Latest

จะดับความโกรธในใจได้อย่างไรคะ

กราบสวัสดีคุณหมอสันต์ค่ะ
หนูเป็นแฟนเพจคุณหมอมานานระยะหนึ่ง ได้อ่านที่คุณหมอตอบจดหมายและดูยูทูปของคุณหมอสม่ำเสมอค่ะ
ปัญหาของหนูอาจจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับท่านอื่น หนูเป็นแม่บ้าน (ในที่นี้หมายถึงอยู่บ้านทุกวันเกือบ 24 ชม.) และสิ่งที่ก่อให้เกิดความโกรธคือ เพื่อนบ้านมักปล่อยแมวมารบกวนทั้งกลางวันกลางคืน มาอึ ฉี่ อ้วกและมาวิ่งไล่กัดกันยามค่ำคืน เป็นแบบนี้มาตลอด 8 ปี หนูทั้งแจ้งเรื่องกับนิติบุคคลหมู่บ้าน และส่งข้อความผ่าน facebook ไปยังเจ้าของบ้านหลายต่อหลายครั้งก็ยังไม่เป็นผล เจ้าของบ้านเป็นแพทย์ (ระดับอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์) อาศัยอยู่กับแม่ เธออ้างว่าบ้านเธอเลี้ยงแมวระบบปิด และตัวที่ปล่อยออกนอกบ้านก็แก่มากแล้ว ไปทำอะไรใครไม่ได้ เมื่อหนูขอให้ถ่ายรูปแมวที่บ้านทั้งหมดมา เธอก็เฉย (บ้านเธอเลี้ยงแมวหลายตัว) พอส่งรูปแมวที่มาก่อกวนไป เธอก็อ้างว่าตัวนี้ไม่ใช่แมวเธอ
ทุกเช้าเมื่อหนูเห็นอึหรือฉี่แมว อารมณ์โกรธก็พุ่งขึ้นมาในใจ จนรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หนูพยายามใช้วิธีขจัดความเครียดแบบฉับพลันที่คุณหมอลงในยูทูป อาการดีขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อคิดถึงเรื่องนี้อีกก็มีอาการเจ็บแน่นขึ้นอีกตลอดทั้งวัน
หนูอยากถามคุณหมอว่าหนูควรขจัดความโกรธนี้อย่างไร และต้องทำความเข้าใจกับปัญหานี้อย่างไรคะ
หนูเคยอ่านเจอเมื่อไม่นานมานี้ ว่าพระอาจารย์ของคุณหมอบอกว่า “ช่างมันเถอะ ชาติที่แล้วมันคงเพิ่งพ้นจากการเป็นเปรตมา” หนูก็พยายามทำใจยอมรับ แต่เมื่อเห็นการกระทำของเขา ดูช่างไม่สะทกสะท้านกับการกระทำของตัวเองเลย เช่น หนูมักจะถ่ายรูปและวีดีโอแมวเค้าแล้วโพสต์ลงใน line group หมู่บ้าน ล่าสุดพอแม่เค้าเห็นหนูถ่ายรูป เค้าตะโกนมาว่า”ถ่ายไปเลย ไม่ต้องมาทำลับๆล่อๆ”
หนูต้องอดทนกับคนประเภทนี้มา 8 ปี จะมีวิธีจัดการอย่างไรดีคะ
กราบขอบพระคุณที่คุณหมออ่านถึงบรรทัดนี้โดยไม่โยนจดหมายทิ้งไปเสียก่อนค่ะ

……………………………………………………………

ตอบครับ

     “จะหลับตาลงไปได้อย่างไร
     หัวใจมันเจ็บ..”

     นี่เป็นครั้งแรกที่ผมหยิบจดหมายระดับ หมา แมว และเพื่อนบ้านซังกะบ๊วย มาตอบ ไม่ใช่ว่าจดหมายของคุณเป็นฉบับแรกนะ มีมาก่อนนี้หลายฉบับแต่ผมไม่เคยตอบ

     บ้างมีปัญหากับเพื่อนบ้านหมู่บ้านเดียวกันแต่อยู่ไกลห่างไปหลายหลังที่ขยันเดินเอาหมามาขี้หน้าบ้านของตัว

