COVID-19, Latest

นี่เป็นเวลาที่จะต้องตัดสินใจเรื่องโควิด 19 อีกครั้ง


     ภาพรวมสถานะการณ์โควิด19 ของไทยวันนี้

     ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ ประเทศไทยของเราได้กลับเข้าสู่การระบาดของโควิด19 ในระยะเร่งหรือระยะที่ 4 (acceleration phase) อีกแล้ว หลังจากที่ดับคลื่นระยะเร่งนี้ลงได้สนิทแล้วเมื่อปลายเดือนเมษายน รูปแบบการกระจายตัวของโรคได้เปลี่ยนจากการอยู่ในระยะติดเชื้อกระปริดกระปรอย (sporadic) อย่างคงที่มานานถึง 8 เดือน กลับมาเป็นการติดเชื้อเป็นกลุ่มๆ (cluster of cases) ในชั่วเวลาไม่กี่วัน และกำลังเดินหน้าไปสู่รูปแบบการติดเชื้อในชุมชน (community transmission) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ 

     ก่อนจะพูดอะไรกันต่อ ผมขอซักซ้อมความเข้าใจในสองประเด็นของโรคระบาดก่อนนะ 

     ประเด็นแรก คือระยะ (phase หรือ interval) ของการระบาด ซึ่งหากแบ่งตามศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ ก็แบ่งเป็นหกเฟส คือ (1) ระยะสอบสวนโรค Investigation (2) ระยะรับรู้ศักยภาพโรค Recognition (3) ระยะเริ่มระบาด Initiation (4) ระยะเร่งระบาด Acceleration (5) ระยะแผ่ว Deceleration (6) ระยะกลับมาเฝ้าระวัง Preparation for future waves

     ประเด็นที่สอง คือระดับชั้นการแพร่โรค (transmission classification) ซึ่งแบ่งรูปแบบออกเป็นสี่ชั้นจากน้อยไปหามากคือ (1) ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ (no cases) (2) ติดเชื้อกระปริดกระปรอย (sporadic) (3) ติดเชื่อเป็นกลุ่มๆ (cluster of cases) (4) ติดเชื้อในชุมชน (community infection)

     ผมประเมินเอาจากข้อมูลวันต่อวันที่ทีมงานของรัฐบาลแถลงมาแล้วผมสรุปเอาเองว่าเรากำลังกลับเข้าสู่การระบาดระยะ acceleration อีกครั้ง แต่ยังมีรูปแบบการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มๆ ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินสามวันก่อนการชื่นชุมนุมเพื่อรื่นเริงเถลิงศกใหม่นะ 

     นาทีนี้เป็นเวลาที่จะต้องตัดสินใจกันอีกแล้ว

     เมื่อโรคกลับเข้าสู่ระยะเร่ง ก็เป็นเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนนโยบายชลอโรค (mitigation) (อันได้แก่สวมหน้ากาก ใช้เจล และ social distancing) กลับไปใช้นโยบายกดโรค (suppression) หรือพูดง่ายๆว่า Lockdown Thailand อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจนี้ถ้าจะทำแบบหวังผลกันจริงจัง ก็ต้องรีบตัดสินใจทำซะก่อนงานรื่นเริงเถลิงศกใหม่ ซึ่งจะเป็นวาระที่โรคมีโอกาสจะกระจายไประเบิดเถิดเทิงจากการชุมนุมรื่นเริงเถลิงศกใหม่กันเป็นกลุ่มๆเล็กบ้างใหญ่บ้างทั่วประเทศ     

     มีข้อมูลอะไรประกอบการตัดสินใจครั้งนี้บ้าง

     ก่อนจะไปพูดกันถึงว่าตัดสินใจแบบไหนผิดแบบไหนถูก ลองมามองข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันหน่อยนะ เพราะหลายแง่หลายมุมได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

     1. อัตราตายของโรคได้เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงนี้มีในสองมิติ คือ 

     1.1 อัตราตายแปรผันตามประเทศ เมื่อโรคเริ่มระบาดที่จีน มีอัตราตาย 4.95%, อิตาลี 3.51%, อังกฤษ 3.12%,  สหรัฐอเมริกา 1.74%, อินเดีย 1.44% พม่า 2.1%, มาเลย์เซีย 0.4%, สิงค์โปร์ 0.04%, ไทย 0.97% 

