Latest

โรคไฮโปไทรอยด์กับธรรมชาติบำบัด และ..บารมีแฮริสันคุ้มเกล้า

เรียน คุณหมอสันต์
หนูมีเรื่องอยากจะปรึกษา คุณหมอค่ะ แม่หนู อายุ 50 ปี เป็นโรค ไฮโปไทรอยด์ ได้ทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก เมื่อ 20 ปีที่ แล้ว และได้ทานยามาตลอด แต่เวลา ทานยา จะมีผลข้างเคียงเสมอ เช่น ผมร่วงทุกวัน,  เวียนหัว, เป็นไข้ , เหนื่อยง่าย  , ผิวแห้ง และบางครั้งก็มีอาการ ปวดหูร่วมด้วย  จนเมื่อเดือน มกราคม 2563 คุณแม่ตัดสินใจ หยุดทานยา แล้วหันมา รักษาโดยวิธีธรรมชาติบำบัด คือ ไม่ทาน เนื้อสัตว์ ทานผัก ผลไม้  ไม่ทานอาหาร ทอด ปิ้ง ย่าง และ ทานอาหารเสริม ที่เหมาะสมกับโรคไฮเปอร์ ไทรอยด์  แต่แม่หนูไม่ได้ปฏิบัติ ตามวิธีทำธรรมชาติ บำบัด 100%  เพราะว่า  แต่ละวัน แม่หนู ค่อนข้างยุ่ง และ ผลตรวจเลือด ล่าสุด ออกมา ค่า TSH คือ 33  เกินที่เกณฑ์กำหนด มา8 เท่า  ( หนูได้แนบไฟล์ ผลตรวจเลือด เดือนมีนาคม กับเดือน มิถุนา 2563 ล่าสุดให้คุณหมอดูด้วยค่ะ )ซึ่งแม่หนูเครียดมาก ว่า ทำยังไง ค่า TSH ถึง จะลดลง คือ แม่หนูไม่อยากกลับไปทานยาฝรั่ง อีกแล้ว เพราะ แม่หนู เชื่อว่ายา นี้ จะทำให้ ท่านเป็นมะเร็งในอนาคตถ้ายัง กินต่อไป หนู อยากถามคุณหมอว่า
1. ยา ของฝรั่ง ที่แม่หนูเคยทาน ถ้ากินเป็นเวลานาน จะก่อให่เกิดมะเร็งไหมคะ ( หนูได้แนบไฟล์ ยาที่แม่หนูเคยทานไว้ด้วยค่ะ )
2. หนู อยากทราบว่า ถ้า กินยาฝรั่ง ควบคู่กับ การรักษา ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด จะมีผลเสียอะไรไหมคะ
3. ถ้า จะให้ ค่า TSH ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรจะกลับไปกินยาฝรั่ง ชั่วคราวก่อนไหมคะ ถ้าดีขึ้น ค่อยหยุดทาน

…………………………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่ายาของฝรั่ง (thyroxin หรือ levothyroxin) ที่แม่หนูเคยทาน ถ้ากินเป็นเวลานาน จะก่อให่เกิดมะเร็งไหมคะ ตอบว่า “ไม่” ครับ หมายความว่ายาฮอร์โมนไทรอยด์กินไปนานนานไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์หรือมะเร็งใดๆมากขึ้น เพราะยานี้ก็คือสาร thyroxin ที่ร่างกายเราผลิตขึ้นในภาวะปกตินั่นเอง ไม่ใช่สารเคมีแปลกประหลาดมาจากไหน

     ในทางการแพทย์นั้นถือว่าพิษของยาใดๆก็ตามไม่ว่าจะในแง่ของการก่อมะเร็งหรือก่อผลเสียใดๆจะปรากฎชัดต่อทารกในครรภ์ เพราะเซลของทารกในครรภ์กำลังแบ่งตัวจึงล่อแหลมต่อการถูกเหนี่ยวนำให้กลายเป็นเซลมะเร็ง ยาที่มีความปลอดภัยสูงสุดเท่านั้นจึงจะอนุญาตให้ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ โดยวงการแพทย์ได้จัดแบบความปลอดภัยของยาออกเป็นหมวดหรือ category ตามพิษต่อทารกในครรภ์ โดยแบ่งออกเป็นหมวด A, B, C, D, X โดยหมวด X นั้นมีพิษมาก กินไม่ได้เลย หมวด D มีพิษมากรองลงไป แต่หากจำเป็นต้องกินจริงก็ยังพอยอมรับให้กินได้ ส่วนหมวด A นั้นปลอดภัยที่สุด ไม่มีหลักฐานว่ามันมีพิษใดๆเลย ทั้งนี้ยา thyroxin ที่ใช้รักษาไฮโปไทรอยด์ที่แม่ของคุณใช้อยู่นั้นเป็นยาที่ถูกจัดไว้ในหมวด A ซึ่งถือว่าปลอดภัยที่สุด

