Latest, โรคหัวใจ

ทำบอลลูนแล้วทิ้งยาหมด ถูกหมออวยกันใหญ่

แฟนบล็อกวาดให้ อังรีมูโอต์เดินทานผ่านดงพญาเย็น

เรียน คุณ​หมอครับ

มีเรื่องปรึกษาครับ ผมเคยทำบอลลูนใส่ขดลวดเส้นเลือดหัวใจ 2 เส้น เมื่อปลายปี 55 จากนั้นกินยา ออกกำลังกายเบาๆตามหมอแนะนำอยู่ 2 ปี ปี 58 อ่านบล๊อกคุณหมอเรื่องการปรับพฤติกรรม​ชีวิต กินผักผลไม้ปั่นเป็นอาหารเช้า  ออกกำลังกายให้หนัก จัดการอารมณ์ ผมทำตามอย่างมีวินัย เลิกกินยาทุกชนิดตั้งแต่ปี 58 นับถึงวันนี้เกือบ 6 ปีครับ แต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาการหวัดเล็กๆ แล้วไปเล่นฟุตบอล ช่วงดึกรู้สึกปวดหัวตึบๆ แฟนให้กินยาแก้ปวด หลังจากนั้นวัดความดัน ขึ้นไป 170 สุดท้าย แฟนพาไป ร.พ.(แฟนเป็นพยาบาล)​ หมอสอบถามอาการ ว่ามีโรคประจำตัวไหม ก็บอกไปว่าเคยทำบอลลูน​ แต่หยุดยามาเกือบ 6 ปีล่ะ ใช้การปรับพฤติกรรม​ชีวิต แค่นั้นหล่ะครับ ทั้งหมออินเทอร์​น  หมอประจำ ร.พ.อวยผมกันใหญ่ หัวใจจะวาย เส้นเลือดจะตีบ ให้กลับไปกินยาอีก แล้วให้ไปทำ echo ผลออกมาก็ปรกติ ผมส่งผลการตรวจไขมันในเลือด กับ echo ให้คุณหมอดู ยังคงใช้แนวทาง​เดิมหมอสันต์ได้น่ะครับ ผมไม่อยากกินยา ยาที่เขาจ่ายมา มี 1ยาลดการหลั่งกรดในกระเพราะ​ 2.aspirin 3.ยาลดไขมัน 4.ยาลดความดันโลหิต 5.วิตามิน b1-6-12

รบกวนคุณหมอ​ด้วยครับ

……………………………………
 
ตอบครับ
 
     ประเด็นที่ 1. การรักษาความดันเลือดสูง หากวินิจฉัยได้ว่าเป็นความดันเลือดสูงจริง (วัดสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในการวัดแต่ละครั้งให้ได้ตัวเลขสามชุด) ก็ควรจะรักษาไปตามขั้นตอนปกติ คือใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตใน 4 ประเด็น คือ (1) ลดน้ำหนักถ้าอ้วน (2) กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (3) ออกกำลังกาย (4) ลดเกลือในอาหาร ครบ 6 สัปดาห์แล้วตรวจวัดความดันเลือดซ้ำ หากยังสูงกว่า 140/90 ก็ควรกินยาลดความดันควบคู่ไปกับการปรับวิธีใช้ชีวิต เมื่อความดันลงต่ำกว่า 135/85 จึงค่อยๆลดยาลง เป้าหมายคือความดันต้องไม่เกิน 140/90 จะด้วยวิธีใดก็ได้ เน้นการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต แต่หกทำไม่ได้ก็แนะนำให้ใช้ยาช่วย
 
     ประเด็นที่ 2. การรักษาไขมันในเลือดสูงในคนเป็นโรคแล้ว เช่นคนที่ทำบอลลูนมาแล้วอย่างคุณนี้ มาตรฐานหลักวิชาก็คือให้ได้ไขมันเลว LDL ต่ำกว่า 70 ด้วยการปรับอาหารก่อน หากยังไม่ได้ก็กินยาลดไขมันช่วยควบคู่ไปด้วย เมื่อได้ LDL ต่ำกว่า 70 แล้วก็ปรับอาหารให้เข้มงวดขึ้นพร้อมๆกับค่อยๆลดยาลดไขมันลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องให้ LDL ต่ำกว่า 70 ไว้จะได้อัตราตายที่ต่ำที่สุด นี่ว่าเฉพาะคนเป็นโรคแล้วนะ คนอื่นๆที่ไม่ได้เป็นโรคไม่เกี่ยวกับค่า 70 นี้
 
