Latest

น้ำหนักลดมากเกินไปทำอย่างไรดี

เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันมีปัญหาน้ำหนักลดและผอมมาก ปีกลาย 54 กก. ปีนี้ 49 กก. สูง 166 ซม.ค่ะ อายุ 62 ปี อย่างนี้น้ำหนักน้อยไปไหม น้ำหนักลดมากแค่ไหนจึงจะต้องกังวลคะ หรือว่าไม่ต้องกังวล จะให้ทนเบื่อคนทักเอาก็ได้นะหากไม่มีโทษอย่างอื่น ถ้าควรแก้ไขดิฉันควรแก้ไขเรื่องผอมนี้อย่างไร มียารักษาให้หายผอมไหม ตอนนี้ยาที่กินอยู่มี Aspirin, Cozarr, rosuvastatin, propanolol

………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าแค่ไหนจึงจะเรียกว่าน้ำหนักน้อยเกินไป ตอบว่าในทางการแพทย์ถือเอาดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5 กก./ตรม. เป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าผอมจนผิดปกติ ดัชนีมวลกายนี้คำนวณจากน้ำหนักเป็นกก. หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรสองครั้ัง ยกตัวอย่างเช่นคุณน้ำหนัก 49 กก. สูง 166 ซม. ก็เอา 49 ตั้งแล้วเอา 1.66 ไปหาร หารครั้งที่หนึ่งได้ 29.5 ก็เอาค่าที่ได้ 29.5 นี้ตั้ง เอา 1.66 ไปหารเป็นครั้งที่สอง ได้17.7 นั่นแหละคือดัชนีมวลกายของคุณ

     2. ถามว่าน้ำหนักลดลงมากแค่ไหนจึงจะต้องกังวล ตอบว่าวงการแพทย์ถือว่าหากน้ำหนักลดลงมากกว่าเดิมเกิน 5% ในเวลา 1 ปีโดยไม่ได้ตั้งใจลด ถือว่าเป็น unintentional weight loss ซึ่งเป็นโรคอย่างหนึ่งที่จะต้องสืบค้นหาสาเหตุและแก้ไข หากไม่แก้ไขพบว่าอัตราตายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติถึงหนึ่งเท่าตัว และทำให้คุณภาพชีวิตลดลงจากกล้ามเนื้อลีบ ภูมิคุ้มกันตก ภาวะซึมเศร้า และการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย

     อย่างของคุณนี้เดิมน้ำหนักเมื่อปีที่แล้ว54 กก. ปีนี้ลดลงเหลือ 49 กก. หายไป 4 กก. คือ 7.4% ก็ถือว่าน้ำหนักลดมากถึงระดับที่ต้องค้นหาสาเหตุและแก้ไขครับ

     อย่างไรก็ตามขอให้ท่านผู้อ่านทั่วไปที่สูงอายุแล้วเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะว่าธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เรานี้เมื่อแก่ตัวแล้วจะเบื่ออาหารและผอมลง (physiologic anorexia of aging) เพราะตัวฮอร์โมนก่อความอิ่ม (satiating hormone) หลายชนิดเพิ่มขึ้นในกระแสเลือด เพียงแต่การลดของน้ำหนักจะไม่เป็นไปอย่างฮวบฮาบเกิน 5% ต่อปี

     3. ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุของน้ำหนักลดบ้าง ตอบตามสถิติว่าสาเหตุของน้ำหนักลดในผู้ใหญ่เรียงตามลำดับมากไปหาน้อย ดังนี้

(1) เป็นมะเร็งซ่อนอยู่ไหนสักแห่ง
(2) เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคเครียดกังวล
(3) เป็นโรคสมองเสื่อม
(4) ไม่ทราบสาเหตุ
(5) มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่นต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทั้งแบบไฮเปอร์และไฮโป ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติแบบไม่ผลิตฮอร์โมน
(6) เป็นเบาหวาน
(7) เป็นโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่นแผลในกระเพาะ กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน การดูดซึมผิดปกติ
(8) ฟันไม่ดี
(9) เป็นเพราะยาที่กิน
(10) ติดยาเสพย์ติด รวมทั้งแอลกอฮอล์ กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน
(11) เป็นโรคจิตชนิดกินแล้วอาเจียน (eating disorder)
(12) มีพยาธิตัวตืดในลำไส้
(13) ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดเรื้อรัง ติดเชื้อในกระแสเลือด ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นต้น
(14) ขาดสารอาหารจากการกินอาหารได้ไม่ครบ

