Latest

อยากรู้เชิงลึกเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระและกลูต้าไทโอน

กราบเรียนคุณหมอสันต์
หนูเป็นแฟนคลับตัวจริง อยากรู้เรื่องหนึ่งแต่ไม่เห็นมีใครเคยถาม ว่ากลูต้าไทโอนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นจริงไหม กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากจริงไหม มันทำให้หน้าขาวขึ้นจริงไหม แล้วคำว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่หนูรู้มาว่ามันเป็นของดี ขณะที่ oxidative stress เป็นของเลว หนูรู้แค่นี้โดยไม่เข้าใจอะไรลึกไปกว่านี้เลย ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสารต้านอนุมูลอิสระนี้มันเป็นประเด็นจริงๆหรือว่าเป็นแค่เรื่องเลื่อนลอยไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง (หนูจบสายวิทย์ อาชีพนักกายภาพบำบัด) หาอ่านที่ไหนก็มีแต่อธิบายอย่างผิวเผิน คุณหมอกรุณาช่วยอธิบายแบบลึกซึ้งแต่เข้าใจง่ายตามสไตล์คุณหมอให้หนูตาสว่างในเรื่องนี้หน่อยนะคะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระมันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก ถ้าคุณอยากเข้าใจ คุณต้องทนอ่านนะ เรื่องมันยาวและน่าเบื่อ ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ชอบอะไรยาวและน่าเบื่อให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้เลย อีกอย่างหนี่งเนื่องจากผู้ถามเป็นเด็กวิทย์ ผมจะตอบโดยใช้ศัพท์แสงทางวิทย์แบบไม่กระมิดกระเมี้ยน

     ผมจะท้าวความเล่าความเป็นมาเพื่อประกอบการนิยามศัพท์แต่ละคำ เพื่อที่คุณจะได้ไม่คันหูเมื่อมีใครมาพูดคำเหล่านี้ใกล้ๆ เรื่องมันเริ่มต้นจากความรู้ตั้งเดิมที่มนุษย์มีว่าน้ำมันผัดทอดอาหารที่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอย่างเช่นน้ำมันถั่วเหลือง หากเราตั้งมันทิ้งไว้นานๆมันจะขึ้นหืน (rancid) เพราะตัวน้ำมันทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศ (lipid peroxidation) ทำให้น้ำมันนั้นเก่าขึ้นหืนนี่เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปมานาน แล้วต่อมาราวสามสิบปีก่อนก็มีคนตั้งข้อสมมุติฐาน (เดา) ว่าเฮ้ย ไขมันที่อยู่ในเซลร่างกายมันก็น่าจะขึ้นหืนได้เหมือนกันนะ เพราะอย่าลืมว่าไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลและดีเอ็นเอ.ในเซลถ้าไขมันขึ้นหืนก็หมายความว่าเยื่อหุ้มเซลเปื่อย ดีเอ็นเอ.กระจุย คือพูดง่ายๆว่าเซลแก่และตาย นี่น่าจะเป็นปฐมเหตุของความแก่และโรคเรื้อรังต่างๆรวมทั้งโรคหัวใจหลอดเลือดและมะเร็ง ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐาน..แปลว่าเดาเอา

     ขณะเดียวกัน งานวิจัยในห้องทดลองและในสัตว์พบว่าออกซิเจนที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้าในร่างกายนั้นไม่ได้อยู่ในรูปก้าซออกซิเจนปกติ (O2เท่านั้น แต่จำนวนหนึ่งอยู่ในรูปของออกซิเจนที่มีอีเล็กตรอนมากกว่าและพร้อมจะทำปฏิกริยามากกว่าปกติ จึงเรียกว่าอนุมูลอิสระ (radical) เช่นถ้ามีหนึ่งอีเล็กตรอนเรียกว่า superoxide radical (O2)ถ้ามีสองอีเล็กตรอนก็เรียก hydrogen peroxide (H2O2)ถ้ามีสามอีเล็กตรอนก็เรียก hydroxyl radical (OH) โดยทั้งหมดนี้มีชื่อเรียกเหมาเข่งรวมว่าเป็นออกซิเจนสายพันธ์ไวต่อปฏิกริยา หรือ reactive oxygen species (ROS) และงานวิจัยในแล็บและในร่างกายสัตว์ก็พบว่าร่างกายมีเอ็นไซม์คอยสลายพวก ROS เหล่านี้อยู่แล้วอย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเอ็นไซม์  superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase เป็นต้น แต่หากทดลองใส่พวก ROS เข้าไปแยะๆให้ท่วมเอ็นไซม์ที่มีก็จะเกิดภาวะที่ล่อแหลมต่อการเกิดปฏิกริยาขึ้นหืน (oxidative stress) และเมื่อทดลองเอาโมเลกุลจากอาหารอันได้แก่วิตามินแร่ธาตุต่างๆเช่นวิตามินซี. ดี. อี. สังกะสี เซเลเนียม ใส่เข้าไปช่วย ก็พบว่าโมเลกุลเหล่านี้ไปช่วยแก้ไขภาวะ oxidative stress ให้กลับสู่ดุลภาพปกติได้ จึงเรียกโมเลกุลเหล่านี้ว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือ antioxidant กลไกการออกฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระแต่ละตัวแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นไพร่ราบทหารเลว (scavenger) ที่เอาหน้าอกไปรับคมหอกคมดาบของ ROS แล้วตัวเองเดี้ยงไป แต่ความที่ทหารเลวมีจำนวนมากทำให้ ROS ทำร้ายเซลได้ไม่ถนัด

