………..

ตอบครับ

     1. ในการกินยาทุกตัว ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล จะต้องรู้ว่ายาตัวไหนกินเพื่ออะไร มีผลข้างเคียงและข้อพึงระวังอย่างไรบ้าง เมื่อเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น ต้องหยุดยาเองทันทีแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดหรือเปลี่ยนยา นี่คือวิธีการกินยาแผนปัจจุบันที่ถูกต้อง ไม่ใช่หมอให้กินก็กิน เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ไม่ชี้และไม่กล้าหยุดยาด้วยเพราะหมอไม่ได้สั่ง แล้วเมื่อไหร่จะได้เจอหมออีกครั้งละครับ เฉลี่ยก็เดือนสองเดือน แต่ว่าพิษเฉียบพลันของยานั้นต้องหยุดยาที่เป็นต้นเหตุภายในเวลาเป็นชั่วโมงนะครับ อย่าว่าแต่เป็นวันหรือเป็นเดือนเลย ถ้าไปรอเจอกันอีกเดือนคนไข้ก็ตายก่อนพอดี

     อย่างในกรณีของคุณแม่คุณนี้ลุกเดินแล้วตาลอยและวัดความดันได้ 54/49 ไม่ต้องให้หมอหรือพยาบาลวินิจฉัยหรอก คุณซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยความดันเลือดสูงอยู่ต้องรู้ว่าพิษของยาลดความดันก็คือความดันเลือดตก ซึ่งเป็นต้นเหตุของการลื่นตกหกล้มกระดูกหักในผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด สิ่งที่พึงทำก็คือหยุดยาที่มีผลต่อความดันเลือดทุกตัวทันที ซึ่งก็คือยา enaril 5 mg, metoprolol2.5mg 1/4, losartan 50 mg,  cardevelol 25mg และยาขับปัสสาวะ lasix40mg นั่นก็มีผลลดความดัน ให้หยุดเสียด้วย

     เมื่อหยุดยาแล้วก็รีบพาคุณแม่กลับไปหาหมอทันทีด้วย ตรงนี้เป็นกรณีพิเศษที่จำเป็น เพราะผมดูจากยาที่หมอเขาให้ผมเดาเอาว่าคุณแม่ของคุณเป็นโรคหัวใจล้มเหลว อาการที่ความดันตกวูบลงไปและสติเลอะเลือนนอกจากจะเกิดจากได้ยาลดความดันเกินขนาดแล้วยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดจากหัวใจหมดแรงชดเชย (de-compensated) ซึ่งเป็นกรณีที่หมอเขาจะต้องปรับแผนการรักษาครั้งใหญ่เพราะวิธีเดิมๆที่ทำมาไม่ได้ผลแล้ว

     ถามว่าในกรณีที่แพทย์ไม่ให้หยุดยา แต่เกิดเหตุการณ์ที่สงสัยว่าจะเป็นเพราะยาควรทำอย่างไร ตอบว่าในกรณีที่คุณสื่อสารทางโทรศัพท์กับแพทย์หรือผู้ช่วยของแพทย์ได้ ก็โทรศัพท์ไปหาเขา ในกรณีที่คุณไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้ทันที คุณก็ต้องตัดสินใจด้วยสามัญสำนึกของคุณเอง อย่าไปถือว่าหมอสั่งห้ามก็ห้ามตะพึดแบบไม่มีดุลพินิจประกอบเลย ยกตัวอย่างเช่นสมัยหนุ่มๆผมเคยผ่าตัดทำหมันให้ผู้ป่วยชายในรูปแบบของการออกหน่วยชนบท คือทำผ่าตัดกันในเต้นท์คราวละเป็นโหลๆ ในการผ่าตัดต้องดึงจู๋ให้ชี้ขึ้นไปข้างบนแล้วเอาพลาสเตอร์ปิดจู๋ให้แนบกับผิวหนังไว้ไม่ให้มาเกะกะบริเวณที่จะผ่าตัด แต่พอผ่าตัดเสร็จแล้วผมลืมเอาพลาสเตอร์ปิดจู๋ออก ถ้าคุณเป็นคนไข้คุณจะพาซื่อกลับบ้านไปแล้วใช้ชีวิตแบบฉี่ขึ้นท้องฟ้าทุกวันจนถึงวันหมอนัดไหมละครับ โชคดีที่ผู้ป่วยท่านนั้นยังมีสามัญสำนึกดีอยู่ จึงมากระซิบบอกพยาบาลขณะที่พวกเราเก็บเต้นท์ว่าเตรียมตัวกลับบ้านว่า

     “อย่างนี้ผมก็จะฉี่ใส่หน้าตัวเองนะครับ”

     (ฮิ ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     2. คุณพาคุณแม่ของคุณไปหาหมอคนเดียวกันหรือเปล่าครับ เพราะในกรณีที่ไปหาหมอหลายคน คุณในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้ยาที่หมอจ่ายมาซ้ำซ้อนกันโดยที่หมออีกคนหนึ่งไม่รู้ว่าหมอคนก่อนจ่ายยาอะไรไว้บ้าง อย่าไปหวังว่าหมอเขาจะอ่านที่หมอคนอื่นเขียนไว้เพราะเขาไม่มีเวลา แม้เขามีเวลาถ้าเป็นเวชระเบียนกระดาษเขาก็อ่านลายมือของกันและกันไม่ออก ถ้าเป็นเวชระเบียนคอมพิวเตอร์เขาก็ไม่มีเวลาพลิกไปหน้าจอที่หมอคนอื่นสั่งยาไว้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ป่วยต้องเป็นฝ่ายจำยาของตัวเองให้ขึ้นใจ จดไว้เป็นบัญชีหางว่าวเองและคอยปรับปรุงแก้ไขบัญชีนี้ให้เป็นปัจจุบันเสมอและยื่นให้หมอทุกครั้งที่ไปหาหมอ เพราะผู้ป่วยสมัยนี้บางคนกินยาสิบกว่าอย่างในหนึ่งวัน

