Latest, ปรึกษาหมอ

ทุกประเด็นเกี่ยวกับการทำน้ำให้สะอาดเพื่อดื่ม

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

กำลังรบกับสามีเรื่องเขารบจะเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำ ที่ต้องรบกันก็เพราะนี่เปลี่ยนมาสองครั้งแล้ว ตอนแรกใช้เครื่องกรองมีเรซินสามกระบอก แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเครื่องกรองนาโน คราวนี้เขารบจะเปลี่ยนอีกเป็นเครื่องกรอง RO เอาข้อมูลมาให้ดูว่ามีการทดสอบยืนยันว่าทั้งน้ำประปา น้ำกรองเรซิน น้ำดื่มใส่ขวดขาย ล้วนใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจุ่มตัวทดสอบแบบสองขาลงไปน้ำที่คิดว่าสะอาดเช่นน้ำประปาหรือน้ำใส่ขวดขายก็กลายเป็นขุ่นคลั่กดำปี๋ มันคือการตรวจอะไรคะ อีกการทดสอบหนึ่งเอาเครื่องวัดสารปนเปื้อนในน้ำจุ่มลงไปก็ขึ้นตัวเลขพรวดๆให้ดูว่าปนเปื้อนมาก มันเชื่อถือได้ตามตัวเลขนั้นไหมคะ ต้องน้ำกลั่นเติมแบตเตอรีหรือน้ำ RO ที่กรองด้วยเครื่องที่เขาอยากซื้อนี้เท่านั้นจึงจะผ่านการทดสอบทุกอย่างฉลุย ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไรคะคุณหมอ ถ้ามันจริงอย่างแฟนเขาว่าคนที่ดื่มน้ำประปามิตายกันไปหมดแล้วหรือ หนูรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วย

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

ผมไม่ยอมเขียนเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับเครื่องทำน้ำหรือเครื่องกรองน้ำมานานแล้ว เพราะหลายปีมาแล้วผมเคยเขียนเรื่องน้ำด่างแล้วมีแฟนบล็อกท่านหนึ่งซึ่งทำมาหากินด้วยการขายเครื่องทำน้ำด่างเขียนมาโอดครวญกับผมว่าการขายเครื่องทำน้ำด่างเป็นอาชีพสุจริตที่เธอใช้หากินเลี้ยงลูกเลี้ยงสามี บทความของผมทำลายชีวิตของเธอไปเลย ผมรู้สึกไม่ดีเลย เพราะไม่ใช่เจตนาของผมที่จะไปทำให้ใครเดือดร้อน นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมยอมตอบเรื่องน้ำ โดยผมจะพยายามไม่เขียนแบบไปทุบหม้อข้าวของใคร

