Latest

กินแล้วนอนแล้วก็.. กรดไหลย้อน

คุณหมอค่ะ….ตอนนี้  เป็นช่วงทุกคนต้องช่วยกันอยู่บ้าน  เพื่อชาติ…..หนูอยู่บ้าน….จริงจัง….กินแล้ว…..นอนค่ะ…5555..ตอนนี้เป็นกรดไหลย้อน….ทานยา..Omeprazole…มาได้  สิบวันแล้ว….ยังไม่หายอ่ะค่ะ…..เหมือนมีอะรัยมาคาอยู่ที่คอหอยตลอด….เหมือนมีสเลด…ไม่ไอ.แต่ต้อง
กระแอมตลอด…..จนแสบคอ….รบกวนคุณหมอแนะนำวิธีการรักษา…การ.ดูแลตัวเองด้วยค่ะ….
ขอบคุณมากค่ะ

……………………………………………

ตอบครับ

     กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux) หรือการสำรอกเอาของในกระเพาะย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร เป็นปรากฏการณ์ปกติของร่างกายคนเรา หลายท่านคงพอนึกออกว่าบางครั้งเราที่อิ่มมากๆเราก็ขย้อนหรืออ๊อกเอาของในท้องออกมาขึ้นมาจนถึงในปากจนเปรี้ยวหรือขมซะไม่มี นั่นแหละคือเกิดกรดไหลย้อนละ ถ้าเกิดไม่บ่อย ก็โอเค. แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมากเกินไปจนทำให้มีอาการและทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ มันก็กลายเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD ซึ่งย่อมาจาก Gastroesophageal reflux disease (GERD)

อาหารที่ทำให้เป็นกรดไหลย้อน

1. อาหารไขมันสูงทุกชนิด [1] รวมทั้งของผัดของทอดเพราะอาหารพวกนี้กระตุ้นฮอร์โมนบีบท่อน้ำดี (cholecystokinin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารคลายตัวและทำให้อาหารอ้อยอิ่งอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้นและย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น

2.  สะระแหน่หรือมินท์ ด้านหนึ่งช่วยขับลม อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เป็นกรดไหลย้อนง่าย งานวิจัยพวกที่ชอบดื่มชาเป็ปเปอร์มินท์ก็พบว่าเป็นกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม [2]

3. น้ำส้มคั้น งานวิจัยพบว่าน้ำส้มคั้นทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน [3] อาจจะเป็นเพราะกรดในตัวน้ำส้มนั่นเอง

4. ชอกโกแล็ต เพราะมันมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดปลายล่างหลอดอาหารได้ [4] เช่นเดียวกับอาหารไขมันทั้งหลาย นอกจากนั้นมันทำมาจากโกโก้ซึ่งมีสารทีโอโบรมีนและคาเฟอีนและฮอร์โมนซีโรโทนินซึ่งล้วนคลายกล้ามเนื้อหูรูดได้

5. พริก เพราะงานวิจัย [5] พบว่าสาร capsaicin ในพริกออกฤทธิ์ชลอการย่อยอาหารและทำให้อาหารผ่านออกจากกระเพาะช้าลง ไม่นับว่าตัวพริกเองมีความร้อนแรงสามารถระคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหารได้อีกต่างหาก

6. เกลือ เพราะงานวิจัยพบว่าคนยิ่งชอบกินเค็มมาก ยิ่งเป็นกรดไหลย้อนมาก [6]

7. หอมหัวใหญ่ ก็มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดเช่นกัน งานวิจัยเปรียบเทียบคนกินแฮมเบอร์เกอร์แบบใส่กับไม่ใส่หอมหัวใหญ่แบบดิบๆพบว่าพวกที่กินแบบใส่หอมหัวใหญ่ดิบๆมีอาการกรดไหลย้อนมากกว่า[7] นอกจากนี้หอมหัวใหญ่ประกอบด้วยเส้นใยชนิดย่อยสลายง่ายทำให้เกิดการเรอซึ่งเป็นการกระตุ้นกรดไหลย้อน

8. แอลกอฮอล์ ทั้งโดยออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูด ทั้งกระตุ้นการหลั่งกรด และตัวมันเองก็เป็นสารระคายเคืองเยื่อบุ

9. น้ำอัดลม งานวิจัยทำที่เกาหลีพบว่าคนดื่มน้ำอัดลมมีความเสี่ยงเกิดอาการกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม 69%[8]

10. นม ซึ่งผู้คนนิยมใช้ดื่มแก้กรดไหลย้อน แต่งานวิจัยพบว่าตัวมันนั่นแหละเป็นอาหารที่เพิ่มอาการกรดไหลย้อน [9]

11. กาแฟ ทำให้เกิดกรดไหลย้อนจริงหรือไม่ ผลวิจัยได้ผลไปสองทาง ยังสรุปไม่ได้

     ยาบางชนิดทำให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น ยากั้นเบต้าที่ใช้ลดความดันเลือด ยาขยายหลอดเลือดพวกไนเตรท และยาฮอร์โมนเช่นโปรเจสเตอโรนคุมกำเนิด

