COVID-19

ถ้าไม่มีวัคซีนโควิด 19 เราจะไปทางไหน

     ผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งงานอาชีพต้องทำงานกับการป้องกันโรคโดยตรง จึงมีความสนใจเรื่องวัคซีนมากเป็นพิเศษ กระบวนการผลิต อนุมัติ และจำหน่ายวัคซีนในโลกนี้เป็นธุรกิจระดับซับซ้อนลึกซึ้ง มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับวิชาการอย่างกลมกลืน การค้าขายวัคซีนเป็นการ “หามหมู” ระดับโลกซึ่งหากใครมือบอนคิดจะเอาคานเข้าไปสอดก็จะมีการเล่นงานกันอย่างหนัก ซึ่งว่ากันว่าเอากันถึงตาย แต่วันนี้ผมไม่ได้คิดชักชวนให้ท่านมาสนใจเบื้องหลังของธุรกิจวัคซีนหรอกนะ เพราะตอนนี้คนไทยเราลุ้นวัคซีนเพื่อจะได้เปิดประเทศหารายได้เข้าประเทศเสียที ผมจะชวนท่านมาดูสถานะปัจจุบันของการผลิตวัคซีนและชวนให้มองข้ามช็อตไปถึงหลังจากเรื่องวัคซีนใช้ได้ใช้ไม่ได้แล้วอะไรจจะตามมา 
     ขั้นตอนในการผลิตวัคซีนปกติมี 6 ระยะ คือ (1) สำรวจเบื้องต้น (2) ก่อนใช้กับคน (preclinical) (3) ใช้กับคน (clinical) (4) ตรวจสอบอนุมัติ (5) ผลิต (6) ควบคุมคุณภาพ
     หากมาดูการผลิตวัคซีนโควิด19 หากนับถึงวันที่ 31 กค. 63 มีผู้ผลิตทำมาถึงระยะทดลองใช้กับคนแล้ว 26 เจ้า ซึ่งระยะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น 3 เฟสคือ 
     เฟส 1. ทดลองกับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ  
     เฟส 2. ทดลองกับกับกลุ่มพิเศษ เช่นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอายุมาก
     เฟส 3.  ทดลองกับคนทั่วไปจำนวนมากหลายพันคนโดยจับทั้งประเด็นประสิทธิภาพและความปลอดภัย
     หลายเจ้าสอบตกเฟสแรกไปแล้วในเรื่องความปลอดภัย ตอนนี้มีอยู่เพียง 5 เจ้าที่มาถึงเฟส 3 โดยมีศักยภาพที่จะได้วัคซีนเร็วช้าตามลำดับดังนี้

     1. โครงการร่วมมหาลัยออกซ์ฟอร์ดกับบริษัท AstraZeneca กำลังทดลองวัคซีนชนิด Non-Replicating Viral Vector เจ้านี้มีโอกาสจะเข้าป้ายถึงฝั่งก่อนใครเพื่อน แต่ก็ไม่แน่ เพราะเจ้าถัดไปก็เร่งผลงานตามมาติดๆ

     2. บริษัท Sinovac ของจีนทั้งที่เบจิงและเซียงไฮ้ กำลังทดลองวัคซีนชนิด Inactivated
     3. สถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพหวู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) กำลังทดลองร่วมกับบริษัท Sinopharm เป็นวัคซีนชนิด Inactivated
     4. สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ร่วมกับบริษัทโมเดอร์นา (Moderna/NIAID) กำลังทดลองวัคซีนชนิด RNA
     5. บริษัท BioNTech (เยอรมัน) ร่วมกับบริษัท Fosun Pharma (จีน) และบริษัท Pfizer (อเมริกัน) กำลังผลิตวัคซีนชนิด RNA 
     ฉากทัศน์ที่ 1. หากการผลิตวัคซีนประสบความสำเร็จ
     ผมรับประกันว่ามันจะเป็นเรื่องแฮปปี้เอนดิ้งอย่างน้อยก็สำหรับโควิด19 ยังไม่พูดถึงโควิดเลขอื่นๆอย่างโควิด20, โควิด30 โควิด40 (ถ้ามี) นะ 