1.. ถามว่าการทดสอบความสะอาดของน้ำด้วยวิธีจุ่มเครื่องทดสอบสองขาลงไปแล้วทำให้เห็นว่าน้ำที่สกปรกจะขุ่นขึ้นมานั้นมันคืออะไร ตอบว่ามันคือการเล่นกลหลอกเด็กที่ยังไม่ได้เรียนวิชาวิทย์ระดับม. 2 วิธีการทำอย่างนั้นเรียกว่าการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrophoresis) เพราะขึ้นชื่อว่าน้ำที่มนุษย์ดื่มทุกชนิด (ยกเว้นน้ำกลั่น) ย่อมจะมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ เนื่องจากในน้ำดื่มเหล่านั้นย่อมจะมีอิออนที่มีประจุบวกอยู่ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม เป็นต้น เมื่อเอาขั้วไฟฟ้าสองขั้วคือบวกกับลบจุ่มลงไป น้ำนั้นจะนำไฟฟ้าได้ เกิดสนามไฟฟ้าขึ้น ทำให้ประจุอิสระในน้ำพากันวิ่งไปตามแรงของสนามไฟฟ้า กล่าวคือ อิออนประจุบวกก็จะวิ่งไปจับที่ขั้วลบ ตัวน้ำเองก็จะถูกแยกเป็นออกซิเจนไปปุดๆเป็นแก้สที่ขั้วบวกขณะที่ไฮโดรเจนไปปุดๆเป็นแก้สที่ขั้วลบ อยากได้ความขุ่นสีอะไรก็เลือกโลหะที่จะเอามาทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้า เช่นหากใช้ทองแดง มันก็จะแตกตัวให้ทองแดงอิออน (Cu++) วิ่งไปจับเป็นสีฟ้าๆที่ขั้วลบ อยากได้สีแดงแบบสนิมเหล็กก็ใช้ขั้วเหล็ก อยากได้สีเทาดำให้สะใจไปเลยก็ใช้ขั้วเงิน เป็นต้น ตัวอิออนที่มีเป็นธรรมชาติในน้ำอยู่แล้วเช่นแคลเซียมแมกนีเซียมก็จะแตกตัวออกจากความเป็นเกลือหรือสารผสมกลายเป็นอิออนอิสระไปจับที่ขั้วไฟฟ้าช่วยสร้างความขุ่นขึ้นมาอีกทาง แต่พอไปเล่นกลแบบเดียวกันนี้กับน้ำกลั่นเพื่อเปรียบเทียบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะน้ำกลั่นนำไฟฟ้าไม่ได้ สนามไฟฟ้าในน้ำก็ไม่เกิดขึ้น แต่ผู้ชมถูกหลอกไปแล้วเรียบร้อยว่า โอ้ โฮ เฮะ สะอาดต่างกันเลย

ผมขอย้ำว่าทั้งหมดนี้ไม่ว่าน้ำจะขุ่นขึ้นมาแค่ไหน จะเป็นสีอะไร ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความสะอาดความสกปรกหรือความปลอดภัยไม่ปลอดภัยของน้ำดื่มเลยพระเจ้าข้า แต่เกี่ยวกับ (1) กระแสไฟฟ้า (2) ชนิดของอิออนที่มีอยู่เป็นปกติธรรมชาติในน้ำดื่มทั่วไป (3) ชนิดของโลหะที่ใช้ทำขั้วไฟฟ้า

2.. ถามว่าการตรวจด้วยวิธีเอาเอาเครื่องวัดสารปนเปื้อนจุ่มลงไปในน้ำแล้วมันขึ้นตัวเลขพรวดๆบอกปริมาณสิ่งเจือปนในน้ำให้ดูนั้นมันคืออะไรเชื่อถือได้ไหม ตอบว่ามันคือเครื่องวัด TDS meter ย่อมาจาก total dissolved solids แปลว่าการวัดสารที่เป็นอะตอมหรือโมเลกุลในสถานะของแข็งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ไม่ได้เป็นการวัดความสอาด (จากเชื้อโรค)หรือความปลอดภัย (จากสารพิษ) ของน้ำแต่อย่างใด อย่าลืมว่าเกลือแร่ในน้ำดื่มที่ใสสะอาดตามธรรมชาติเช่นแคลเซียม แมงกานีส โซเดียม นั้นมันก็เป็นของแข็งนะ วัดเมื่อไหร่ค่ามันก็ขึ้นเมื่อนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนั้นดื่มไม่ได้ มันคนละเรื่องเดียวกันพระเจ้าข้า แล้วจะวัดไปทำพรื้อ

ตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ แต่ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้ทำหน้าที่หมอป้องกันโรคซะเลย กล่าวคือวิธีป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพที่ WHO บอกว่าทำแล้วคุ้มค่าเงินที่สุดคุ้มกว่าการฉีดวัคซีนเสียอีกก็คือการจัดหาน้ำสะอาดดื่ม ดังนั้นวันนี้เราคุยกันเรื่องนี้หน่อย

ประเด็นที่ 1. ความปลอดภัยของน้ำดื่มเป็นคนละเรื่องกับการมีหรือไม่มีแร่ธาตุต่างๆในน้ำ

