Latest

ดูแลคุณแม่จนตัวเองกลายเป็นคนกลัวโรคอัลไซเมอร์

เรียนคุณหมอสันต์
ดูแลคุณแม่อายุ 91 ตัวเองก็ 64 แล้ว เหนื่อยหนักหนาสาหัสมาก คุณแม่เป็นอัลไซเมอร์แต่ว่าแอคทีฟกว่าเดิม พูดมากกว่าเดิม แถมยังร้ายกว่าเดิม เอาไปฝากที่เลี้ยงดูผู้สูงอายุเขาก็พูดเกลี้ยกล่อมให้เอากลับทุกวันเพราะทำให้เขาเหนื่อยกายเหนื่อยใจจนเขาไม่อยากได้
ที่เขียนมาหาคุณหมอนี้ไม่ได้จะถามเรื่องคุณแม่ แต่จะถามเรื่องตัวเอง ว่าแก่แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อม เพราะตอนนี้กลัวเหลือเกิน
ขอบพระคุณค่ะ

………………………………………………..

ตอบครับ

     คำแนะนำของวงการแพทย์

     หากมองจากมุมของผลวิจัยทางการแพทย์ การจะป้องกันและรักษาโรคขี้หลงขี้ลืมหรืออัลไซเมอร์ ต้องทำดังนี้

1. กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ กินพืชเยอะๆ ให้หลากหลาย กินเนื้อสัตว์น้อยๆ

2. ออกกำลังกายทุกวัน ซึ่งต้องควบทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิก แบบเล่นกล้าม และแบบเสริมการทรงตัว ในส่วนของแอโรบิกนั้น พบว่ายิ่งหนักยิ่งป้องกันสมองเสื่อมได้ดี

3. ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ เพราะการนอนไม่หลับ หรือการนอนหลับที่ไม่สนิท ทำให้สมองเสื่อม

4. จัดการความเครียดด้วยวิธีที่ตนเองถนัด เช่น ฝึกสมาธิ ไทชิ โยคะ เพราะงานวิจัยยืนยันว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้เนื้อสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง

5. ทำกิจกรรมท้าทายสมองทุกวัน ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์พบว่ากิจกรรมท้าทายสมองที่สัมพันธ์กับการที่สมองเสื่อมน้อยลงมี 13 อย่าง ได้แก่

5.1 การค้นหาทางไปหรือถนนหนทาง
5.2 การไปตกอยู่ในภาวะท้าทายหรือคับขัน แล้วหาทางแก้ไขเองเดี๋ยวนั้น
5.3 การเล่าเรื่องตลกให้คนอื่นฟัง
5.4 การฝึกสมองด้วยเกมหรือเครื่องจำลอง (virtual reality)
5.5 การเรียนภาษาที่สอง
5.6 การกลับไปเรียนหนังสือใหม่ในระบบการศึกษา
5.7 การเล่นดนตรี
5.8 การเต้นรำ
5.9 การทำงานวิชาชีพ หรือใช้วิชาชีพสอนคนอื่น
5.10 การเขียนหนังสือ เขียนบันทึก
5.11 การร้องเพลง
5.12  การเล่นไพ่ ไม่ว่าจะเป็นบริดจ์ รัมมี่ หรือโป้กเกอร์
5.13 การทำงานศิลปะ เช่น วาดรูป ปั้น เจียรนัย หรืองานศิลป์อื่นๆ

     คำแนะนำส่วนตัวของหมอสันต์

     ปัญหาของโรคอัลไซเมอร์ที่แท้จริงมีอยู่สามประเด็น คือ (1) คุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเลวลง (2) ภาระและต้นทุนของการดูแลหนักหนาสาหัส (3) อายุของผู้ป่วยสั้นลง