     มีหลายท่านกังขาว่าการผลิตวัคซีนจะล่าช้าไม่ทันการ บ้างก็เกรงว่าจะไม่มีเงินซื้อวัคซีน ตรงนั้นท่านไม่ต้องห่วงเลย เพราะกลไกการผลิตมันก๊อปได้ ส่วนเรื่องเงินนั้นผมเดาว่าวัคซีนจะถูกขายพ่วงมาพร้อมกับกลไกทางการเงินที่เรียกว่า SWAP lines หมายถึงว่าไม่มีเงินซื้อวัคซีนไม่เป็นไร ธนาคารกลางของประเทศผู้ผลิตวัคซีนจะเปิด SWAP lines กับธนาคารกลางของประเทศผู้อยากได้วัคซีน เส้นทางนี้คือผู้ผลิตจะปล่อยเงินกู้อย่างไม่จำกัดและไม่มีดอกเบี้ยให้ประเทศผู้ซื้อ ถามว่าโอ้ โห แล้วประเทศผู้ผลิตจะไปเอาเงินที่ไหนมากมายมาปล่อยกู้ ตอบว่าก็พิมพ์เอาสิครับ การพิมพ์เงินของประเทศพี่เบิ้มทุกวันนี้ไม่ต้องมีทองคำสำรอง พิมพ์กันได้เร็วกว่าพิมพ์แบงค์กงเต๊กเสียอีก แถมพิมพ์แบบดิจิตอล คือพิมพ์เป็นตัวเลข credit ในคอม ไม่ได้พิมพ์เป็นกระดาษ ถามว่าถ้ากู้แล้วไม่มีเงินใช้คืนเขาละ ตอบว่าก็ไม่ต้องห่วง เงินกู้ระดับนี้ใครเขาหวังได้คืนกัน เขาหวังแลกกับการมาเป็น “พวก” หรือเป็นบริวารของเขา แปลไทยให้เป็นไทยก็คือหากวัคซีนโควิด19 ผลิตได้สำเร็จ วัคซีนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือหาพวกในการทำสงครามระหว่างประเทศพี่เบิ้ม หิ หิ ผมว่าวัคซีนโควิด19นี่จะเป็นอาวุธชีวภาพในรูปแบบใหม่เลยเชียวนะ ดังนั้นประเทศกระจอกๆอย่างไทยเราไม่ต้องห่วง อย่างไรเสียก็มีวัคซีนใช้แน่ไม่จากพี่เบิ้มใดก็พี่เบิ้มหนึ่งแหละ นี่เป็นวิธีทำสงครามแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แค่พิมพ์แบงค์กงเต๊กแจกก็หาบริวารได้แล้วโดยไม่ต้องเอาเรือปืนมาจอดที่ปากอ่าว และผมเชื่อว่าวิธีหาบริวารแบบนี้จะใช้การได้ไปอีกหลายปี
      ฉากทัศน์ที่ 2. หากการผลิตวัคซีนล้มเหลว
     ตรงนี้เนี่ยสิครับ ที่ผมอยากจะพูดกับท่านผู้ชม เพราะมันมีประเด็น 
     ก่อนที่จะมองข้ามช็อตไปว่าการผลิตวัคซีนมีโอกาสล้มเหลวมากน้อยแค่ไหน ผมอยากให้ท่านทบทวนประวัติศาสตร์การแพทย์เรื่องไวรัสซาร์สโควี-1 ชึ่งเป็นญาติตัวพี่ของโควิด19 ที่ตัวเชื้อมีชื่อเรียกว่าซาร์สโควี-2 นี้สักหน่อยก่อน เมื่อซาร์สโควี-1 ระบาด วงการแพทย์ก็เร่งผลิตวัคซีน ได้ทำการทดลองวัคซีนในสัตว์เช่นเฟอเร็ต หนู และลิง ผลการวิจัยพบว่าวัคซีนซาร์สโควี-1 สร้างภูมิคุ้มกันโรคระยะสั้นในสัตว์เหล่านั้นได้จริง แต่ก็แลกกับภาวะแทรกซ้อนที่สัตว์เหล่านั้นเกิดโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในแบบต่างๆรวมทั้งภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ทำให้การเริ่มนำวัคซีนมาทดลองในคนยังไม่ได้ทำ แต่ระฆังหมดยกช่วยไว้ คือโรคซาร์สโควี-1 สงบลงเสียก่อน วงการแพทย์จึงไม่ได้ทดลองวัคซีนซาร์สโควี-1ในคนเลย
     ความรู้จากครั้งนั้นทำให้เรารัดกุมขึ้นในการทดลองวัคซีนซาร์ส์โควี-2 คือพยายามผลิตวัคซีนจากชิ้นส่วนเล็กส่วนน้อยของไวรัสแทนการใช้ไวรัสทั้งตัว เพื่อป้องกันปัญหาที่เคยเกิดกับซาร์สโควี-1 แต่ก็นั่นแหละ ผลสุดท้ายมันจะออกหัวหรือออกก้อย มันก็ต้องมีลุ้น ข่าวแรกออกมาแล้วว่าวัคซีนที่อังกฤษและที่จีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนจำนวนเล็กๆในเฟสหนึ่งได้ และการทดลองในเฟสสองมีความปลอดภัยพอที่จะลงมือทดลองเฟสสามกับคนจำนวนหลายพันได้ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ข่าวที่น่าตื่นเต้น เพราะข้อมูลเหล่านี้เรารู้มาตั้งแต่ตอนทำวัคซีนซาร์สโควี-1 แล้ว ข่าวที่น่าตื่นเต้นคือวัคซีนซาร์สโควี-2 จะพ้นสันดอนที่ว่าทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรวนไปจนถึงเป็นภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอย่างวัคซีนซาร์สโควี-1 หรือไม่ ซึ่งผลขั้นต้นของเฟสสามจะบอกทิศทางเรื่องนี้ได้ ตรงนี้สิที่ต้องลุ้น ลุ้นให้มันสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยไม่ตามมาด้วยปัญหาใหม่ต่อร่างกายที่ยอมรับกันไม่ได้ และลุ้นว่ามันจะไม่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งๆที่อุตสาห์มาได้ถึงเฟสสามแล้วเหมือนกับที่เราเคยล้มเหลวกับวัคซีนไข้เลือดออกและวัคซีนเอ็ชไอวี. (เอดส์)จนหลายสิบปีแล้วก็ยังผลิตวัคซีนไม่สำเร็จ