น้ำดื่มที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ต้องมีธาตุต่างๆที่ร่างกายต้องการเป็นประจำอยู่ในน้ำอยู่แล้วในรูปของสารละลายในน้ำ (electrolyte) เช่นโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม เป็นต้น หลายสิบปีก่อนเมื่อประเทศแถบตะวันออกกลางเริ่มทำน้ำกลั่นให้คนดื่ม ก็พบว่าดื่มแล้วร่างกายมีอาการสะโหลสะเหลเพราะดุลของอีเล็คโตรลัยท์ของร่างกายเสียไป เดี๋ยวนี้หลังจากกลั่นแล้วต้องเอาอีเล็กโตรไลท์บางตัวที่ร่างกายจำเป็นต้องใช่ใส่กลับเข้าไปในน้ำใหม่จึงจะดื่มได้อย่างสุขสบายปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นโซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม ต้องมีในระดับพอควร การเล่นกลเพื่อหลอกว่าอีเล็คโตรไลท์ที่ควรมีในน้ำดื่มตามปกติเป็นของไม่ดีก็ดี การโชว์การวัดปริมาณของแข็งในน้ำว่าสัมพันธ์กับความไม่ปลอดภัยของน้ำดื่มก็ดี ล้วนเป็นการหลอกลวงให้คนเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยที่ไม่มีประโยชน์เพิ่มในเชิงการสร้างความปลอดภัยให้แก่น้ำดื่มเลย

แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ควรมีในน้ำดื่มคือโลหะหนักที่มีพิษต่อร่างกายเช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว ซึ่งการเล่นกลขายของที่ทำๆกันอยู่ไม่สามารถตรวจหาโลหะหนักเหล่านี้ได้ ต้องส่งน้ำไปตรวจในห้องแล็บขนาดใหญ่และซับซ้อน หากโลหะหนักมีพิษเหล่านี้เหล่านี้มีอยู่ในแหล่งน้ำใดนั่นเป็นปัญหาระดับชุมชนหรือระดับชาติที่ต้องใช้วิธีแก้ไขกำจัดแหล่งปล่อยโลหะหนักร่วมกัน ทุกวันนี้หน่วยงานของราชการหลายหน่วยงานรวมทั้งการประปาและกรมทรัพยากรธรณีก็มีหน้าที่ตรวจเฝ้าระวังโลหะหนักและสารพิษในแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่เป็นประจำทำให้แหล่งน้ำทุกแหล่งในประเทศมีความปลอดภัยจากพิษโลหะหนักอยู่แล้ว (ยกเว้นน้ำทะเล) ไม่ใช่ภาระของประชาชนทั่วไปที่จะต้องเก็บตัวอย่างน้ำไปส่งตรวจหาพิษของโลหะหนักก่อนดื่ม

ประเด็นที่ 2. ความสะอาดของน้ำดื่มวัดกันที่การมีหรือไม่มีจุลชีวิตในน้ำ

ความสะอาดของน้ำดื่มประเมินจากการมีอยู่ของจุลชีวิตเช่นแบคทีเรีย ไวรัส รา ซึ่งการตรวจต้องส่งตัวอย่างน้ำไปเพาะหาเชื้อแบคทีเรีย หรือรา หรือไวรัส ต้องทำในห้องแล็บมาตรฐาน พวกเล่นกลขายของไม่สามารถตรวจในประเด็นนี้ได้ แต่ผู้ผลิตน้ำรายใหญ่เช่นการประปาหรือผู้ทำน้ำดื่มขายต้องส่งน้ำไปตรวจเพาะหาเชื้อเป็นระยะๆตามกฎหมายกำหนด สำหรับผู้บริโภคทั่วไป วิธีที่ดีที่สุดคือการดื่มน้ำที่มาแหล่งน้ำที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นน้ำประปา (เฉพาะของการประปาที่ประกาศว่าดื่มได้) น้ำดื่มที่ผลิตขายโดยได้รับการตรวจรับรองจากอย. น้ำฝน เป็นต้น ในกรณีที่ไม่สามารถหาน้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ก็อาจจะต้องทำลายเชื้อโรคในน้ำก่อนดื่มด้วยตัวเอง เช่น การต้มให้เดือด การใส่คลอรีน การให้ผ่านรังสียูวี. และการกรอง โดย

