Latest

คุยกันเรื่องสมาธิในระดับลึกซึ้ง

     วันนี้พอจะมีเวลามากพอ ผมอยากจะนั่งจับเข่าคุยกันเรื่องการฝึกสมาธิในระดับลึกซึ้ง แม้การใช้ภาษาพูดถึงการฝึกสมาธิซึ่งเป็นเรื่องของคลื่นที่ภาษาไปไม่ถึงย่อมจะต้องมีความผิดพลาดและก่อความเข้าใจผิดได้ง่าย แต่การอาศัยภาษาก็มีประโยชน์ในการแชร์ประสบการณ์ เพราะผมเองไม่มีความสามารถจะแชร์ประสบการกับท่านด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องใช้ภาษา

ขอนิยามองค์ประกอบของชีวิตให้ละเอียดขึ้นหน่อย

     ก่อนจะคุยกัน ผมจะขอนิยามองค์ประกอบของชีวิตให้ละเอียดกว่าเดิมสักหน่อย คือเดิมผมมักพูดซ้ำซากว่าชีวิตประกอบด้วยสามส่วน คือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) ความรู้ตัว

     แต่ในการจะคุยกันเรื่องสมาธิให้ลึกซึ้ง ผมจำเป็นต้องขอนิยามองค์ประกอบของชีวิตเสียใหม่ให้ละเอียดขึ้นเป็นห้าส่วน คือ

     (1) ร่างกาย (body)

     (2) พลังงานของชีวิต (life energy) ภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” เราสามารถรับรู้พลังงานชีวิตผ่านการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก (feeling) เช่นความรู้สึกเบิกบาน มีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้สึกบนผิวกายเช่นวูบๆซู่ๆซ่าๆเป็นต้น

     (3) ความจำ (memory) ซึ่งก็คือการฟื้นสำเนาประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าเมื่อครั้งเก่าๆขึ้นมาใหม่

     (4) ความคิด (thought)

     (5) ความรู้ตัว (awareness)

การวางความคิดคือเป้าหมายการฝึกสมาธิ

     ร่างกายและพลังงานของชีวิตนั้นมาด้วยกันและค้ำจุนกันและกัน เมื่อส่วนหนึ่งหมดอีกส่วนก็หมดตามไปด้วย ส่วนความจำก็คือวัตถุดิบในการปรุงความคิด ดังนั้นความจำกับความคิดก็มาด้วยกันและค้ำจุนกันและกัน เมื่อ “แกะ” หรือ “วาง” ส่วนที่เป็นร่างกายและส่วนที่เป็นความคิดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ของชีวิตก็คือ “ความรู้ตัว” ซึ่งความรู้ตัวนี้จะเป็นหนึ่งเดียวแบบแยกไม่ออกจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราในจักรวาลนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆหรือสิ่งไร้ชีวิต เนื่องจากตอนที่ยังมีความคิด ความคิดเป็นผู้ออกโฉนด ตีตราสร้างความยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นขอบเขตของตัวเราและเป็นผู้ตั้งคอนเซ็พท์ว่าตัวเรานี้มีอัตลักษณ์เป็นอย่างไรขึ้นมาเป็นตุเป็นตะ หากวางความคิดลงไปเสียได้ ชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลนี้ได้โดยอัตโนมัติเพราะเส้นแบ่งระหว่างเรากับไม่ใช่เราไม่มีแล้ว นั่นก็คือความหลุดพ้น เพราะฉะนั้นการจะหลุดพ้นเราทำแค่อย่างเดียวคือ แทนที่จะไปสำคัญมั่นหมายว่าความคิดเป็นเรา เราแค่ “วาง” ความคิดลงไปเสีย เราก็หลุดพ้นแล้ว