     ประเด็นที่ 3. การใช้ยาต้านเกล็ดเลือด (แอสไพริน) ในคนทำบอลลูนมาแล้ว ปัจจุบันนี้มาตรฐานหลักวิชาก็คือใช้ไปตลอดชีวิตยกเว้นมีผลข้างเคียงของยามากจนผลเสียมากกว่าประโยชน์ของยา (เช่นเลือดออกในทางเดินอาหาร) วงการแพทย์ยังไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบคนทำบอลลูนใส่ขดลวดสมัยใหม่ผ่านไปนาน 5-10 ปี แล้วเอามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินยาแอสไพริน อีกกลุ่มหนึ่งกินยาหลอก งานวิจัยแบบนั้นยังไม่มี ดังนั้นจึงไม่สามารถจะตอบได้ว่าหลังทำบอลลูนไป 8 ปีแล้วหากหยุดยาแอสไพรินจะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ ถ้ามากขึ้น มากขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่มีข้อมูลที่จะตอบให้ได้เลย คุณต้องลุยถั่วของคุณเอาเอง
 
     กรณีของคุณเป็นการใช้ยาแอสไพรินป้องกันโรคแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) มันแตกต่างจากคนที่ไม่เคยป่วยเข้ารพ.ไม่เคยทำบอลลูน ซึ่งคนพวกนั้นเขาใช้แอสไพรินป้องกันโรคแบบปฐมภูมิ (primary prevention) ณ ขณะนี้มาตรฐานใหม่ล่าสุด (ACC/AHA Guidelines 2019) ก็คือการใช้แอสไพรินป้องกันปฐมภูมิไม่มีประโยชน์ จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่การใช้ป้องกันทุติยภูมิยังมีประโยชน์ และยังควรใช้อยู่ หมายความว่าใช้ไปจนมีงานวิจัยใหม่บ่งชี้ว่าเมื่อไหร่ควรจะหยุด ณ ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดๆบ่งชี้ว่าเมื่อไหร่ควรจะหยุด เท่ากับหมอเขาก็ตั้งใจจะให้คุณกินจนตายแหละครับ เพราะหลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ให้ทำอย่างนั้น
 
     ประเด็นที่ 4. การใช้วิตามิน ผมไม่ซีเรียส คุณจะกินหรือไม่กินก็เรื่องของคุณ แต่ในกรณีที่คุณกินอาหารแบบวีแกน (มังเข้ม) การกินวิตามินบี 1-6-12 วันละเม็ดก็มีประโยชน์ตรงช่วยป้องกันขาดวิตามินบี.12 ซึ่งงานวิจัยพบว่าคนกินอาหารวีแกนมักมีระดับวิตามินบี.12 ในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
 
     ประเด็นที่ 5. การกินยาลดการหลั่งกรด (PPI) ไม่ใช่ยารักษาโรคหัวใจ แต่เป็นยาป้องกันผลข้างเคียงของยาต้านเกล็ดเลือด ในกรณีที่กินยาแอสไพรินแล้วไม่มีผลข้างเคียง ยาลดการหลั่งกรดก็ไม่จำเป็น การกินยานี้กันจนลืมไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะยานี้ไม่ใช่ยารักษาโรค และตัวยานี้มีพิษต่อไตทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นผมแนะนำให้กินยานี้เฉพาะเมื่อมีผลข้างเคียงของยาแอสไพริน (แสบท้อง หรือมีเลือดออก) และกินรอบหนึ่งเมื่อผลข้างเคียงของยาหมดแล้วก็หยุด อย่ากินกันจนลืม เพราะกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะด้อยลงเพราะร่างกายต่อต้าน (drug tolerance) หากกินยาต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือน นอกจากนี้อาจได้ไม่คุ้มเสียเพราะยานี้มีพิษต่อไต ณ ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยประเมินน้ำหนักความเสี่ยงของผลข้างเคียงของยาแอสไพริน กับความเสี่ยงผลข้างเคียงของยาลดการหลั่งกรด อาจจะพอๆกันหรือข้างใดข้างหนึ่งแย่กว่าก็ได้ไม่มีใครรู้ เพราะข้อมูลยังไม่มี มีแต่ข้อมูลว่ายาลดการหลั่งกรดลดโอกาสเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารในผู้ใช้ยาแอสไพรินลงได้ และขณะเดียวกันก็มีข้อมูลด้วยว่าการกินยาลดการหลั่งกรดไปนานๆจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรัง
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
 
บรรณานุกรม
 
1. 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol 2019;March 17:[Epub ahead of print].