Latest

หมอจบใหม่กับความเศร้าดื้อด้าน

 สวัสดีค่ะอาจารย์

     หนูเป็นหมอจบใหม่ทำงานอยู่ที่รพ.ทั่วไปแห่งหนึ่งในภาค … ค่ะ ตามอ่านที่อาจารย์เขียนมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะเวลาท้อๆ อยากลาออก เราโดนทำลาย self esteem เพราะในคณะนี้มีคนเก่งกว่าเราเยอะมาก และหลายๆ คนก็พร้อมจะ blame เรา ซึ่งตอนนี้มีความรู้สึกแบบนั้นอีกแล้วค่ะ เกริ่นก่อนว่าหนูไม่ได้อยากเรียนหมอ แต่เข้ามาเรียนเพราะอยากให้ครอบครัวดีขึ้น(มีปัญหาเรื่องการเงินค่ะ) บวกกับสมัยมัธยมเรียนเก่ง เลยกลายๆ ว่าโดนบังคับให้เรียน ก็พยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ รู้สึกตลอดว่าทำไมเราต้องมาอยู่เวร เราไม่อิน ก็จบมาได้นะคะ ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 แถมมา พอมาทำงานเราก็รู้สึกตลอดว่าเรายังเก่งไม่มากพอ แต้ก็ไม่มีใจที่จะไปหาความรู้เพิ่มเติมเพราะเราไม่ได้ชอบแต่ทีแรก บางทีก็รู้สึกผิดที่คนไข้ต้องมาเจอหมอโง่และขี้เกียจอย่างเราแต่ก็ไม่ขยันมากขึ้นเพราะเรามีความคิดว่าเราโง่ เราอ่านไปก็สู้คนที่เก่งอยู่แล้วไม่ได้อยู่ดี เราเหนื่อย เราไม่มีความสุข เคยปรึกษาจิตแพทย์ พี่เขาว่าเราเป็น perfectionist มี adjustment disorder ให้กินยาคลายกังวล หนูก็กินตลอดนะคะแต่อาการเบื่อๆ ก็มีเท่าๆ เดิม เราอยากลาออกแต่ก็ทำไม่ได้ค่ะเพราะอยากเรียนเฉพาะทางต่อ ก็ต้องใช้ทุน ลาออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเงิน พยายามจะอยู่กับปัจจุบันก็ทำไม่ได้ หนูไม่ค่อยมีความสุขตั้งแต่เรียนแล้วค่ะ หนูเคยผิดหวังตอนสมัครเรียนต่อสมัยเป็น ext แล้วเขาไม่เอาหนู ก็เลยไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองอีกเลย ยังเศร้ากับเรื่องนั้นอยู่ค่ะ หนูไม่อยากเป็น GP เพราะทำงานให้ถูกใจ specialist ทุกคนไม่ได้แล้วเราก็เหมือนทำอะไรได้ไม่สุด ใครๆ ก็กดดัน GP งานหนัก เงินน้อย ความคาดหวังเยอะ นอนน้อย ทุกวันนี้ค่อนข้าง burnout เพราะระบบที่ทำให้ intern 1 ต้องทำงานหนัก อดหลับอดนอน ห้ามพลาด พูดดีกับทุกคน มันยากและเหนื่อยมากค่ะที่จะทำให้ได้ทั้งหมดในสภาวะแบบนี้ จะให้เราไม่พลาดได้ยังไงคะ หนู struggle กับตัวเองมาพักใหญ่ๆ พยายามหาทางผ่อนคลายมา 7 ปีแต่สุดท้ายจบลงด้วยการรู้สึก down แบบนี้ตลอด อาจเป็นเพราะพรุ่งนี้ต้องอยู่เวรดึกด้วยค่ะ แต่ทุกครั้งก็แอบโทษครอบครัวตลอดว่าถ้าบ้านรวยคงไม่ต้องมาเป็นหมอโง่ๆ แบบนี้ ระบายกับใครก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจในความทุกข์ของเราเลยค่ะเพราะเราก็ยังดูปกติ ทำงานในความรับผิดชอบได้ แต่หลักๆ คือหนูอยากมีความสุขค่ะ หนูพยายามมามากจริงๆ กับเรื่องนี้ หมดหนทางจริงๆ ค่ะ ทั้งอ่านบทความ เขียนบทความ(งานอดิเรก) หาจิตแพทย์ ระบายกับเพื่อน คุยกับตัวเอง ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ลึกๆ ก็เศร้าตลอดและคิดตลอดว่าซวยมากที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นหมอ 

ขอบคุณค่ะ

……………………………………………………….