หากกรองได้ระดับ 1 ไมครอน (เครื่องกรองทั่วไป) ก็จะกรองไข่พยาธิ สัตว์หลายเซล และราต่างๆได้

ถ้ากรองได้ถึง 0.1 ไมครอนก็จะกรองแบคทีเรียได้

ถ้ากรองได้ถึง 0.01 ไมครอน ก็จะกรองไวรัสได้

แต่การกรองแบคทีเรียกับไวรัสทิ้งได้สำเร็จนี้เป็นคนละเรื่องกับการมีแบคทีเรียหรือไวรัส “แปดเปื้อน” หรือ contaminate ภายหลังการกรอง เพราะเชื้อโรคนี้มันสิงอยู่ทั่วไปรวมทั้งในเครื่องกรองเองด้วย หรือไม่ก็ในหม้อเก็บน้ำที่กรองได้แล้วในกรณีน้ำหยอดเหรียญตามตู้ ดังนั้นการดูแลเครื่องกรองให้สะอาดอยู่เสมอก็จำเป็น

ประเด็นที่ 3. ความกระด้างของน้ำดื่มและความเข้าใจผิดเรื่องนิ่ว

ความกระด้าง (hardness) หมายถึงคุณสมบัติของน้ำที่ทำปฏิกริยากับสบู่ให้เป็นฟองได้ยาก ยิ่งกระด้างยิ่งต้องใช้สบู่มากจึงจะได้ฟอง ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำนั้นมีอิออนบวกของโลหะเช่นแคลเซียม แมกนีเซียม อลูมิเนียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส อยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากแคลเซียมเป็นอิออนหลักที่อยู่ในน้ำกระด้าง ในทางวิทยาศาสตร์จึงอาศัยปริมาณของแคลเซียมเป็นตัวบอกระด้บความกระด้าง กล่าวคือ

ถ้ามีแคลเซี่ยมน้อยกว่า 60 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำอ่อน ไม่กระด้าง

ถ้ามีแคลเซี่ยม 60-120 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างปานกลาง

ถ้ามีแคลเซี่ยมมากกว่า 120-180 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างมาก

ถ้ามีแคลเซี่ยมมากกว่า 180 มก./ลิตร ถือว่าเป็นน้ำกระด้างอย่างแรง ถ้ามีแคลเซี่ยมเกิน 300 มก./ลิตรจะมืรสปร่าเฝื่อนลิ้นจนบางคนไม่ยอมดื่ม

งานวิจัยของ WHO พบว่าคนได้แคลเซี่ยมจากน้ำดื่มประมาณ 5-20% ที่เหลือได้จากอาหาร น้ำดื่มทั่วไปมีแคลเซียมต่ำกว่า 100 มก./ลิตร ความกลัวว่าการดื่มน้ำกระด้างจะทำให้ได้แคลเซียมเพิ่มมากเกินไปเป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้ดื่มน้ำกระด้างมากที่สุดที่เฝื่อนจนไม่มีใครเขาดื่มกันก็จะได้แคลเซียมจากน้ำดื่มวันละอย่างมากราว 600 มก.แค่นั้นเอง (หากดื่มน้ำวันละสองลิตร) ยังน้อยกว่ายาเม็ดแคลเซียมที่คนบางคนกินทุกวันเสียอีก(1000 มก.ต่อเม็ด) นอกจากนี้ร่างกายยังมีกลไกเลือกที่จะดูดซึมหรือไม่ดูดซึมแคลเซียมเอาตามความต้องการของร่างกายเองอีกด้วย