     บ้างมีปัญหาเพื่อนบ้านเลี้ยงแมวแบบขังหมู่แต่ส่งกลิ่นขี้แมวระดับบรรลัยล้างโลก

     บ้างมีปัญหากับเพื่อนบ้านฝรั่งเลี้ยงหมาตัวโตที่สุดในหมู่บ้านแต่ไม่เคยเก็บขี้หมาของตัวเอง พอต่อว่าก็บอกว่าขี้นี้ไม่ใช่ขี้ของหมาไอ มันคงเป็นขี้ของหมายู ทั้งๆที่ขี้ไซส์นี้มีหมาเบอร์เดียวที่ผลิตได้ก็คือหมาของฝรั่งเจ้านี้นั่นแหละ มีอยู่วันหนึ่งทะเลาะกันหนักถึงขั้นลงมือลงไม้กัน เจ้าฝรั่งถูกไม้ฟาดจนแขนหัก แล้วในที่สุดต้องอพยพกลับเยอรมันไป ผมเดาว่าฝรั่งคงคิดว่าอีนี่ประเทศนี้ไออยู่ไม่ได้แล้วแค่ขี้หมาก้อนเล็กนิดเดียวเล่นเอาไม้หน้าสามฟาดกันเลย

     มีอีกรายหนึ่งเล่าว่าทะเลาะกันจนเพื่อนบ้านซึ่งเป็นหญิงปสด.มายืนเท้าสะเอวขับเสภาด่าลั่นอยู่หน้าบ้านสามเวลาหลังอาหารแถมชอบขับรถไล่บี้จะชนก้นรถลูกสาวจนลูกสาวไม่กล้าขับรถออกจากบ้าน

     มีอีกรายหนึ่งเป็นปากเสียงกันไปถึงอบต.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรชานเมืองแห่งนั้น แต่อบต.ก็ช่วยให้รักกันไม่สำเร็จ เรื่องจบลงด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งทำรั้วสูงทึบขึ้นไปเทียบเท่าตึก 3 ชั้น คงกะว่าจะเอาให้เพื่อนบ้านตัวแสบขาดอากาศหายใจตายๆไปซะ หิ หิ แต่ลืมไปว่าตัวเองก็ต้องอาศัยอากาศนั้นเหมือนกัน..อามิตตาภะ พุทธะ

     กลับมาเรื่องของคุณดีกว่า ไหนๆก็ทนมาได้ตั้งแปดปีแล้ว ลองพักความพยายามจะแก้พฤติกรรมของเพื่อนบ้านที่ว่าเป็นหมอมีระดับ และคุณแม่ของหมอที่ปากก็มีระดับ และแมวที่ชอบปีนข้ามรั้วมาขี้และอ๊วก พักไว้หรือชลอไว้อีกสักสามเดือนหกเดือนนะ ฝรั่งเรียกว่า hold off เรื่องเหล่านั้นไว้ก่อน เพราะไหนๆก็ทนมาได้ตั้งแปดปีแล้วชลอไว้อีกสักไม่กี่เดือนคงไม่เป็นอะไรหรอกน่า

     สามเดือนหกเดือนข้างหน้านี้ให้ย้ายโฟกัสจากเพื่อนบ้าน แม่ผู้ชราของเพื่อนบ้าน และแมว ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัว มาโฟกัสที่การฝึกใช้เครื่องมือพัฒนาชีวิตเราซึ่งเป็นเรื่องข้างในตัวเรา ซึ่งผมแบ่งเป็นสามระดับนะ

     ระดับที่ 1. ระดับความรู้ตัว ที่ระดับนี้เป็นระดับที่ลึกพ้นความคิดเข้าไปแล้วนะ เราจะไม่ว่ากันถึงความคิดเลย หากมีความคิดเกิดขึ้นให้วางลูกเดียว แต่เราจะว่ากันแต่ความรู้สึก (feeling) ความตื่น (awakening) และการเฝ้าสังเกต (observing) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตการเกิดดับของความคิด

     ก่อนจะเริ่มฝึกรู้ตัวซึ่งเป็นเนื้อหาระดับมหาลัย คุณต้องเรียนมัธยมก่อน นั่นคือคุณต้องทำที่จอดให้กับความสนใจของคุณก่อน เปรียบความสนใจของคุณเป็นรถยนต์ คุณต้องสร้างที่จอดรถก่อน ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบหลายวิธี ผมแนะนำให้คุณฝึกเอาความสนใจมาจอดไว้ที่ชั้นพลังงานของร่างกาย หรือชั้นของพลังชีวิต (ปราณา หรือ ชี่) ชั้นนี้ประกอบขึ้นจากอากาศที่คุณหายใจเข้ามา เข้าไปในปอด แล้วออกซิเจนจากอากาศนั้นแพร่เข้าไปอยู่ในกระแสเลือด ไปตั้งหลักที่หัวใจ แล้วถูกฉีดไปทั่วร่างกาย ถูกดูดเข้าไปในเซลร่างกายทุกเซล แล้วถูกเผาผลาญที่ในเซลกลายเป็นพลังงานความร้อน แผ่ออกมาผ่านทุกรูขุมขนบนผิวหนังเป็นความรู้สึกร้อนผ่าวๆๆ วูบๆวาบๆซู่ๆซ่าๆ เมื่อคุณเอาความสนใจไปรับรู้มันเรียกว่าคุณกำลังรู้ตัวทั่วพร้อม ดังนั้นการจอดความสนใจไว้ที่ชั้นของพลังชีวิตก็คือการอยู่กับ “ลมหายใจ” และ “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” คุณฝึกตรงนี้ก่อน เป็นการเตรียมสอบเข้ามหาลัย 

     คราวนี้มาเล่นระดับมหาลัย แก๊ง… ยกที่หนึ่ง เริ่มต้นที่ตอนตื่นเช้า เห็นอึหรือฉี่แมว อารมณ์โกรธพุ่งขึ้นมาในใจ รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก นี่แหละ เริ่มที่ตรงนี้ ทันทีที่เห็นภาพขี้แมวขึ้นในหัว เร็วปานสายฟ้าแลบเรื่องราวของเพื่อนบ้านและเหล่าแมวของเธอก็ถูกนำเสนอเป็นภาษาเรื่องราวร้อยเรียงคล้องจองกันเป็นปี่ขลุ่ยแล้วความคิดที่หนึ่งคือความโกรธก็ปึ๊บ..บ มาทันที นี่คือกลไกที่การตกกระทบของสิ่งเร้าที่รับรู้ผ่านอายตนะนำไปสู่ความคิดใหม่ได้อย่างไร ให้คุณเรียนตรงนี้ ให้คุณรีบบอกความโกรธว่าโอ้ มาแล้วหรือ มาแล้ว..ว มาแล้ว ความโกรธจ๋าอย่าเพิ่งไปไหนนะ อยู่นานๆนะ ขอทำความรู้จักกันหน่อย แล้วให้คุณรีบสังเกตร่างกายของคุณว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สังเกตว่าใจมันเต้นตั๊ก ตั๊ก ตั๊ก อย่างไร สังเกตว่าลมหายใจมันแรงและเร็วฟืดฟาด ฟืดฟาด อย่างไร สังเกตอาการแน่นหน้าอก ว่ามันก่อตัวขึ้นอย่างไร แล้วตามสังเกตทั้งสามอาการนี้ไปแบบวินาทีต่อวินาทีด้วยความอยากรู้จักอยากเห็นว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีความคิดใดๆก็ตามแพลมขึ้นมาตรงนี้ให้รีบถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาสังเกตอาการของร่างกายอย่างเหนียวแน่น เฝ้าสังเกตดูอย่างจดจ่อว่าใจที่เต้นตั๊กๆๆมันค่อยๆสงบลงอย่างไร ลมหายใจที่ฟืดฟาดๆๆมันค่อยๆช้าลงอย่างไร อาการเจ็บหน้าอกมันพีคแล้วมันค่อยๆลดลงอย่างไร

     แต่มีบางครั้งที่แม้คุณจะพยายามเพิกเฉยแล้วแต่ความคิดมันก็ผุดขึ้นยิ้มเผล่โดดเด่นจนได้ ไม่รู้มันมาจากนรกขุมไหนแต่มันก็ผุดขึ้นมาตะโกนกรอกหูด่าหมอข้างบ้านให้คุณได้ยินอยู่ปาวๆๆๆ ไม่เป็นไร ถ้ามันมาแรงขนาดนี้ให้คุณหันมาสังเกตความคิด อย่างน้อยให้คุณสังเกตว่าความคิดที่สองมันต่อยอดบนความโกรธซึ่งเป็นความคิดแรกนะ เฝ้ามองความคิดนั้นอยู่ข้างนอก ว่าเราอยู่ตรงนี้นะ กำลังยืนมองขี้แมวอยู่ และกำลังคิดเรื่อง “เพื่อนบ้านเฮงซวย” เอาแต่ห้วเรื่องนะ ไม่เอารายละเอียด สังเกตดูแว้บหนึ่งแล้วกลับมาอยู่กับชั้นของพลังชีวิต (คือลมหายใจและความรู้ตัวทั่วพร้อม) แล้วกลับไปสังเกตการคิดนั้นใหม่ ว่ามันหายไปหรือยัง ยัง ยังไม่หายไป ยังอยู่ ยังคิดเรื่องเดิมอยู่หรือเปล่า ยังคิดเรื่องเดิม โอเค.รู้แล้วยังอยู่ แว้บ..บ กลับมาอยู่กับลมหายใจและความรู้ตัวทั่วพร้อมใหม่ แล้วแว้บ..บ กลับมาสังเกตความคิดอีกที ทำอย่างนี้ซ้ำๆในที่สุดความคิดที่ถูกสังเกตนั้นก็จะฝ่อหายไป