     ความแตกต่างของอัตราตายที่ต่างกันได้เป็นร้อยเท่าตัวนี้เป็นข้อมูลที่จริงแท้แน่นอน เพราะหากไม่นับประเทศไทยทึ่มีผู้ป่วยเรือนพัน ประเทศอื่นๆที่ผมยกตัวเลขมาล้วนมีผู้ป่วยเรือนเหยียบแสนหรือเรือนล้านทั้งสิ้น ดังนั้นข้อมูลนี้ถูกต้องจริงแท้แน่นอน และโปรดสังเกตว่าไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับสิงค์โปร์มาเลย์เซียซึ่งมีอัตราตายต่ำมาก 

     1.2 อัตราตายลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อประหยัดเวลาอ่านของท่าน ผมขอยกข้อมูลเฉพาะของไทยนะ 

     สามเดือนแรกคือนับตั้งแต่เริ่มมีโรคระบาดมาจนถึงปลายเดือนเมษาซึ่งเรามีผู้ป่วย 2,954 คน ตาย 54 คน อัตราตาย 1.82% 

     สามเดือนถัดมา (พค.-กค.) เรามีผู้ป่วย 356 คน ตาย 4 คน อัตราตาย 1.12%

     สามเดือนถัดมา (สค.- ตค.) เรามีผู้ป่วย 470 คน ตาย 1 คน อัตราตาย 0.21%

     สองเดือนสุดท้าย (พย.-28 ธค.) เรามีผู้ป่วย 2,367 คน ตาย 1 คน อัตราตาย 0.04% (หลังจากเขียนบทความนี้หนึ่งวันก็มีคนไข้หัวใจตายจากฮาร์ทแอ็ทแท็คและตรวจพบมีเชื้อโควิด19 ที่ระยองอีก 1 คน หากนับรวมรายนี้ด้วยอัตราตายก็จะเป็น 0.08%

     โปรดสังเกตว่านอกจากอัตราตายจะลดลงต่อเนื่องแล้ว ในสองเดือนสุดท้ายซึ่งเรามีผู้ป่วยสองพันกว่าคน มีอัตราตายเพียง 0.08% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราตายรวมของสิงค์โปร์ และต่ำกว่าอัตราตายที่หวู่ฮั่นซึ่งอยู่ในใจเราตลอดมาถึง 50 เท่า และเมื่อเทียบกับอัตราตายของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้ประมาณไว้ว่าไข้หวัดใหญ่มีอัตราตายราว 0.13% (ป่วย 9-45 ล้านคนต่อปี ตาย 12000 – 61000 คนต่อปี) นั่นหมายความว่ามาถึงวันนี้โควิด 19 ในประเทศไทย สิงค์โปร์ มาเลย์เซีย มีอัตราตายต่ำลงมาจนใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ (influenza) ทำให้การจะใช้มาตรการแรงๆกับการควบคุมโรคไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนัก

     2. ประเทศคู่ค้าสำคัญน่าจะเปิดประเทศในปี 2564 นี้ 

      ประเทศหลักๆที่ค้าขายกับเรา โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนติดเชื้อไปแล้ว 18 ล้านคน ติดเชื้อใหม่วันละสองแสน ด้วยอัตราเร่งขนาดนี้ภายในปลายปี 2564 ประเทศแบบนี้ถึงแม้ไม่มีวัคซีนก็จะจบเกมด้วย herd immunity (แปลว่าภูมิคุ้มกันจากการที่สมาชิกของฝูงจำนวนหนึ่งที่เคยติดเชื้อมีภูมิแล้วช่วยบังไม่ให้โรคมาถึงตัวคนที่ยังไม่มีภูมิ ทำให้การระบาดของโรคสงบลงเอง) แต่วันนี้อย.สหรัฐฯได้อนุมัติวัคซีนออกมาฉีดแล้วสองยี่ห้อ การที่วัคซีนมาเร็ว ยิ่งจะทำให้ประเทศแบบนี้จบเกมและเปิดประเทศได้เร็วก่อนสิ้นปีหน้า ดังนั้นในด้านการทำมาค้าขาย เราก็ต้องเล็งให้ดีว่าตอนนั้นเขาเปิดไปมาค้าขายกันได้แล้ว เรายังปิดเพราะกลัวติดโรคอยู่หรือเปล่า