ความกลัวที่ว่าการดื่มน้ำกระด้างจะทำให้เป็นนิ่วก็เป็นความเข้าใจที่ผิด หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงที่สรุปได้แล้วมีสาระอยู่สองประเด็น คือ

1. หากร่างกายได้รับแคลเซียมผ่านน้ำและอาหาร “น้อย” เกินไป จะสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ “มากขึ้น” แต่ไม่เคยมีหลักฐานเลยว่าแคลเซียมจากน้ำหรืออาหารแม้จะมากเท่าใดจะมีผลทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น

2. หากร่างกายได้รับแคลเซียมมากคราวละตูมเดียวในรูปของยาเม็ดแคลเซียมเสริม จนร่างกายได้รับแคลเซียมรวมเกินวันละ 2500 มก.จะสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์ยังสรุปไม่ได้ งานวิจัยจำนวนหนึ่งบ่งชี้ว่าทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น งานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น

ในภาพรวมเท่าที่หลักฐานปัจจุบันมี หากจะให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอโดยไม่เพิ่มโอกาสเป็นนิ่ว การได้แคลเซียมผ่านอาหารและน้ำดื่มเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากน้ำดื่มมีความกระด้างในระดับไม่มากเกินจนปร่าหรือเฝื่อนจนดื่มไม่อร่อย ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ความกระด้างของน้ำก่อนดื่ม เพราะไม่มีอันตรายใดๆจากการดื่มน้ำกระด้างโดยไม่แก้ความกระด้างเสียก่อนอย่างที่คนทั่วไปกลัวกัน

ประเด็นที่ 4. ความสำคัญของต้นกำเนิดของน้ำดื่ม

การเลือกแหล่งของน้ำดื่ม จะช่วยลดภาระในการทำน้ำให้สะอาดและปลอดภัยก่อนดื่ม ในประเทศไทยนี้น้ำดื่มทั้งหมดมาจากแหล่งเดียวกันเพียงแหล่งเดียว คือน้ำฝน จากนั้นจึงไปอยู่ในรูปของแหล่งน้ำอื่น เช่น หนอง บึง คลอง แม่น้ำ น้ำบาดาล น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด เมื่ออยู่ในรูปของน้ำฝน โดยเฉพาะฝนหลังๆที่ไม่ใช่ฝนแรกของปีจะมีความสะอาดและปลอดภัยมากที่สุด จากนั้นก็จะค่อยๆปนเปื้อนมากขึ้นๆเมื่อกลายเป็นแหล่งน้ำในรูปแบบหนอง บึง คลอง แม่น้ำ กลับมาสะอาดอีกครั้งเมื่อกรองผ่านชั้นดินลงไปเป็นน้ำบาดาล หรือเมื่อถูกนำมากรองเพื่อทำเป็นน้ำประปาและน้ำบรรจุขวด ดังนั้นการทำน้ำสะอาดดื่มจะง่ายขึ้นหากตั้งต้นด้วยน้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาดอยู่แล้ว คือน้ำฝน หรือน้ำประปา หรือน้ำบาดาล

ประเด็นที่ 5. ความแตกต่างของการกรองแบบต่างๆ

เมื่อได้น้ำจากแหล่งที่สะอาด (น้ำฝน น้ำประปา น้ำบาดาล) มาแล้ว หากน้ำนั้นสะอาดแน่นอน เช่นเป็นน้ำฝนที่ไม่ใช่ฝนแรกที่เก็บในภาชนะมิดชิดไม่มีสัตว์หรือแมลงตกหล่นลงไปได้ หรือเป็นน้ำประปาจากหน่วยประปาที่ผู้ผลิตแห่งนั้นประกาศรับรองให้ดื่มได้ หรือเป็นน้ำบาดาลที่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจคัดกรองการปนเปื้อนเชื้อโรคและโลหะหนักแล้ว ก็ใช้น้ำนั้นดื่มได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องต้มหรือกรองอีก บางคนไม่ยอมดื่มน้ำประปาเพราะเหม็นคลอรีน วิธีแก้ก็ง่ายนิดเดียวแค่เปิดน้ำใส่ภาชนะที่เปิดฝาตั้งไว้สัก 20 นาทีกลิ่นก็หายหมดแล้ว