     ทั้งหมดนี้คุณจะได้อะไร คุณจะได้เรียนรู้จากภาคปฏิบัติว่าความคิดชนิดที่เป็นความโกรธนั้น มาจากการรับรู้สิ่งเร้าคือภาพขี้แมว แล้วตกกระทบในใจคุณแบบก่อตัวขึ้นเป็นอาการของร่างกายและความไม่ชอบในใจก่อน หากคุณมองมันทัน มันก็จะฝ่อหายไป หากคุณมองไม่ทัน มันก็จะก่อตัวเป็นความคิดที่ 2, 3, 4 เป็นเรื่องราวที่ยิ่งกระพือให้ความโกรธคืออาการบนร่างกายนั้นแรงขึ้นๆ นั่นก็คือคุณรู้วิธีดับความโกรธ ว่าแค่คุณรู้ตัว เฝ้ามองมันอยู่ข้างนอก มันก็จะฝ่อไป

     แก๊ง..ง ยกที่สอง คราวนี้มาเล่นกับขี้แมว อื๋ย..ย เหม็น ให้คุณยืนดมกลิ่นขี้แมว แล้วสังเกตความเปลี่ยนแปลงในร่างกายคุณว่าเมื่อมีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้น ร่างกายคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่าหนีไปไหน อยู่ตรงนั้น เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงบนร่างกาย สังเกตขนที่ลุกเพราะความสะอิดสะเอียน เฝ้าสังเกตดูมัน จนเห็นว่าขนมันลุกขึ้นแล้วมันก็สงบลง ความสะอิดสะเอียนชวนขย้อน เมื่อมองดูมันมันก็ค่อยๆสงบลง บางครั้งสงบลงช้า บางครั้งสงบลงเร็ว ถ้าคุณอยากจะบรรลุธรรมขั้นสูงกว่านี้ ไปเอาถุงมือมา โกยขี้แมวขึ้นมาดม บี้ขี้แมว มองดูความน่าสยดสยองของขี้แมวให้เต็มตา ไม่ได้ให้คุณพิจารณาขี้แมวหรือกลิ่นเหม็นนะ แต่ให้คุณสังเกตความเปลี่ยนแปลงบนร่างกายของคุณและความรู้สึกในใจคุณว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดแล้วหากตื้อดูมันไป มันก็จะสงบลง บางครั้งเผลอลืมสังเกตแบบเกาะติด ความคิดก็จะแทรกต่อยอดขึ้นมา แน่นอนเป็นความคิดเรื่องเกี่ยวกับขี้แมวนั่นแหละ ทั้งหมดนี้คือคุณเรียนรู้จากการปฏิบัติว่าเวทนา (feeling) หรือความรู้สึกบนร่างกายและใจเกิดขึ้นแล้วมันดับลงเองอย่างไร และว่าหากคุณเผลอ ความคิดมันจะเกิดขึ้นต่อยอดบนเวทนาอย่างไร

     ให้คุณเล่นกับขี้แมวทุกวัน เพราะขี้แมวนี้ก็คือตัวแทนของสิ่งต่างๆนอกตัวเรา ที่เราถือว่ามันเป็นต้นเหตุให้เราเป็นทุกข์ สิ่งภายนอกเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ลูก สามี ภรรยา หรือโควิด19 ซึ่งแท้จริงแล้วมันเป็นแค่สิ่งภายนอก แต่ความทุกข์ของเราแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากความคิดของเราเอง ซึ่งถูกชงให้เกิดต่อยอดบนความรู้สึกทางกายและใจหลังจากที่เราได้รับรู้สิ่งภายนอกเหล่านั้นผ่านอายตนะของเรา ถ้าเราเฝ้าดูกลไกการเกิดนี้ ความคิดต่อยอดก็จะไม่มี คุณทำอย่างที่ผมบอก แล้วคุณจะบรรลุความหลุดพ้น โดยอาศัยการมีเพื่อนบ้านไม่ถูกสะเป๊คเป็นตัวช่วย

