โรคหัวใจ

มีกลไกการดูดซึมน้ำมันมะพร้าวตรงเข้าตับโดยไม่ผ่านกระแสเลือดจริงไหม

เรียนคุณหมอสันต์

น้ำมันมะพร้าวถูกใส่ร้ายว่าเป็นไขมันก่อโรคหัวใจหลอดเลือด เรื่องนี้เป็นความจริงไหมครับ ผมอ่านมาพบว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดสายโซ่ขนาดกลาง (medium chain triglyceride) ซึ่งมีกลไกการดูดซึมตรงเข้าสู่ตับเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่เข้าสู่กระแสเลือด จึงไม่เพิ่มไขมันในเลือด แล้วทำไมน้ำมันมะพร้าวจะไปทำให้ไขมันในเลือดสูงได้อย่างไรครับ

………………………………………  

ตอบครับ

     1. ถามว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันก่อโรคหัวใจหลอดเลือดจริงไหม ตอบว่า นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานตรงๆที่ชี้ชัดว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจหลอดเลือดจริงหรือไม่ และคงจะไม่มีหลักฐานดังกล่าวนี้ไม่ว่าอีกกี่ปีในอนาคตด้วย เพราะการวิจัยต้องใช้ต้นทุนสูงมากใช้เวลานานมากและอาจทำไม่ได้เลยเพราะมีอุปสรรคเชิงจริยธรรมการวิจัย เพราะน้ำมันมะพร้าวมีความสัมพันธ์แน่ชัดกับการเพิ่มไขมันเลว (LDL) ในเลือด ซึ่ง LDL นี้สัมพันธ์แน่ชัดกับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด การจะจับฉลากเอาคนพวกหนึ่งไปกินแต่น้ำมันมะพร้าวนานยี่สิบสามสิบปีย่อมจะไม่ถูกต้องด้วยจริยธรรมของการวิจัยเพราะมีหลักฐานโดยอ้อมแล้วว่ากลุ่มที่ถูกเลือกให้กินน้ำมันมะพร้าวจะมีไขมัน LDL สูงขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคมากขึ้น

     ดังนั้นทุกวันนี้ หรืออาจจะต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้าด้วย เราจะต้องมีชีวิตอยู่กับความรู้แค่หางอึ่งที่วงการแพทย์มีนี้แหละ คือเรารู้เพียงแต่ว่า

    1.1 เรายังไม่รู้ว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่าน้ำมันพืชแบบไม่อิ่มตัวหรือไม่

    1.2 เรารู้ว่าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มทั้งไขมันดี (HDL) และไขมันเลว (LDL) ในเลือด โดยในแง่ของการเพิ่ม LDL นั้น น้ำมันมะพร้าวเพิ่ม LDL ได้น้อยกว่าไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ (เช่นเนย) แต่น้ำมันมะพร้าวเพิ่ม LDL ได้มากกว่าไขมันไม่อิ่มตัว(เช่นน้ำมันมะกอกน้ำมันถั่วเหลือง)

     1.3 เรารู้ว่าการกินมะพร้าวแบบอาหารเชิงวัฒนธรรม เช่นกินน้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าว กะทิมะพร้าว และน้ำมันมะพร้าวในรูปแบบที่กินมาแต่ดั้งเดิมของชาติพันธ์และชนเผ่าในเอเซียและหมู่เกาะทะเลใต้ (ก่อนที่จะมีอาหารแบบตะวันตกเข้าไปผสม) ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด

     1.4 ขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีหลักฐานเลยว่าการกินน้ำมันมะพร้าวสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดน้อยลง หรือทำให้คนอ้วนผอมลงได้แต่อย่างใด 

    2. ถามว่าก็ในเมื่อน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดสายโซ่ขนาดกลาง (medium chain fatty acid – MCFA) ซึ่งมีกลไกการดูดซึมตรงเข้าตับโดยไม่เข้าสู่กระแสเลือด แล้วทำไมน้ำมันมะพร้าวจะไปทำให้ไขมัน LDL ในเลือดสูงได้อย่างไร ตอบว่า หิ หิ การจะเข้าใจเรื่องนี้คุณต้องค่อยๆอ่าน

     มาจะกล่าวบทไป ขอเล่าถึงระบบดูดซึมอาหารไขมันจากลำไส้ไปเลี้ยงร่างกายก่อนนะ ว่ามันมีทางไปได้สองทาง 

     ทางที่ 1. เป็นถนนมาตรฐาน คืออาหารไขมันจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้ ไปเข้าหลอดน้ำเหลืองฝอย (lacteal) ที่อยู่ในผนังลำไส้ กลายเป็นน้ำเหลืองขุ่น (chylomicron) แล้วไปตามท่อน้ำเหลือง ไปรวมกันเป็นท่อน้ำเหลืองใหญ่ (thoracic duct) ซึ่งเทเอาน้ำเหลืองทั้งหมดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด (systemic circulation) ตรงหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ (subclavian vein) จากนั้นก็ล่องลอยไปตามกระแสเลือด ไปแทรกเป็นตุ่มไขมันตามผนังหลอดเลือดได้