แต่หากไม่มันใจว่าน้ำนั้นสะอาดแน่นอน ก็ให้นำน้ำนั้นมาต้มหรือใส่คลอรีนหรือกรองก่อนดื่ม การต้มหรือใส่คลอรีนไม่มีอะไรซับซ้อนไม่ต้องพูดถึง วันนี้ผมจะพูดถึงแต่เรื่องการกรอง ซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้

5.1 การกรองแบบทั่วไป

หมายถึงการนำน้ำดิบมากรองผ่านชั้นของทรายละเอียด ทรายหยาบ กรวด หิน อิฐหัก และถ่าน ไปทีละชั้น หรือบางกรณีก็ให้ผ่านแผ่นกรองละเอียดแผ่นเดียว การกรองแบบนี้จะกรองเอาสิ่งแขวนลอยในน้ำที่เล็กถึงขนาด 1 ไมครอนออกมาได้ สิ่งเหล่านั้นได้แก่เชื้อรา สัตว์หลายเซลต่างๆเช่นเชื้อบิดอมีบา พยาธิ และไข่พยาธิ เป็นต้นแต่จะไม่สามารถกรองเอาเชื้อแบคทีเรีย เช่น E. Coli ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องเสียออกมาได้ ดังนั้นน้ำที่ได้จากการกรองแบบนี้จึงไม่เหมาะสำหรับดื่ม ต้องเอาไปต้มให้เดือด หรือใส่คลอรีนฆ่าเชื้อโรคก่อน สมัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อนผมออกไปช่วยทำงาน ได้ทำการทดลองเอาคลอรีนมาเจือจางที่ระดับต่างๆ แล้วทดลองใช้มันฆ่าเชื้อในน้ำเน่าที่ตักมาจากบางใหญ่บ้าง จากรังสิตบ้าง ทดลองใช้มันฆ่าเชื้อต่างๆที่เราเลี้ยงไว้ในห้องแล็บบ้าง ในที่สุดก็มาสรุปได้ว่าคลอรีนที่ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม.เนี่ยแหละ ฆ่าเชื้อตัวเบ้งๆ ที่มากับน้ำท่วมได้เรียบวุธทุกตัว

5.2 การกรองแบบไมโครฟิลเตอร์ (microfilter)

เป็นวิธีกรองโดยอาศัยแรงดันน้ำผ่านเครื่องกรองที่มีใส้กรองเป็นแผ่นบาง (semipermeable membrane) ที่มีรูเล็กละเอียดระดับ 0.1-1.0 ไมครอน การกรองแบบนี้สามารถกรองเอาแบคทีเรียออกได้ แต่กรองไวรัสได้น้อย การกรองแบบนี้จึงใช้กับน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลรีนหรือผ่านรังสียูวี.มาแล้วเพื่อให้กลไกเหล่านั้นช่วยขจัดไวรัสด้วย จึงจะดื่มน้ำที่ผ่านเครื่องกรองแบบนี้ได้เลย ในกรณีที่ใช้เมมเบรนละเอียดขึ้นไปจนกรองไวรัสได้เรียกว่าอุลตร้าฟิลเตอร์ (ultrafilter)

5.3 การกรองแบบนาโนฟิลเตอร์ (nanofilter)