      ระดับที่ 2. ระดับความคิด ถ้าคุณมีความเห็นว่าโห..หมอสันต์จะให้เล่นขี้แมว ไม่เอาด้วยหรอก คือถ้าการแก้ปัญหาโดยเอาปัญหาเป็นเครื่องฝึกความรู้ตัวมัน “เกินไป” สำหรับคุณ คุณลองลดระดับลงมาเล่นอีกระดับหนึ่งที่ง่ายขึ้นก็ได้ คือระดับความคิด

     ความโกรธเป็นความคิดลบ การจะกลบความคิดลบคุณก็ต้องคิดบวก

     ความโกรธคือการปฏิเสธไม่ยอมรับ คุณก็ต้องเริ่มที่การคิดยอมรับ (acceptance) การยอมรับที่แท้จริงนั้นรวมไปถึงการยอมแพ้อย่างราบคาบ (surrender) ยอมให้เขาเอารัดเอาเปรียบโดยไม่รู้สึกโกรธแค้นอะไรด้วย

     ความโกรธคือการกล่าวโทษ คุณก็ต้องเริ่มที่การคิดให้อภัย (forgiveness)

     ความโกรธคือความเกลียดชัง คุณก็ต้องเริ่มที่การคิดเมตตา (compassion) คิดรักเพื่อนบ้าน รักศัตรู คิดให้แก่ศัตรูโดยไม่หวังอะไรตอบแทน

     ผมจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องการคิดบวกนะ เพราะพวกนักจิตวิทยาทั่วโลกเขียนหนังสือกันเป็นคุ้งเป็นแควหาอ่านได้ง่ายๆอยู่แล้ว คุณจะหัดเป็นคนคิดบวก ผมไม่คัดค้าน หมายความว่าผมสนับสนุน แต่ถึงจุดหนึ่งหากคุณอยากหลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากการที่คุณเอาสำนึกว่าเป็นบุคคลของคุณไปพัวพันกับสิ่งนอกตัว คุณต้องวางความคิดไม่ว่าบวกหรือลบไปอยู่ในความรู้ตัว เพราะที่นั่นเป็นที่เดียวที่คุณจะหลุดพ้น

     ระดับที่ 3. ระดับสัญชาติญาณ ถ้ายังว่า โห.. จะให้ยอมรับ ยอมแพ้ ยายแก่ปากปลาร้าข้างบ้านเนี่ยนะ เมินเสียเถอะ ก็หมายความว่าการจะแก้ปัญหาด้วยความรู้ตัวหรือด้วยการคิดบวกมันยากเกินไปสำหรับคุณ มันก็เหลืออีกทางเดียวคือการสนองตอบต่อสิ่งเร้าไปด้วยสัญชาติญาน หรือ survival instinct เหมือนกับที่หมาเวลาถูกเหยียบหางก็แว้งกัดเลยโดยไม่ต้องคิดมาก ทางเลือกที่คุณจะแก้ปัญหาในระดับนี้ก็เช่น

     (1) ไปหาหมามาเลี้ยง จะได้เอาไว้ไล่กัดแมว

     (2) ถ่ายรูปไว้ แล้วจ้างทนายความไปยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาล

     (3) วางยาเบือ     

     หิ..หิ โหด..ด ซะ เพราะการแก้ปัญหาไปตาม survival instinct ก็คือการปล่อยชีวิตไปตามแรงผลักดันของความคิดที่สะสมไว้ในหัวเรามาแต่อดีต หมายความว่าก็คือการปล่อยชีวิตไปตามบังคับของกรรมเก่า ไม่ได้หมายความว่าหมอสันต์แนะนำให้ทำอย่างนี้นะ แค่บอกว่าทางเลือกที่คุณจะเลือกได้ทั้งหมดมันมีประมาณนี้

     แต่ที่หมอสันต์แนะนำให้เลือกทำอย่างเป็นทางการ อย่างแข็งขัน ก็คือระดับที่ 1. คือเอาสิ่งภายนอกที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เป็นเครื่องมือฝึกปฏิบัติให้เราเข้าถึงกลไกการเกิดความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์แล้วหลุดจากความคิดนั้นได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์