อาหารจากพืชเป็นหลัก

จะกินอาหาร plant-based เพื่อรักษาหัวใจเต้นรัว (AF) ได้ไหม

ภาพประจำวัน: มื้อกลางวันวันนี้ สลัดหมอสันต์ ..เหมียนเดิม กินมาสิบกว่าปีไม่มีเบื่อ เพราะวัตถุดิบไม่เคยเหมือนเดิม สุดแล้วจะมีอะไรเหลืออยู่ใกล้มือ โปรดสังเกตหน้านี้มันเทศและอะโวกาโดจากตลาดมวกเหล็กมีสีสันน่ากินเชียว

………………………………………

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

อายุ 59 ปีค่ะ เป็น AF ตรวจพบในการตรวจร่างกายประจำปี ตรวจหัวใจอย่างอื่นปกติ แพทย์ให้กินยา warfarin 3 mg แล้วมีปัญหามาก เพราะแพทย์ห้ามกินผักและผลไม้เพราะจะทำให้ยาไม่ทำงาน แต่หนูอยากกินอาหารแบบ plant-based แบบที่คุณหมอแนะนำจะได้ไหม จะมีผลต่อ AF อย่างไร

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

………………………………………………………………………….. 

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. ถามว่ากินอาหารแบบ plant-based คือกินพืชผักผลไม้ถั่วนัทมากๆแบบมังหรือเจ จะรักษาหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ได้ไหม ตอบว่ายังไม่ทราบครับ เพราะหลักฐานวิจัยเรื่องนี้ตรงๆที่จะตอบคำถามคุณได้แบบจะจะ..ยังไม่มี ผมเคยนั่งฟังหมอผู้หญิง(ฝรั่ง) คนหนึ่งเล่าในการประชุมวิชาการแพทย์นานาชาติว่าเธอทดลองรักษาผู้ป่วย AF ด้วยอาหารแบบกินพืชเป็นหลักแล้วได้ผลดี แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่เห็นเธอตีพิมพ์งานวิจัยของเธอในวารสารการแพทย์ให้อ้างอิงได้สักที 

     แต่ผมมีข้อเสนอแนะ (ไม่ใช่หลักฐาน) ว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักน่าจะเป็นผลดีในการป้องกันและรักษาหัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ AF เพราะอาหารพืชเป็นหลักใช้รักษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเหตุชักนำให้เกิด AF ได้เกือบทุกรายการตั้งแต่ โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว อ้วน เบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น อาหารพืชเป็นหลักใช้รักษาโรคต้นเหตุเหล่านี้ได้หมด นอกจากนั้นอาหารพืชเป็นหลักยังลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย (วัดด้วยดัชนี CRP) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชอบพบร่วมกับ AF ลงได้ด้วย 

     แล้วอย่าลืมว่าหลักวิชาแพทย์ในการรักษา AF มีสี่อย่างนะ คือ (1) ควบคุมจังหวะการเต้น (rhythm) (2) ควบคุมอัตราการเต้น (rate) (3) ใช้ยากันเลือดแข็ง (4) จัดการปัจจัยเสี่ยง ซึ่งก็คือทุกโรคที่ผมจาระไนไปแล้วนั่นแหละ การที่อาหารพืชเป็นหลักรักษาโรคเหล่านั้นได้ ก็เท่ากับว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและรักษา AF ด้วย 

     ส่วนงานวิจัยดูความสัมพันธ์ตรงๆระหว่างอาหารพืชเป็นหลักกับอุบัติการณ์ของ AF นั้นตอนนี้ยังไม่มี ต้องรอไปจนกว่าจะมีคนทำวิจัยแล้วตีพิมพ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ามีผมจะเอามาเล่าให้ฟัง

     ประเด็นที่ 2 กินยากันเลือดแข็ง (warfarin) แล้วห้ามกินผักผลไม้ หิ หิ นี่คุณฟังมาผิดแล้วนะ เรื่องของเรื่องคือยา warfarin ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค.ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด แล้ววิตามินเค.นี้เราได้มาจากอาหารพืชผักผลไม้ มนุษย์เราขาดวิตามินเค.ไม่ได้ เพราะขาดแล้วตายจากเลือดไหลไม่หยุด อย่างไรเสียเราก็ต้องกินพืชผักผลไม้แล้วปรับขนาดยากันเลือดแข็งตามให้พอดีกันโดยการเจาะเลือดดูบ่อยๆ การปรับยานี้จะทำใด้ง่ายหากการกินพืชผักผลไม้ของเรากินอย่างสม่ำเสมอ มากก็มากทุกวันให้สม่ำเสมอ หากบางช่วงกินมาก บางช่วงกินน้อย การปรับยาตามจะทำได้ยาก ดังนั้นกินยากันเลือดแข็งแล้วให้กินผักผลไม้มากๆได้แต่ขอให้กินสม่ำเสมอทุกวัน อย่ากินมากบ้างน้อยบ้าง

     ประเด็นที่ 3 สมัยนี้มันมียาที่ดีกว่า warfarin นะ เช่นยา dabigatran ซึ่งมีความดีกว่ายา warfarin ทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นความง่ายในการใช้และผลข้างเคียงที่ต่ำกว่า ยกเว้นไม่ดีอย่างเดียวคือราคาแพงกว่า ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับวิตามินเค. ไม่ต้องคอยเจาะเลือดดูบ่อยๆ ถ้าคุณมีเงินผมแนะนำว่าให้ขอหมอเขาเปลี่ยนยา warfarin เป็นยา dabigatran เสียดีกว่า แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่ต้องเปลี่ยน เพราะ warfarin เบิกสามสิบบาทประกันสังคมได้ แต่ dabigatran เบิกไม่ได้ เพราะมันยังแพงอยู่มาก หากคุณอยากใช้คุณขอหมอใช้ได้ แต่ว่าคุณต้องออกเงินเองนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์