     หากตัดประเด็นอายุสั้นลงออกไปเสียก่อนเพราะตายกับอยู่ข้อดีข้อเสียอาจไม่หนีกัน ก็จะเหลือสองประเด็นคือคุณภาพชีวิตกับความหนักหนาสาหัสที่จะตกแก่ผู้ดูแล ทั้งสองประเด็นนี้ถูกกำหนดโดยชนิดของสมองเสื่อมว่าจะเป็นชนิดดูแลยากหรือชนิดดูแลง่าย กล่าวคือผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อย เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิด “เชื่อง” คือจำอะไรไม่ได้แต่ก็ไม่มีฤทธิ์เดช วันๆเอาแต่ง่วนอยู่กับอะไรสักอย่างตรงหน้างุดๆซ้ำๆซากๆโดยไม่ไปยุ่งกับใคร หากเป็นผู้ป่วยแบบนี้ก็จะดูแลง่ายและมีต้นทุนในการดูแลต่ำ แต่ผู้ป่วยสมองเสื่อมส่วนใหญ่เป็นชนิด “ดุ” คือมีอารมณ์ร้าย โมโหง่าย เคลื่อนไหวแยะ และมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะร่างกายไปในทางสนองตอบต่อความเครียดตลอดเวลา หากเป็นผู้ป่วยชนิดนี้ก็จะดูแลยากและมีต้นทุนการดูแลสูง บางรายคุณลูกต้องตีลูกกรงแล้วจับผู้ป่วยขังไว้ที่ใต้ถุนเพราะทนตามแก้ปัญหาไม่ไหว บางรายลูกๆผลัดกันมานั่งร้องไห้กับหมอว่าคุณแม่ทำไมช่างสรรหาคำพูดและการกระทำที่จะทำให้ลูกๆเป็นทุกข์ได้เก่งขนาดนั้น

     พฤติกรรมของผู้ป่วยสมองเสื่อมว่าจะเป็นแบบ “เชื่อง” หรือแบบ “ดุ” ขึ้นอยู่กับชนิดของความจำที่เหลืออยู่ เพราะพฤติกรรมนั้นเกิดจากความคิด ความคิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วด้วยความจำจากอดีต ผู้ป่วยสมองเสื่อมความจำส่วนหนึ่งจะถูกลบหายไป แต่มีบางส่วนเหลืออยู่ โดยธรรมชาติความจำที่สัมพันธ์กับอารมณ์ระดับรุนแรงเช่นความโกรธ เกลียด อิจฉา กลัว จะตราตรึงอยู่ได้นานและถูกลบยาก ทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักเป็นผู้ป่วยแบบ “ดุ” หรือมีปัญหาทั้งทางกายทางใจ มากกว่าที่จะเป็นผู้ป่วยแบบ “เชื่อง”

     การจะป้องกันการเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมแบบดุมีวิธีเดียวคือต้องล้างความจำเก่าทิ้งไปให้หมดแล้วใส่ความจำใหม่ที่เป็นความจำที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมดีๆจากข้างในเข้าไปเก็บไว้แทนโดยต้องทำนานล่วงหน้าหลายปีก่อนที่จะเข้าสู่วัยชรา การล้างความจำเก่าทิ้งหมดก็คือการเปลี่ยนอัตตาของตัวเอง (change of identity) จากการเป็นคนคนนี้ไปเป็นอะไรใหม่ๆสักอย่างที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ต้องการสถานที่เก็บ ไม่ต้องการเวลาในการดำรงอยู่ (No one, No thing, No place, No time) ซึ่งนั่นก็คือการ “หลุดพ้น” จากความคิดของตัวเองนั่นเอง ซึ่งไม่ว่าใครก็ตาม หากตั้งใจจะทำจริงๆก็สามารถทำได้ทั้งนั้น โดย