ตอบครับ

     อามิตตาภะ พุทธะ

     ตัวคุณหมอเองก็น่าจะวินิจฉัยตัวเองได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าโรคเศร้าดื้อด้าน (dysthymia หรือ persistent depressive disorder) ไม่ใช่โรคซึมเศร้านะ แต่เศร้าดื้อด้าน หิ หิ นี่เป็นคำแปลที่หมอสันต์แปลเอง เพราะชื่อโรคนี้ในภาษาไทยไม่มี หรือมีหมอสันต์ไม่รู้ก็เป็นได้ สำหรับท่านที่ไม่ใช่แพทย์ โรคนี้ไม่หนักเท่าโรคซึมเศร้า แต่ยืดเยื้อเรื้อรังกว่า เกณฑ์วินิจฉัยของ DSM5 คือ นอกจากจะเศร้าดื้อด้านนานเกินสองปีแล้วยังต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยสองอย่างควบ คือ (1) กินไม่ลงหรือกินมากเกิน (2) นอนไม่หลับหรือหลับมากเกิน (3) ถ่านหมด เปลี้ยล้า (4) เสียความนับถือตัวเอง (5) จดจ่อไม่ได้ ตัดสินใจยาก (6) ต๊อแต๊สิ้นหวัง 

     การรักษาโรคนี้ตามหลักวิชาแพทย์ก็ใช้สูตรมาตรฐานของโรคทางใจส่วนใหญ่ หมายถึงรักษาแบบสองอย่างควบ คือให้ยาบวกจิตบำบัด แปลว่ารักษาด้วยการพูดคุย (talk therapy) ในกรณีของคุณหมอนี้ก็ผ่านการรักษาตามหลักวิชามาครบสูตรหมดแล้ว แต่มันก็ยังเศร้าดื้อด้านอยู่ สมชื่อที่หมอสันต์ตั้งให้เลยจริงๆ

     ก่อนที่จะคุยกันไปถึงว่าเราจะทำยังไงกันดี ผมอยากจะชวนให้คุณหมอสอบสวนความคิดของตัวเองสักหน่อยนะ ว่าความคิดของคุณหมอนั้นขมวดลงมาแล้วก็มีอยู่สี่เรื่องเท่านั้น คือ (1) เสียใจกับอดีต (2) กลัวอนาคต (3) เปรียบเทียบตัวตนกับคนที่เก่งกว่าดีกว่า (4) ปฏิเสธปัจจุบัน สี่อย่างแค่เนี้ยะ ไม่เชื่อผมจะทบทวนให้ดูนะ

     1. ไม่ได้อยากเรียนหมอ แต่ต้องมาเรียนเพราะอยากหาเงิน (เสียใจกับอดีต)

     2. ทำไมเราต้องมาอยู่เวร (ปฏิเสธปัจจุบัน)

     3. รู้สึกผิดที่คนไข้ต้องมาเจอหมอโง่และขี้เกียจอย่างเรา (เสียใจกับอดีต)

     4. เรามีความคิดว่าเราโง่ เราอ่านไปก็สู้คนที่เก่งอยู่แล้วไม่ได้อยู่ดี (เปรียบเทียบตัวตน) 

     5. ลาออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเงิน (กลัวอนาคต) 

     6. ผิดหวังตอนสมัครเรียนต่อ เขาไม่เอาหนู ยังเศร้ากับเรื่องนั้นอยู่ค่ะ (เสียใจกับอดีต)

     7. ไม่อยากเป็น GP ทำอะไรได้ไม่สุด ใครๆ ก็กดดัน GP งานหนัก เงินน้อย (ปฏิเสธปัจจุบัน)

     8. อาจเป็นเพราะพรุ่งนี้ต้องอยู่เวรดึกด้วยค่ะ (กลัวอนาคต) 

     9. โทษครอบครัวตลอดว่าถ้าบ้านรวยคงไม่ต้องมาเป็นหมอโง่ๆ แบบนี้ (เสียใจกับอดีต) 

     10. คิดตลอดว่าซวยมากที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นหมอ (ปฏิเสธปัจจุบัน) 

     ทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะเป็นความเสียใจกับอดีต กลัวอนาคต เปรียบเทียบตัวตนกับคนที่เก่งกว่าดีกว่า และการปฏิเสธปัจจุบัน มันเป็นเพียง “ความคิด” นะ เป็นความคิดสั่วๆอีกต่างหาก เท่ากับว่าทุกวันนี้คุณหมอแม้จะเรียนหนังสือจบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเลย เพราะคุณหมอมัวแต่ไปจมอยู่ในความคิด แล้วถ้าคุณหมอไม่ทำอะไรกับชีวิตสักอย่าง จากนี้ไปจนตายคุณหมอจะไม่ได้ใช้ชีวิตเลยนะ และจะจมอยู่ในความคิดสั่วๆทั้งสี่สาขานี้ตลอดไป เพราะความคิดมันเป็น conditioned reflex มาแล้วมันก็จะกลับมาอีก ในฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น จริงจังขึ้น

     อดีตและอนาคตนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริงดอก เมื่อเราคิดถึงอดีตหรืออนาคต เราคิดขึ้นที่ปัจจุบัน ดังนั้นที่เรียกว่าอดีตอันหมองเศร้าและอนาคตอันหดหู่นั้น มันล้วนเป็นความคิดที่คุณหมอคิดขึ้นที่ปัจจุบันทั้งสิ้น แต่ว่ามันช่างมีอำนาจอิทธิพลเสียนี่กระไร เพราะเราไปซบอกความคิดแล้วให้มันพาเราไปด้วยเชื่อว่ามันคือผู้บัญชาการชีวิตเรา มันจึงมีอำนาจ ความจริงมันเป็นแค่ความคิด เป็นแค่ลม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แค่วางความคิดลงไปเสีย เราก็เป็นอิสระจากความคิดแล้ว 

     เมื่อเป็นอิสระแล้ว แล้วไงต่อ แล้วไงต่อหรือ แล้วก็เริ่มมองไปรอบๆตัวสิ คราวนี้จะเป็นการใช้ชีวิตจริงแล้วนะ เพราะชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่ ณ ขณะนี้ มองไปรอบๆตัว มองด้วยสายตาค้นหาเรียนรู้แบบคนขี้เล่น มองโลกรอบตัวให้เห็นว่ามันเป็นความท้าทาย เป็นความแปลกใหม่ เป็นความมหัศจรรย์ wonderful ที่ผลัดกันเข้ามาหา วินาที ต่อวินาที ต่อวินาที ไม่อาจคาดเดาได้ เราทำได้แค่มองดูและรับรู้ตามที่มันเป็น แล้วบรรจงเลือกวิธีสนองตอบต่อมันไปทีละช็อต ทีละช็อต นี่คือการใช้ชีวิต 

     เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ เมื่อสามสี่วันก่อนเพื่อนที่เป็นนักแต่งเพลงพาลูกน้องมาเล่นดนตรีร้องเพลงที่บ้านโกรฟเฮ้าส์และพักค้างคืนที่นี่ พอรุ่งเช้าผมก็ชวนพวกเขาขึ้นมาเดินเล่นที่บ้านบนเขา นักร้องของคณะมีลูกสาวคนหนึ่งน่ารักเชียวอายุเก้าขวบชื่อน้องวันนา เมื่อเดินไปมาในบริเวณบ้าน เธอบอกผมว่า

     “บ้านของคุณปู่ช่างลึกลับ”

     นี่คือตัวอย่างของการใช้ชีวิต คือมองออกไปยังโลกรอบตัวว่ามันช่างลึกลับ ตื่นเต้น ท้าทายให้เรียนรู้ แล้วแต่ละโมเมนต์ของชีวิตก็จะเป็นความมหัศจรรย์ ผมหยิบตัวกระสุนพระอินทร์ที่ขดตัวเป็นก้อนกลมขึ้นมาวางบนอุ้งมือให้เธอดูแล้วถามเธอว่า

     “นี่คืออะไร” เธอเอียงคอมองไปมาอย่างละเอียดแล้วตอบว่า

     “คงเป็นกิ้งกือขดตัวเป็นก้อน”  ผมถามว่ารู้ได้อย่างไร เคยเรียนมาหรือ เธอส่ายหัว เธอบอกว่าเห็นมีเส้นวิ่งจากขอบไปหาศูนย์กลางเป็นเส้นๆจึงเดาเอา ผมบอกให้เธอลองสัมผัสมันดู เธอบอกว่า