     2. ถามว่าถ้ากินยาฝรั่งควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดจะมีผลเสียอะไรไหมคะ ตอบว่ากินได้ มีผลเสียน้อยมาก เหมือนเรากินข้าวกับกับข้าว กับข้าวบางอย่างก็เสริมฤทธิ์ข้าวเช่นให้แคลอรี่มากเหมือนข้าวทำให้ได้แคลอรี่มากเกินไป แต่คนเราก็กินข้าวกับกับข้าวมาแต่โบราณก็ไม่เห็นมีใครตาย สรุปว่ามีผลเสียน้อยมาก

     แต่ถ้าคุณไปหาหมอพื้นบ้านที่ให้การรักษาในแนวสมุนไพรหรือธรรมชาติบำบัด บางท่านอาจจะสาปแช่งกำกับไว้เลยว่ายาของเขานี้ห้ามกินควบกับยาฝรั่งเด็ดขาด ตายไม่รู้ด้วยนะ

     หรือถ้าคุณไปหาแพทย์แผนปัจจุบันบางท่าน พอรู้ว่าคุณไปกินสมุนไพรพื้นบ้านด้วยก็จะโมโหเป็นฟืนเป็นไฟหรือโยนชาร์ตใส่หน้าคนไข้เลยว่าไม่เชื่อฉันแล้วมาให้ฉันรักษาทำไม

     ปฏิกริยาของหมอพื้นบ้านหรือแพทย์ที่ต่อต้านยาที่ไม่ใช่ของตัวเองนั้น ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ อย่างมากก็เป็นแค่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งวงการแพทย์ไม่ได้นับเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ คุณอย่าไปให้น้ำหนักเลย แต่ก็เป็นการดีที่คุณจะหลบเลี่ยงไม่ไปเหยียบตาปลาท่านเข้า

     เพียงแต่ขอให้คุณใส่ใจในประเด็นความปลอดภัยของยาและสมุนไพรที่กิน ยานั้นไม่มีปัญหาเพราะกฎหมายบังคับให้แจ้งพิษและผลข้างเคียงไว้ที่ฉลาก ขอแค่รู้ชื่อยาคุณก็ค้นหาอ่านได้เองทางอินเตอร์เน็ทแล้ว ส่วนสมุนไพรนั้นคุณหาอ่านไม่ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ควรสืบสาวให้ได้ว่ามันมาจากพืชชนิดใด พืชชนิดนั้นคนเขากินกันทั่วไปนานมาแล้วหรือเปล่า ถ้ามันเป็นพืชที่คนเขากินกันมาแต่โบราณแล้วไม่มีใครตายมันก็ปลอดภัย หรือถ้ามันเป็นตำรับสมุนไพรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมุนไพรของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วมันก็มีความปลอดภัยกว่าสมุนไพรเถื่อนไร้ชื่อ แต่หากมันเป็นสมุนไพรที่คุณไม่สามารถสืบกำพืดได้ว่าทำมาจากพืชชนิดไหน ทะเบียนสมุนไพรก็ไม่ได้ขึ้น ผมว่าอย่าไปกินดีกว่า ทั้งนี้ผมนับรวมวิตามินหรืออาหารเสริมที่คลินิกแพทย์แผนปัจจุบันหรือโรงพยาบาลบางแห่งเอามาตำขายให้กับคนไข้ในราคาแพงๆโดยไม่ยอมบอกว่าในนั้นมีอะไรอยู่บ้างด้วย ถามอย่างไรก็ไม่บอก ทุกวันนี้ก็ยังมีคนทำแบบนี้ทั้งๆที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ให้คุณหลีกเลี่ยงการรักษาที่ผิดกฎหมายแบบนี้เสีย เพราะการกินอะไรที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันก็มีความเสี่ยงแหงๆอยู่แล้วจากการที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันอาจจะเป็นขี้ก็ได้ (หิ หิ พูดเล่น)

     3. ถามว่าถ้าจะให้ ค่า TSH ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรจะกลับไปกินยาฝรั่งชั่วคราวก่อนไหม ตอบว่า “ดีครับ” ในการรักษาโรคไฮโปไทรอยด์นี้ การกินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีรวดเร็วทันใจที่สุด และอย่าลืมว่ามันเป็นยาที่ถูกจัดอยู่ในหมวกที่ปลอดภัยที่สุดด้วยนะ

