Latest

ผ่าตัดต้อกระจก ใช้คอมทั้งวัน จะเลือกเลนส์เทียมแบบไหนดี

เรียน คุณหมอสันต์

  ผมรบกวนคำปรึกษาครับ ผมชื่อ … ครับ อายุ37ปี ป่วยเป็นต้อกระจกตาขวา  รบกวนคุณหมอเเนะนำเกี่ยวกับเลนส์เทียมหลังผ่าตัด
1. เลนส์ multifocal เหมาะสำหรับคนเป็นต้อข้างเดียวหรือไม่ เพราะตาอีกข้างยังปกติ ถ้าใช้เลนส์จะมีปัญหาในการปรับตัวหรือไม่

2. เลนส์ monofocal ผมทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่เคยใส่เเว่นตาเลย ถ้าใช้เลนส์นี้ ต้องใส่เเว่นตาช่วย ตอนทำงานหรือไม่ใส่ก็ได้ครับ 

รบกวนคุณหมอให้คำเเนะนำหน่อยครับ

…………………………………………….

ตอบครับ

ปัญหาของคุณมันต้องเอาไปถามหมอตานะหรือจักษุแพทย์ที่ตรวจตาให้คุณนะจึงจะได้คำตอบละเอียดถูกต้อง ผมเป็นหมอทั่วไปก็จะตอบได้แค่แบบกว้างๆทั่วๆไป จะเจาะลึกไปตามปัญหาในลูกกะตาของแต่ละคนไม่ได้นะเพราะผมไม่สามารถ.. โอเค้? และการตอบคำถามเรื่องเลนส์วันนี้ผมย้ำไว้ก่อนว่าเราจะพูดถึงแต่เลนส์ที่เรายัดใส่เข้าไปในลูกกะตาเพื่อทดแทนเลนส์ธรรมชาติ (intraoccular lens – IOL) ซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับคอนแทคเลนส์ (contact lens) ที่เราเอามาแหมะไว้ที่หน้าแก้วตา แม้ว่าคำเรียกชนิดของเลนส์จะใช้คำเดียวกัน แต่มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

คุณถามเรื่องเลนส์ทำให้ผมคิดถึงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งของวงการแพทย์ คือหมอสันต์แก่แล้วก็ย่อมจะชอบเล่นกับประว้ติศาสตร์เป็นธรรมดา เรื่องมีอยู่ว่าราวปี 1949 หมออังกฤษคนหนึ่งชื่อเซอร์ แฮโรลด์ ริดเลย์ ได้ตรวจตานักบินที่ตาบอดจากเครื่องบินตกในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้วหลายปี แล้วพบว่าเศษชิ้นส่วนฝ้าเพดานห้องนักบินที่ทำจากอะคริลิกที่กระเด็นเข้าไปอยู่ในลูกตานักบินคนนั้นยังลอยอ้อยอิ่งอยู่ในน้ำวุ้นในลูกกะตาอยู่อย่างถาวรเหมือนเดิมโดยร่างกายไม่ต่อต้านหรือก่อการอักเสบอะไรเลย เขาจึงทดลองเอาอะคริลิกใสมาฝานให้มีรูปร่างเหมือนเลนส์ตาแล้วผ่ายัดใส่เข้าไปแทนเลนส์ตาจริงของคนไข้ที่ขุ่นจนมองไม่เห็นแล้ว การรักษาแบบแหกคอกของเขาถูกบ้อมบ์หรือรุมตื๊บโดยเพื่อนหมอตาด้วยกันทั่วประเทศอังกฤษแบบสหบาทาเลยทีเดียว แต่ว่าเขารอดมาได้เพราะคนไข้ของเขามองเห็นดีขึ้นชนิดมีชีวิตใหม่ การผ่าตัดต้อกระจกจึงก่อกำเนิดมาแต่บัดนั้น ถือเป็นการผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมเข้าไปในร่างกายมนุษย์เป็นครั้งแรกของวงการแพทย์ด้วย หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีอวัยวะเทียมอื่นๆรวมทั้งลิ้นหัวใจเทียมและหลอดเลือดเทียมจึงเกิดตามมา เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าไปว่าอะไรหมอที่เขานอกคอกตะพึดเลย ถ้าเขาทำด้วยความปรารถนาดีต่อคนไข้ไม่คิดตบทรัพย์เอาเงินเอาทองคนไข้อย่างฉ้อฉลก็ปล่อยๆเขาไปบ้างเถอะ หิ หิ ขอโทษ นอกเรื่อง มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