     จากความรู้เหล่านี้ มันก็นำไปสู่สมมุติฐานว่าหากเราบ้อมบ์ใส่สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เข้าไปในร่างกายก็จะสามารถลดหรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆเช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคชราได้ แต่งานวิจัยในคนที่ให้ตะบันกินสารเหล่านี้กันอยู่หลายปี บางงานวิจัยทำนานถึง 15 ปี ในภาพรวมโหลงโจ้งแล้วกลับพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในรูปของวิตามิน ซี อี ดี หรือแร่ธาตุสังกะสี เซเลเนียม หรือวิตามินรวม แบบเป็นเม็ดนั้นล้วนให้ผล “บ้อลัด” หรือ “แป๊ก” คือผลวิจัยในภาพรวมพบว่าไม่สามารถลดการป่วยการตายจากโรคเรื้อรังมะเร็งหรือความแก่ลงได้แต่อย่างใด

     แต่ก็ไม่ใช่ว่ากลไกการต้านอนุมูลอิสระนี้จะไม่มีอยู่จริงในร่างกายคนเสียทีเดียว อย่าลืมว่างานวิจัยต่างๆเหล่านั้นล้วนใช้สารต้านอนุมูลอิสระแบบสารสังเคราะห์อัดมาเป็นเม็ดในรูปของวิตามินแร่ธาตุเสริม ขณะที่งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ผลตรงกันว่าหากให้คนกินอาหารพืชอันเป็นแหล่งธรรมชาติของวิตามินแร่ธาตุอันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลายเป็นอาหารหลัก (plant-based food) จะสามารถลดหรือพลิกผันโรคเรื้อรังเช่นความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด ได้ และลดโอกาสเป็นมะเร็งหลายชนิดลงได้จริงๆให้เห็นเหน่งๆ

     ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปความรู้เรื่องสารต้านอนุมูลอิสระเท่าที่หลักฐานวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ไว้จะพึงมี คุณจะเอาความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้แค่ไหนนั่นก็เป็นเรื่องของคุณละครับ

     2. ถามว่ากลูต้าไทโอนคืออะไร ตอบว่า glutathione (GSH) คือโมเลกุลสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม scavenger หรือไพร่ราบทหารเลวที่มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมากในน้ำวุ้น (cytoplasm) ของเซล เมื่อโดนหอกดาบของ ROS หรือถูกออกซิไดส์แล้วมันจะเดี้ยงกลายเป็น GSH disulfide (GSSG) ซึ่งร่างกายจะชุบชีวิตมันกลับมาเป็นกลูต้าไทโอนใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ glutathione reductase อีกวิธีหนึ่งที่จะให้มีกลูต้าไทโอนมากขึ้นก็คือใส่สารตั้งต้นที่จะนำไปสร้างเป็นกลูต้าไทโอนเช่น N-acetyl-cysteine (NAC) เข้าไปในเซลก็ได้ ความรู้ทั้งหมดนี้ได้มาจากการวิจัยในสัตว์และในห้องทดลอง