     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตตามข้อมูลที่คุณให้มา อาการเช่น ผมร่วงทุกวัน ผิวแห้ง  ปวดตามตัว ปวดโน่นปวดนี่ ทั้งหมดนั้นเป็นอาการของโรคไฮโปไทรอยด์ หมายความว่ามันเกิดจากยาน้อยไป ไม่ได้เกิดจากพิษของยา คุณไปหยุดยา อาการมันก็ยิ่งจะมากขึ้น วิธีที่ถูกคือคุณควรจะกลับไปหาแพทย์ที่รักษาไฮโปไทรอยด์ให้คุณอยู่ให้ท่านปรับยาให้ใหม่

     ไหนๆก็พูดถึงอาการวิทยาแล้ว ขอเล่าเผื่อไว้เลยเป็นความรู้ประดับกายไม่ใช่การขู่ ว่าโรคไฮโปไทรอยด์นี้หากอาการเลวร้ายสุดขีดแล้วมันจะเป็นอย่างไร วงการแพทย์เรียกกรณีเลวร้ายสุดขีดนี้ว่า myxedema coma คือไฮโปไทรอยด์ถึงขั้นโคม่า กล่าวคือหากขาดฮอร์โมนไทรอยด์อยู่มากๆและนานๆ ระบบสำคัญของร่างกายซึ่งรวมถึงระบบหัวใจ ประสาท การหายใจ ไต ทางเดินอาหาร และระบบเลือด จะเกิดมีอันเป็นไป คือตีรวนพร้อมกันคราวเดียวแบบจับมือกันประท้วง ทำให้ความดันตกพรวดพราด ตัวเย็นหัวใจเต้นช้ามาก หอบเหนื่อย น้ำท่วมปอด บวมฉุ เขียวฟกช้ำ เบลอ สลึมสลือ ชัก แล้วก็ตาย สมัยหมอสันต์เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่เวรห้องฉุกเฉินคนเดียวกลางดึกเจอคนไข้แบบนี้เข้าเล่นเอาตัวหมอสันต์เองมือเย็นเจี๊ยบเสียยิ่งกว่ามือคนไข้อีก หิ หิ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยบารมีของแฮริสันคุ้มเกล้า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     (แฮริสัน เป็นชื่อตำราอายุรศาสตร์ซึ่งแพทย์ใช้กันทั่วโลก แพทย์ฝึกหัดความรู้น้อยต้องแอบซุกแฮริสันไว้ในเก๊ะ จนแต้มต่อหน้าคนไข้เข้าก็ทำทีเป็นเปิดเก๊ะหาเครื่องมือตรวจวินิจฉัย แต่ที่แท้แอบอ่านแฮริสันว่า เฮ้ย เจอยังนี้เป็นอะไรวะ ทำไงดี รีบบอกมาเร็ว)

     5. ข้อนี้ผมแถมสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป การวินิจฉัยโรคไฮโปไทรอยด์นอกจากวินิจฉัยจากอาการเช่น เปลี้ย ล้า ผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว ขี้หนาว กินน้อย แต่อ้วน นอนมาก หน้ากลม เสียงแหบ ไขมันในเลือดสูง ประจำเดือนผิดปกติ ซึมเศร้า ความจำเสื่อม แล้วยังจะต้องยืนยันการวินิจฉัยด้วยการเจาะเลือดดูตัวชี้วัดอย่างน้อยสองตัว คือ ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตขึ้น(FT4) ถ้าฮอร์โมนกระตุ้นต่อมสูงผิดปกติ และฮอร์โมนที่ต่อมผลิตออกมาต่ำกว่าปกติ ก็ยืนยันได้ว่าเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ การรักษาโรคนี้มีวิธีเดียว คือให้กินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน การจะกินนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เป็นไฮโปไทรอยด์ หากสาเหตุนั้นเป็นสาเหตุถาวร เช่นผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไปหมดแล้ว ก็มีโอกาสมากที่อาจจะต้องกินไปตลอดชีวิต แต่หากสาเหตุนั้นเป็นแบบเป็นๆหายๆเช่นโรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต ช่วงไหนไฮโปก็กินยา ช่วงไหนไฮเปอร์ก็หยุดยา ดังนั้นการเป็นไฮโปไทรอยด์ไม่แน่เสมอไปว่าจะต้องกินยาไปตลอดชีวิตหรือไม่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์