Latest

ระวังนะคุณคิดอะไรบ่นเรื่องอะไร..นั่นแหละจะเป็นจริงในชีวิตของคุณ

คุณหมอคะ
สามีของหนูเขาเป็นคนดีที่รักหนูมาก แต่เขาบอกว่าหนูเป็นคนขี้บ่นขี้หงุดหงิดและชอบมองอะไรในแง่ร้าย มีวันหนึ่งเขาถึงกับเปรยกับหนูว่าเขาแต่งงานกับหนูแล้วเครียดและทำให้ชีวิตเขาพบแต่เรื่องเครียดๆ หนูคิดมากว่านี่เขากำลังจะมีคนใหม่หรือเปล่า หรือเขาตำหนิว่าคำบ่นของหนูทำให้ชีวิตเขาเจอแต่สิ่งไม่ดี หนูขี้บ่นก็จริงนะคะคุณหมอ แต่ในใจหนูไม่ได้คิดร้ายใคร หนูชอบความถูกต้องยุติธรรม มันจริงหรือคะคุณหมอที่ว่าการบ่นว่าอะไรไม่ถูกไม่ควรจะมีผลถึงกับทำให้ชีวิตของคนข้างๆแย่ไปเลย

……………………………………………..

ตอบครับ

     ถามว่าการเป็นคนขี้บ่นทำให้ชีวิตคนช้างๆเสียหายจริงไหม ตอบว่าจริงสิครับ เพราะในโลกนี้มีใครอยากฟังคนบ่นกระปอดกระแปดทั้งวันบ้าง ตัวคุณเองชอบอยู่ใกล้คนขี้บ่นไหมละ อะไรก็ตามที่ตัวคุณเองยังไม่ชอบเลย คุณก็ไม่ควรเอาไปให้คนอื่น

     แต่ว่าคำบ่นมันมีผลต่อผู้บ่นมากกว่าผู้ฟังนะ เพราะคำบ่นมาจากความคิด เป็นความคิดชนิดลบ คนชอบบ่นก็คือคนชอบคิดลบตลอดศก คำบ่นไม่สำคัญ แต่ความคิดนั่นสิสำคัญ ตรงนี้แหละอันตราย คุณอย่าไปห่วงสามีคุณว่าจะเฉาตายเพราะปากคุณเลย ห่วงตัวคุณเองดีกว่า ผมจะค่อยๆชี้แจงนะว่าความคิดมันมีผลต่อชีวิตเราอย่างไร

     กลไกการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของร่างกายสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีพื้นฐานอยู่บนวงจรไฟฟ้าของระบบประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า reflex วงจรง่ายที่สุดเช่นวงจรการเตะเท้าเมื่อถูกเคาะเอ็นสะบ้า ประกอบด้วย

– ตัวรับสัญญาณว่าเอ็นหัวเข่าถูกยืด
– แปลงสัญญาณการถูกยืดเป็นไฟฟ้า
– ส่งไปตามเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory)
– ไปปล่อยไฟฟ้าเข้าเส้นประสาทสั่งการ (motor)
– ไปปล่อยที่ปลายประสาทที่ฝังอยู่ในกล้ามเนื้อหน้าขา
– ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อหน้าขาให้กระตุก

     วงจรพื้นฐานทำนองนี้ประกอบกันเข้าเป็นวงจรที่ซับซ้อนอีกมากมายทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถสนองตอบอย่างเหมาะสมกับสิ่งเร้าที่เข้ามาในแต่ละวินาทีได้ทันที เช่น พอความดันตกหลอดเลือดก็หดตัวเพื่อเพิ่มความดัน พอมีอะไรมาแตะผิวแก้วตาหนังตาก็จะหลับตาปี๋ลงทันทีเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของลูกตา เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยของชาวรัสเซียคนหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า “ความจำ” ถูกผูกเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของวงจรสนองตอบเฉียบพลันนี้ด้วย ทำให้วงจรนี้ซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นเรียกว่า conditioned reflex หมายความว่าอะไรที่ถูกบันทึกไว้เป็นความจำล้วนจะกลับมาโผล่ในชีวิตจริงของเราอีกครั้งในรูปของการสนองตอบแบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการสนองตอบด้วยการคิด หรือพูด หรือทำ ดังนั้น ยามที่เราเผลอไม่มีสติกำกับการคิดพูดทำของเราเอง สิ่งที่จะกำหนดการคิดพูดทำของเราก็คือความจำของเรานั่นเอง ทั้งความจำที่เราจำได้และความจำชนิดที่เราจำไม่ได้แล้วแต่ว่าสมองของเราบันทึกไว้

     รูปแบบของความคิดที่ฝังแน่นในความจำมากที่สุดคือความกลัวหรือความไม่อยากได้ คนชอบบ่นคือคนที่กลัวหรือไม่อยากได้อะไรอยู่ในใจซ้ำๆซากๆ คุณกลัวอะไร หรือไม่อยากได้อะไร ความกลัวหรือความไม่อยากได้นั้นมันจะหวนกลับมาโผล่ในใจของคุณในรูปของความ “ย้ำคิด” อย่างซ้ำซากอีกๆๆๆ

     ในแต่ละความคิดซึ่งปรากฎเป็นภาษาเชื่อมโยงกันเป็นประโยคและมีความหมายโดยรวมนั้น บางครั้งมันถูกรับรู้และถูกควักกลับมาใช้แบบกระท่อนกระแท่น โดยไม่ได้เรียงกันเป็นประธาน กริยา กรรม หรือคำเชื่อม คำปฏิเสธ ยกตัวอย่างเช่นเราคิดว่า “ฉันไม่อยากเจอเจ้านายใจโหด” บางครั้งความคิดมันแหว่งไปเหลือโผล่มาแต่ “ใบหน้าเจ้านายใจโหด” โดยขาดรายละเอียดประกอบอื่นๆไป คำว่าฉันไม่อยากเจอไม่ได้มาด้วย มาแต่เจ้านายใจโหด เป็นต้น