     นอกจากอาหารและยาแล้ว ความอ้วน [10] ความแก่ นิสัยการกินการกินมากเกินไปหรือกินจนชนเวลานอน ความเครียด การไม่ได้เคลื่อนไหว ก็เป็นสาเหตุของกรดไหลย้อนได้

อาการของโรคกรดไหลย้อน

     โรคกรดไหลย้อนแบบคลาสสิกจะทำให้มีอาการแสบหน้าอก แน่นหน้าอก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่บางทีอาการก็เป็นแบบไม่คลาสสิกเช่น ไอเรื้อรัง ปอดบวม หอบหืด ปอดเป็นพังผืด กล่องเสียงอักเสบ มะเร็งกล่องเสียง หูชั้นกลางอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น ประมาณครึ่งหนึ่งของคนเป็นโรคกรดไหลย้อนมีหลอดอาหารอักเสบร่วมด้วย ซึ่งถ้าอักเสบมากจะกลายเป็นหลอดอาหารตีบ และมะเร็งหลอดอาหารได้

     ในโรคนี้การตรวจร่างกายจะไม่พบอะไรผิดปกติ มาตรฐานการวินิจฉัยโรคนี้ต้องทำการส่องกล้องลงไปดู ถ้าเห็นว่ามีหลอดอาหารส่วนปลายอักเสบอยู่ก็จบเลย เป็นโรคนี้แน่นอน แต่ถ้าหลอดอาหารยังดีอยู่ ยังไม่อักเสบก็ยังอาจจะเป็นโรคนี้ได้ การพิสูจน์ต้องวางตัววัดความเป็นกรดด่างไว้ที่หลอดอาหารส่วนล่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (ambulatory pH monitoring) จึงจะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด

การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1. ปรับวิธีใช้ชีวิต เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการรักษา ทำได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำคือ

1. ต้องเลิกอาหารที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนทั้ง 11 อย่างข้างต้นให้หมด

2. ถ้าน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนัก

3. เลิกนิสัยกินจนอิ่มเต็มที่ ควรหยุดกินตั้งแต่อีกห้าหกคำจะอิ่มก็หยุดได้แล้ว และ 3 ชั่วโมงก่อนเวลานอน รูดซิบปาก ห้ามกิน

4. เลิกนิสัยนั่งจุมปุกทั้งวัน เปลี่ยนไปขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ทำนั่นทำนี่ ให้ร่างกายได้เปลี่ยนท่าร่างและได้ออกแรงทั้งวัน

5. ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเอาหนังสือหรือก้อนอิฐเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขาให้สูงขึ้น หรือไปซื้อฟูกรักษากรดไหลย้อน ซึ่งมีลักษณะสูงข้างบนต่ำข้างล่างมาปูทับที่นอนเดิม เมืองไทยนี้ก็มีขาย คนไข้ของผมหลายคนซื้อมาใช้แล้วบอกว่าดี

     การรักษาในขั้นแรกด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตนี้เป็นวิธีรักษาที่ตรงที่สุดและได้ผลดีที่สุด ผมยังไม่เคยเห็นคนไข้แม้แต่คนเดียวที่ทำได้ครบทั้งห้าประการนี้แล้วจะไม่หายจากกรดไหลย้อน

ขั้นที่ 2. ใช้ยารักษา ซึ่งมียาให้เลือกใช้หลายตัว ได้แก่

(1) ยาลดกรด หลังอาหารและก่อนนอน

(2) ยาลดการหลั่งกรดเช่น Ranitidine (Zantac)

(3) ยากั้นโปรตอนปั๊ม คือยาชื่อลงท้ายด้วย azole ตัวใดก็ได้ดีเท่ากันทุกตัว เช่นยา omeprazole และ Esomeprazole (Nexium) จัดเป็นกลุ่มที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้ มักได้ผลใน 8 สัปดาห์ มีข้อเสียที่ทำให้ร่างกายเสียแคลเซียมซึ่งทำให้กระดูกพรุนได้ [11] และกินนานๆก็ทำให้เป็นโรคไตเรื้อรังได้ บรื้อ..ว
[12]

(4) ยาเสริมการเคลื่อนไหวของกระเพาะลำไส้ เช่นยา metoclopramide (Plasil) ใช้ได้ผลบ้างในรายที่อาการไม่มาก และใช้ได้แต่ในระยะสั้นเท่านั้นเพราะยานี้หากใช้นานก็มีผลเสียอีกหลายอย่าง

ขั้นที่ 3. ทำผ่าตัด 

     มักจำเป็นในคนที่เยื่อบุปลายล่างของหลอดอาหารอักเสบไปมากเสียจนจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดหลอดอาหารตีบไปเสียก่อนเพราะการอักเสบ หรือคนที่มีภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน เช่นปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง หูอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น