ถามว่าเลนส์ multifocal ถ้าใส่ให้คุณซึ่งเป็นต้อข้างเดียวจะดีหรือ เพราะตาของคุณอีกข้างยังปกติดีอยู่ ถ้าใช้เลนส์แบบนี้จะมีปัญหาในการปรับตัวหรือไม่ ตอบว่า ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจหลัก accommodation ของลูกกะตาก่อน ผมแปลว่าการที่ตาปรับตัวเองให้เห็นภาพชัดและกะระยะภาพได้ไม่ว่าภาพนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล ซึ่งตาใช้สองวิธีคือ (1) ใช้กล้ามเนื้อ ciliary muscle บีบหรือคลายเลนส์ (เลนส์ตาแท้ๆตามธรรมชาติ) ให้ป่องออกตรงกลางมากหรือน้อยตามความจำเป็น ภาษานักถ่ายรูปเรียกว่าเปลี่ยนความยาวโฟกัส เพื่อให้แสงหักเหไปตกที่จุดเดิมแม้ว่าวัตถุจะขยับเข้ามาหรือจะวิ่งไกลออกไปจากลูกตาก็ตาม (2) อาศัยสมองใช้ข้อมูลจากการปรับตาแต่ละข้างมาคำนวณว่าภาพนั้นอยู่ใกล้หรือไกลและสร้างภาพที่มีความชัดในแนวลึกขึ้น ซึ่งรายละเอียดตรงนี้พูดก็พูดเถอะ วิชาแพทย์ยังไม่รู้เลยว่าสมองมันทำได้อย่างไร

ประเด็นสำคัญสำหร้บคุณคือปัจจุบันนี้ไม่มีเลนส์เทียมชนิดใดมีคุณสมบัติ accommodation เลย เลนส์เทียมแม้บางชนิดจะอ่อนจนพับยัดรูผ่าตัดเล็กๆได้ แต่ทุกรุ่นทุกก็ชนิดล้วนเป็นวัสดุที่มิอาจจะถูกกล้ามเนื้อบีบให้ป่องมากป่องน้อยอย่างเลนส์ธรรมชาติได้ แม้ว่าจะมีรายงานว่าผู้ป่วยที่ใช้เลนส์ชนิด monofocal บางรายสามารถทำ accommodation ได้แต่นั่นไม่ใช่ของจริง เป็นลูกฟลุ้คจากความคลาดเคลื่อนในการหักเหของแสงในวัสดุที่ใช้ทำเลนส์มากกว่า (pseudo-accommodation) ดังนั้นไม่ว่าคุณจะใช้เลนส์รุ่นใดก็ตามแบบใดก็ตาม การปรับภาพให้ชัดด้วยวิธี accommodation ด้วยตาเดียวก็ดี ด้วยสองตาก็ดี ล้วนแปะเอี้ย คือเท่ากัน คุณเลือกเลนส์แบบไหนก็ได้