     ความคิดนี้มีธรรมชาติโผล่ขึ้นมาจากความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ของความรู้ตัว มันมาจากสถานะเดิมที่ไร้รูปไร้ร่องรอย เหมือนเสียงที่โผล่ขึ้นมาจากความกว้างใหญ่ของความเงียบ การจะ “วาง” ความคิด ต้องฝึกปฏิบัติให้ทุกความคิดที่โผล่ขึ้นมาตกอยู่ภายใต้การสังเกตของ “ความสนใจ” (attention) ให้ได้ 100% สังเกตโดยไม่เข้าไปคลุกผสมโรงคิดต่อยอดจนมันหดกลับไปเป็นความว่างอีกครั้ง เพราะความสนใจคือแขนอันทรงพลังของความรู้ตัว เมื่อใดที่มันเผลอเข้าไปผสมโรงคิดต่อยอดความคิด เมื่อนั้นความคิดซึ่งมีธรรมชาติเป็นเพียงเศษขยะชั่วคราวก็จะกลายเป็นสิ่งทรงพลังที่ดูราวกับจะเป็นอมตะขึ้นมาทันที การฝึกนี้ต้องทำอย่างซ้ำซากยาวนานจึงจะเกิดพื้นฐานที่มั่นคงให้วางความคิดได้สำเร็จอย่างสนิท ซึ่งต้องผ่านขั้นกลางคือการเอาความสนใจไปจดจ่อที่อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ความคิดจนทิ้งความคิดได้ชั่วคราวก่อน ซึ่งขั้นกลางที่ว่านั้นก็คือการฝึกสมาธิ

ขั้นตอนของการฝึกสมาธิจากระดับตื้นไปลึก

     หากจะให้ลำดับจากง่ายไปยาก ตื้นไปลึก ในการฝึกสมาธิ ผมพอจะแชร์ได้ว่ามันน่าจะแบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้

     ขั้นที่ 1. จดจ่อความสนใจ (attention) อยู่ที่อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ความคิด เช่น จดจ่อที่ลมหายใจ หรือจดจ่อที่พลังงานของชีวิตเช่นผ่านความรู้สึกบนผิวกาย หรือจดจ่อที่ความว่างที่ตรงหน้า เป็นต้น

     ขั้นที่ 2. เกาะติดความสนใจอยู่ที่สิ่งที่จดจ่ออย่างละเอียด จมความสนใจให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไปในสิ่งที่จดจ่อนั้น

     ขั้นที่ 3. จะมีความผ่อนคลายและเบิกบานโผล่ขึ้นมาเอง ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของความรู้ตัว เมื่อหมดความคิด ความรู้ตัวก็จะฉายแสงออกมาได้

     ขั้นที่ 4. มีผู้สังเกตรับรู้อยู่ ซึ่งก็คือความรู้ตัวนั่นเอง

          และถ้าสังเกตให้ดี ในขั้นนี้ “เป้า” ของการสังเกตนั้นเป็นส่วนผสมของสามอย่าง คือ (1) คลื่นความสั่นสะเทือนหรือเสียง (2) ภาษาหรือชื่อที่ใช้เรียกเสียงนั้น (3) ความหมายของชื่อนั้นในใจซึ่งถูกนำเสนอต่อเราโดยความจำ ทั้งสามอย่างนี้ผสมกลมกล่อมกันไป เป็นการเล่นระหว่างตัวละครสองตัว คือ “ผู้สังเกต” และ “เป้า”

        ณ จุดนี้ ใจจะสงบนิ่งลง ใสเหมือนผลึกแก้ว ที่รู้ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (ความคิด) ทั้งอาการที่เข้าไปรู้ (ความสนใจ) และทั้งตัวผู้รู้เอง (ความรู้ตัว)

     ขั้นที่ 5. ถ้าฝึกต่อไปด้วยการปล่อยให้ความคิดหดกลับหายไปในความว่างที่มันโผล่ออกมา จนความคิดหมดเกลี้ยง ลมหายใจจะแผ่วลงจนถึงหยุดนิ่งเป็นช่วงๆ เมื่อลมหายใจหยุดนิ่ง ก็จะเหลือแต่ความสนใจจอดนิ่งเงียบอยู่โดยไม่เหลือเป้าอะไรให้จดจ่อรับรู้ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ในขั้นนี้แม้จะไม่มีความคิดแล้ว แต่ความจำซึ่งเป็นสำเนาประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าเมื่อครั้งเก่าๆนั้นก็ยังซ่อนตัวรอการนำเสนอตัวเองอยู่ที่นั่น ยังไม่ได้หายไปไหน