     4. ถามว่าจะแก้ไขน้ำหนักลดนี้ได้อย่างไร ตอบว่าก็ต้องได้รับการตรวจคัดกรองหาสาเหตุทั้ง 14 โรคข้างต้นอย่างครบถ้วนก่อน ไม่ใช่ตรวจตูมเดียวทุกอย่าง แต่ตรวจแบบพื้นฐานเช่นตรวจร่างกายตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ก่อน ข้อมูลที่ได้จะบ่งชี้ให้ตรวจอย่างอื่นที่ซับซ้อนยิ่งๆขึ้นไป ทั้งนี้ก่อนที่จะสรุปว่าหาสาเหตุไม่ได้นอกจากจะตรวจเคมีของเลือด (blood chemistry) อย่างละเอียดแล้ว อย่างน้อยควรจะได้ตรวจหาไข่พยาธิและเลือดตกค้างในอุจจาระ (stool exam) ถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) และตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งตัว (total body CT) หากพบสาเหตุก็แก้ไขไปตามสาเหตุ หากไม่พบสาเหตุก็รักษาแบบครอบจักรวาล ได้แก่

(1) เปลี่ยนนิสัยการกิน จากเดิมที่โน่นก็กินไม่ได้ นั่นกินแล้วก็ไม่ดี ให้เปลี่ยนมาเป็นกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ในปริมาณที่มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารให้แคลอรี่เช่นข้าวกล้องต้องได้ในปริมาณที่มากพอ มิฉนั้นร่างกายจะไปเอากล้ามเนื้อมาสลายเอาพลังงานซึ่งจะทำให้ผอมยิ่งขึ้ัน

(2) เริ่มต้นการออกกำลังกายควบแบบแอโรบิกทุกวัน และแบบเล่นกล้ามวันเว้นวัน แอโรบิกจะเพิ่มความอยากอาหาร การเล่นกล้ามในภาวะโภชนาการที่ดีจะทำให้มีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น

(3) จัดการความเครียดให้ดี แบ่งเวลาให้มีเวลาพักผ่อนไม่ใช่เอาแต่ทำงานทั้งวันทั้งคืน ควรจะมีเวลานอกเวลางานที่จะได้ “ใช้ชีวิต” มองดูดอกไม้ต้นไม้ให้จิตใจเบิกบาน ควรจัดเวลานอนหลับให้พอด้วย ถ้านอนไม่หลับก็ต้องนั่งสมาธิก่อนนอนจนความคิดหมดแล้วค่อยเข้านอน

(4) ยาที่ไม่จำเป็นให้เลิกเสียให้หมดก่อน อย่างในกรณีของคุณนี้ยา propanolol และ rosuvastatin นั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจในผู้ป่วยบางราย จึงควรเลิกไปเสียก่อน เมื่อแก้ปัญหาน้ำหนักลดได้แล้วค่อยมาว่ากันใหม่

     5. ถามว่ามียากินให้หายผอมไหม ตอบว่ายาที่อย.สหรัฐ (FDA) อนุมัติให้รักษาโรคผอมนั้นไม่มีดอก แต่พวกหมอก็ไม่วายอาศัยผลข้างเคียงของยารักษาโรคอื่นมารักษาโรคผอมแบบ off label ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นการประกอบวิชาชีพอย่างผิดวิธี เช่นให้กินยาต้านซึมเศร้าชื่อ   Mirtazapine (Remeron) ให้กินเพื่อให้อยากอาหาร เป็นต้น ฮอร์โมนเพศเทียมตัวหนึ่งชื่อ megestrol ก็เป็นที่รู้กันว่าสร้างความอยากอาหารได้ cyproheptadine เป็นยาแก้แพ้ที่มีผลข้างเคียงทำให้อยากอาหาร ในเมืองไทยนี้ยังมียาที่ฝรั่งไม่อนุญาตให้ใช้อีกตัวหนึ่งคือ pizotifen (Mosegor) ซึ่งโฆษณาว่าเป็นยากระตุ้นความอยากอาหารโดยตรงโต้งๆ ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีหลักฐานวิจัยว่ามียาไหนทำให้อัตราตายของผู้ป่วยโรคผอมลดลงไปได้สักตัวเดียว ดังนั้นผมไม่สนับสนุนให้เพิ่มน้ำหนักด้วยการใช้ยาครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์