ปรึกษาหมอ

กระดูกพรุน อย่าดื่มนมวัวมาก

 เรียน อาจารย์สันต์​ ใจยอดศิลป์

ผมชื่อนาย … อายุ 34 ปี น้ำหนัก 75 กิโลกรัม สูง 173 เซนติเมตร สถานภาพโสด ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ เนื่องจากเป็นคนกลัวเชื้อโรค ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ​ในส่วนที่มีความเครียดน้อย (ในเนื้องาน)​ มีโรคที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแล้ว​ได้แก่ (1) โรคกระดูกพรุน (2) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิค (หัวใจเต้นเร็ว 145-160 ครั้งต่อนาที ขณะอยู่เฉยๆ อัดวิดีโอให้หมอจิตแพทย์ดูแล้วหลายครั้ง เขาส่งปรึกษาหมอหัวใจ หมอหัวใจบอกว่าปกติ)​ และโรคซึมเศร้า​ (3) โรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ยาประจำตัวมี (1) Fluoxetine 10 mg/วัน จากเดิม 60 mg/วัน เนื่องจากอาการดีขึ้น แต่ไม่สามารถเลิกยาตัวนี้ได้ ไม่งั้นอาการจะแรงจนไม่สามารถลุกไปทำงานใดๆไหว ขณะนี้ประคองแค่ทำงานปกติแบบ ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏไปเรื่อยๆ (2) ขณะหัวใจเต้นเร็ว ใช้ alprazolam 0.25 mg ถ้าเอาไม่อยู่ ใช้ propranolol 10 mg แต่โดยเฉลี่ย จะใช้ปีละ 2-3 ครั้งในช่วงหลัง เพราะมีแพนิคไม่บ่อย ถ้ามีแพนิค มักจะเป็นช่วงอดนอน (3) Lorazepam 0.5 mg ใช้น้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันไม่มีปัญหา​การนอน ไม่ได้ทานยาภูมิแพ้ หรือพ่นยาภูมิแพ้นานแล้ว ไม่ได้ทานยารักษากระดูกพรุน ไม่มีกระดูกหักครับ ผลการตรวจเลือด (1) วิตามินดีในเลือด ปัจจุบัน 20 ng/ml (จากที่ต่ำแบบสุดๆ จากการตรวจร่างกายประจำปี หมอให้ทานวิตามิน D2 เสริมมาตั้งแต่ต้นปี เจาะเลือดทุก 2 เดือน) (2) แคลเซียม​ในเลือดอยู่ในเกณฑ์​ปกติตลอดมา ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ขอเรียนถามอาจารย์ครับ ว่า

1. การดื่มนมไร้ไขมัน (ไม่สามารถดื่มเกินวันละ 1 ลิตร เนื่องจากท้องจะเสีย)​ ทานผักใบเขียว ขยันถอดเสื้อวิ่ง 15000 ก้าวต่อวันแบบตากแดดช่วง 16.30-17.00 น. จะสามารถทำให้มวลกระดูกขึ้นมาในระดับปกติได้ไหมครับ

2. การกินแคลเซียม​เม็ดเสริมจากอาหารปกติ ในกรณีของผม จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้นไหมครับ

3. การรักษา ocd ด้วย deep transcranial magnetic stimulation เสริมจากการใช้ยา fluoxetine มีความคุ้มค่าที่จะลองไหมครับ

ขอบพระคุณ​อาจารย์มากครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

……………………………………………………..

ตอบครับ

1. ถามว่าการดื่มนมวันละลิตร จะช่วยให้มวลกระดูกดีขึ้นไหม ตอบว่าจะให้ผลในทางตรงกันข้ามนะครับ คือกลับจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น หิ หิ ช่างเป็นข้อมูลที่สวนกระแสเสียนี่กระไร แต่มันก็เป็นความจริงที่ได้จากหลักฐานวิจัย ในแง่ข้อมูลระบาดวิทยา ประเทศที่ดื่มนมากเกินไปจะมีอัตราเกิดกระดูกหักมากกว่าประชาชนในประเทศที่ดื่มนมน้อย

      ที่เป็นข้อมูลเด็ดสะระตี่มากก็คืองานวิจัยที่ทำที่สวีเดน ซึ่งพบว่าการดื่มนมมากกลับมีความสัมพันธ์กับการเป็นกระดูกพรุนมากขึ้น กระดูกหักในวัยชรามากขึ้น และมีอัตราตายสูงขึ้นกว่าคนไม่ดื่มหรือดื่มนมน้อย ข้อมูลนี้ทำให้วงการแพทย์งงเต๊กไปเลยเหมือนกัน

     กล่าวคือในงานวิจัย [1] นี้หญิงอายุเกิน 20 ปีไปแล้วถ้าดื่มนมเกิน 200 กรัม (เกือบหนึ่งแก้ว) ขึ้นไปก็จะเริ่มมีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแล้ว ความเสี่ยง (RR) นี้เพิ่มขึ้นชัดเจนเป็น 21% เมื่อดื่มหนึ่งถึงสองแก้ว และเพิ่มเป็น 93% เมื่อดื่มวันละสามแก้วขึ้นไป