     ในขั้นนี้ เมื่อจิตมีสมาธิ ปลอดความคิดแล้ว อาจจะเกิดปัญญาญาณหยั่งรู้ขึ้นในรูปของความคิดที่เสนอตัวขึ้นมาโดยเราไม่ได้คิดเองและไม่เกี่ยวกับความจำ มามากบ้างน้อยบ้าง มักมีเนื้อหาสาระแทงตลอดไปถึงสิ่งที่เหตุผลหรือคำแนะนำที่อาศัยภาษาไม่เคยแทงทะลุไปถึงได้ ปัญญาญาณหยั่งรู้ก่อให้เกิดความเข้าใจแบบรับรู้ตรงๆตามที่มันเป็น ซึ่งจะลดความคิดอย่างอื่นที่เป็นการรู้มาผ่านภาษาและตรรกะลงไป เหมือนไฟกองใหญ่จะดับไฟกองเล็กกองน้อยทั้งหลายโดยปริยาย แต่เราจะต้องรู้จักเลือกหยิบเอาส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้มาใช้ โดยระวังไม่ไปยึดติดในสิ่งที่ปัญญาญาณนำเสนอ เพราะแม้ตัวปัญญาญาณหยั่งรู้เหล่านี้เองก็มีกำพืดที่แท้จริงเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของความคิด มันจะต้องดับตามความคิดอื่นๆไปจนไม่เหลืออะไรเลย การฝึกสมาธิขั้นต่อไปจึงจะทำได้

      ขั้นที่ 6. เมื่อไม่มีอะไรเหลือให้สังเกตแล้ว ก็ฝึก “วาง” ผู้สังเกตลงไปด้วย ไม่ต้องมีผู้สังเกตแล้ว หมายความว่าวางความรู้ตัวว่าเป็น “ความรู้ตัวของเรา” ลงไปด้วย เหลือแต่ความรู้ตัวที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎขึ้นในความว่างอันกว้างใหญ่ของความรู้ตัวนี้ โดยไม่มีสำนึกว่าเป็นบุคคลเราหรือเขาเข้ามาเกี่ยวข้อง เปรียบเหมือนแสงแดดเป็นหนึ่งเดียวกับทุกอย่างที่มันลูบไล้โดยไม่ไปแปดเปื้อนหรือทุกข์ร้อนกับสิ่งที่มันลูบไล้เหล่านั้น ซึ่งหากฝึกไปมากพอ การ “วาง” แบบสนิทนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ในขณะลืมตาดำเนินชีวิตประจำวันอยู่

     ในขั้นนี้ เมื่อมีคลื่นความสั่นสะเทือน (เสียง) เกิดขึ้น มีภาษาตามมา แต่ความหมายของชื่อนั้นในความจำจะถูกกรองไม่ให้เอามาตีความชื่อนั้น ความคิดก็ไม่มีที่จะอยู่ เหลือแต่คลื่นความสั่นสะเทือนเป็นเป้าอยู่ในการรับรู้โดยไม่มีความหมายเชิงภาษา นี่แหละที่เรียกว่ารับรู้ตามที่มันเป็น ทำอย่างนี้บ่อยๆเนืองๆ ความรู้ตัวจะค่อยๆยืนหยัดมั่นคง

     ตัวช่วยในการฝึกสมาธิ

     ในทั้งหกขั้นตอนของการฝึกสมาธิจากตื้นไปลึกนี้ ผมพบว่าตัวช่วยที่มีประโยชน์มาก คือ

     1. ความเอาจริงเอาจังมุ่งมั่นฝึกฝนไม่หยุดหย่อนทุกเวลานาทีที่ว่างจากภาระกิจการงานประจำ ใช้เวลานอกเวลาทำงานทั้งหมด รวมทั้งใช้เวลาทำกิจวัตรเช่นอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับรถ ออกกำลังกาย กิน ในการฝึกนี้ด้วย

     2. ดำเนินชีวิตในสังคมแบบสร้างมิตรไมตรี มีเมตตา ดีใจสุขใจด้วยกับคนที่มีความสุข นิ่งยอมรับสภาพกับคนที่เขามีความทุกข์ ดำเนินชีวิตอย่างผู้คิดจะให้อะไรคืนแก่โลก ไม่คิดเอาอะไรจากโลกอีกแล้ว