คุณอาจจะสงสัยว่าอ้าว ถ้างั้นแล้วทำไมเลนส์มัลติโฟคอลเห็นชัดได้หลายจุดละ ตอบว่านั่นไม่ใช่ความสามารถในการทำ accommodation แต่เป็นการออกแบบเนื้อเลนส์ให้แสงกระจายตัวไปปรากฎที่หลายจุดได้พร้อมกัน ผมไม่รู้หรอกว่าการออกแบบเขาทำได้อย่างไร รู้แต่ว่าธรรมชาติของแสงนี้เมื่อมันฉายผ่านวัตถุที่โปร่งใส มันจะมีพฤติการสามอย่างคือ ส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับ (reflection) อีกส่วนหนึ่งจะหักเห (refraction) อีกส่วนหนึ่งจะกระจาย (diffraction) เหมือนเวลาเราฉายไฟผ่านรูเข้าไปในห้องมืด แสงมันไม่ได้วิ่งเป็นลำตรงๆเข้าไปเท่านั้น แสงส่วนหนึ่งกระจายเป็นแสงนุ่มๆเรื่อๆออกไปข้างๆได้ ความแตกต่างของเลนส์ทั้งสองแบบคือเลนส์โมโนโฟคอลการผลิตชิ้นวัสดุโดยให้แสงหักเห (refraction) ไปตกที่เดียวทำให้เห็นภาพชัดที่ระยะเดียว แต่เลนส์มัลติโฟคอลซึ่งมีหลายชนิดอาศัยคุณสมบัติทั้งสองอย่างหลังคือทั้ง refraction และ diffraction โดยการปรับหรือจัดหรือเฉือนเนื้อวัสดุแต่ละตำแหน่งต่างกันจนทำให้แสงที่ผ่านเข้ามากระจายไปปรากฎที่หลายจุดได้ในเวลาเดียวกันทำให้เห็นภาพได้แม้ภาพจะอยู่ใกล้ไกลต่างกัน แต่ก็แลกกับความคมชัดของภาพที่จะเสียไประดับหนึ่ง และแสงที่อาจมั่วๆเข้ามาในรูปของแสงนุ่มหรือแสงเรื่อๆเป็นวงรอบๆขอบนอกของลานสายตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาถูกไฟส่องในที่มืดเช่นขณะขับรถกลางคืน

2. ถามว่าคุณทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่เคยใส่เเว่นตาเลย ถ้าใช้เลนส์โมโนโฟคอลจะต้องใส่เเว่นตาช่วย ตอนทำงานตลอดเลยหรือ จะไม่ใส่ได้ไหม ตอบว่าการใส่เลนส์เทียมแบบโมโนโฟคอลในโรคต้อกระจก ก็เหมือนการฝังแว่นตาเข้าไปในลูกตา เขามีแว่นให้สองอย่าง คือแว่นมองใกล้ และแว่นมองไกล คุณจะเลือกฝังแว่นอันไหนละครับเพราะมันฝังเข้าไปได้อันเดียว ถ้าคุณเลือกฝังแว่นมองใกล้ ตอนนั่งมองคอมคุณก็ไม่ต้องใส่แว่น แต่พอจะลุกไปเดินหรือขับรถกลับบ้านคุณต้องใส่แว่นมองไกล คนทั่วไปเขาเลือกฝังแว่นมองไกล เพราะเขาไม่อยากใส่แว่นเวลาเดินเหินและขับรถ แต่พอจะอ่านหนังสือเขาก็ต้องหยิบแว่นมองใกล้มาใส่  

3. ถามว่าสรุปแล้วเลนส์ multifocal กับ monofocal อย่างไหนดีกว่ากัน ตอบว่าดีเสียคนละอย่าง หอสมุดโค้กเรนได้ทำการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสคือรวบรวมงานวิจัยเปรียบเทียบดีเสียของเลนส์แบบโมโนกับมัลติโฟคอลทั้งหลายที่ทำไว้ในโลกแล้ววิเคราะห์ใหม่เพื่อดูว่าภาพรวมผลมันเป็นอย่างไร ก็มีข้อสรุปว่าเลนส์มัลติโฟคอลช่วยให้มองเห็นภาพทั้งใกล้และไกลดีกว่าในเวลาเดียวกัน มีอัตราการต้องพีงพาแว่นตาหลังผ่าตัดต่ำกว่าเลนส์โมโนโฟคอล แต่ก็มีปัญหาแสงแทรกตอนกลางคืนทั้งแสงจ้า (glare) และแสงเป็นวง (halo) มากกว่า (5% เมื่อใช้เลนส์มัลติ เทียบกับ 1%เมื่อใช้เลนส์โมโน)

