ปรึกษาหมอ

คนตัวเป็นๆที่เลิกยารักษาโรคซึมเศร้าได้ด้วยการฝึกสมาธิแทน

สวัสดีครับอาจารย์ …จาก SR.. นะครับ

หลังจากวันที่เข้าคอร์ส … ค่อยๆ ลดยาโรคซึมเศร้าที่กินตอนกลางวันไปหมด แล้วก็เลิกกินยาตอนกลางคืนไปเลย ใช้วิธีนั่งสมาธิที่เรียนมา มานั่งก่อนนอน 15 นาที ก็หลับง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนแต่ก็ยังตื่นกลางดึกบ้าง แต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าก่อนหน้านี้เยอะครับ และไปเรียนศิลปะเพื่อลดความเครียดของตัวเอง หลังจากเรียนศิลปะรู้สึกมีสมาธิขึ้นเยอะเลยครับอาจารย์ (หลังๆ มา รู้สึกว่าตัวเองชอบศิลปะมากๆ ใช้เวลาว่างกับศิลปะ ไม่มีเวลาให้คิดฟุ้งซ่านเลยครับ ) ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีที่อาจารย์สอนมาอยู่ครับ ถ้ารู้สึกแย่เมื่อไหร่ก็จะอยู่กับความรู้สึกแย่นั้น แล้วคอยสังเกตดูอยู่ห่างๆ คอยให้มันค่อยๆ หายไปเอง ถ้ามีโอกาส … จะกลับไปร่วมคอร์สอีกนะครับอาจารย์

แนบรูปที่ไปเรียนศิลปะมาให้อาจารย์ดูด้วยนะครับ

………………………………………………………..

ตอบครับ

     โอ้ ฝีมือสีน้ำดีมากนี่ catch อารมณ์ได้ดีมาก มีอนาคตนะเนี่ย

     ดีแล้วที่ลดยาไปได้แยะและเลิกบางส่วนได้ 

     การที่ทำงานศิลปะได้ดีแสดงว่าการจะเกิดปัญญาญาณ (intuition) ขึ้นมาช่วยให้การวางความคิดและเห็นธรรมชาติของความคิดนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณ

     แต่การที่ตื่นแล้วยังนอนหลับต่อได้ยากแสดงว่าพลังสมาธิยังน้อยไป ความคิดยังเจาะช่องเข้ามาครอบครองดึงดูดความสนใจคุณได้อยู่ 

     ดังนั้นให้โฟกัสที่การ “ทำจิตให้ตั้งมั่น” จำอานาปานสติที่เรียนไปแล้วได้ไหม ขั้นที่ 11 เป็นขั้นตอนทำจิตให้ตั้งมั่น คือเมื่อถอยความสนใจจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจ (ขั้น 1, 2) ได้แล้วก็ถอยมาอยู่กับความรู้สึกบนร่างกาย (ขั้น 3-6) ได้แล้วก็ถอยมาอยู่กับความรู้สึกในใจ (ขั้น 7, 8) ได้แล้วก็ถอยจากความคิดมาจอดนิ่งๆอยู่ในความรู้ตัวเฉยๆ (ขั้น 9, 10) ตรงขั้นที่ 11 นี่แหละคือการทำจิตให้ตั้งมั่น จิตในที่นี้ก็คือจิตเดิมแท้หรือความรู้ตัวนั่นแหละ การทำจิตให้ตั้งมั่นหมายถึงการเลี้ยงความสนใจให้จอดนิ่งหรือจมลึกลงไปในความรู้ตัวโดยไม่ให้มันออกไปเพ่นพ่านที่ข้างนอกอีก ด้วยการจดจ่อที่ลมหายใจจนมันลึกละเอียดลงไปจนลมหายใจหายไปเหลือแต่ความรู้ตัว ถึงตอนนี้จะไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ความรู้ตัว ไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรทั้งสิ้น มีแค่ความรู้ตัวนิ่งๆอยู่ ให้คุณโฟกัสที่การทำขั้นนี้ไปอย่างเดียวเลย ทำทุกวัน เช้าเย็นก็ฝึกด้วยการนั่งหลับตา กลางวันก็ฝึกกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำงี้ไปนานหลายๆเดือนเลย ตื่นกลางดึกก่อนที่ความคิดจะเจาะเข้ามาก็ชิงทำสมาธิเสียก่อน ถ้ายับยั้งความคิดไม่ให้เจาะยางเข้ามายังไม่ไหวก็ให้ใช้เสียงช่วย เสียงนี้อาจเป็นเสียงพูดในใจก็ได้นะ เช่นขณะกำลังฉี่อยู่ก็นับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ในใจไปเรื่อย ขณะทำสมาธิอยู่ถ้าความคิดกวนมากก็ส่งเสียงอะไรก็ได้ พุทโธ ก็ได้ ร้องเพลงโปรดในใจก็ได้ หรือครางหงิงๆก็ได้ พูดถึงครางไหนๆจะครางทั้งทีเปล่งเสียงโอมเลยก็น่าจะดีกว่า เรียนไปแล้วนี่ ยังจำได้ใช่ไหม เสียงหรือ “มันตรา” นี้เป็นเครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งเลยนะ บางพวกบางนิกายเขาเล่นเรื่องเสียงนี้เรื่องเดียวเลยแบบเอากันจนบรรลุธรรมได้เลย เพราะความสั่นสะเทือนจากเสียงเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งที่จะพาความสนใจเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในความรู้ตัวได้

     ยังไม่ต้องรีบร้อนไปทำขั้นที่ 12 หมายถึงขั้นที่ผมใช้คำว่าปล่อยจิตไปไม่ควบคุม ขั้นนั้นเป็นการฝึกถอยจากสมาธิระดับลึกๆเพื่อเปิดช่องให้ปัญญาญาณเกิด ถ้าคุณสมาธิดีขั้นนั้นมันจะสะเต๊ะสำหรับคุณ แต่ว่าขั้นนั้นยังไม่จำเป็นสำหรับคุณตอนนี้ คุณเอาชั้น 11 ให้ได้เจ๋งๆก่อน เอาให้สมาธิมีพลังชัวร์ๆก่อน ให้นอนหลับได้ง่ายๆก่อน

     ตัวช่วยให้เกิดสมาธิที่สำคัญอีกอันคือการผ่อนคลายร่างกาย จำอานาปานสติได้นะ ขั้นที่ 3..เราจักทำร่างกายนี้ให้ผ่อนคลาย การผ่อนคลายไม่ได้เกิดจากการคิดเอานะ แต่เกิดจากการสั่งให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายแล้วตามไปรู้สึก (feel) ที่กล้ามเนื้อว่ามันผ่อนคลายจริงๆแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ผ่อนคลายก็สั่งซ้ำใหม่ เหมือนเมื่อกำหมัดแน่นแล้วเราสั่งให้มือที่กำนั้นคลายออก ผ่อนคลายร่างกายจนยิ้มออกโดยไม่ต้องมีเรื่องขำ ยิ้มคนเดียวได้ทั้งวัน จึงจะถือว่าสำเร็จวิชาผ่อนคลายร่างกาย

     ยังไม่ต้องคิดไกลไปถึงจะกลับมาเข้า SR ซ้ำใหม่เมื่อใดดอก ให้ตั้งใจปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไปให้จนตื่นแล้วนอนหลับต่อได้ง่ายโดยไม่ต้องพึ่งยาก่อน หลังจากนั้นจะเอายังไงค่อยว่ากัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์