Latest

หมอสันต์ต้องการอะไร และจะทำอะไรต่อ

     หลายเดือนก่อนมีน้องคนหนึ่งมาช่วยผมทำงานสอนกลุ่มหมอฟิลิปปินส์ทางเวบบินาร์ (webinar) พอเสร็จงานยุ่งๆแล้ว กำลังเก็บสายไฟกันอยู่เขาก็ถามทะลุกลางปล้องขึ้นว่า

     “อาจารย์ครับ อนาคตชีวิตอาจารย์ต้องการอะไร และจะทำอะไรต่อครับ”

     ผมตอบเขาว่า

     ตัวผมนี้มีอยู่สองชั้น ตัวหนึ่งซึ่งอยู่ลึกเข้าไปข้างในนั้นไม่ต้องการอะไรแล้ว และไม่มีอนาคตแล้ว ไม่มีอดีตด้วย มีแต่เดี๋ยวนี้ แค่นี้ก็ดีไปหมดแล้ว พอแล้ว ไม่อยากได้อะไรอีกแล้ว ไม่ผลักไสอะไรออกไปจากตัวอีกแล้ว อะไรโผล่เข้ามาที่เดี๋ยวนี้ก็ยอมรับได้หมด รวมทั้งความตายด้วย เพราะรู้ว่าถ้ามันมาถึง มันก็จะมาถึงที่เดี๋ยวนี้ ส่วนอีกตัวหนึ่งก็คือบุคคลที่ชื่อหมอสันต์นี้ก็จะใช้มันไปในทิศทางที่มันจะเกิดประโยชน์เต็มศักยภาพที่มันมี  

     “แล้วอาจารย์จะทำอะไรละครับ ที่จะให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ”

     คนเป็นหมอก็ย่อมมีใจอยากช่วยเหลือคนเจ็บไข้ ในอนาคตสิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อคนไข้มากที่สุดคือทำอย่างไรจึงจะผันหรือบ่ายโฉมหน้าทิศทางของการมีสุขภาพดีของผู้คนในสังคมจากการมุ่งไปเข้าโรงพยาบาล กินยา ผ่าตัด ทำบอลลูนและใช้เทคโนโลยีในการรักษาแบบรุกล้ำต่างๆ เปลี่ยนมาหาทิศทางอยู่ที่บ้านแล้วดูแลตัวเองด้วยตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการกินการอยู่เพื่อไม่ให้ตัวเองป่วย ซึ่งมันได้ผลดีกว่า และให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

      “อาจารย์ก็ทำอยู่แล้วนี่”
     ใช่ แต่การเขียนบล็อกและทำแค้มป์อย่างทุกวันนี้มันยังขาดการนำเทคโนโลยีไอทีมาช่วยไม่ให้คนป่วยต้องไปโรงพยาบาลบ่อยเกินจำเป็น เช่น

     (1) การมีแอ็พมือถือให้คนใช้เป็นเครื่องมือป้องกันและพลิกผันโรคให้ตัวเองได้ แอ็พนี้ใช้เป็นทั้งแผงควบคุม (dashboard) กิจกรรมการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เป็นทั้งที่เก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (personal health record – PHR) ด้วย และทั้งมีฟังชั่นช่วยให้ผู้ป่วยวินิจฉัยอาการป่วยของตัวเอง (diagnosis aid) ช่วยให้ทำการดูแลรักษาตัวเองขั้นต้นที่บ้านได้และช่วยบอกว่าจุดไหนเกินจุดที่จะดูแลตัวเองด้วยตัวเองแล้วต้องไปหาหมอ

     (2) การมีคลินิกบนเน็ท (on-line clinic) ที่คนไข้จะได้ปรึกษาหมอโดยที่ไม่ต้องมาเจอหน้ากันทุกครั้ง เป็นขั้นตอนคั่นกลางเพื่อลดการต้องไปโรงพยาบาล ยุคนี้เทคโนโลยีต่างๆมันมากพอที่จะสร้างคลินิกแบบนี้ขึ้นได้แล้ว หากทำให้ดี และหากพวกหมอพากันทำกันเยอะๆ ก็จะลดจำนวนผู้ป่วยที่จะต้องไปโรงพยาบาลลงได้อย่างน้อยก็ 80% เลยทีเดียว ชีวิตของทั้งผู้ป่วยและทั้งแพทย์ก็จะมีเวลามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น ผมจะลองลุยก่อน ลองไปหลายๆรูปแบบ เดี๋ยวคนอื่นเขาเห็นดีเห็นงามเขาก็จะทำตามเอง 
     (3) เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ควรจะมีระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่ผู้ป่วยจัดการเองผ่านแอ็พมือถือ (PHR) เข้ากับฐานข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในโรงพยาบาล (hospital information system – HIS) ให้สื่อกันได้ แลกข้อมูลกันไปมาได้

     เวลาในชีวิตที่เหลือ ในหมวกที่เป็นบุคคลคนหนึ่งที่ชื่อหมอสันต์นี้ ผมจะทำทั้งสามอย่างนี้ให้เกิดขึ้น

     “โห มีแต่เรื่องซีเรียสไม่เลิก อาจารย์ไม่คิดทำเรื่องง่ายๆหนุกๆบ้างหรือครับ อย่างวาดรูป เล่นดนตรี”


     ผมไม่ซีเรียส ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น หากผมตายไปก่อนทั้งๆที่ยังทำไม่สำเร็จสักอย่าง ก็ไม่มีใครเดือดร้อน ผมก็ไม่เดือดร้อน ผมแค่วางไว้เป็นทิศทางให้ตัวเองใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในวันนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพที่ตัวเองมีเท่านั้นเอง
     เรื่องง่ายๆหนุกๆผมก็ทำ แต่จะไม่วาดรูป จะไม่เล่นดนตรี เพราะผมอยากทำอะไรที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง เช่นทำสวนปลูกผักไว้กินและปลูกดอกไม้ที่บ้านบนเขา เอาไว้ให้คนที่ไปมาหาสู่ได้ดูเล่น นอกจากนี้ผมมีที่ดินเปล่าๆอยู่อีกแปลงหนึ่งที่เขาใหญ่ คิดว่าปีหน้าจะปลูกป่าถาวรด้วยมือตัวเองเสียทั้งแปลง ปลูกทิ้งไว้งั้นแหละ เพื่อให้โลกมันเขียวขึ้นอีกสักหน่อย ให้โลกมันเย็นลงอีกสักหน่อย และให้สัตว์ต่างๆได้เข้าไปอาศัยร่มเงา
     นี่ยังไม่นับว่าเมียเขาจะบังคับให้ผมพาเขาไปเที่ยวที่โน่นที่นี่อีกละ เพราะสมัยหนุ่มๆทำงานผมตระเวณเดินทางไปประชุมต่างประเทศคนเดียวบ่อยมากแต่เมียต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก เธอก็บ่นว่าไม่ได้ไปไหนไม่ได้เห็นอะไร ผมบอกเธอว่าเอาไวเกษียณแล้วจะพาไป พอแก่แล้วเกษียณแล้วเธออยากไปไหนก็ต้องพาเธอไปเพราะสัญญาไว้แล้ว ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเต็มเวลาในชีวิตของตาแก่คนหนึ่งแล้วกระมัง 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์