สำหรับคนที่ใช้ตาอยู่กับคอมพิวเตอร์มาก หากเลือกเลนส์โมโนชนิดมองไกล้ชัดเวลาทำงานก็ไม่ต้องใส่แว่น และเห็นจอคอมชัดสมใจ แต่เวลาเดินหรือขับรถต้องใส่แว่นมองไกลช่วย หากคุณเลือกเลนส์มัลติ คุณต้องตั้งคอมห่างตัวหน่อยนะ แล้วต้องยอมรับก่อนว่าจอคอมมันจะไม่ชัดเจ๋งเป้งเหมือนเลนส์โมโน แต่เวลาเดินหรือขับรถอาจไม่ต้องใช้แว่นช่วย นี่เป็นหลักกว้างๆนะ ของจริงต้องมีตัวช่วยอีกตัวหนึ่งคือ “ดวง” คนไข้ของผมคนหนึ่งอาชีพทำคอมทั้งวันเหมือนกันและหัวเด็ดตีนขาดไม่อยากใส่แว่นเพราะกลัวเสียบุ๊คหลิก จึงเลือกเลนส์มัลติ พอใส่แล้วเธอพบว่าจอมันไม่ชัดเหมือนเดิม ในที่สุดต้องตัดแว่นมองใกล้มาช่วย ผลก็คือต้องใส่แว่นทั้งวัน หิ หิ เธอบ่นว่าเสียบุ๊คหลิกหมด

ก่อนจบขอพูดเรื่องโรคต้อกระจก (cataract) ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปรู้จักไว้ซักหน่อย คือว่ามันคือโรคที่ตาค่อยๆมัวขึ้นๆโดยไม่เจ็บไม่ปวด เกิดจากการหนาตัวและขุ่นของเลนส์ตา มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่ อายุมาก, สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์, อยู่กลางแดดมาก (ดังนั้นอย่าลืมแว่นกันแดด), มีการศึกษาน้อย, มีสุขนิสัยไม่ดี (เช่นกินอาหารไม่ครบหมู่ ไม่ออกกำลังกาย), เป็นเบาหวาน, มีการใช้ยาสะเตียรอยด์, เป็นโรคเรื้อรังบางโรค, เคยบาดเจ็บที่ตา, เคยตาอักเสบ, เคยได้รับการฉายรังสี, เคยได้รับสารพิษหรือยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงให้เป็นต้อกระจก เป็นต้น อาการสำคัญของโรคต้อกระจกก็คือตาจะค่อยมองเห็นภาพไม่ชัด เริ่มด้วยภาพไม่คมก่อน ต่อมาภาพก็มัวไปเลย แล้วก็บอด..ด สนิท นอกจากการสูญเสียการมองเห็นแล้วยังมักมีอาการแพ้แสงง่าย คือในที่สว่างมากจะแยกขอบภาพ (contrast) ไม่ออก หรือถ้ามีใครฉายไฟใส่หน้าในที่มืดก็จะมองภาพอะไรไม่เห็น

วิธีรักษาต้อกระจกในปัจจุบันมีอย่างเดียว คือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ งานวิจัยทางการแพทย์ปัจจุบันสนับสนุนให้เลิกใช้เกณฑ์เดิมที่ต้องรอให้ “ต้อสุก” กล่าวคือรอจนความชัดของการมองเห็น (visual acuity) เหลือต่ำกว่า 20/200 (แปลเป็นภาษาไทยแบบบ้านๆก็คือรอจน “บอดแล้ว”ก่อน) เปลี่ยนมาใช้หลักการใหม่ว่ายิ่งทำการผ่าตัดแต่เนิ่น ยิ่งมีความคุ้มค่าในแง่ของการมีชีวิตเปี่ยมด้วยคุณภาพนานกว่า (quality adjust life years)

โรคที่ทำให้สูญเสียการมอเห็นมีหลายโรค ไม่ใช่มีแต่โรคต้อกระจกอย่างเดียว ดังนั้นก่อนจะผลีผลามผ่าตัดเอาต้อกระจกออกแพทย์จะประเมินก่อนว่าไม่เป็นโรคอื่นที่มีผลต่อการมองเห็นซ่อนอยู่ เช่นโรคจอประสาทตาเสื่อม (macula degeneration) โรคต้อหิน (glaucoma) โรคเบาหวานลงตา (diabetic retinopathy) เป็นต้น มิฉะนั้นการผ่าตัดต้อกระจกจะกลายเป็นการเกาไม่ถูกที่คันไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Calladine D, Evans JR, Shah S, Leyland M. Multifocal versus monofocal intraocular lenses after cataract extraction. Cochrane Database of Systematic Reviews 2012, Issue 9. Art. No.: CD003169. DOI: 10.1002/14651858.CD003169.pub3. Link to Cochrane Library.