     3. ใช้เทคนิคลดทอนความคิดด้วยการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ร่วมด้วย เพราะความคิด โดยเฉพาะความคิดลบ มีธรรมชาติสองหน้า หน้าหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระในภาษาสมมุติ อีกหน้าหนึ่งแสดงออกเป็นพลังงานในรูปของการหดเกร็งกล้ามเนื้อร่างกาย เมื่อผ่อนคลายร่างกาย ความคิดก็จะแผ่วลงไป

     4. ใช้เทคนิคตามรู้พลังงานของชีวิตร่วมด้วย ด้วยการลาดตระเวณความสนใจไปบนร่างกาย (body scan) หรือไม่ก็ตามรู้พลังงานของชีวิตขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการรำมวยจีน – ไทชิ หรือการทำท่าออกกำลังกายแบบโยคะอาสนะที่เน้นการมีความสนใจความรู้สึกบนร่างกาย (โยคะภาวนา)

     5. ใช้เทคนิคการหายใจเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของพลังงานของชีวิตในลักษณะที่จะทำให้จดจ่ออยู่ในสมาธิระดับลึกได้ง่ายขึ้น (ปราณายามา) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พวกโยคีเขาทำกัน มีหลายเทคนิคปลีกย่อยซึ่งผมเองก็รู้จักและใช้อยู่เฉพาะบางเทคนิคในบางครั้งเท่านั้น เช่นการหายใจเข้าออกเร็วๆจนเกิดการหยุดหายใจ (CO2 wash-out apnea) แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ลมหายใจหยุดนิ่งนั้นจดจ่ออยู่ในสมาธิขั้นละเอียด ซึ่งมีประโยชน์ในการฝึกขั้นตอนที่ต้องทิ้งทั้งผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต เพราะขณะหยุดหายใจจะไม่เหลืออะไรให้เป็นเป้าของการสังเกต เป็นการเปิดโอกาสให้เรียนรู้ภาวะที่มีแต่ความรู้ตัว ไม่มีอย่างอื่นเลย

     6. ใช้เทคนิคอาศัยการสั่นสะเทือนของเสียงหรือ “มันตรา” ของพวกโยคี เช่นการสร้างการสั่นสะเทือนจากการเปล่งเสียงสวด หรือเสียง “โอม” ก็เป็นวิธีช่วยให้วางความคิดโดยตามพลังงานการสั่นสะเทือนของเสียงเข้าไปถึงความรู้ตัวได้โดยง่าย

    7. กรณีความคิดเดิมซ้ำซากเกิดขึ้น ใช้เทคนิคสอบสวนและลงทะเบียนความคิดลบ (เดิมๆเก่าๆ) สอบสวนเพียงหนึ่งครั้งต่อหนึ่งความคิด (self inquiry) เมื่อความคิดที่สอบสวนแล้วนี้โผล่มาอีกในครั้งหน้าก็ดีดทิ้งได้เลย เป็นเทคนิคของโยคีชื่อ รามานา มหารชี ก็เป็นทางลัดที่ดีมากที่ช่วยไม่ให้หลวมตัวไปกับความคิดเดิมๆซ้ำๆซากๆ

     8. ใช้เทคนิคฟูมฟักสร้างเสริมพลังงานของชีวิต ด้วยการคิดแต่ทางบวก มองทุกอย่างไปทางบวก ยอมรับทุกอย่างที่เดี๋ยวนี้ มองโลกมองชีวิตให้ขบขันบันเทิง กระโดดโลดเต้น ปีนป่าย สำรวจธรรมชาติ ผ่อนคลาย ยิ้มเป็นอาจิณ หัวเราะให้บ่อยๆ กระตือรือล้น สร้างสรรค์ เฉลิมฉลอง ขยันทำอะไรใหม่ๆในชีวิตให้แตกต่างไปจากเมื่อวานนี้ แหกคอก แหกประเพณี บ้าบิ่น เพราะทุกอย่างที่เหมือนเมื่อวานนี้คือวงจรย้ำคิดย้ำทำซ้ำซากซึ่งเป็นรูปแบบของการคิดที่เราติดกับอยู่ แต่กิจสร้างสรรค์ใหม่ๆคือการเปิดให้พลังงานของชีวิตได้เติบโต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์