     ที่ผมถามตรงนี้เพราะผมเห็นว่ายาที่คุณให้ชื่อมานั้นมีอยู่สองตัวที่จ่ายมาซ้ำซ้อนกัน คือยา cardevelol และยา metoprolol ต่างก็เป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบ beta blocker เหมือนกัน มีความเป็นไปได้ที่หมอจะจ่าย cardevelol ซึ่งงานวิจัยใหม่ๆบอกว่ารักษาหัวใจล้มเหลวได้ดีกว่ามาแทน metoprolol แต่ฝ่ายคนไข้ไม่เก็ทว่าเป็นยาแทนกันเลยกินควบกันซะเลย เพราะเป็นการยากที่หมอคนเดียวจะจงใจจ่ายยาสองตัวนี้ควบกัน อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่พาแม่ไปหาหมอคุณต้องทำไงก็ได้ให้คุณหมอท่านรู้ชัวร์ๆว่าคุณแม่ของคุณกำลังกินยาอะไรอยู่บ้าง 1, 2, 3, 4, 5 …

   3. ดังที่ผมบอกแล้วว่าผมเดาเอา (จากยาที่จ่ายมา) ว่าคุณแม่ของคุณป่วยเป็นหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) ซึ่งในการรักษาโรคใดๆนี้มันมีอยู่สองข้าง คือ (1) ข้างที่หมอเป็นคนทำ คือสั่งยา ใส่ stent ใส่เครื่องกระตุ้น หรือผ่าตัด (2) ข้างที่คนไข้เป็นคนทำ คือการเปลี่ยนวิธีกินอาหารและวิธีใช้ชีวิต สำหรับโรคเรื้อรังทุกโรคซึ่งวงการแพทย์ยังไม่มีปัญญารักษาให้หายได้อย่างโรคหัวใจนี้ข้างที่สองคือข้างที่คนไข้เป็นคนทำเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำให้โรคหาย เพราะข้างที่แพทย์ทำให้นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วในเวลาร่วมร้อยปีที่ผ่านมาว่าถึงหมอจะพยายามทำให้ตายโรคก็ไม่หาย กรณีโรคหัวใจล้มเหลวนี้ ในการดูแลคุณต้องท่องให้ขึ้นใจว่าสิ่งที่ฝ่ายคนไข้ต้องทำคือ

     3.1 ต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำค่อยๆคั่งสะสมในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1 กก. ในหนึ่งวัน (ถ้าเป็นคนไข้ตัวใหญ่แบบฝรั่งก็ 1.3 กก.) แสดงว่ามีการสะสมน้ำในร่างกายพรวดพราดมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นจะเกิดน้ำท่วมปอด อาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก

     3.2 คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงไปไม่ต่ำไป
     ในกรณีที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ร่วมอยู่ด้ว ทุกครั้งที่วัดความดันให้บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงไว้ใต้ความดันเลือดไว้ด้วย ถ้าหัวใจเต้นช้าเกินไป (ต่ำกว่า 60) หรือเร็วเกินไป (เกิน 100) แสดงว่ายาที่คุมอัตราการเต้นของหัวใจมากไปหรือน้อยไป ต้องกลับไปหาหมอเพื่อปรับยาใหม่

     3.3 ควบคุมเกลือ ไม่กินอาหารเค็ม ยิ่งจืดยิ่งดี

     3.4  ควบคุมน้ำ จำกัดการดื่มน้ำรวมไม่ให้เกินวันละ 2 ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเย็นไปถึงก่อนนอนควรจำกัดน้ำไม่ให้ดื่มมาก จะดื่มน้ำมากได้ก็เฉพาะเมื่อออกกำลังกายมาและเสียเหงื่อมากเท่านั้น

     3.5 ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ต้องทำให้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลวไม่มีใครกล้าพาออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าเพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรตายคามือตัวเอง ทั้ง ๆที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลวมีการทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเองอย่าหวังพึ่งหมอหรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองให้ได้ออกกำลังกายสลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน

     3.6 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (PCV13+PPSV23) สองเข็มคุ้มกันได้ตลอดชีพ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดด้วย เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอแนะนำ เพราะหมอมักจะลืมแนะนำเนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัดแต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค

     3.7 เน้นที่การดูแลตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพราะงานวิจัยพบว่าการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวแบบพาไปนอนโรงพยาบาลบ่อย ๆเป็นวิธีที่แย่กว่าการให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน จะพาเข้าโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อมีเหตุพิเศษจริงๆเท่านั้น

     ทั้งเจ็ดเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณในฐานะอยู่ฝ่ายคนไข้ต้องขวานขวายทำเอง และผมย้ำอีกครั้งว่ามันส่วนที่คนไข้ต้องทำเองนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการรักษาโรค

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์