Latest

การจะเลือกวิธีรักษาแบบไหนเป็นสิทธิของคนไข้ ไม่ต้องกลัวหมอจะว่า

เรียนคุณหมอ
พ่ออายุ 72 ปี หมอนัดทำบอลลูนหัวใจในเดือนพ.ค.นี้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด คนไข้เคยนัดทำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่ขอยกเลิก เนื่องจากคนไข้ไม่อยากทำ เมื่อวาน คือวันที่ 3 มี.ค หมอนัดไปที่คลีนิคหัวใจ หลังจากเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2-6 ก.พ. และคุณหมอได้บอกว่า ยังไงก็ต้องทำบอลลูน พ่อไม่กล้าพูดเพราะเกรงใจหมอ เลยรับใบนัดมา แล้วได้โทรมาหาดิฉัน ซึ่งไม่ได้พาพอไปหาหมอในวันนั้น เพราะไม่สบาย เลยให้พ่อไปคนเดียว เหตุผลของพ่อที่ไม่อยากทำ คือ ต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตใหม่ เช่น ออกกำลังกาย อาหาร งดแอลกอฮอล์ หากอาการไม่ดีขึ้น ก็จะต้องดูอีกที พ่อได้บอกเพิ่มว่า หมอไม่ได้ตรวจเลือด ใช้เพียงหูฟัง แล้วเปลี่ยนยาที่เคยให้ตอนออกจากโรงพยาบาล และบอกว่า ยาที่เหลือจากคราวที่แล้ว ให้เลิกกิน แล้วเริ่มกินยาที่ให้วันนี้ใหม่ทั้งหมด คำถามของพ่อคือ 1.หมอรู้ได้ยังไงว่าเวลาผ่านไปเกือบ 1 เดือน อาการของแกเป็นอย่างไร
2. หากต้องบอลลูนในเดือนพ.ค.นี้ แกต้องการตรวจหัวใจใหม่ก่อนว่ามันดีหรือแย่ พร้อมทั้งสังเกตอาการที่บ้าน ว่าเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลบอกแกว่า คราวนี้ห้ามยกเลิกอีกนะ

ดิฉันต้องทำอย่างไรดีค่ะ หากต้องการคุยกับคุณหมอใหม่ และบอกความประสงค์ของพ่อที่อยากจะเลือกวิธีการที่ไม่ต้องทำบอลลูน เพราะพ่อไม่กล้าบอกหมอตรง ตรง กลัวว่าหมอจะว่า รู้ดีกว่าหมอ ต้องการให้ดิฉันไปพูดกับหมอให้ ผลตรวจของพ่อมีแต่ผลจากการทำ Echo อย่างเดียวค่ะ ยังไม่มีการฉีดสี หรือวิ่งสายพาน แต่คุณหมอที่รักษาแนะนำให้ทำค่ะ ดิฉันได้แนบเอกสารเพิ่มเติม ให้หมอได้ดูเพื่อพิจารณาให้หน่อยค่ะ ดิฉันได้อ่านบทความของคุณหมอวันที่ 29 มกรา 2563 เกี่ยวกับผลการวิจัยการทำหรือไม่ทำบอลลูน มีผลไม่ต่างกัน ไม่กล้าให้พ่อดูเลยค่ะ เพราะพ่อไม่อยากทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขอบพระคุณมากค่ะ

………………………………………….

ตอบครับ

1. การวินิจฉัย

     ข้อมูลที่ส่งมาให้ทั้งหมดสรุปได้แต่เพียงว่าคุณพ่อของคุณมีภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) โดยที่ลิ้นหัวใจทำงานเป็นปกติดี สิ่งที่คุณหมอเขาวางแผนไว้คือจะทำการตรวจสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของหัวใจล้มเหลว (เพราะสาเหตุใหญ่อันหนึ่งคือโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ) หากหาสาเหตุได้แล้วจึงค่อยทำการรักษา ในกรณีที่สวนหัวใจพบหลอดเลือดตีบ หมอก็มักจะใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดในคราวเดียวกับที่ตรวจสวนหัวใจนั้นเลย