     1. ลงมือเปลี่ยนตัวตน จากการเป็น “นาย” หรือ “นาง” อะไรก็ตามซึ่งคือความเป็นบุคคลอันรุ่งเรืองของเราตั้งแต่อดีตถึงวันนี้ ไปเป็นแค่ “ความรู้ตัว” ที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความเป็นบุคคลเดิมของเราอย่างสิ้นเชิง จะคิด พูด ทำ หรือสนองตอบเรื่องอะไร ไม่ต้อง “ไว้ลาย” ความเป็นคนเดิมของเรา ลืมคนเก่านั้นไปเสีย สนองตอบต่อสิ่งเร้าออกไปตามผลสรุปที่เกิดจากการใช้สติประเมินความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเดี๋ยวนี้ ในทางปฏิบัติก็คือต้องนั่งสมาธิ (meditation) ทุกวันเพื่อวางความคิดเก่าๆเดิมๆทิ้งไปให้หมด เอาความสนใจไปอยู่ในความรู้ตัวที่เป็นความว่างนิ่งเงียบและมีความสงบเย็นอยู่ในตัว ทำอย่างนี้ซ้ำๆซากๆหลายเดือนหลายปีจนความสงบเย็นกลายเป็นความจำดั้งเดิมของเราแทนที่ความจำเก่าๆอย่างอื่นหมด

     2. เลิกคาดหวังอะไรทั้งสิ้น ทั้งการคาดหวังเอากับคนอื่น การคาดหวังเอากับตัวเอง และการคาดหวังอะไรจากชีวิตที่เหลือ เมื่อใดก็ตามที่เรายังคาดหวังก็แสดงว่าเรายังเปลี่ยนตัวตนของเราไม่สำเร็จ แต่การไม่คาดหวังไม่ได้หมายความว่าไม่คิดทำอะไร เพียงแต่หากคิดทำอะไรให้ไครก็ให้เป็นการทำเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อโลก โดยไม่มีผลประโยชน์ของความเป็นบุคคลของเราเกี่ยวข้อง เพราะถ้าคิดทำอะไรเพื่อตัวเองอยู่ก็แปลว่ายังเปลี่ยนตัวตนไม่สำเร็จ

     3. เป้าหมายชีวิตคือเดี๋ยวนี้ อย่าเก็บอดีตไว้ในใจ ไม่ว่าเรื่องน่ารื่นรมย์หรือน่าเสียใจ ทิ้งไปให้หมด อย่ากังวลถึงอนาคตว่าความเป็นบุคคลของเรานี้จะถูกกระทบอย่างไร ให้อยู่แต่ที่เดี๋ยวนี้ สนองตอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกโยนเข้ามาใส่เดี๋ยวนี้ทีละช็อต ทีละช็อต การอยู่กับเดี๋ยวนี้คือวิธีเตรียมตัวเพื่ออนาคตที่ดีที่สุด เพราะเมื่ออนาคตมันจะมาถึงจริง มันจะมาถึงที่เดี๋ยวนี้ ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎต่อเราที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าวินาทีต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ออกจากกรอบความคิดที่อาศัยตรรกะของภาษาอธิบายได้ (known) ซึ่งเป็นร่องเดิมๆของความจำเก่าๆ ไปมีชีวิตอยู่ในความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด (unknown) นี่คือความสนุกสนานมหัศจรรย์ของชีวิต

     4. ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อย่างน้อยก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้าให้ได้ ยิ้มเป็นประจำ หากยิ้มอย่างกว้างขวางยังไม่ได้ก็ยิ้มที่มุมปากหรืออมยิ้มทุกครั้งที่คิดขึ้นได้ หัดหัวเราะให้บ่อยๆได้ก็ยิ่งดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำตัวเองให้เป็นคนที่ “สงบเย็นและเบิกบาน (joyful)” ซึ่งเป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญ ความสงบเย็นและเบิกบานในวันนี้ จะเป็นความจำสำหรับวันพรุ่งนี้ นั่นหมายความว่าเรากำหนดชีวิตวันพรุ่งให้เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเบิกบานได้ โดยการใช้ชีวิตในวันนี้อย่างสงบเย็นและเบิกบาน

