Latest

จะลดไขมันในเลือดด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ต้องถึงขนาดถากเปลือกไม้สนมากิน

คุณหมอที่เคารพ
แพ้ยาลดไขมัน (atorvastatin) มีอาการปวดกล้ามเนื้อมากจนออกกำลังกายไม่ได้เลย หมอเปลี่ยนยาไปสามตัวแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ตอนนี้หยุดยาแต่ LDL ก็ยังสูง 210 อาหารก็กำลังพยายามกินตามที่คุณหมอสอนแต่ทำได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะหากินยากเนื่องจากต้องทำงานตัวเป็นเกลียวไม่มีเวลาทำอาหารเอง อยากปรึกษาคุณหมอว่ามียาอะไรหรืออาหารอะไรที่จะมาแทนสะแตตินได้บ้าง
ขอบพระคุณคะ

……………………………………….

ตอบครับ

     ผมได้พูดไปหลายครั้งแล้วว่าการลดไขมันในเลือดที่ดีที่สุดก็คือลดอาหารมันและอาหารหวานซึ่งให้แคลอรีโดยไม่มีคุณค่าอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในรูปของนม (แท้) เนย (แท้) นั่นแหละสำคัญนัก ลดลงไป อีก อีก อีก จนในที่สุดเมื่อดุลของไขมันที่เข้าสู่ร่างกายกับที่เผาผลาญเป็นพลังงานพอดีกันไขมันในเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ นี่เป็นสัจจธรรม

     ยาลดไขมันกลุ่มสะแตติน เป็นตัวช่วยลดไขมันในเลือดที่ดีที่สุดในช่วงที่การเปลี่ยนอาหารย้งไม่สำเร็จ คือช่วงที่ยังไม่สามารถเอาชนะอาการลงแดงจากความอยากกินของมันๆหวานๆได้ ถ้าคุณแพ้สะแตติน ก็จำเป็นต้องลดขนาดยาให้เหลือต่ำสุดเท่าที่พอจะได้ผล ซึ่งสามารถลดลงไปได้ถึงหนึ่งเสี้ยวของเม็ด (5 mg ของ atorvastatin) สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง สัปดาห์ละนะ ไม่ใช่วันละ มันสามารถลดขนาดลงไปได้ต่ำขนาดนั้นหากตั้งใจจะลดจริง ขณะเดียวกันก็ต้องหาตัวช่วยตัวอื่นที่มีกลไกการออกฤทธิ์คนละที่กันมาประกบ ยาสะแตตินนั้นออกฤทธิ์ระงับเอ็นไซม์สร้างโคเลสเตอรอลที่ตับ ตัวช่วยตัวอื่นก็เช่นสารในกลุ่ม plant sterols/stanol ซึ่งออกฤทธิ์ระงับการดูดซึมไขมันจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ตัวสะเตอรอลหรือสตานอลนี้เป็นไขมันจากพืชมีอยู่ใน รำข้าว ถั่ว นัท  ข้าวงอก ผัก ผลไม้ และในส่วนของพืชที่กินไม่ได้เช่นในเปลือกไม้สน งานวิจัยทำที่แคนาดา [1] สรุปผลได้ว่าการกินสะเตอรอลจากอาหารธรรมชาติเป็นวิธีลดไขมันเลวที่ดีที่สุดในบรรดาวิธีตามธรรมชาติทั้งหลาย แต่ว่าขนาดของสะเตอรอลในอาหารธรรมชาตินี้มันไม่ชัวร์ว่ากินแค่ไหนร่างกายถึงจะได้พอที่จะลดไขมันได้ จึงมีผู้เอาสะเตอรอลมาใส่ในอาหารสำเร็จรูปในรูปของชีสปลอมบ้าง เนยปลอมบ้าง กาแฟบ้าง น้ำส้มบ้าง งานวิจัยกินเนยใส่สะเตอรอลวันละ 2 กรัม [2] ที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์พบว่าลดไขมันเลว LDL ในเลือดลงได้ 14%

     ตัวหมอสันต์เองก็เคยทำวิจัยวิธีลดไขมันโดยการดื่มกาแฟที่ใส่สะเตอรอลหรือสตานอล [3] ในขนาด 2 กรัมต่อถุงซึ่งชงได้หนึ่งแก้ว เป็นกาแฟนำเข้ามาขายจากยุโรปโดยทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในคนไทย ได้ผลสรุปว่าดื่มกาแฟใส่สะเตอรอลนี้วันละแก้วเดียวลดไขมัน LDL ลงได้ 12.77% แต่ว่าเดี๋ยวนี้กาแฟนั้นผมไม่เห็นวางขายในตลาดแล้ว เข้าใจว่าคงจะเจ๊งไปเรียบร้อยแล้วเพราะรสชาติอาจไม่ถูกปากคอกาแฟ เนื่องจากตัวสะเตอรอลหรือสตานอลเองนั้นมันมีรสขมแบบพิกลๆอยู่

     เมื่อปีที่แล้วเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักอุตสาหกรรมอาหารเสริมก็เอาสะตานอลจากเปลือกไม้สนมาทำกาแฟแล้วเอามาให้ผมลองดื่มดู ผมบอกว่าเออ..อร่อยดี ให้ทำขายสิ เธอก็ทำแล้วไปขออนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) เจอกันครั้งหลังสุดเมื่อไม่นานมานี้ผมถามเธอว่าเรื่องทำกาแฟขายไปถึงไหนแล้ว เธอตอบว่าอย.ยังไม่ผ่านให้ เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องฉลาก..เวรกรรม

     สรุปว่าในการแก้ปัญหา ให้คุณมุ่งลดไขมันและแคลอรีในอาหารลงไปอีก อีก อีก เน้นกินแต่พืชเป็นหลัก ในระหว่างนี้ให้คุณลดขนาดยาสะแตตินลงเหลือต่ำสุดเท่าที่จะทนผลข้างเคียงของมันได้ ขณะเดียวกันก็ไปหาอาหารที่เขาใส่สะเตอรอลหรือสะตานอลมากิน หากหาไม่ได้ก็ให้กินอาหารที่อุดมสตานอลที่เมืองไทยมีเช่น รำข้าว ถั่ว นัท ข้าวงอก ผัก ผลไม้ คือเอาเท่าที่หากินได้ ไม่ต้องถึงขนาดไปถากเปลือกไม้สนมากินดอก ทำแค่นี้ผมเชื่อว่าไขมันเลวในเลือดของคุณก็จะลงมาเป็นปกติได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

1. AbuMweis SS, Marinangeli CPF, Frohlich J, Jones PJH. Implementing Phytosterols Into Medical Practice as a Cholesterol-Lowering Strategy: Overview of Efficacy, Effectiveness, and Safety. Canadian Journal of Cardiology 2014:30(10):1225-1232. doi.org/10.1016/j.cjca.2014.04.022
2. Miettinen TA, Puska P, et al. Reduction of Serum Cholesterol with Sitostanol-Ester Margarine in a Mildly Hypercholesterolemic Population. N Engl J Med 1995; 333:1308-1312.
DOI: 10.1056/NEJM199511163332002
3. Chaiyodsilp S, Chaiyodsilp P, Pureekul T, Srisawas R, Khunaphakdipong Y. A Prospective Randomized Trial for Reduction of Serum Low Density Lipoprotein (LDL) with Plant Stanol Ester Mixed in Coffee in a Hypercholesterolemic Thai Population. BKK Med J [Internet]. 2013Feb.20 [cited 2020Jul.10];50:9. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/bkkmedj/article/view/218040