Latest, จิตวิญญาณ (Spirituality)

นิทานแขก เรื่องการเสาะหาความสุข

บึงเล็กท้ายสวนของเวลเนสวีแคร์..ที่รอการพัฒนา

     ตั้งแต่คบเพื่อนแขก หมายถึงเพื่อนชาวอินเดีย เดี๋ยวนี้หมอสันต์นิยมแขกมากขึ้น เช่น หลักโภชนาการบอกว่าต้องสร้างความหลากหลายให้อาหาร ตัวบอกความหลากหลายคือสี รสชาติ และฤดูกาล หมอสันต์ก็เสาะหาเครื่องเทศรสชาติใหม่ๆมาใส่อาหารให้หลากหลายขึ้น ทั้งรสฝรั่ง รสแม็กซิกัน รสเกาหลี แต่ท้ายที่สุดก็มาติดใจที่รสแขก ทำให้ลูกค้าเวลเนสวีแคร์พลอยต้องมีเมนูอาหารรสแขกๆไปด้วย 

     หรือเช่นสมัยก่อนหมอสันต์ฟังพังเพยไทยที่ว่า

     “เจองู กับเจอแขก ให้ตีแขกก่อน”

     ฟังแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรต่อ แต่เดี๋ยวนี้หมอสันต์ฟังความสองข้าง จึงเดาว่าคนคิดคำพังเพยนี้คงจะเป็นลูกหนี้เงินกู้รายวันของนายทุนแขกแน่นอน และเดาเอาว่าฝ่ายนายทุนเงินกู้แขกคงต้องให้การโต้แย้ง 

     “อีนี่..คนไทยนะนาย 

ปล่อยกู้ฉิบบาทไปฉิบเอ็ดบาทมา 

ร้อยบาทไป ร้อยฉิบบาทมา 

พันบาทไป พันหนึ่งร้อยบาทมา 

หมื่นบาทไป หมื่นบาท หายแช้บ..บ”

     (ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     และหมอสันต์เห็นด้วยกับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศและจบด๊อกเตอร์มาจากอินเดีย ซึ่งพูดให้ฟังถึงความจริงอีกด้านหนึ่งว่า

     “พระพุทธเจ้าที่เราไหว้ประลกๆอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแขกนะ”

     สรุปว่าเดี๋ยวนี้หมอสันต์โปรแขก แม้แต่นิทานเดี๋ยวนี้ก็ชอบนิทานแขก รวมทั้งเรื่องที่ตั้งใจจะเล่าให้ฟังในวันนี้ด้วย เรื่องนี้เล่าไว้ในหนังสือเวดะ เรื่องมีอยู่ว่าโยคีแก่ตนหนึ่งสอนลูกศิษย์สามเณรสิบรูป วันหนึ่งเมื่อเห็นว่าสามเณรจบภาคทฤษฎีบทที่ 1 แล้วก็เรียกทั้งหมดมาสั่งว่า

     “พวกเจ้าจะต้องเริ่มออกธุดงค์แสวงบุญ โดยให้มุ่งไปที่วัดเก่าแก่ที่ทางภาคเหนือให้ทันงานเฉลิมฉลองใหญ่ประจำปี ตัวข้าแก่แล้วไปกับพวกเจ้าไม่ได้เพราะมันต้องเดินหลายวัน พวกเจ้าต้องไปกันเอง” 

     เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องออกธุดงค์ สามเณรทั้งสิบพากันออกเดินทางโดยเกาะกลุ่มกันแจเพราะกลัวหลง รอนแรมขึ้นเขาลงห้วยผ่านชนบทหมู่บ้านจนมาถึงลำน้ำแห่งหนึ่งซึ่งลึก กว้าง และเชี่ยว ต้องว่ายน้ำข้ามไปกัน พอข้ามไปถึงอีกฝั่งเณรรูปหนึ่งก็ขอนับยอดให้แน่ใจว่ามากันได้ครบ แต่ก็นับได้แค่เก้ารูป เพราะลืมนับตัวเอง รูปอื่นข้องใจก็ออกมานับบ้าง ก็นับได้เก้ารูปอีก จึงพากันสติแตกว่าเพื่อนหาย ช่วยกันกระจายค้นหาทั้งสองฝั่งน้ำและเลาะลำน้ำไปทางปลายน้ำเผื่อพบศพเพื่อนจมน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าหาให้ตายก็ไม่พบ เพราะสามเณรรูปที่ขาดไปนั้นคือตัวเขาเอง เขาไปค้นหาตัวเองที่ข้างนอก เขาจะหาพบได้อย่างไร เพราะมันเป็นการไปค้นหาผิดที่

     ฉันใด ก็ฉันเพล ผู้คนที่ล้วนมุ่งหน้าไปเสาะหาความสุขที่ข้างนอกจะไปเจอความสุขได้อย่างไร เพราะมันเป็นการไปค้นหาผิดที่ ความสุขนั้นมันอยู่ที่ข้างใน ความสุขมันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของความรู้ตัว ซึ่งมีธรรมชาติสงบเย็บเบิกบานของมันอยู่แล้ว แต่มันถูกคลุมไปด้วยความคิดสาระพัดสาระเพอย่างหนาจนเจ้าตัวมองเข้าไปข้างในแล้วไม่เห็นอะไรนอกจากจะเห็นแต่ความคิด แต่ถ้าค่อยๆแกะความคิดออกทิ้งไปทีละชั้นๆในที่สุดก็จะเห็นความรู้ตัวยิ้มเผล่อยู่ตรงนั้นเอง มันอยู่ที่นั่นมานานแล้ว เพียงแต่ถูกความคิดบังไม่ให้เห็นมัน

      ถ้าการค้นหาอะไรที่ข้างนอกมันสนุกสนานเหมือนกับการเล่นซ่อนหาก็ดีอยู่หรอก ชีวิตนี้แม้จะหาอะไรไม่เจอแต่ก็ยังมีความสนุกสนานกับชีวิตมันก็คุ้มอยู่ แต่ชีวิตจริงมันไม่สนุก ดั่งเหมือนสามเณรทั้งสิบที่กำลังค้นหาเพื่อนอย่างมีความทุกข์อย่างยิ่งนั่นไง เพราะพวกเขากำลังคิดกังวลว่าเพื่อนสามเณรรูปหนึ่งจมน้ำตายไป จะค้นหาอย่างมีความสุขได้อย่างไร

     เมื่อสามเณรทั้งสิบค้นหาเพื่อนไปหลายชั่วโมงแล้วไม่พบก็มาตั้งวงสรุปว่าเพื่อนคงจมน้ำตายไปเสียแล้วและนั่งร้องไห้กันอยู่ มีตาแก่คนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นและสอบถามเรื่องราวแล้วก็เข้าใจในทันทีว่าพวกสามเณรนับเลขผิดเพราะลืมนับตัวเอง จึงชี้ให้เห็นว่ามีสามเณรครบสิบรูปแล้ว ก็นั่งล้อมวงกันอยู่นี่ไงแล้วชี้ไปทีละรูปนับหนึ่งถึงสิบให้ดู พวกสามเณรก็นับกันเองอีก ก็ไม่ครบอีก เลยพาลโกรธตาแก่ว่ามาล้อเล่นผิดกาละเทศะ 

     ฉันใดก็ฉันเพล ท่านสาธุชนทั้งหลาย คนเราซึ่งกำลังมุ่งไปค้นหาความสุขผิดที่ แม้จะมีคนมาบอกความจริงให้ว่าความสุขมันอยู่ที่ข้างในไม่ได้อยู่ข้างนอกก็ยังไม่เห็นอยู่ดี ก็ยังไปค้นหาผิดที่อยู่นั่นแหละ แสดงว่าการบอกอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นจึงจะทำให้คนเราเห็นสิ่งที่ถูกความคิดปิดบังไว้ได้