     “ฮึ ไม่เอาหงะ กลัว” ผมบอกว่า

      “ความกลัวเป็นแค่ความคิดต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนะ ใช่ไหม” เธออึ้งไปสักพักแล้วพยักหน้า

     “ถ้าเราเชื่อความคิดของเราโดยไม่ยอมสำรวจเรียนรู้ของจริงที่ตรงหน้า เราก็จะไม่รู้จักอะไรเลยนอกจากความกลัวในหัวของเราสิ ใช่ไหม” 

    เธอค่อยๆพยักหน้า แล้วทดลองเอามือสัมผัสกระสุนพระอินทร์ด้วยความกลัวๆกล้าๆ แล้วก็กลายเป็นความกล้าจากความอยากรู้จนเอากระสุนพระอินทร์วางบนฝ่ามือตัวเองได้

    ผมอธิบายให้เธอฟังว่ากระสุนพระอินทร์จะคลายตัวออกมาคลานใหม่ก็ต่อเมื่อมันมั่นใจว่ามันปลอดภัยแล้ว ถ้าอยากเห็นต้องวางมันลงบนพื้น แล้วนั่งสังเกตอย่างใจเย็น เมื่อใดก็ตามที่เราแตะตัวมัน มันก็จะขดตัวกลมดิกอีก แล้วก็ทิ้งเธอให้เล่นเองตามลำพัง ราวครึ่งชั่วโมงต่อมาเธอก็วิ่งมารายงานด้วยความตื่นเต้น

     “คุณปู่คะ หนูสามารถลูบตัวมันโดยมันไม่ขดตัวได้” แล้วชักชวนให้ผมตามไปดู เธอบอกว่า

     “ถ้าเราลูบหลังมันจากข้างหน้ามาข้างหลัง มันจะรีบขดตัว แต่ถ้าเราลูบจากหลังไปหน้า มันจะคลานตามปกติโดยไม่กลัวเรา” แล้วเธอก็ทำให้ดู ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นโดยที่ผมเองไม่เคยรู้มาก่อน

     สิ่งที่หนูวันนาแสดงออก นั่นคือ creativity คือความสามารถที่จะค้นหาค้นพบสิ่งใหม่ๆที่ตื่นตาตื่นใจในท่ามกลางสถานที่หรือบรรยากาศที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ความสามารถนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ถ้าเราจมอยู่ในความคิด แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราวางความคิดลง แล้วมองไปรอบตัวอย่างผู้สำรวจ มองโลกทั้งข้างนอกข้างในตัวว่าเป็นดินแดนลึกลับที่ตื่นเต้นท้าทาย

     กลับมาคุยเรื่องของคุณหมอต่อ สิ่งเดียวที่คนรุ่นคุณหมอต้องการเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกยุคถัดจากนี้ไป คือ creativity เท่านั้น ไม่ต้องมีอย่างอื่น มีตัวนี้ตัวเดียวพอ โลกจากนี้ไปจะเป็นโลกที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่มีใครเคยพบเคยเห็น creativity เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแบบนั้นได้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์

     กล่าวโดยสรุป การจะแก้ปัญหาของคุณหมอก็คือวางความคิดขี้หมาทั้งสิบตัวอย่างข้างต้นลงไปก่อน แล้วค่อยๆบ่มเพาะ creativity ให้กับชีวิต ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือฝึกสมาธิ (meditation) อย่างต่อเนื่องจริงจัง ผมเคยเขียนเทคนิควิธีการไปบ่อยมากจนลูกบล็อกนี้แทบจะเดาคำตอบของผมล่วงหน้าได้ ให้คุณหมอหาอ่านย้อนหลังเอาเอง หากมีปัญหาทำไม่สำเร็จ ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat หรือหากลงมือทำแล้วติดขัดและไม่สะดวกจะมาเข้า SR ก็เขียนถามประเด็นปฏิบัติมาทางเมลนี้ก็ได้ แต่หากไม่ได้ลงมือทำเลยแต่อยากจะหาคำปลอบโยนซ้ำซาก ไม่ต้องเขียนมาอีกนะ แค่กินยาต้านซึมเศร้าที่พี่จิตแพทย์เขาให้และขยันไปคุยกับพี่เขาอย่างที่เคยทำมาก็พอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์