Latest

ทำไมคนเราจึงให้อภัยคนที่เรารักมากหรือคนที่ใกล้ชิดเรามากไม่ได้

 สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์ 

หนูติดตาม blog คุณหมอมานานแล้ว ตั้งแต่ม.ปลายจนตอนนี้กำลังจะจบป.ตรีแล้วค่ะ 🙂 ชีวิตหนูที่ผ่านมา เกิดเรื่องราวมากมายค่ะ ทั้งดีและแย่ การได้อ่าน blog คุณหมอถือเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจหนูได้ดีมากๆค่ะ หนูมีประสบการณ์ฝึกสติ ส่วนมากก็เข้าใจ และปล่อยวางความคิดได้เวลาทุกข์ แต่มีเพียงเรื่องเดียวที่ทำอย่างไร ก็วางไม่ได้ คือเรื่องครอบครัวค่ะ ครอบครัวหนูมักมีปากเสียงกันเสมอ และมีคนที่ก็มีภาวะ depression +kleptomania ค่ะ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นทีไร หนูมืดแปดด้านไปหมดค่ะ  หนูพยายาม  manage จิตใจตัวเองมาโดยตลอด แต่ก็สอบตกกับเรื่องนี้จริงๆค่ะ อยากเรียนถามคุณหมอค่ะ ว่าหนูควรจัดการตัวเองอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและครอบครัว 

ขอบพระคุณคุณหมอมากๆค่ะ

………………………………………………………………

ตอบครับ

     ปัญหาของคุณดูเผินแล้วช่างเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อยน้อยนิด ช่างเป็นปัญหาโลกิยะที่ห่างไกลจากความเป็นโลกุตระที่คนอ่านบล็อกหมอสันต์ให้ความสนใจอยู่หลายโยชน์ แต่ผมหยิบมาตอบเพื่อจะพูดถึงประเด็นสำคัญ คือ

     “ทำไมคนเราจึงให้อภัยคนที่เรารักหรือคนที่ใกล้ชิดเราไม่ได้”

     คุณบอกว่าเรื่องอื่นวางได้หมด แต่เรื่องคนในครอบครัวพ่อแม่พี่น้องวางอย่างไรก็วางไม่ลง 

     หลายคนอาจจะพูดคล้ายๆกับคุณเช่น

     “คนอื่นยอมได้ แต่นี่เป็นผัวของฉันเองแท้ๆ ทำกับฉันอย่างนี้ฉันยอมไม่ได้” หรือ

     “ถ้าเป็นคนอื่นพูดผมจะไม่ว่า แต่นี่เป็นลูกของผมเอง” หรือ

     “ถ้าคนทำอย่างนี้ไม่ใช่พ่อแม่ของผม ผมจะไม่ติดใจอะไรเลย” ฯลฯ

     เออ..แล้วทำไมมันเป็นอย่างนี้เล่าท่านสารวัตรขา

     เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคนที่เรารักมากก็ดี คนที่เราคิดว่าเขารักเรามากอย่างไม่มีเงื่อนไขก็ดี ลูกก็ดี ผัวก็ดี พ่อแม่ก็ดี พี่น้องที่คลานตามกันมาก็ดี คนเหล่านี้เขาประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็พท์หรือสำนึกหรือความเป็นบุคคลของเรา หรือพูดง่ายๆว่าคนเหล่านี้เขาเป็นส่วนหนึ่งของ “อัตตา” หรือ identity ของเรา โดยที่มิชชั่นในชีวิตของเรานี้จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเราเกิดมาแล้วก็ถูกบ่มถูกสอนให้มีชีวิตอยู่เพื่อปกป้องอัตตาหรือ identity อันนี้ของเราอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูหรืออย่างไม่คิดชีวิต การที่คนเหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตตาของเราตกสะเป๊ค ไม่ได้คุณภาพ เราจึงรับไม่ได้ เพราะมันหมายความว่าความเป็นบุคคลของเราที่เราพยายามปกป้องเชิดชูเทิดทูนไว้นั้นมันไม่ได้ดีหรือเป็นไปตามสะเป๊คอย่างเราตั้งไว้ ตรงนี้เรารับไม่ได้ เราจึงเป็นทุกข์ ฮึดฮัด ฟึดฟัด ปึ๊ดปั๊ด

    ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนที่กำลังจะเรียนจบมหาลัย เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตอย่างคุณ มาติดอยู่ตรงนี้ ถึงแม้จะเป็นแฟนบล็อกหมอสันต์มาตั้งแต่เป็นนักเรียนก็เหอะ 

    การตอบคำถามของคุณว่าจะฝ่าข้ามตรงนี้ไปได้อย่างไรนั้นตอบได้ง่ายมาก แต่การนำคำตอบไปปฏิบัติเป็นเรื่องลึกลับและลึกซึ้งยากที่คนทั่วไปจะเก็ท

     คำตอบก็คือเมื่อใดที่รู้ว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้มันไม่ใช่ตัวคุณจริงๆ แล้วคุณย้าย identity ของคุณจากการเป็นบุคคลคนนี้ไปเป็นความรู้ตัวซึ่งเป็นสถานะที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวดองกับความเป็นบุคคลคนนี้ของคุณเสีย เมื่อนั้นคุณก็จะหายทุกข์จากบรรยากาศหรือพฤติกรรมของคนในครอบครัว เพราะเมื่อนั้นคุณจะให้อภัยได้ วางได้ แม้ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดระดับเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคุณ แต่คุณก็วางได้เพราะสำนึกว่าเป็นบุคคลคนนี้ไม่ได้เป็นของจริงอย่างเป็นตุเป็นตะสำหรับคุณอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นคำสำคัญหรือ key word ก็คือการย้ายสำนึกว่าเราเป็นบุคคลคนนี้ไปเป็นอย่างอื่นเสีย นั่นก็คือการ shift of identity

     ในภาคการปฏิบัติ คุณก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่ในระดับความคิด คือคุณต้องคิดอยู่ในกรอบของสี่คำนี้คือ  (1) ขอบคุณ (2) ขอโทษ (3) ให้อภัย (4) เมตตา

     ลึกไปกว่าการคิด คือการวางความคิด คุณก็ต้องตั้งใจฝึกฝนผ่านการทำ meditation คือนั่งหลับตาฝึกสมาธิ ใช้เครื่องมือเจ็ดชิ้นที่ผมพูดบ่อยๆคือ (1) ความสนใจ (2) ลมหายใจ (3) ความรู้สึกบนร่างกาย (4) การผ่อนคลายร่างกาย (5) การปลุกตัวเองให้ตื่น (6) การสังเกตความคิด และ (7) การจดจ่อสมาธิ คุณต้องนั่งสมาธิด้วยเครื่องมือเหล่านี้ทุกวัน เช้าเย็น ระหว่างวันก็ฝึกสติในชีวิตประจำวันทุกเวลานาทีที่คิดขึ้นได้ เป้าหมายก็คือวางความคิดขี้หมาทิ้งไปให้หมด จนความสามารถรับรู้ตามธรรมชาติมันละเอียดลึกซึ้งแหลมคมขึ้นถึงขนาดรับรู้สิ่งที่อยู่พ้นจากคำเรียกชื่อและบอกรูปร่างด้วยภาษาได้ สิ่งนั้นก็คือความรู้ตัว เมื่อคุณ “รู้” ความรู้ตัวแล้ว identity ของคุณมันก็จะเปลี่ยนไปเอง แล้วคุณก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องใดๆอีก แม้ว่าคุณจะยังเป็นบุคคลคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบโลกๆ กับคนรอบตัวอยู่ก็ตาม

     ผมตอบคุณเป็นภาษาได้แค่นี้ ที่เหลือคุณต้องฟังเองเองจากเสียงแห่งความเงียบ sound of silence คือคุณต้องดั้นด้น ฝึกฝน ปฏิบัติตน เอาเอง จนอยู่นิ่งๆในความเงียบแล้วคุณรับรู้ได้เอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์