     “พูดชุ่ย อีตาลุง พวกฉันนับกี่ครั้งก็มีแค่เก้า”

     ลุงแก่คนนั้นจึงเรียกสามเณรรูปหนึ่งออกมาอยู่นอกกลุ่ม แล้วให้นับใหม่ ก็นับได้เก้า แล้วลุงแก่ก็ชี้ไปที่ตัวสามเณรผู้นับว่าเณรรูปที่สิบก็คือตัวเจ้านี่ไง

     “คนที่หายไปคือตัวเจ้า แต่เจ้าไปหาที่ข้างนอก การค้นหาของเจ้าจึงไม่สำเร็จสักที”

     เหล่าสามเณรได้ยินก็ตรัสรู้ขึ้นมาทันทีว่า อ้อ.. (หิ หิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     นิทานแขกเรื่องนี้นอกจากจะสอนเรื่องวิธีค้นหาความสุขว่ามันต้องหาที่ข้างในแล้ว ยังสอนให้รู้ว่าการที่คนเราจะเก็ทอะไรนั้นการบอกอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีวิธีแสดงให้เห็นแบบให้เขาค้นพบความจริงนั้นด้วยตัวเองไปทีละขั้น ทีละขั้นด้วย หมายความว่าวิชาชีวิตนี้คำบอกเล่าไม่สำคัญเท่าวิธีสอนแสดงให้ไปค้นพบด้วยตัวเอง หนังสือ คัมภีร์ วิดิโอ ยูทูป เป็นเพียงคำบอกเล่า บอกให้ตายหากไม่มีวิธีสอนแสดงให้ค้นพบความจริงด้วยตัวเองไปทีละขั้น ผู้คนก็ไม่เก็ท

     การบอกว่าตัวคุณที่แท้จริงซึ่งคือความรู้ตัวนี้ เป็นคนละอันกับความคิด ความรู้ตัวเป็นผู้สังเกต ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต และความรู้ตัวจะไม่ถูกแปดเปื้อนด้วยความคิดที่ถูกสังเกต พูดไปให้ตายคุณก็ไม่เก็ท เปรียบเหมือนถ้าผมถือลูกแก้วใสแนบกับเสี้อสีแดงที่ผมใส่อยู่ คุณมองอย่างไรก็เห็นลูกแก้วนั้นเป็นสีแดง มิใยที่ผมจะบอกเล่าอย่างไรว่าลูกแก้วมันเป็นสีใสนะ แต่คุณก็ไม่เก็ท เพราะคุณเห็นลูกแก้วเป็นสีแดงอยู่ทนโท่ ตราบจนผมชูลูกแก้วขั้นเหนือศรีษะให้พ้นผ้าสีแดงนั้น เมื่อคุณเห็นลูกแก้วนั้นกลับเป็นสีใส คุณจึงจะเก็ท

     ฉันใดก็ฉันเพล ถึงใครจะพร่ำบอกว่าความรู้ตัวเป็นคนละอันกับความคิดและจะไม่แปดเปื้อนด้วยความคิด คุณก็ไม่เก็ท แต่หากคุณฝึกนั่งสมาธิด้วยตนเองจนอย่างน้อยคุณนั่งสมาธิได้นิ่งแป๊บหนึ่งพอวางความคิดลงได้หมดแม้จะชั่ววินาทีเดียวก็ตาม คุณก็จะมีประสบการณ์ด้วยตนเองว่าความรู้ตัวยามที่ไม่มีความคิดห่อหุ้มอยู่นั้นมันไม่ได้แปดเปื้อนหรือมีสีหรือกลิ่นอายของความคิดติดอยู่เลย และมันมีแคแรคเตอร์ที่สงบเย็นเบิกบานของมันเอง คุณจึงจะเก็ทด้วยตัวของคุณเอง

     หมดประเด็นที่นิทานตั้งใจจะชี้แล้ว

     เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่แฟนบล็อกหมอสันต์ผู้อ่านนิทานนี้ทุกๆท่านเทอญ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์