เป็นการกรองฝ่านเมมเบรนเช่นกันแต่มีขนาดรูกรองที่เล็กในระดับนาโน คือ 1-100 nm หรือกรองอนุภาคที่เล็กถึงระดับ 0.01 ไมครอนได้ ใช้กรองแบคทีเรียได้หมดและกรองไวรัสได้ นอกจากนั้นยังกรองโมเลกุลโปรตีน สารเคมี เม็ดสี และมลภาวะต่างๆได้ด้วย ใช้กรองน้ำไว้ดื่มได้ แต่มีข้อแม้ว่าแหล่งน้ำที่จะนำมาผ่านแผ่นกรองแบบนี้ต้องมีความสะอาดระดับหนึ่งแล้วมิฉะนั้นจะทำให้ไส้กรองตันบ่อยจนเป็นภาระต้องมาทำความสะอาดกันซ้ำซาก

5.4 การกรองแบบ RO (reverse osmosis)

เป็นการกรองผ่านเมมเบรนโดยใช้ความดันช่วย ความที่เมมเบรนมีรูเล็กละเอียดมากจนน้ำทั้งหมดไม่สามารถผ่านไปได้หมดในเวลาอันควร กระบวนการกรองจึงจะมีน้ำเหลืออยู่หน้าแผ่นเมมเบรนแยะ แบบว่าบางยี่ห้อใส่น้ำเข้าไป 3 แกลลอน ได้น้ำดีออกมา 1 แกลลอน บางยี่ห้อใส่น้ำเข้าไป 25 แกลลอน ได้น้ำดีออกมา 1 แกลลอน จึงเป็นระบบกรองที่จะมีการสูญเสียน้ำมาก แต่มีข้อดีที่สามารถกรองละเอียดได้ถึง 0.0001 ไมครอน จึงสามารถกรองเอาสิ่งที่เป็นของแข็งที่แขวนลอยในน้ำ (TDS) ออกมาได้เกือบหมด (98%) แต่ก็ไม่หมด โดยเฉพาะอิออนที่น้ำหนักอะตอมเล็กมักจะกรองไม่ค่อยได้ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเขาเพาะกล้วยไม่ส่งขายเมืองนอก ต้นไม้เขาแพงจนต้องกรองน้ำแบบ RO มารด แต่รดแล้วก็ยังไม่วายมีคราบแคลเซียมขาวว่อกจับอยู่ที่ใบ เพราะเครื่องกรองแบบ RO มันกรองอีเล็คโตรไลท์ที่น้ำหนักอะตอมหรือโมเลกุลเล็กๆได้ไม่หมด

5.5 การแก้ความกระด้างด้วยเครื่องกรองมีเรซิน

การใช้เรซินเป็นกระบวนการแก้ความกระด้างของน้ำด้วยการให้น้ำผ่านเรซินซึ่งมีคุณสมบัติจับเอาแคลเซียมอิออนไว้ได้ (ion exchange resin) ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการกรองน้ำ แต่มักจะทำเป็นขั้นตอนหนึ่งก่อนที่จะทำการกรองน้ำเฉพาะในกรณีที่แหล่งน้ำนั้นมีความกระด้างมากจนผู้บริโภคยอมรับไม่ได้ในแง่ที่ทำให้มีคราบปูนชอบจับตามสุขภัณฑ์ทำให้ทำความสะอาดยาก