     คราวนี้ผมจะแชร์ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวกับคุณโดยไม่เกี่ยวอะไรกับหลักฐานหรือผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์นะ ว่าความคิดของเรานี้ไม่ว่าจะโผล่ขึ้นมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันมีศักยภาพที่จะสร้างสถานะการณ์ขึ้นในชีวิตจริงได้เสมอ แบบที่พวกนักจิตวิทยาเขาตั้งชื่อเรียกว่ากฎแห่งการดึงดูดหรืออะไรทำนองนั้นนั่นแหละ ผมไม่รู้หรอกว่ากลไกพื้นฐานมันเป็นอย่างไรอธิบายด้วยภาษาให้มันเม้คเซ้นส์ได้หรือไม่ รู้แต่ว่าสิ่งที่เป็นสถานะการณ์ในชีวิตจริงซึ่งประกอบด้วยคนสัตว์สิ่งของภายนอกตัวเรานั้น มันถูกสร้างขึ้นโดยใจของเราทั้งสิ้น เพราะผู้รับรู้สถานะการณ์นั้นก็มีแต่ใจหรือความสนใจของเราเท่านั้น ถ้าไม่มีใจของเราไปรับรู้ สถานะการณ์เหล่านั้นก็ไม่มี และหากใจของเราหมกมุ่นครุ่นคิดถึงสิ่งใด สถานะการณ์ในชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นก็จะถูกสร้างขึ้นหรือถูก “เสก” ขึ้นมา ฟังดูไสยศาสตร์มากเลยใช่ไหม แต่ผมแชร์ประสบการณ์ชีวิตกับคุณได้เต็มปากเต็มคำว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ถ้าจะให้ผมพูดให้ลึกซึ้งจริงใจขึ้นไปอีกหน่อยก็คือชีวิตของคนเรามันมีส่วนตื้นคืออีโก้หรือตัวตนนี้ กับส่วนลึกซึ่งก็คือความรู้ตัว ส่วนลึกนี้มันมีศักยภาพที่พิศดารอธิบายเป็นภาษาไม่ได้เดี๋ยวคนเขาจะว่าหมอสันต์บ้า เอาเป็นว่ามัน “เสก” สถานะการณ์ในชีวิตคุณขึ้นมาจากความย้ำคิดของคุณได้ก็แล้วกัน

     ประเด็นที่ผมจะพูดกับคุณคือ ประเด็นที่ 1. ให้ระวังความคิด โดยเฉพาะความคิดในรูปแบบของความกลัว หรือความไม่อยากได้ ซึ่งบ่อยครั้งแสดงออกมาในลักษณะของคำจู้จี้ขี้บ่น เพราะมันจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ในชีวิตจริง แบบว่ากลัวอะไร เกลียดอะไร ก็จะได้สิ่งนั้น จะเจอสิ่งนั้น คนขี้บ่นจะพบแต่เหตุการณ์ร้ายๆในชีวิตราวกับว่าคำบ่นนั้นเป็นคำสาปสำหรับชีวิตตัวเอง เพราะคำบ่นเกิดตามหลังความคิดในใจ คนขี้บ่นกับคนขี้กลัวเป็นคนพันธ์ุเดียวกันคือไม่อยากให้เหตุการณ์ที่ไม่ชอบเกิดขึ้นอีก เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น คนขี้บ่นหรือขี้กลัวจะเลือกคิดถึงความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ขึ้นมาก่อนเสมอ นั่นคือการ “เสก” สถานะการณ์จริงในชีวิตให้ตัวเองไว้ล่วงหน้าแล้ว

    “จะไม่ให้บ่นได้ยังไง ก็มันไม่ถูกต้องนี่”

     เมื่อเราพบเห็นอะไรไม่ถูกต้อง เราจะหงุดหงิด ความหงุดหงิดเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดนะ เราบันทึกจดจำมันเข้าไปแล้ว ซ้ำๆซากๆ กลายเป็นว่าคอนเซ็พท์เรื่องความถูกต้องที่เรายึดถือเป็นตัวร้ายที่ทำให้เราบันทึกจดจำแต่เรื่องร้ายๆและทำให้เราได้พบกับเรื่องร้ายๆ

     ประเด็นที่ 2. ของผมก็คือเมื่อใดก็ตามที่พบเห็นคนทำอะไรไม่ถูกต้อง คุณมีทางเลือกสองทางคือ

     (1) บันทึกความหงุดหงิด (upset) ด้วยการนึกตำหนิ หรือบ่น ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

     (2) บันทึกความสงบเย็น (peace) ด้วยการนึกให้อภัย เมตตา และช่วยเหลือ

     ผลของการเลือกสองทางนี้ต่างกันมากนะ ทางเลือกแรกคุณ “เสก” สิ่งเลวร้ายให้มาเกิดกับชีวิตคุณอีกในโอกาสหน้า แต่ทางเลือกที่สองคุณ “เสก” สิ่งดีๆให้มาเกิดในชีวิตคุณในโอกาสหน้า

     ทั้งสองประเด็นนี้ผมไม่มีวิทยาศาสตร์ใดๆมาอธิบาย มีแต่ประสบการณ์ในชีวิตจริงมาแชร์ ว่ามันเป็นเช่นนี้เสมอ คุณจะเลือกทางไหนก็เลือกเอา ชีวิตคุณคุณเลือกเอง ไม่ใช่เพื่อสามี ไม่ใช่เพื่อคนงี่เง่าที่คุณให้อภัยเขา แต่เพื่อตัวคุณเองนั่นแหละ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์