     เหตุผลที่แท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบ แต่นานมาแล้วมีลูกแค้มป์คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในอเมริกาเล่าให้ฟังว่าในอเมริกาแม่วัวนมจะใช้งานได้แค่ 5 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นมันจะยืนไม่ได้เพราะกระดูกมันพรุนจนทรุด เนื่องจากมันโดนฉีดฮอร์โมนเร่งน้ำนม ฮอร์โมนจะไปดึงแคลเซี่ยมออกจากกระดูกของมันมาทำน้ำนม และปัญหาก็คือฮอร์โมนเร่งน้ำนมที่ว่านั้นตกค้างอยู่ในนมที่เราดื่มด้วย

     สมมุติฐานที่ตั้งกันในวงการแพทย์ก็เดาเอาว่าการดื่มนมาทำให้เลือดเป็นกรดแล้วกลไกการปรับดุลกรดด่างก็ลากเอาแคลเซียมออกมาจากกระดูกเพื่อรักษาดุลของกรดด่างไว้ เสร็จงานแล้วก็ถูกขับทิ้งไปทางปัสสาวะ ไม่ได้กลับเข้ากระดูกอีก ทำให้คนคนนั้นขาดแคลเซียม นี่เป็นเวิร์บทูเดานะ

     ความจริงนี่ไม่ใช่งานวิจัยแรก ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัย [2] สำรวจคนที่ดื่มนมวัวมากติดต่อกันนานเกินยี่สิบปีแล้วพบว่ายิ่งดื่มนมวัวมากยิ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดกระดูกหักในวัยชรามากขึ้น      

     และยังมีงานวิจัยของฮาร์วาร์ด [3] ซึ่งตามดูคน 77,,761 คนอายุ 34-59 ปี ตามไปนาน 12 ปีแล้วพบว่าพวกที่ดื่มนมมากเกิดกระดูกหักมากขึ้น 

     ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำแนะนำโภชนาการของรัฐบาลอเมริกันฉบับล่าสุด (USDA 2016-2020) ว่าไม่ควรดื่มนมเกินวันละ 2-3 แก้ว และคำแนะนำของรัฐบาลแคนาดา (Canada Food Guide 2019) ว่าเครื่องดื่มประจำตัวทุกวันที่แนะนำมีอย่างเดียว คือ..น้ำเปล่า และคำแนะโภชนาการล่าสุดของฮาร์วาร์ดก็ไม่ได้แนะนำให้ดื่มนม แต่ให้ดื่ม..น้ำเปล่า

     แต่หมอสันต์ไม่แนะนำให้สุดขั้วถึงขนาดทิ้งนม เพราะการสูญเสียแคลเซียมเพราะความเป็นกรดในเลือดนั้นไม่ได้เกิดจากนมอย่างเดียว มันเกิดจากอาหารเนื้อสัตว์ทุกชนิดด้วย งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าในชนบทจีนที่อาหารโปรตีนส่วนใหญ่มาจากพืช ผู้คนมีอัตราเกิดกระดูกหักในวัยชราต่ำกว่าในอเมริกาซึ่งได้โปรตีนส่วนใหญ่จากเนื้อสัตว์ อัตรากระดูกหักต่ำกว่ากันถึงห้าเท่า ดังนั้นผมแนะนำว่าหากอยากให้กระดูกแข็งแรงก็ปรับลดอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลงรวมทั้งนมด้วย ขณะเดียวกันก็ดูแลปัจจัยอื่นที่ทำให้กระดูกแข็งแรง เช่นวิตามินดี.ซึ่งได้จากแสงแดด การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ และยารักษาโรคบางตัวที่ทำให้กระดูกพรุนก็เลิกกินเสีย 

     ส่วนคำถามที่ว่าทำตัวดีสาระพัดสาระเพแล้วมวลกระดูกจะกลับมาเป็นปกติไหม หิ หิ ความจริงทางการแพทย์ก็คือว่าธรรมชาติของมวลกระดูกจะแน่นเปรี๊ยะเมื่ออายุ 25 ปี หลังจากนั้นมันก็จะค่อยๆบางลงๆ คุณอย่าโลภมากเลย เอาแค่ไม่ให้มันบางลงไปกว่าเดิมก็พอแล้ว

     คุณถามมาหลายข้อ แต่ผมตอบได้ข้อเดียวก็ต้องรีบไปทำกิจอื่นเสียแล้ว ข้ออื่นๆเอาไว้ภายหลังนะ later ถ้าคุณไม่รังเกียจที่การ์ตูนบิ๊กเบิร์ดสอนเด็กว่า later means never หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Michaëlsson K, Wolk A, Langenskiöld S, et al. Milk intake and risk of mortality and fractures in women and men: cohort studies. Observational Study BMJ. 2014 Oct 28;349:g6015. doi: 10.1136/bmj.g6015.

2. R G Cumming, R J Klineberg. Case-Control Study of Risk Factors for Hip Fractures in the Elderly.  American Journal of Epidemiology. Vol. 139, No. 5, 1994

3.  Feskanich D, Willett WC, Stampfer MJ, Colditz GA. Milk, Dietary Calcium, and Bone Fractures in Women: A 12-Year. Prospective Study. American Journal of Public Health1997:87(6); 992-997