กล่าวโดยสรุป การจะหาน้ำดื่มที่ปลอดภัยก็น้ำประปานั่นแหละ ดื่มได้เลยไม่ต้องกรองไม่ต้องต้ม แต่ต้องเป็นหน่วยประปาที่ประกาศรับรองว่าน้ำของเขาดื่มได้นะ เพราะประปาชนบท ประปาอบต. ประปากปภ. ประปานครหลวง มันย่อมแตกต่างกันบ้าง ถ้าผมจำไม่ผิด กปภ.ประกาศว่าของเขามีสองร้อยกว่าแห่งที่ผลิตน้ำถึงระดับดื่มได้ น้ำดื่มใส่ขวดหรือใส่ตู้หยอดเหรียญที่อย.รับรองแล้วก็ดื่มได้หมด เพราะเขาล้วนเอาน้ำประปามาทำ แต่ถ้าอยู่นอกเขตประปาก็เอาน้ำฝนหรือน้ำบาดาลมากำจัดเชื้อโรคเสียก่อน จะด้วยการต้มหรือใส่คลอรีนหรือกรองตามแบบไหนที่ท่านชอบก็เลือกเอา ส่วนปาหี่การแยกน้ำด้วยไฟฟ้าและโชว์การจุ่มเครื่องวัด TDS meter ที่คนขายของเขาจัดแสดงนั้น ก็ให้ท่านชมดูได้แบบดูปาหี่เพื่อความสนุก แต่อย่าเอามาเป็นข้อบังคับให้ตัวเองต้องเสียเงินเปลี่ยนเครื่องกรองใหม่เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Leurs LJ et al. (2010) Relationship between tap water hardness, magnesium, and calcium concentration and mortality due to ischemic heart disease or stroke in the Netherlands. Environmental Health Perspectives, 118(3):414–420.
  2. National Research Council (1977) Drinking water and health. Washington, DC, National Academy of Sciences.
  3. Ong CN, Grandjean AC, Heaney RP (2009) The mineral composition of water and its contribution to calcium and magnesium intake. In: Calcium and magnesium in drinking-water: public health significance. Geneva, World Health Organization, pp. 36–58 (http://whqlibdoc.who.int/publications/2009/9789241563550_eng.pdf).
  4. WHO (2009) Calcium and magnesium in drinking-water: public health significance. Geneva, World Health Organization (http://whqlibdoc.who.int/publications/2009/9789241563550_eng.pdf).
  5. Sorensen MD, Eisner BH, Stone KL, et al. Impact of calcium intake and intestinal calcium absorption on kidney stones in older women: the study of osteoporotic fractures. J Urol 2012;187:1287-92. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
  6. Coe FL, Parks JH, Asplin JR. The pathogenesis and treatment of kidney stones. N Engl J Med 1992;327:1141-52.
  7. Sorensen MD, Duh QY, Grogan RH, et al. Differences in metabolic urinary abnormalities in stone forming and nonstone forming patients with primary hyperparathyroidism. Surgery 2012;151:477-83.
  8. Worcester EM, Coe FL. Clinical practice. Calcium kidney stones. N Engl J Med 2010;363:954-63. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
  9. Curhan GC, Willett WC, Rimm EB, et al. A prospective study of dietary calcium and other nutrients and the risk of symptomatic kidney stones. N Engl J Med 1993;328:833-8. [PubMed] [Google Scholar]
  10. Sorensen MD, Kahn AJ, Reiner AP, et al. Impact of nutritional factors on incident kidney stone formation: a report from the WHI OS. J Urol 2012;187:1645-9. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
  11. Hess B, Jost C, Zipperle L, et al. High-calcium intake abolishes hyperoxaluria and reduces urinary crystallization during a 20-fold normal oxalate load in humans. Nephrol Dial Transplant 1998;13:2241-7. [PubMed] [Google Scholar]
  12. Bataille P, Charransol G, Gregoire I, et al. Effect of calcium restriction on renal excretion of oxalate and the probability of stones in the various pathophysiological groups with calcium stones. J Urol 1983;130:218-23. [PubMed] [Google Scholar]
  13. Borghi L, Schianchi T, Meschi T, et al. Comparison of two diets for the prevention of recurrent stones in idiopathic hypercalciuria. N Engl J Med 2002;346:77-84. [PubMed] [Google Scholar]
  14. Wallace RB, Wactawski-Wende J, O’Sullivan MJ, et al. Urinary tract stone occurrence in the Women’s Health Initiative (WHI) randomized clinical trial of calcium and vitamin D supplements. Am J Clin Nutr 2011;94:270-7. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
  15. Taylor EN, Stampfer MJ, Curhan GC. Dietary factors and the risk of incident kidney stones in men: new insights after 14 years of follow-up. J Am Soc Nephrol 2004;15:3225-32. [PubMed] [Google Scholar]