     3. ถามว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ไหม ตอบว่ากลไกการต่อต้านเชื้อโรคของร่างกายนั้นแบ่งเป็นสองขั้นตอน คือขั้นตอนยังไม่รู้จักเชื้อโรค (innate immunity) กับขั้นตอนหลังจากรู้จักเชื้อโรคแล้ว (adaptive immunity) ในขั้นตอนยังไม่รู้จักเชื้อโรค มาตรการหนึ่งที่ร่างกายใช้คือก่อการอักเสบขึ้น วิธีก่อการอักเสบก็คือสร้างอนุมูลอิสระหรือโมเลกุล ROS ขึ้นมาเพื่อทำสงครามทำลายเชื้อโรค จนเชื้อโรคตายหมดแล้วค่อยมาว่ากัน บางครั้งสงครามเองเป็นเหตุให้ผู้ป่วยตาย ไม่ใช่เชื้อโรค เช่นกรณีติดเชื้อโควิด19 แล้วตายจากปอดเสียหายจากการอักเสบเป็นต้น บทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระจึงเป็นบทบาทควบคุมไม่ให้การอักเสบรุนแรงถึงขั้นทำลายร่างกายเสียเอง วิธีควบคุมก็ด้วยการเข้าไปสลายพิษของอนุมูลอิสระทั้งหลายในตอนปลายของสงคราม เรียกว่าเป็นบทบาทช่วยควบคุมการอักเสบไม่ให้ลุกลามมากเกินไป ไม่ใช่บทบาทฆ่าเชื้อโรค กลไกลดการอักเสบนี้มีหลักฐานยืนยันในงานวิจัยโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในปอดของคนจริงๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางโภชนาการคลินิกที่ว่าในภาวะเกิดการอักเสบเรื้อรังจากโรคเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด (การอักเสบของหลอดเลือด) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (การอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าหากให้กินอาหารพืชเป็นหลักซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระอุดม จะบรรเทาอาการของโรคลงได้ 

     4. ถามว่ากลูต้าไทโอนเป็นสารช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแบบช่วยฆ่าเชื้อโรคตรงๆได้ไหม ตอบว่าช่วยในแง่ของการบันยะบันยังการอักเสบ อันนั้นช่วยแน่นอนและทราบกลไกแน่นอนแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบได้อย่างไรอย่างที่เล่าไปแล้วในข้อ 3. ส่วนการช่วยฆ่าเชื้อโรคตรงๆ กลูต้าไทโอน “อาจจะ” ช่วยในการทำลายเชื้อโรคด้วยก็ได้ อาจจะเท่านั้นนะ ทั้งนี้ตอบโดยอิงข้อมูลในคนจริงๆที่เราพอจะมีอยู่คือ (1) ในคนที่เกิดมาขาดเอ็นไซม์สร้างกลูต้าไทโอน คนแบบนั้นจะติดเชื้อแบคทีเรียง่ายกว่าปกติ  (2) ในคนไข้ติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) ซึ่งมีธรรมชาติว่าการสร้างกลูต้าไทโอนทำได้น้อย หากให้กลูต้าไทโอนเสริมจะทำให้อัตรารอดชีวิตดีขึ้น (3) งานวิจัยในจานเพาะเลี้ยงเชื้อพบว่ากลูต้าไทโอนช่วยให้เซลมาโครฟาจทำลายเชื้อวัณโรคที่สิงอยู่ในเซลได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่มี แต่กลไกที่กลูต้าไทโอนช่วยการฆ่าเชื้อแบบตรงๆได้อย่างไรเรายังไม่ทราบ และยังไม่มีผลวิจัยการใช้กลูต้าไทโอนร่วมรักษาโรคติดเชื้อแบบตรงๆ 

     5. ถามว่ากลูต้าไทโอนกินหรือทาแล้วทำให้ผิวขาวขึ้นจริงไหม ตอบว่าได้มีการทบทวนงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งหมดที่มีอยู่ 3 งาน และงานวิจัยแบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบอีก 1 งาน โดยผู้ป่วยกินกลูต้าไทโอนขนาด 250 – 500 มก. ต่อวัน หรือทาครีมกลูต้าไทโอน 2.0% โดยใช้การนับความเข้มข้นของเม็ดสีเมลานินบนผิวหนังเป็นตัวชี้วัด ผลสรุปของผู้วิจัยคือยังไม่สามารถสรุปได้เหน่งๆว่ากลูต้าไทโอนกินก็ดี ทาก็ดี ทำให้ผิวขาวขึ้นจริงหรือเปล่า แป่ว..ว 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Ristoff E, Mayatepek E, Larsson A. Long-term clinical outcome in patients with glutathione synthetase deficiency. J Pediatr. 2001 Jul; 139(1):79-84.
2. Blackwell TS, Blackwell TR, Holden EP, Christman BW, Christman JWIn vivo antioxidant treatment suppresses nuclear factor-kappa B activation and neutrophilic lung inflammation. J Immunol. 1996 Aug 15; 157(4):1630-7.
3. Herzenberg LA, De Rosa SC, Dubs JG, Roederer M, Anderson MT, Ela SW, Deresinski SC, Herzenberg LA. Glutathione deficiency is associated with impaired survival in HIV disease. Proc Natl Acad Sci U S A. 1997 Mar 4; 94(5):1967-72.
4. Venketaraman V, Dayaram YK, Talaue MT, Connell ND. Glutathione and nitrosoglutathione in macrophage defense against Mycobacterium tuberculosis. Infect Immun. 2005 Mar; 73(3):1886-9.
5. Dilokthornsakul, W; Dhippayom, T; Dilokthornsakul, P. “The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review”. Journal of Cosmetic Dermatology. 18 (3): 728–737. doi:10.1111/jocd.12910.