โรคหัวใจ

นอกจากเลือกชนิดลิ้นหัวใจแล้ว ยังต้องฟูมฟักระบบภูมิคุ้มกันโรคด้วย

โชว์ต้นประดู่ปลูกเองกับมือที่หัวนอน

คุณหมอสันต์ครับ

พ่ออายุ 58 ปี ป่วยเป็น Infective endocarditis with severe MR with CHF และตรวจพบ HbsAg positive แต่ยังไม่ได้ตรวจเพิ่มเติมละเอียด ยังไม่ได้ ultrasound ตับ หมอแจ้งว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ มีตัวเลือก 2 ชนิด คือลิ้นแบบโลหะและลิ้นแบบเนื้อเยื่อ พ่อผมเลือกไม่ถูก จะโยนเหรียญหัวก้อยครับ

………………………………………..

ตอบครับ

1. ข้อมูลที่ส่งมานั้นครบถ้วนดีมาก ผมสรุปการวินิจฉัยจากข้อมูลทั้งหมดที่ส่งมาว่าคุณพ่อเป็นโรคต่อไปนี้

1.1. ลิ้นหัวใจไมทรัลอักเสบติดเชื้อ (infective endocarditis) และมีกระจุกเชื้อ (vegetation) ที่พร้อมจะหลุดไปอุดหลอดเลือดในที่ต่างๆได้

1.2. ลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วแบบเฉียบพลันระดับรุนแรงมาก

1.3. หัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอดจากลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน

     2. แผนการรักษาที่คุณหมอวางไว้ว่าจะผ่าตัดเพื่อเอากระจุกเชื้อโรคออกและเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่นั้นก็แทบจะเป็นทางเลือกทางเดียวที่มีอยู่ เพราะทางเลือกอื่นคือการไม่ผ่าตัดนั้นเป็นทางเลือกที่ไม่ควรเลือกเพราะจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง (80%) จากการติดเชื้อในกระแสเลือด การที่กระจุกเชื้อหลุดลอยไปทำให้เป็นอัมพาต และการเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันซ้ำซาก
     3. ถามว่าควรเลือกใช้ลิ้นหัวใจเทียมชนิดไหน ระหว่างลิ้นหัวใจแบบโลหะกับแบบเนื้อเยื่อ ตอบว่าในภาพรวมควรเลือกลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อดีกว่า เพราะมีโอกาสติดเชื้อหลังเปลี่ยนลิ้นแล้วน้อยกว่าลิ้นโลหะ และหลังผ่าตัดมีระยะที่ต้องใช้ยากันเลือดแข็งสั้นกว่า และไม่ต้องใช้ตลอดชีวิต ซึ่งการใช้ยากันเลือดแข็งนี้เป็นสิ่งที่จะมีปัญหากับคนเป็นโรคตับเรื้อรังอย่างคุณพ่อของคุณมาก
     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ คือการที่คุณพ่อทั้งติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.แล้วร่างกายกำจัดได้ไม่หมด (เป็นพาหะ) และการที่ต้องมาติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจซ้ำอีก มันบ่งบอกว่าระบบภูมิคุ้มกันโรค (immune system) ของคุณพ่ออ่อนแอ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆในวันหน้าอีกมาก สิ่งที่พึงทำควบคู่ไปกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็คือการฟูมฟักระบบภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งได้แก่
     4.1 จัดการความเครียด เพราะในภาวะเครียดสมองส่งโมเลกุลข่าวสาร (cytokines) ส่งถึงเม็ดเลือดขาวได้โดยตรงผ่านไปทางกระแสเลือดโดยไม่ต้องอาศัยเส้นประสาทใดๆ เหมือนเราเขียนข่าวสารในรูปอีเมลปล่อยเข้าอินเตอร์เน็ท ซึ่งเมื่อได้รับข่าวสารนี้แล้วเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นกำลังหลักของระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานน้อยลง อีกด้านหนึ่งความเครียดจะเพิ่มฮอร์โมน cortisol ซึ่งลดกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทั้งระบบ
     4.2 การออกกำลังกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านการผลิตสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งทำให้ให้จิตใจร่าเริง ดังนั้นแม้หัวใจล้มเหลวก็ต้องออกกำลังกายทุกวันแบบคนไข้หัวใจล้มเหลว
     4.3 การนอนหลับ งานวิจัยพบว่าการผลิตโมเลกุลข่าวสารเกี่ยวกับการอักเสบชนิดสั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้นจะผลิตได้ดีช่วงนอนหลับฝัน ดังนั้นการอดนอนจึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่นอนน้อยจะติดเชื้อหวัดบ่อยกว่าคนที่นอนมาก นอกจากนี้งานวิจัยหนึ่งพบหากกินอาหารที่มีกากมาก (ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว) โดยมีไขมันต่ำ นี้ทำให้หลับได้ลึกขึ้น
     4.4 แสงแดดและวิตามินดี. เม็ดเลือดขาวชนิดที.เซลล์จะทำงานได้ต้องอาศัยวิตามิน ดี. ซึ่งมักจะมีระดับต่ำกว่าปกติในผู้สูงอายุ การขาดวิตามิน ดี.ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง งานวิจัยพบว่าการกินวิตามินดี.เสริมอาจช่วยลดการติดเชื้อไวรัสและติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนโดยการลดการผลิตสาร pro-inflammatory compound ทำให้การอักเสบลดลง [1,2] งานวิจัยที่ผมทำด้วยตัวเองกับผู้ใหญ่คนไทยที่มีสุขภาพดี 211 คนและตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Bangkok Medical Journal [3] พบว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งในสามขาดวิตามินดี. เนื่องจากวิตามินดี.มีน้อยในอาหารธรรมชาติแต่ร่างกายได้มาจากแสงแดด ดังนั้นช่วงนี้ต้องขยันออกแดด เปิดแขนเปิดขาอ้าซ่ารับพลังงานจากแสงอาทิตย์ทุกวัน ถ้าไม่มีแดดให้ออกก็ควรกินวิตามินดี.ทดแทน อาจจะกินตามขนาดอาหารแนะนำ (recommended dietary allowance) คือวันละ 400-800 IU แต่บ้างก็มีสูตรการกินของตัวเองเป็นสองเท่าสามเท่าหรือแม้กระทั่งสิบเท่าของ RDA อันนั้นเรื่องของใครของมันแล้วครับ
     4.5 กินอาหารบำรุงภูมิคุ้มกัน กล่าวคือกินอาหารไขมันต่ำที่มีปริมาณพืชมาก (low fat, plant-based) เพราะงานวิจัยพบว่าการกินอาหารไขมันสูงทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวเสียไป ทำให้กลไกการเชื่อมกาวให้ผิวเซลเชื้อโรคเชือมติดกับเซลของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียไป นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารมังสะวิรัติมีวิตามินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมาก ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น [4,5] และลดระดับตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกายลงได้ และทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เพิ่มขึ้น [6] ขณะที่การกินอาหารเนื้อสัตว์ทำให้ตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกายสูงกว่ากินอาหารพืช [7] อาหารพืชผักผลไม้ให้วิตามินเช่นเบต้าแคโรทีน ซึ่งลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกัน วิตามินซี. และ วิตามินอี. ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ก็ได้จากพืช กล่าวคือวิตามินซีมีมากในส้ม บร็อคโคลี มะม่วง มะนาว ผลไม้อื่นๆ และผัก วิตามินอี.มีมากในนัท เมล็ดพืช อีกด้านหนึ่ง สังกะสีเป็นธาตุรองที่จำเป็นในการช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสีได้แก่ นัท เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา ถั่วต่างๆ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Grant WB, Lahore H,. McDonnell SL, et al. Vitamin D supplementation could prevent and treat influenza, coronavirus, and pneumonia Infections. Preprints. 2020;2020030235;
2. Chung C, Silwal P, Kim I, Modlin RL, Jo EK. Vitamin D-cathelicidin axis: at the crossroads between protective immunity and pathological inflammation during infection. Immune Netw. 2020;20:e12-38.
3. Chaiyodsilp S, Pureekul T, Srisuk Y, Euathanikkanon C. A Cross section Study of Vitamin D level in Thai Office Workers. The Bangkok Medical Journal. 2015;9:8-11
4. McAnulty, L.S.; Nieman, D.C.; Dumke, C.L.; Shooter, L.A.; Henson, D.A.; Utter, A.C.; Milne, G.; McAnulty, S.R. Effect of blueberry ingestion on natural killer cell counts, oxidative stress, and inflammation prior to and after 2.5 h of running. Appl. Physiol. Nutr. Metab. 2011, 36, 976–984.
5. Hutchison, A.T.; Flieller, E.B.; Dillon, K.J.; Leverett, B.D. Black currant nectar reduces muscle damage and inflammation following a bout of high-intensity eccentric contractions. J. Diet. Suppl. 2016, 13, 1–15.
6. Rinninella E, Cintoni M, Raoul P, et al. Food Components and Dietary Habits: Keys for a Healthy Gut Microbiota Composition. Nutrients. Published online October 7, 2019; SoldatiL , Di Renzo L, Jirillo E, Ascierto PA, Marincola FM, De Lorenzo A. The influence of diet on anti-cancer immune responsiveness. J Transl Med. 2018;16:75-93.
7. Ley, S.H.; Sun, Q.; Willett, W.C.; Eliassen, A.H.; Wu, K.; Pan, A.; Grodstein, F.; Hu, F.B. Associations between red meat intake and biomarkers of inflammation and glucose metabolism in women. Am. J. Clin. Nutr. 2014,99, 352–360. [CrossRef] [PubMed]