     ทางที่ 2. เป็นถนนแคบ จะมาได้เฉพาะโมเลกุลขนาดเล็กเท่านั้น คือไขมันและอาหารอื่นๆรวมทั้งสารพิษจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เช่นกัน แต่จะไปเข้าหลอดเลือดฝอย (capillary) ซึ่งจะไหลไปเข้าหลอดเลือดดำฝอย (venule) แล้วไหลไปรวมกันเป็นหลอดเลือดดำเข้าสู่ตับ (portal vein) เอาอาหารและสารพิษที่กินเข้าไปไปแจกให้เซลตับทุกเซลก่อน แล้วจึงจะไหลต่อไปรวมกันที่หลอดเลือดดำออกจากตับ (hepatic vein) แล้วเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดที่หลอดเลือดดำใหญ่อันล่าง (inferior vena cava) ทั้งหมดนี้เรียกว่าวงจรลัดจากลำไส้สู่ตับ (portal circulation)  

    เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วค่อยมาตอบคำถามของคุณ

     ประเด็นที่ 1. ข้อที่ว่าไขมันอิ่มตัวสายโซ่ขนาดกลาง หรือ MCFA (อันหมายถึงกรดไขมันที่โมเลกุลของมันประกอบด้วยอะตอมคาร์บอน 6 -12 ตัว) มีกลไกดูดซึมเข้าสู่ตับโดยตรง (portal circulation) โดยไม่ผ่านกลไกการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด (systemic circulation) เยี่ยงโมเลกุลไขมันสายโซ่ยาวทั้งหลายนั้น เป็นคอนเซ็พท์หรือ “ข้อสันนิษฐาน” เชิงทฤษฎี 

     ประเด็นที่ 2. การที่คนกินน้ำมันมะพร้าวแล้วไขมัน LDL เพิ่มสูงขึ้น เป็น “ข้อเท็จจริง” จากการวิจัยในคน

     ประเด็นที่ 3. วิชาแพทย์ก็เหมือนวิชากฎหมายนั่นแหละ คือข้อเท็จจริงย่อมหักล้างข้อสันนิษฐาน

     ประเด็นที่ 4. ติดตามมาด้วยการมีผู้เสนอข้อสันนิษฐานใหม่ว่ากรดลอริก (lauric acid) ซึ่งประกอบเป็นส่วนใหญ่ของน้ำมันมะพร้าวนั้น โมเลกุลของมันค่อนข้างใหญ่เพราะมีอะตอมคาร์บอน 12 อะตอม และไม่ได้มีพฤติการณ์ทางชีวเคมีแบบโมเลกุลสายโซ่ขนาดกลางหรือ MCFA ทั้งหลาย แต่มีพฤติการณ์แบบโมเลกุลสายโซ่ขนาดยาวหรือ LCFA คือถูกดูดซึมเข้าสู่ทางกระแสเลือด (systemic circulation) 

     ข้อสันนิษฐานอันหลังนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการวิจัยโดย Denke ที่พบว่ากรดลอริกถูกดูดซึมเข้าทางกระแสเลือด (คือผ่านผนังลำไส้แล้วมาก่อตัวเป็นนมน้ำเหลือง (chylomicron) ในท่อน้ำเหลือง แล้วเข้าสู่กระแสเลือด) 

     ปวดหัวแมะ เดี๋ยวข้อสันนิษฐาน เดี๋ยวข้อเท็จจริง ถ้าคุณไม่ชอบแยกแยะคุณก็ต้องเลิกอ่านข้อมูลในอินเตอร์เน็ทซะ เพราะหากแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง อันไหนเป็นข้อสันนิษฐาน คุณจะถูกข้อมูลในอินเตอร์เน็ทพาให้เสียเงินซื้อของที่เขาหลอกขายให้อยู่ร่ำไป 

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Neelakantan N, Seah JYH, van Dam RM. The effect of coconut oil consumption on cardiovascular risk factors: a systematic review and meta-analysis of clinical trials.Circulation. 2020; 141:803–814. doi: 10.1161/CIRCULATIONAHA.119.043052

2. Eyres L, Eyres MF, Chisholm A, and Brown RC. Coconut oil consumption and cardiovascular risk factors in humans. Nutr Rev. 2016 Apr; 74(4): 267–280. doi: 10.1093/nutrit/nuw002

3. Mensink RP. Effects of Saturated Fatty Acids on Serum Lipids and Lipoproteins: A Systematic Review and Regression Analysis. Geneva: World Health Organization; 2016:1–7

4. DiBello JR, McGarvey ST, Kraft P, Goldberg R, Campos H, Quested C, Laumoli TS, Baylin A. Dietary patterns are associated with metabolic syndrome in adult Samoans. J Nutr. 2009 Oct; 139(10):1933-43.

5. Prior IA, Davidson F, Salmond CE, Czochanska Z. Cholesterol, coconuts, and diet on Polynesian atolls: a natural experiment: the Pukapuka and Tokelau island studies. Am J Clin Nutr. 1981 Aug; 34(8):1552-61.

6. Denke MA, Grundy SM. Comparison of effects of lauric acid and palmitic acid on plasma lipids and lipoproteins. Am J Clin Nutr. 1992; 56:895–898. doi: 10.1093/ajcn/56.5.895