     ประเด็นของผมคือติ๊งต่างว่าถ้าการผลิตวัคซีนโควิด19 ไม่สำเร็จในสองสามปีข้างหน้านี้ เราจะทำอย่างไรกันดี ทุกวันนี้เราอยู่ได้เพราะเรากดโรคไว้ไม่ให้โรคระบาด แต่โจทย์ถูกล็อคไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเราจะต้องเปิดประเทศไม่ช้าก็เร็ว จะปิดประเทศอย่างนี้ไปตลอดกาลเป็นไปไม่ได้ นั่นหมายความว่าหากไม่มีวัคซีนเราก็หมดทางเลือกแล้ว เราจะต้องเปลี่ยนนโยบายกดโรค (suppression) มาเป็นนโยบายผ่อนปรนโรค (mitigation) คือค่อยๆปล่อยให้โรคระบาดแพร่ออกไปทีละนิดๆพอไม่ให้ล้นเตียงโรงพยาบาล จนคนส่วนใหญ่ได้สัมผัสเชื้อแล้วโรคมันก็จะค่อยๆสงบไปเอง 
     อ้าว..นั่นก็หมายความว่าต้องปล่อยให้คนไทยจำนวนหนึ่งต้องเสียชีวิตสิ ตอบว่า,,ใช่ครับ เพราะอย่าลืมว่าในฉากทัศน์ที่ 2 นี้เราไม่มีทางเลือกแล้วนะ 
     ประเด็นของผมก็คือหากเริ่มผ่อนปรนให้กับโรค ใครบ้างที่จะมีโอกาสตายมาก ตามสถิติของโควิด19 เราก็รู้อยู่แล้ว ว่าคนที่มีโอกาสตายมากคือคนที่เป็นโรคเรื้อรังอันได้แก่โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจ, โรคความดันเลือดสูง, โรคมะเร็ง, โรคทางเดินลมหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคหอบหืดระดับปานกลางถึงรุนแรง, โรคอัมพาต, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, คนสูบบุหรี่ และคนสูงอายุ 
    ในบรรดาโรคที่ผมไล่ชื่อมาทั้งหมดนี้ หากไม่นับการเป็นคนสูงอายุ เรื่องอื่นล้วนสามารถดูแลตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต (lifestyle modification) นะครับ หมายถึงเปลี่ยนอาหารมากินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายจริงจังสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้ดี และขยันออกแดดเพื่อรับวิตามินดี.ซึ่งสำคัญมากต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำสิ่งเหล่านี้จนตัวชี้วัดสำคัญเจ็ดตัวของท่านคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (4) น้ำตาล (5) การกินพืชผักผลไม้ (6) การออกกำลังกาย (7) การไม่สูบบุหรี่ มาอยู่ในเกณฑ์ปกติหมด จึงจะได้ชื่อว่าท่านได้ป้องกันตัวเองจากการจะเป็นอะไรไปเพราะโควิด19 ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวัคซีน
     ดังนั้นหากไม่มีวัคซีน และเราจำเป็นต้องเปิดประเทศ การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตนี่ไงที่จะเป็นทางไปของเราชาวไทยทุกคน แล้วเวลาที่จะเริ่มลงมือทำก็ไม่ใช่ไปรอทำเอาตอนรู้แน่ว่าไม่มีวัคซีนต้องเปิดรับโรคแน่แล้ว ไม่ใช่ไปรอทำตอนนั้น เพราะตอนนั้นมันคงไม่ทันเสียแล้ว มันต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเสียตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่วันนี้ 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์