     5. ฝึกซึมซับรับรู้สิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องอาศัยอายตนะ แต่เป็นการซาบซึ้ง (appreciation) ด้วยความรู้สึกแบบรับเอาคลื่นพลังงานเข้ามาสู่ตัว เหมือนอย่างเช่นเวลาไปยืนอยู่กลางธรรมชาติ เราซึมซับรับรู้ความรู้สึกอ้า..า…า ธรรมชาติ ไม่ต้องบรรยายหรือตัดสินว่าตรงไหนสวยอย่างไรตรงไหนไม่สวย แค่ซึมซับรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น นี่เป็นการฝึกตัวเองให้เป็นคน “ไวต่อเวทนา (sensible)” คือเมื่อเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นก็รับรู้ตามที่มันเป็นได้ทันที โดยไม่คิดใส่สีตีไข่หรือกระโตกกระตากต่อยอด คุณสมบัติอย่างนี้จะทอนความคิดในใจให้น้อยลงไปๆ จนคุ้นเคยกับการมีความสงบเย็นและเบิกบานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความคิดอะไรในใจเลย ยามเมื่อกลไกการก่อความคิดเริ่มติดขัดเช่นนึกเรื่องราวเก่าๆไม่ได้ ก็จะได้ไม่ต้องฮึดฮัดปึ๊ดปั๊ดหรือหงุดหงิดโมโห การเป็นคนไวต่อเวทนาจะทำให้เป็นคนแก่ที่หนักแน่นมั่นคง

     6. ฝึกสื่อสารโดยไม่ต้องพูด หรือหากจำเป็นต้องพูด เรื่องเดียวกันน้้นก็ทอนคำพูดให้สั้นลงเสียครึ่งหนึ่งแต่ให้ได้ใจความเท่าเดิม การทำอย่างนี้จะทำให้เกิดทักษะในการเลือกหยิบคำสำคัญ (key words) และในการเลือกใช้คำทดแทนที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการสื่อสารสูงขึ้นและไม่งุ่นง่านเมื่อใดก็ตามที่คิดคำพูดที่ต้องการไม่ทันใจตัวเอง ขณะเดียวกันฝ่ายลูกหลานก็จะเบาหูลงไปแยะเพราะคนสมองเสื่อมมักจะพูดอะไรมากเกินไปและคำพูดที่จำมาใช้ได้ก็มักจะเหลือแต่คำพูดแรงๆซึ่งสมองจำไว้ตอนมีอารมณ์รุนแรง

     การสื่อสารโดยไม่ต้องพูดนี้รวมไปถึงการอยู่ใกล้กันแบบเงียบๆแต่มีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน แค่อยู่ใกล้ๆกันแล้วขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย และแผ่เมตตาสู่กันอยู่ในใจก็เป็นการสื่อสารที่ใช้ได้แล้ว

    7. เมื่อมีเรื่องฉุกเฉินอะไรก็ตาม อย่าคิด ให้นิ่งเข้าไว้ สังเกตรับรู้ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นบนร่างกายและในใจ แล้วค่อยสนองตอบต่อเหตุการณ์ไปทีละช็อตอย่างมีสติ อย่าสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบปล่อยไปตามกลไกสนองตอบอัตโนมัติ (conditioned reflex) ซึ่งจะทำให้ชีวิตถูกบงการด้วยสิ่งแย่ๆที่ตัวเองทำไว้ในอดีต เพราะสมองของเราจะจำแต่การสนองตอบแบบแย่ๆและสะใจตัวเองได้ดีกว่าการสนองตอบแบบดีๆ คำว่าการสนองตอบนี้ผมหมายความถึง “การคิด” เป็นหลัก ส่วน “การพูด” และ “การกระทำ” นั้นเป็นปลายเหตุที่จะตามหลังความคิดมา

     สรุปว่าหากจะให้คุณภาพชีวิตบั้นปลายดีและไม่เป็นภาระแก่ผู้ดูแล ฝากลองเอาคำแนะนำของวงการแพทย์ทั้ง 5 ข้อ และคำแนะนำนอกตำราของหมอสันต์อีก 7 ข้อนี้ไปพิจารณาปฏิบัติดูนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์