     ทางเลือกในการรักษาตอนนี้มีสองวิธี คือ

     (1) เลือกวิธีรักษาแบบไม่รุกล้ำ ก็คือใช้ยากินควบคู่ไปกับการดูแลตัวเอง

     (2) เลือกวิธีรักษาแบบรุกล้ำ คือทำการตรวจสวนหัวใจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การรักษาอันใดอันหนึ่งต่อไปนี้ คือ

     (2.1) ถ้าพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบก็รักษาด้วยการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์
     (2.2) หรือผ่าตัดหัวใจ แล้วแต่วิธีไหนจะเหมาะสม
     (2.3) ถ้าพบว่าหัวใจห้องล่างสองห้องเต้นไม่เข้าจังหวะกันก็ใส่สายกระตุ้น (CRT-D) เพื่อให้หัวใจสองข้างเต้นอย่างเข้าจังหวะกัน

2. การเลือกวิธีการรักษา

     ในการจะเลือกรักษาวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย แพทย์มีหน้าที่แค่ให้ข้อมูลเท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณหรือคุณพ่ออยากจะเลือกรับการรักษาแบบไม่ทำอะไรรุกล้ำก็แจ้งแพทย์ได้เลยครับ เพราะมันเป็นสิทธิของผู้ป่วย อย่าไปกลัวว่าหมอจะว่ารู้ดีกว่าหมอได้อย่างไร ผมว่าสมัยนี้หมอแบบนั้นน่าจะใกล้สูญพันธ์เต็มทีแล้ว เพราะการที่หมอรุ่นเก่าหวังดีต่อคนไข้มากตัดสินใจแทนคนไข้เสร็จสรรพแต่สุดท้ายจบลงด้วยการถูกคนไข้ฟ้องร้องเอา แล้วผมสังเกตมาทุกคดีในกรณีที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน หากหมอรวบรัดตัดสินใจแทนคนไข้โดยไม่ยอมเปิดโอกาสให้คนไข้เลือก พอเรื่องไปถึงศาลทีไรหมอก็แพ้ทุกที เพราะสิทธิการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาเป็นสิทธิของคนไข้ ไม่ใช่ของแพทย์

3. การดูแลตนเองเมื่อเป็นห้วใจล้มเหลว

     3.1 ลดน้ำหนักตัวลง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรมีรูปร่างค่อนมาทางผอม อย่างน้อยควรมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนมาทางต่ำ คือไม่เกิน 23 กก./ตรม. อาหารลดน้ำหนักที่ดีที่สุดก็คืออาหารแบบกินพืชเป็นหลักชนิดมีไขมันต่ำ

     3.2 ชั่งน้ำหนักทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำค่อยๆคั่งสะสมในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1.3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน (สำหรับคนไข้ตัวใหญ่แบบฝรั่ง คนไข้ไทยตัวเล็กใช้ตัวเลข 1 กก.) แสดงว่ามีการสะสมน้ำในร่างกายพรวดพราดมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นอาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก

     3.3 คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความล้มเหลวของการควบคุมความดันเลือดเป็นสาเหตุหลักของหัวใจล้มเหลว เป้าหมายคือความดันเลือดตัวบนต้องไม่เกิน 130 มิลลิเมตรปรอท ควรซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติมาไว้เองที่บ้าน แล้ววัดสักสัปดาห์ละครั้ง และปรับยาลดความดันตามความดันที่วัดได้โดยสื่อสารกับแพทย์ผู้รักษา

     3.4 ในกรณีที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ร่วมอยู่ด้ว ทุกครั้งที่วัดความดันให้บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงไว้ใต้ความดันเลือดไว้ด้วย ถ้าหัวใจเต้นช้าเกินไป (ต่ำกว่า 60) หรือเร็วเกินไป (เกิน 100) แสดงว่ายาที่คุมอัตราการเต้นของหัวใจมากไปหรือน้อยไป ต้องกลับไปหาหมอเพื่อปรับยาใหม่