     วิธีทำผ่าตัดก็คือเอากระเพาะอาหารไปม้วนหุ้มรอบหลอดอาหารส่วนล่างเพื่อช่วยเป็นลิ้นบีบกล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารอีกแรงหนึ่ง สมัยนี้มักนิยมผ่าแบบผ่านกล้องซึ่งจะทำให้แผลหน้าท้องเล็กและหายเร็วกว่า การผ่าตัดมีโอกาสหายสูงกว่าการกินยามากน้อยแค่ไหน ตอบได้จากงานวิจัยร่วมของยุโรป [10] ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เขาเอาผู้ป่วยที่กินยารักษาโรคนี้อยู่มา 357 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ผ่าตัด อีกกลุ่มหนึ่งให้ผ่าตัด แล้วตามดูเมื่อสิ้นสุด 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ผ่าตัดหยุดยาได้ 62% ส่วนกลุ่มไม่ผ่าตัดหยุดยาได้ 10% และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนคุณภาพชีวิตแล้วกลุ่มที่ผ่าตัดก็ดีกว่าด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้การผ่าตัดกลายมาเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ แต่อย่าลืมว่านี่ดูกันปีเดียว ระยะยาวเกินหนึ่งปีต่อไปเป็นยังไงไม่รู้

     สมัยผมหนุ่มๆผมทำผ่าตัดแบบนี้ไปมากเพราะการผ่าตัดแถวๆบนและล่างกระบังลมเนี่ยถนัดมาก แต่หลายปีมานี้ผมไม่เคยส่งผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนไปผ่าตัดแม้แต่รายเดียว เพราะทุกรายประสบความสำเร็จในการรักษาตั้งแต่ขั้นการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตหากทำอย่างจริงจัง หรือคนไข้จำนวนหนึ่งทนหมอสันต์บ่นไม่ได้แอบหนีไปผ่าตัดกับหมอคนอื่นก็ไม่รู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Shapiro M1, Green C, Bautista JM, Dekel R, Risner-Adler S, Whitacre R, Graver E, Fass R. Assessment of dietary nutrients that influence perception of intra-oesophageal acid reflux events in patients with gastro-oesophageal reflux disease. Aliment Pharmacol Ther. 2007 Jan 1;25(1):93-101.
2. Jarosz M1, Taraszewska A1. Risk factors for gastroesophageal reflux disease: the role of diet. Prz Gastroenterol. 2014;9(5):297-301. doi: 10.5114/pg.2014.46166. Epub 2014 Oct 19.
3. Feldman M, Barnett C. Relationships between the acidity and osmolality of popular beverages and reported postprandial heartburn. Gastroenterology. 1995 Jan;108(1):125-31.
4. Murphy DW, Castell DO. Chocolate and heartburn: evidence of increased esophageal acid exposure after chocolate ingestion. Am J Gastroenterol. 1988 Jun;83(6):633-6.
5. Horowitz M1, Wishart J, Maddox A, Russo A. The effect of chilli on gastrointestinal transit. J Gastroenterol Hepatol. 1992 Jan-Feb;7(1):52-6.
6.Nilsson M, Johnsen R, Ye W, Hveem K, Lagergren J. Lifestyle related risk factors in the aetiology of gastro-oesophageal reflux. Gut. 2004 Dec;53(12):1730-5.
7. Allen ML, Mellow MH, Robinson MG, Orr WC. The effect of raw onions on acid reflux and reflux symptoms. Am J Gastroenterol. 1990 Apr;85(4):377-80.
8. Song JH, Chung SJ, Lee JH, Kim YH, Chang DK, Son HJ, Kim JJ, Rhee JC, Rhee PL. Relationship between gastroesophageal reflux symptoms and dietary factors in Korea. J Neurogastroenterol Motil. 2011 Jan;17(1):54-60. doi: 10.5056/jnm.2011.17.1.54.
9. Feldman M, Barnett C. Relationships between the acidity and osmolality of popular beverages and reported postprandial heartburn. Gastroenterology. 1995 Jan;108(1):125-31.
10. Hampel H, Abraham NS, El-Serag HB. Meta-analysis: obesity and the risk for gastroesophageal reflux disease and its complications. Ann Intern Med. Aug 2 2005;143(3):199-211.
11. Yang YX, Lewis JD, Epstein S, Metz DC. Long-term proton pump inhibitor therapy and risk of hip fracture. JAMA. Dec 27 2006;296(24):2947-53.
12. Guedes JVM, Aquino JA. et. al. Omeprazole use and risk of chronic kidney disease evolution. PLoS One. 2020; 15(3): e0229344. doi: 10.1371/journal.pone.0229344
13. Lundell L, Miettinen P, Myrvold HE, et al. Continued (5-year) followup of a randomized clinical study comparing antireflux surgery and omeprazole in gastroesophageal reflux disease. J Am Coll Surg. Feb 2001;192(2):172-9; discussion 179-81.