     3. ความล้าหรือดื้อด้านพฤติกรรมใหม่ (behavioral fatigue) อันนี้มันเป็นความเห็นของพวกหมออังกฤษซึ่งผมก็หาหลักฐานวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนไม่ได้แต่เมื่อติดตามข่าวโควิด19 ตลอดมาแล้วผมก็อนุมาณจากข่าวว่าความล้านี้น่าจะมีอยู่จริงกระมัง คือคำว่า behavioral fatigue นี้พวกหมอทางอังกฤษจะเชื่อกันเป็นตุเป็นตะว่าคนเราหากบังคับให้ทำอะไรที่ไม่อยากทำซ้ำซาก (เช่นสวมผ้าปิดจมูก) อยู่เป็นเวลานาน จะเกิดอาการล้า หรือหน่าย แล้วพาลไม่ทำ หมายความว่าหากรัฐบาลเอามาตรการควบคุมโรคเข้มงวดออกมาใช้เป็นเวลานานเกินไปหรือใช้ซ้ำซากเกินไป ประชาชนจะเกิดล้าและดื้อด้านไม่ร่วมมือ งัดมาตรการอะไรออกมาบังคับใช้ก็ไลฟ์บอยเพราะไม่มีใครทำตาม จะจับเข้าคุกก็ไม่มีคุกจะขังเพราะคนล้าหรือดื้อด้านมีเยอะเกิน 

     แล้วจะเอายังไงกันดี

     การตัดสินใจเป็นเรื่องของลุงตู่ครับ ไม่ใช่เรื่องของผม ผมก็ได้แต่ให้ข้อมูลเชิงวิชาการแก่ท่านผู้อ่าน ถามความเห็นของหมอสันต์ว่าหากไม่คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ เอาแต่มุมมองด้านการแพทย์ล้วนๆ หมอสันต์มีความเห็นว่าควรทำอย่างไร ตอบว่า ควรเลิกนโยบายกดโรค (suppression) เสีย เลิกพูดถึงล็อคดาวน์ไทยแลนด์ไปเลย เก็บนโยบายนั้นลงหีบล็อคกุญแจได้เลย ควรเดินหน้าไปกับนโยบายชลอโรค (mitigation) คือสวมหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ social distancing อย่างที่เคยทำมา พอวัคซีนมาก็ฉีดวัคซีน พอชาวบ้านเขาเปิดผ้า เอ๊ย..เปิดประเทศ เราก็เปิด นี่เป็นความเห็นของหมอสันต์คนเดียวนะครับผม ควรมิควรก็สุดแล้วแต่คุณลุงท่านจะพิจารณา หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

29 ธค. 63

เรียน​ อาจารย์สันต์ที่นับถือ

    ผมติดตามอ่านและได้ประโยชน์จากบทความของอาจารย์มานาน

    แต่ในบทความล่าสุด​ ที่ว่าอัตราตายของโควิดในประเทศไทยต่ำลง​ ผมไม่เห็นด้วยกับการนำมาอ้างอิงว่าความรุนแรงของโรคเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา

    เนื่องจากกลุ่มใหญ่ของโควิดในไทยช่วง​ สค-พย 63​ เป็นกลุ่มประชากรที่​สามารถ​เดินทางผ่านเครื่องบินได้​ ซึ่งอายุน่าจะน้อย​ แข็งแรง​ ได้รับการคัดกรองโควิดมาแล้ว​ ซึ่งไทยมาตรวจเจอภายหลัง​ กลุ่มนี้จึงมีอาการไม่มาก​ ทำให้อาจรู้สึกว่าความรุนแรงของโควิดลดลง

    แต่ถ้าให้มีการแพร่กระจายในชุมชนทั่วไป​ อัตราการตายน่าจะสูงขึ้น​ พิจารณา​เฉพาะจังหวัดระยอง​ ปัจจุบัน​ติดเชื้อ​ 92​ ราย​ ตาย​ 1​ แม้ขณะนี้ยังการติดเชื้อยังไม่ค่อยไปถึงผู้สูงอายุ

    จึงขออนุญาต​ท้วง​ เพื่ออาจารย์พิจารณา

………………………………………..