     3.5 ควบคุมเกลือเข้มงวด ไม่กินอาหารเค็ม ยิ่งจืดยิ่งดี

     3.6  ควบคุมน้ำ จำกัดการดื่มน้ำไม่ให้เกินวันละ 2 ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเย็นไปถึงก่อนนอนควรจำกัดน้ำไม่ให้ดื่มมาก จะดื่มน้ำมากได้ก็เฉพาะเมื่อออกกำลังกายมาและเสียเหงื่อมากเท่านั้น

     3.7 ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ต้องทำให้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลวไม่มีใครกล้าพาออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าเพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้ง ๆที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลวมีการทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเองอย่าหวังพึ่งหมอหรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองให้ได้ออกกำลังกายสลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน

     3.8 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (IPV) เข็มเดียวคุ้มกันได้ตลอดชีพ และฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดด้วย เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอแนะนำ เพราะหมอมักจะลืมแนะนำเนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัดแต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค

     13.9 มีงานวิจัยระดับสูงที่สรุปได้ว่าการใช้อาหารเสริม  CoQ10 รักษาหัวใจล้มเหลว ชื่องานวิจัย Q-SYMBIO พบว่า CoQ10 ลดการเกิดจุดจบที่เลวร้ายและการตายลงได้มากกว่ายาหลอก และเนื่องจาก CoQ10 เป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัย การกินอาหารเสริม coQ10 ร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว

     13.10 เน้นที่การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพราะงานวิจัยพบว่าการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวแบบพาไปนอนโรงพยาบาลบ่อย ๆเป็นวิธีที่แย่กว่าการให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน สมาคมหัวใจล้มเหลวอเมริกา (HFSA) แนะนำว่าแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ตามบ้าน ควรยื้อไว้ไม่พาผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลบ่อย จะพาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเข้านอนในโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อ

(1) มีอาการที่ส่อว่าหัวใจกำลังชดเชยต่อไปไม่ไหว (de-compensated) เช่น ความดันเลือดตกวูบจากเดิม ตัวชี้วัดการทำงานของไตทำงานแย่ลงผิดสังเกต สภาวะสติที่เคยดีๆกลับเลอะเลือนผิดสังเกต

(2) มีอาการหอบทั้ง ๆที่นั่งพักเฉย ๆ

(3) หัวใจเต้นผิดจังหวะจนการไหลเวียนเลือดไม่พอ

(4) มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเช่นเจ็บหน้าอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Dickstein K, Cohen-Solal A, Filippatos G, et al. for the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. ESC Guidelines for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure 2008: the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. Developed in collaboration with the Heart Failure Association of the ESC (HFA) and endorsed by the European Society of Intensive Care Medicine (ESICM). Eur Heart J. 2008 Oct. 29(19):2388-442.
2. Jessup M, Abraham WT, Casey DE, Feldman AM, Francis GS, Ganiats TG, et al. 2009 focused update: ACCF/AHA Guidelines for the Diagnosis and Management of Heart Failure in Adults: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines: developed in collaboration with the International Society for Heart and Lung Transplantation. Circulation. 2009 Apr 14. 119(14):1977-2016.
3. Mortensen SA1, Rosenfeldt F2, Kumar A3, Dolliner P4, Filipiak KJ5, Pella D6, Alehagen U7, Steurer G4, Littarru GP8; Q-SYMBIO Study Investigators. The effect of coenzyme Q10 on morbidity and mortality in chronic heart failure: results from Q-SYMBIO: a randomized double-blind trial. JACC Heart Fail. 2014 Dec;2(6):641-9. doi: 10.1016/j.jchf.2014.06.008.
4. Monchamp T1, Frishman WH. Exercise as a treatment modality for congestive heart failure. Heart Dis. 2002 Mar-Apr;4(2):110-6.
5. Davies EJ, Moxham T, Rees K, et al. Exercise training for systolic heart failure: Cochrane systematic review and meta-analysis. Eur J Heart Fail.2010;12:706–15.
6. Austin J, Williams R, Ross L, et al. Randomised controlled trial of cardiac rehabilitation in elderly patients with heart failure. Eur J Heart Fail.2005;7:411–7.
7. McKelvie RS. Exercise training in patients with heart failure: clinical outcomes, safety, and indications. Heart Fail Rev. 2008;13:3–11.